ไม่ค่อยแน่ใจนักว่า “ขึ้นอย่าหลง ลงอย่าท้อ” ประโยคนี้มีต้นตอหรือที่มาจากไหน แต่ผมพูดติดปากมาหลายปีแล้ว และชอบประโยคนี้มากพอสมควร เหตุเพราะว่าเมื่อชีวิตเราอยู่บนภาวะที่คล้ายกันนี้ คุณจะเข้าใจดีเลยว่าประโยคนี้เป็นความจริงแค่ไหน และมันเตือนตัวเองได้เสมอ ๆ..
หลายคนอาจจะคิดว่าช่วงชีวิตของเราไม่เคยมี “ขึ้น” เลย ไม่เคยดีเลย มันไม่จริงเลยครับ เราอาจจะเคยมีช่วงเวลาที่ดี หรือกำลังจะดี แต่ไม่รู้ตัว มองไม่เห็น เช่น มีโอกาสที่หยิบยื่นมา แต่ ณ เวลานั้นเราอาจจะไม่กล้า คว้าไว้ หรือแบบตัวอย่างเหล่านี้ เช่น..
- เราอาจจะมีช่วงเวลาที่ไม่มีหนี้สิน แต่ ณ เวลานั้นเราก็ประคองการเงินตัวเองไปไม่ได้
- เราอาจจะมีเวลาที่ชีวิตคู่มีความสุข แต่ เราก็ไม่เห็นความสำคัญพอ ปล่อยวางมันเหมือนของตาย หรือทำลายมันด้วยต้นเหตุที่ไม่ควร (คิดได้ทีหลัง)
- เราอาจจะมีใครชวนร่วมทำอะไรบางอย่าง ทว่าเราคิดมาก ไม่สนใจ แต่เวลาผ่านไป เขาสำเร็จมากมาย
- เราอาจจะมีเวลาที่ ได้ข้อเสนอให้ทำงานบางอย่าง ที่ดูยาก เราจึงไม่เอาดีกว่า แต่เพราะยากมันจึงเป็นโอกาสแสดงความเหนือกว่ามิใช่หรือ?
อีกหลายอย่างทำนองนี้ ที่อาจลืมไปแล้ว และเรามักจะไม่จำ เพราะว่าเราจะจำได้แค่ตอนที่มันแย่ ตอนที่ชีวิตเป็นขาลง ตอนที่ไม่สำเร็จ ซึ่งที่จริงมันก็เป็นส่วนเดียวของเรื่องราว เรามักจำได้แต่ภาวะแย่ ๆ ที่เกิดขึ้น ว่ามันแย่อย่างไร แต่ไม่จำหรือไม่ได้มองว่าโอกาสที่พลาดไปก่อนหน้านั้นคืออะไร ช่วงเวลาอื่น ๆ มีอะไรดี ๆ บ้าง ในตอนนั้นอาจมองหรือคิดว่า มันไม่ใช่โอกาส เหล่านี้แค่สะท้อนว่า หากระลึกได้จริง ๆ เราเคยได้โอกาสดี ๆ มาก่อนจะแย่หลายครั้ง
บางคนเข้าใจและมีประสบการณ์อยู่แล้วในเรื่องนี้ หรือหากทบทวนจากที่เขียนไปก็อาจทำให้นึกได้ ที่จริงแล้วชีวิตของเรานั้นเคยมีขึ้นและแน่นอนย่อมเคยมีลง
ครั้งหนึ่งผมก็เคยรู้สึกว่าชีวิตไม่เคยมีขึ้น มีแต่เสมอตัวกับลง ภายหล้งเข้าใจได้ว่าตอนที่เราเรียกว่าเสมอตัวนี่เอง มันอาจเคยมีบันไดขึ้นไปขั้นหนึ่ง มันอาจจะมีก้าวที่ดีก้าวหนึ่งที่น่าจะก้าวไป แต่เราปฏิเสธปิดทางและไม่ยอมไปต่อ เมื่ออยู่กับที่นานเข้า มันก็เหมือนเรารอเวลาที่จะถอยลงมา ซึ่งในตอนนั้นเองเราก็ หลง อยู่เหมือนกัน คิดว่าเราพอดีแล้ว เราอยู่ได้ เราพอใจแล้ว เราไม่ต้องก้าวหน้า เราไม่ต้องดิ้นรนก้าวขึ้นไป นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมภายหลังชีวิตเราจึงตกลงมาอีก
ลงแล้วก็ยังหลง
เชื่อหรือไม่ว่า คนที่ชีวิตชักหน้าไม่ถึงหลังนั้น ก็หลงไปกับบางอย่างได้เหมือนกัน เพราะเวลาที่คนเรากำลังแย่ โดยปกติเราน่าจะคิดในทำนองว่า “นี่คือชีวิตที่แย่แล้วนะ ควรต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว..”
