Site icon Sirichaiwatt

สร้างเป้าหมายชีวิต ด้วย Bucket list

ถ้าคุณรู้สึกว่า “เป้าหมายชีวิต” อีกแล้วหรือ คนเขียนเองก็แอบคิดเหมือนกัน แต่มันไม่ง่ายหรอกครับเรื่องนี้ และเชื่อว่า คนที่คิดเรื่องนี้ วางแผนเรื่องนี้จริง ๆ จะรู้ว่า “ไม่ง่าย” รวมถึง อาจไม่ดีพอ และ เปลี่ยนแปลงได้ นี่ก็เป็นอีกเพียง “แนวคิดหนึ่ง” ที่อาจเป็นประโยชน์ ที่สำคัญการมีเป้าหมาย หรือสร้างเป้าหมายชีวิตในบทความนี้ ถือได้ว่าเป็นรูปแบบ “เป้าหมายระยะยาว” และเช่นเคย จะเหมาะสมกับเราหรือไม่ อยู่ที่นำไปปรับใช้กัน เป็นอีกบทความสั้น ๆ ที่นำเสนอมาหวังว่าจะเกิดประโยชน์

Bucket list คืออะไร

บัค’คิท หรือ บัคเก็ต ลิสท์ แปลทื่อ ๆ ก็จะได้ว่า “รายชื่อถัง – ถังรายชื่อ” แต่ไม่ใช่เลย ที่มาคร่าว ๆ ของคำว่า Bucket (ถัง) และ List (รายการ) ซึ่งคำว่า List นั้นความหมายตรงตัว แต่ถังเจ้ากรรม มีที่มาจากประโยค Kick the bucket* (เตะถัง) ที่หมายถึง การตาย…

รวมความแล้ว Bucket list คือ “รายการที่อยากทำสำเร็จ หรือได้ทำก่อนที่จะตาย”

(*มีใครสงสัยเหมือนผมไหมว่า แล้วทำไม Kick the bucket จึงแปลว่าตาย ลองค้นดูก็มีหลายที่มา อันหนึ่งประมาณว่าคนที่แขวนคอตาย ก็ต้องไปยืนบนถังก่อนพอเอาคอคล้องกบเชือกแล้วก็เตะถังออกห้อยตัวเอง.. บ้างว่าในอดีต bucket หมายถึงราวโลหะแขวนสัตว์(ที่จับมาทำอาหาร) มันจะ(ดิ้น)เตะราวนี้ตอนมันกำลังจะตาย อะไรก็ช่างเถอะครับเขียนอธิบายแล้วรู้สึกว่า หดหู่กับคำว่าตายเกินไป)

ผมรู้จักคำนี้ครั้งแรกจากภาพยนตร์เรื่อง The bucket list ออกฉายปี ค.ศ. 2007 เป็นเรื่องราวของชาย 2 คนที่เป็นมะเร็งเจอกันในโรงพยาบาล เกิดตัดสินใจใช้ชีวิตที่เหลือ ตามรายการที่ตัวเองเขียน (ดารานำทั้ง 2 ผมชอบมากทั้งคู่ด้วย) เรื่องก็ประมาณนั้น…

ซึ่ง “อย่าปล่อยให้การ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา” เหมือนบทความที่เคยเขียนไว้ เพราะเราไม่รู้ว่า เจ็บ ตาย จะเกิดขึ้นเมื่อใด เหตุนี้แหละ พอเราคิดขึ้นมาจริง ๆ จะยิ่งมีแรงกระตุ้นทันที

เขียนสิ่งที่ต้องทำก่อนตาย และอยากทำ

วิธีการไม่ยากเลย มีหลักสำคัญประการเดียวคือ คุณตั้งใจและให้เวลาตัวเองคิดจริงจังแค่ไหน อีกครั้งที่ต้องบอกว่า พลังการ “เขียน” นั้น มีผลเชิงจิตวิทยาและสมองมาก เขียนที่หมายถึงหยิบดินสอ ปากกา เขียนลงไปจริง ๆ จะเขียนแปะข้างฝา หรือเขียนลงสมุดก็ว่ากันไป ขอให้ตั้งใจเขียนจริง ๆ ก็พอ

