Site icon Sirichaiwatt

ขอบคุณน้อยกว่า อภัยมากกว่า…

ถ้าบอกลอย ๆ ขึ้นมาว่า “เราควรขอบคุณให้น้อย..” คงอาจสงสัยว่า ที่จริงต้องควรขอบคุณให้มาก ๆ ไม่ใช่เหรอ? และกับประโยคที่ว่า “อภัยมากกว่า” หมายถึงอะไร อภัยเรื่องเดียวยังยากเลย มันก็ชวนให้อ่านแล้วสงสัย เพราะส่วนหนึ่งมันเป็นเรื่องของภาษา ที่เจตนาเขียนให้คิดไปต่าง ๆ กัน

บทความนี้เกิดจากแง่คิดหนึ่ง ที่คิดได้ในการเตรียมเนื้อหาเพื่อใช้บรรยาย (อีกแล้ว) หลักสูตรอบรมหัวหน้างาน ที่ในหลาย ๆ หลักสูตรของผมจะเป็น Soft skills อันหมายถึงทักษะที่ส่วนใหญ่สามารถใช้ได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันด้วย ทีนี้ยิ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวเท่าไหร่ เหมือนจะพูดง่าย แต่มันไม่ง่ายเลยที่คนเราจะตระหนักรู้ และเอาไปปฏิบัติ

จงขอบคุณให้น้อย

การขอบคุณไม่ว่าจะรู้สึกขอบคุณ หรือเพียงกล่าวคำขอบคุณเป็นสิ่งที่ดี ทีนี้ใน “ภาวะที่เราต้องขอบคุณ” ย่อมเกิดจากเราได้รับบางสิ่งบางอย่างจากใครคนหนึ่ง หรือสิ่งหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าเราเป็น “ผู้รับ” นั่นเอง..

ในทุก ๆ วัน หากเราอยู่กับใครมาก ๆ จะเป็นคนในครอบครัว หรือทำงานร่วมกับใครบ่อย ๆ แล้วต้อง “เป็นฝ่ายขอบคุณเสมอ” นั่นหมายความว่าเราเป็นผู้รับจากเขามากกว่า เขาต้องช่วยเหลือเรามากกว่า เลยเถิดไปถึงว่าเราอาจทำอะไรได้ไม่ค่อยดีประจำเขาต้องช่วยประจำ มีศักยภาพน้อยเกินไป ใช่ว่าจะเป็นความผิดเสียทีเดียว แต่จะดีกว่าถ้า…

หากเราเป็นฝ่ายขอบคุณให้น้อย และให้อีกฝ่ายเป็นฝ่ายขอบคุณเรามากกว่า นั่นย่อมหมายถึงเราทำในสิ่งที่มีค่า มีประโยชน์ต่อเขาได้มากกว่า หรืออย่างน้อยการที่ต่างฝ่ายต่างขอบคุณพอ ๆ กันก็เป็นเรื่องดี เพราะอยู่ในสถานะที่ต่างฝ่ายต่างได้ช่วยเหลือกัน

ทั้งนี้ คำว่าน้อยกว่า มากกว่า อาจไม่ใช่ปริมาณที่ชัดเจน หรือมากแบบต้องขอบคุณกันทุกวัน วันละหลายรอบ เพราะการที่ขอบคุณใครน้อยในที่นี้ ยังหมายถึงการที่เรา “ไม่ต้องคอยรอให้ใครมาช่วยเหลือ” ยืนด้วยตัวเองได้ พึงพาตัวเองได้ดีนั่นเอง

อ่อ! แต่ไม่ได้หมายความว่า เวลามีใครช่วยเหลืออะไร แล้วเราไม่รู้สึกขอบคุณ ก็คิดว่าตัวเองต้องขอบคุณน้อยแล้ว อันนี้ก็ไม่ใช่นะครับ…

อภัยมากกว่า

จากเรื่องแรกถ้าพอเข้าใจก็คงคิดได้ว่า “อภัยมากกว่า” นี้หมายถึงอะไร ก็ในทำนองเดียวกัน หากเราต้องทำตัวให้ใครคอยให้อภัยเรามาก ๆ ย่อมต้องหมายถึง “เราทำผิดต่อเขาบ่อย ๆ” อันที่จริงก็ดีมากแล้วที่รู้สึกผิดเป็น แต่จะดีกว่าหากไม่ต้องเกิดบ่อย ๆ เท่านั้นเอง

และในแต่ละวันที่ผ่านไป เราก็ควรเป็นฝ่ายอภัยมากกว่า คือ ปกติเราย่อมไม่พอใจหากใครทำผิดต่อเรา แต่มันก็ดีกว่าการใช้ชีวิตแบบ เราเป็นฝ่ายทำผิดต่อใคร ต่อคนอื่นมากกว่า หรืออยู่เรื่อย ๆ มิใช่หรือ?

หากเทียบกันแล้วในคนที่มีจิตสำนึกโดยส่วนใหญ่ ความรู้สึกผิดนั้นเราอาจลบเองได้ยาก เพราะไม่รู้ว่าอีกฝ่ายจะให้อภัยไหม แต่สำหรับการให้อภัยหากเราทำได้ เราจะไม่คาใจ และสิ่งเหล่านั้นไม่อาจเป็นตะกอนภายใต้จิตใจเรา ชีวิตที่อภัยได้กับชีวิตที่ต้องรู้สึกผิด โลกสดใสต่างกันโดยสิ้นเชิง

เป็นเพียงอีกหนึ่งบทความดี ๆ สั้น ๆ ที่ให้ทบทวนว่า

“จงขอบคุณให้น้อยกว่า ใครเขาต้องขอบคุณเรา จงอภัยให้มากกว่า.. ใครเขาต้องให้อภัยเรา”… ขอบคุณที่อ่านเว็บนี้นะครับ 🙂

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 21/12/2020

Exit mobile version