แต่ไม่เลย.. คนที่อยู่ภาวะนี้บ่อย ๆ เขาไม่ได้เดือดร้อนใจจริงจัง เช่น เมื่อคนเป็นหนี้ได้ แล้วใช้หนี้ได้ วนไปเรื่อย ๆ เขาก็ชะล่าใจว่า เอาตัวรอดได้น่า.. ไม่เป็นไร อาจมีที่รู้สึกเดือดร้อนขึ้นมาบ้าง ก็จะเป็นเพียงชความรู้สึกชั่วครู่ชั่วคราว เพราะถ้าเป็นเรา อะไรที่เดือดร้อนจริง ๆ เราจะยอมให้สิ่งนั้นเกิดซ้ำ ๆ ไหม? นี่จึงเป็นเรื่องแปลกที่คนในภาวะ “ชีวิตขาลง” แต่ยังคงไม่ดิ้นรนได้เหมือนกัน เพราะหลงคิดว่าจะมีอะไรมานำพาให้รอดไปได้คล้ายที่ผ่านมา… จนในที่สุดเอาตัวรอดไม่ได้แล้วนั่นแหละก็โทษเรื่องอื่นต่อไป ทั้งที่ตอนเริ่มขาลงก็ยังหลงไม่รู้ตัว
หลายคนไม่เชื่อว่า ชีวิตที่ไม่ก้าวหน้าคือรอวันถอยหลัง เพราะเมื่อมันหนักเข้าจริง ๆ ก็โทษสิ่งอื่น เช่น โชคชะตา ดวง หรือปัจจัยรอบข้าง อะไรก็ตาม คงยกตัวอย่างไม่ได้อย่างละเอียด เพราะแต่ละคนก็มีรูปแบบชีวิตที่แตกต่างกัน เพียงหากลองนึกดูว่าที่จริงแล้ว ในภาวะที่เรายังไม่เป็นขาขึ้น ยังไม่ก้าวหน้า แต่ไม่เดือดร้อน มันยากที่จะรู้ตัวว่าเราไม่พยายามอะไรเลย หรือกำลังประมาทอยู่ อาจจะหลงระเริงอยู่ด้วยว่า เราเพียงพอ เอาตัวรอดได้ มันคิดเท่านั้นจริง ๆ ผมเองก็เคยเป็นเช่นนั้นจนในที่สุดวันหนึ่ง..
เมื่อมองไปรอบ ๆ อย่างพิจารณา นี่เรายังกระจอกอยู่มากนัก เราไม่เก่งเอาเสียเลย ยังโง่อยู่อีกหลายเรื่อง… อะไรทำให้คิดแบบนี้? ทั้งที่แง่ของจิตวิทยาเชิงบวกเขาบอกว่า เราควรที่จะคิดว่า เราเก่ง เราทำได้ และเราสามารถเป็นไปได้อย่างที่ใจคิด การที่จะบอกตัวเองว่าเรากระจอก เราไม่เอาไหน เป็นการผิดต่อสมอง และจิตใจ
ประเด็นคือมันไม่ใช่ภาวะที่เรารู้สึกลบ หรือกำลังตำหนิตัวเองอยู่ เพราะการที่ผมคิดว่า “เรายังไม่เอาไหน” นั้น มันทำให้เรามองตัวเองใหม่ในความเป็นจริง และมองเห็นว่าในสิ่งใดที่เรายังพร่อง เรายังต้องเติม เรายังต้องทำ โดยดูจากผลลัพธ์จริง ๆ ในวันนี้ต่างหาก ไม่ใช่มองแต่สิ่งที่ตัวเองมี มองแต่สิ่งที่ตัวเองเก่งแล้ว เพราะถ้ามองแค่นั้น เราก็จะได้ผลลัพธ์แค่นั้นนั่นเอง เช่นถ้ายังไม่ก้าวหน้าก็แสดงว่ายังเก่งไม่พอ หรือการที่ยอมรับตัวเองให้ชัด ๆ มันก็แค่ เรายังจน เราก็ต้องหาเงิน ไม่มีความหลง ไม่มีความท้อ มาเกี่ยวข้องบนความคิดเช่นนี้ มีแต่แง่ที่จะบอกว่า เราต้องทำอะไร หรือควรทำอะไรตามความเป็นจริง
ตัวอย่างเรื่องเงิน เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายและเห็นภาพได้ดี ที่จริงก็ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่เงินมันชัดเจน เพราะหลายคนมีเงินก็หลงไป หลายคนไม่มีเงิน ก็หลงไปทำเรื่องอื่นแทนที่จะหาเงินอีกแน่ะ มันไม่มีความพอดี
