วาทะกรรมประมาณว่า “ถ้าเงินซื้อความสุขไม่ได้ งั้นโอนมาให้(กู)เรา” ย่อมถูกใจคนส่วนใหญ่ โดยไม่เกี่ยวว่าลึก ๆ แล้ว จะเห็นด้วยหรือไม่ เหตุผลเบื้องต้นไม่ซับซ้อนอะไร ในเมื่อใคร ๆ ก็ยังต้องการเงินอยู่
เมื่อเรามองรอบ ๆ ตัวจะมีสักกี่คนที่มีเงินมากพอเหลือเฟือให้พูดว่า “เงินซื้อความสุขไม่ได้” อย่างเต็มปากเต็มคำ คนระดับเศรษฐีนั้นมีไม่กี่เปอร์เซ็นต์ อภิมหาเศรษฐี (รวยเกินพันล้านดอลล่าร์) มี 3 พันกว่าคน ขณะที่โลกมีประชากร 7 พันกว่าล้านคน (ปี ค.ศ.2021) คิดแบบคร่าว ๆ ได้เพียงประมาณ 0.0000004 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น
ซึ่งไม่ต้องระดับอภิมหาเศรษฐีก็ได้ อนุมานคร่าว ๆ เอาว่าแค่ว่า 1% คือคนที่มีเงินมากพอ ให้ซื้ออะไรได้สมใจอยาก ดังนั้นอีก 99% ย่อมเป็นผู้ที่ต้องการเงิน แม้นี่คือความเหลื่อมล้ำของสังคมที่หนักข้อขึ้นทุกวันจนทำให้หลายคนอาจดิ้นรนมากขึ้นเพื่อเงิน แต่ไม่ได้กำลังบอกว่า ทั้ง 99% นั้น จะเชื่อว่าเงินซื้อความสุขได้..
เงินซื้อความสุข(ไม่)ได้ ?
“มีเงินดีกว่าไม่มีเงิน” หรือ มีมากดีกว่ามีน้อย กล่าวแค่นี้คงไม่มีใครแย้งเป็นแน่ เพราะในคนที่พูดว่า เงินซื้อความสุขไม่ได้นั้น เขาก็ไม่ได้กำลังหมายความว่า “ไม่มีเงินแล้วจะสุขกว่า” เสียเมื่อไหร่ (ดังนั้นเขาไม่โอนให้เราหรอก 😛)
ในด้านหนึ่งก็ใช่ว่าต้องเป็นคนที่มี หรือเคยมีเงินมาก ๆ เท่านั้น จึงมีสิทธิ์มองว่า เงินซื้อความสุขไม่ได้ เช่นเดียวกับ ไม่ใช่แค่คนที่ไม่มีเงิน ขาดเงินเท่านั้นที่มองว่า เงินซื้อความสุขได้ เพราะในคนที่มีเงินเขาก็มองว่าเงินซื้อความสุขได้ก็มี
พูดไปก็ไม่จบก็เพราะ “ความสุขคนเราไม่เหมือนกัน” และไม่เท่านั้น ถ้าความสุขของบางคนคือ มีรถเท่ ๆ, ได้ใส่เครื่องประดับสวย ๆ, หรือเป็นสิ่งของต่าง แน่นอนเงินซื้อได้ แต่ถ้าความสุขของบางคนคือการได้เล่นกับลูก การได้เที่ยวป่า การได้ทำงานอดิเรก หรือ การถูกรัก เช่นนี้เงินซื้อไม่ได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อ
หากจะถามต่อว่าแล้วแบบนั้นมันสุขแท้หรือไม่ เรามิอาจตัดสินหรือเป็นอีกประเด็นก็ว่ากันไป เพราะความสุขคนเราไม่เหมือนกัน
นอกจากนั้น “ความสุข” คนเราก็มักมีมากกว่า 1 อย่าง ดังนั้นความสุขของคนหนึ่งคน บางเรื่อง เงินก็ซื้อได้ บางเรื่องก็ซื้อไม่ได้ เหล่านี้น่าจะพอเป็นคำตอบว่า เงินซื้อความสุขได้/ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าความสุขของคนนั้นเป็นแบบไหน…
เงินซื้อบางความสุขได้ และ บางความทุกข์ เงินช่วยอะไรไม่ได้
ทั้งนี้ในภาวะของผู้ที่พูดว่า “เงินซื้อความสุขไม่ได้” อาจหมายถึงเมื่อ “ทุกข์” เสียมากกว่า เช่นคนที่กำลังป่วยแบบไม่มีทางรักษา, คนที่สูญเสียสิ่งที่รักไป, คนที่อยากแก้ไขในสิ่งผิดให้กลับคืนมา, คนที่เคยใช้เงินไปผิดที่ผิดทาง และคนที่ไม่เคยรู้ว่า ที่จริงแล้วความสุขของตัวเองคืออะไร เมื่อเงินไม่สามารถแก้ไข หรือช่วยให้ออกจากภาวะทุกข์นั้นได้ เช่นนี้ เงินไม่มีความหมายจริง ๆ
เราจึงอาจกล่าวได้ว่า “เงินซื้อบางความสุขได้ และ บางความทุกข์ เงินช่วยอะไรไม่ได้” หรือไม่ก็ “เงินซื้อความสุขได้ แต่ทำให้เราพ้นทุกข์ไม่ได้” ขึ้นอยู่กับว่าสุขทุกข์ของใครคนนั้นเป็นอย่างไร
เงิน ความสุข และ ความทุกข์
เมื่อมีเงิน อาจมีสุข และ มีเงิน อาจไม่ต้องทุกข์
แต่ความสุข กับ ความทุกข์ เป็นคนละเรื่องกัน
ดังนั้น มีเงินอาจมีสุข แต่ก็อาจมีทุกข์ได้ หรือมีเงินอาจพ้นทุกข์ แต่ก็ใช่ว่าจะมีความสุข ได้เช่นกัน
ทุกข์ที่มาจาก “การขาด” ในสิ่งที่ซื้อได้ เมื่อเงินมากพอ ทุกข์ย่อมหายไป
สุขจากการ “ได้มา” ในสิ่งที่ซื้อได้ เมื่อเงินมากพอ อาจมีสุข
แต่ “การขาด” สิ่งใดย่อมมิใช่ความ “ไม่พอ” มิเช่นนั้น ซื้อเท่าไหร่ก็ไม่พ้นทุกข์
และหากการ “ได้มา” ในสิ่งที่หาใช่สุขแท้ไม่ ซื้อมาเท่าไหร่ ก็ไม่สุข เช่นกัน
หากถ้า “ความสุข คือการแค่ ไม่ทุกข์” นั่นอาจทำให้ ไม่รู้สึกขาด ไม่รู้สึกอยาก เงินมาก ก็ไม่จำเป็น…
ปล.คำว่า “มีเงิน” ในทีนี้เราคงทราบกันดีหมายถึง “มีเงินมาก ร่ำรวย” และคำว่า “ไม่มีเงิน” ย่อมหมายถึงไม่ได้มีมากมายร่ำรวย หากเป็นแบบ “ขัดสน” อันนั้นอย่างไรก็ย่อมทุกข์ในโลกปัจจุบัน ละไว้ในฐานที่เข้าใจ
บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 18/06/2021