แม้ Bucket list ควรจะอิสระเป็นเรื่องของใครของมัน แต่ก็อาจต้องแบ่งให้ดีระหว่างเรื่องที่ “ต้องทำ” และ “อยากทำ” เรามีเป้าหมายชีวิตได้ทั้ง 2 ส่วน ซึ่งมันอาจสำคัญคนละแบบ เพียงแต่ควรแยกแยะให้ดี เพราะอาจมีผลต่อการลำดับความสำคัญตอนเราทำ

จะมีกี่ข้อก็ได้สุดแท้แต่ และแน่นอนเปลี่ยนแปลงได้ตลอด แต่ในหมวดที่ “ต้องทำ” ไม่ควรมีมากเกินไป ไม่งั้นแสดงว่าชีวิตเรากำลังวุ่ยวายสับสน โดยอาจแบ่งไปตามช่วงชีวิต เช่น คนวันรุ่นอาจมีคำว่า “เรียนให้จบ” อยู่ใน list ในรายการ แต่หากอยู่ในวัยทำงานคงไม่มีข้อนี้แล้ว

และไม่อาจมีเส้นแบ่งว่าเรื่องอะไรอยากทำ หรือ ต้องทำ เช่น ในคนอยากเที่ยวรอบโลก หลายคนอาจมองว่ามันไม่จำเป็น แต่คิดแทนกัน เห็นแย้งกันมันก็เท่านั้น เพราะถ้ามองว่าต้องตาย สุดท้ายอะไร ๆ ก็อาจไม่จำเป็น นี่จึงเป็นเรื่องของใครของมัน

อีกสิ่งที่สำคัญ “ต้องแยกแยะให้ได้ ไม่ก็รวมกันเสีย” เช่น เรามีเป้าหมายว่า อยากเที่ยวรอบโลกก่อนตาย และ มีเงินสำรองใช้ก่อนตาย สองสิ่งนี้อาจต้องใช้เงินทั้งคู่ เราจึงอาจแยกว่า มีเงินสำรอง เป็นสิ่ง “ต้องทำ” สำคัญกว่า ดังนี้เราก็เลยต้องระมัดระวังให้เที่ยวโดยไม่กระทบเงินสำรอง หรือไม่เช่นนั้นก็ “รวมกัน” ไป ว่าทั้งสองสิ่งน่าจะใช้เงินเท่าใด เป้าหมายก็จะคือเราหาเงินให้ได้ ปีละเท่านี้ เดือนละเท่านั้นไปเลย อีกด้าน ก็อาจเปลี่ยนเป็น เลือกทำงานที่ได้ไปรอบโลก เช่น เกี่ยวกับสายการบิน หรือท่องเที่ยว ขณะที่ทำงานก็ได้ไปรอบโลก ได้เงินมาก็เก็บสำรอง แบบนี้ก็ถือว่า รวมกันแล้วสิ่งที่ต้องทำได้คือ หางานที่ว่านั้นให้ได้เท่านั้นเอง

ที่สุดแล้ว ยกตัวอย่างมากแค่ไหนคงไม่ครอบคลุมเท่าเราลงมือเขียนเอง ไม่ดีก็เขียนใหม่ ไม่มีใครตัดสินแทนใครได้เสมอ มีเป้าหมายย่อมดีกว่าไม่มี นี่อาจเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราพัฒนาตนเองได้ ในมุมคิดหนึ่งว่า ก่อนตายอะไรคือสิ่งที่มีความหมาย หรือเราให้ความหมายชีวิตเราอย่างไร จงเขียนไว้เตือนใจ เตือนสติตนเอง ถ้าทำได้ดี ชีวิตนี้ไม่สูญเปล่าแน่นอน

ปล.ไม่ว่าเป้าหมายคุณจะเป็นอะไร หลายคนอาจเริ่มต้นด้วยตรงที่ว่า หาหนังเรื่อง Buket list มาดูดีกว่า :p

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 09/11/2020

Exit mobile version