ไม่ใช่แค่ช่วงขาลงแล้วต้องยอมรับ ช่วงที่ชีวิตดีขึ้น ก้าวหน้า เติบโต ผมเองก็เคยหลงระเริงกับมันอยู่พักหนึ่ง เพราะชีวิตไม่เคยประสบความสำเร็จแบบนี้ ชีวิตที่ไม่เคยคิดว่าจะมายืนจุดนี้ แน่นอนเราก็เชื่อว่าเราปฏิบัติมาถูกทางแล้ว เราก็เชื่อว่าเราเก่งแล้ว เราเชื่อว่าเข้าใจแล้ว มันก็ไม่ได้ผิดอะไรเพียงแต่ว่า เรากลับไม่ได้คิดรักษาเอาไว้ หรือเรามองมันง่ายเกินไป นี่แหละ “ขึ้นแล้วหลง”
หลาย ๆ ครั้งของชีวิตมันจะมีช่วงที่ชีวิตก้าวกระโดด เหมือนได้ขึ้นไปสู่ที่สูงของหอคอย แน่นอนว่าเรามีสิทธิ์ที่จะตักตวงช่วงเวลานั้น แต่ถ้าหลงมันเกินไป จนลืมมองว่าฐานหอคอยนั้นมันไม่ได้แข็งแรง มัวแต่สุขใจรับลมชมวิว วันดีคืนดี มันพังครืนลงมา ก็เจ็บตัว
เพราะชีวิตคนเราพลาดได้ทั้งขาขึ้นและขาลง นี่จึงเป็นที่มาของ “ขึ้นอย่าหลงลงอย่าท้อ” เวลาที่เราขึ้นนั้น ถ้าไม่หลงเสียก่อน เราก็จะประคองความสุขไปได้ เวลาที่เราลงถ้าไม่ท้อ เราก็แค่รู้ว่าต้องต่อสู้ต่อไป, สู้กับอะไร และทำไมต้องกลับขึ้นไปให้ได้ เพียงเรายอมรับและเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องปกติที่จะต้องมี ขึ้น ลง..
หากขึ้นไม่หลง จังหวะลงจะไม่แรง ไม่หนักหนา หรือบางทีไม่เป็นอะไร เพราะรองรับไว้ดีแล้ว แม้แต่มันซวย ลงมาหนักจริง ๆ มันก็ขึ้นไปใหม่ได้ เพราะเรารู้ว่าขึ้นไปอย่างไร ไม่จำเป็นต้องท้อ
ดีที่สุดเมื่อรู้ตัว ยามขึ้น และพร้อมยามลง เพราะชีวิต ย่อมมี ขึ้น ลง
แต่ก็อย่าลืม ถ้าลงแล้วไม่ได้ท้อ แต่หลง คล้ายที่กล่าวข้างต้น คิดเอาว่า แค่นี้ก็พอใจ อยู่ได้ รับได้ เมื่อก่อนเคยดีมาแล้ว เคยมีมาแล้วตอนนี้ไม่มีไม่เป็นไร.. มุมหนึ่ง ก็เป็นเรื่องดี ถ้าเราพอดี พอใจในวันนี้ แต่ลองสังเกตดี ๆ คนที่พอใจจริง ๆ จะไม่เอาความภาคภูมิใจเก่า ๆ มาเล่า ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า เพราะเขาทำอีกไม่ได้แล้วนั่นเอง..
“ขึ้นอย่าหลง ลงอย่าท้อ” ยังคงเป็นประโยคที่ผมเตือนตนเองเสมอจนถึงปัจจุบัน สำหรับใครที่ชีวิตขาลง และหลงจนคิดว่าไปไกลสุดกู่ ข้อดีคือเราคงลงไปไม่ได้มากกว่านี้แล้ว อย่าปล่อยปลงจนท้อใจไปเลยแค่นั้นเอง ส่วนใครกำลังขึ้นนั้น โชคดีถ้าได้ผ่านมาอ่านก่อนที่จะหลงไป เพราะสิ่งที่เรามีวันนี้อาจอยู่กับเราไปอีกไม่นาน แต่ถ้าปรับใจได้ เข้าใจ ดูแลอะไร ๆ ได้ดี ชีวิตที่ขึ้นไปได้เรื่อย ๆ อย่างมั่นคง คงเป็นชีวิตที่ใครหลายคนต้องการ เป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ
บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 26/7/2019