Site icon Sirichaiwatt

อย่าโทษใคร ในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับเรา

เขียนเรื่องนี้หลังจากไปบรรยายให้บริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งก็เป็นอีกครั้งที่ผมพยายามพูดเรื่อง Feedback ในการบรรยายให้บุคลากรฟัง คำว่า Feedback ในที่นี้ ผมนึกคำไทยที่เหมาะสมไม่ออกในตอนนี้ แต่อย่างไรก็ตามถ้าให้อธิบาย มันคือการพูดสะท้อนบางสิ่งบางอย่างให้บุคคล คนหนึ่ง รับทราบ รับฟัง และผมบอกว่า มันเป็นเรื่องที่ยาก เพราะโดยนิสัยคนส่วนใหญ่ ไม่ค่อยยอมรับในสิ่งที่คนอื่นสะท้อนง่ายนัก

ขี้เกียจอ่าน กดฟังแทนก็ได้นะ [Podcast]

ผมยกตัวอย่างถามคนทั้งห้องประชุมว่า “ต่อให้เราสะท้อนในเชิงบวก ว่าหากเขาทำแบบนี้งานเขา ตัวเขาจะดีขึ้น คุณว่า เขาฟังไหม?” คำตอบคือไม่แน่ใจ และหลายคนส่ายหัว ต่างยอมรับว่ามันเป็นเรื่องที่ยาก แน่นอนว่านี่คือหนึ่งในปัญหาการทำงาน และในการดำเนินชีวิตร่วมกัน เพราะเมื่อมีการ feedback ความหมายแรกที่เกิดคือ “ต่อว่า” หรือตีความกันไปไม่ดี เช่น ตำหนิ ติ เตียน เป็นคำที่ไม่มีเชิงบวกเลย หลายคนรู้ดีว่า แม้กระทั่งการ “ให้ข้อมูลที่เป็นจริง” ก็อาจสะท้อนไปในสิ่งที่ “ไม่อยากยอมรับ?” หรือแม้จะบอกว่า ติเพื่อก่อ นั้น มันก็ “ติ” อยู่ดี

‘ความกลัวผิด’ อยู่ในเราทุกคนเป็นธรรมดา

เมื่อสิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้น “คนที่กลัวผิดมากกว่า” จะหาทางเลี่ยง หรือโยนก่อน ซึ่งในการกลัวผิดนี้ มีหลายประเด็น อาจกลัวผิดแบบโดนทำโทษ กระทั่ง กลัวผิดแบบ “คนอื่นจะมองตนไม่ดี” ในกรณีหลังนี้ บางที บางคน ไม่รู้ตัว

ช่วงหนึ่งของการทำงานฝ่ายบริหาร ผมมักถูกโยนให้เป็นคนผิดแบบขำ ๆ ทำนองว่า ถ้าเรื่องนี้ไม่เวิร์ค (ไม่ได้ผล) มันเป็นไอเดียของผม ซึ่งสำหรับผมแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ในฐานะเราเป็นฝ่ายบริหาร คิดดี ๆ อย่างไรเราก็มีส่วนผิด การคิดเช่นนี้ มุมหนึ่งก็ดี แต่อีกมุม บางทีกลายเป็นว่า ทั้งสิ้น ทั้งหมด เรายอมรับคนเดียว คนจึงอาจเชื่อว่าที่ผ่านมาเราผิด “คนเดียว” จริง ๆ หรือไม่ก็ไปสนับสนุนให้อีกคน “ผิดไม่เป็น”

สำหรับคนที่ไม่กลัวผิด ย่อมกล้ายอมรับในสิ่งที่เกิดอย่างไม่ต้องสงสัย แต่มันอาจไม่เสมอไป เพราะในที่นี้การ “ไม่กลัวผิด” นั้น บางทีมันขึ้นกับว่า “ผิดต่อใคร?” ด้วย เราอาจไม่กลัวผิดต่อเพื่อน แต่กลัวผิดต่อเจ้านาย ไม่กลัวผิดต่อเจ้านาย แต่กลัวผิดต่อลูกน้อง มันเกิดขึ้นได้หลายมิติ บางทีการกลัวผิดนี้ มันขึ้นอยู่กับว่า ใครมีอิทธิพลต่อชีวิตเรามากกว่ากัน..

สามีบางคนที่กล้านอกใจภรรยา ลึก ๆ อาจมีความเชื่ออยู่สองประการ หนึ่ง ภรรยาไม่กล้าเลิก หรือ สอง จับได้ก็ไม่กลัวเลิก(อยากเลิก) แน่นอนว่าภรรยาไม่มีอิทธิพลเหนือเขาโดยแท้จริง ในที่นี้กล่าวถึงการกลัวผิดก่อนจะทำ ไม่นับว่า รู้สึกผิดภายหลัง เสียใจภายหลัง

และแน่นอน ความมั่นใจว่า หรือคิดว่า คงไม่มีใครจับได้ในการทำผิดนั้น ย่อมทำให้ไม่กลัวผิด เช่นกัน

การไม่ยอมรับ feedback ส่งผลให้คนเราไม่อยาก feedback ไปด้วย เพราะเช่นดังกรณีเดิมเรื่องสามี ภรรยา ฝ่ายชายนอกใจ บางราย (ไม่ใช่ทุกราย) อาจเคยแสดงท่าทีให้เห็นว่า เขาไม่พอใจภรรยาเรื่องนั้น เรื่องนี้ แม้กระทั่งเรื่อง sex แต่การ feedback ว่าเขาต้องการมากขึ้น อาจทำให้เขาดูไม่ดี เช่นนี้ ก็ไม่กล้าพูดไป หรือถ้าเป็นเรื่องอื่น เช่น รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ไม่สวย ขี้เกียจ ไม่ทำงานบ้าน อะไรก็ตาม

ไม่กล้าพูดตรง ๆ แต่กล้าพูดกับคนอื่น

ดังที่บอกว่าส่วนหนึ่ง การกลัวผิดนี้ขึ้นอยู่กับที่ใครมีอิทธิพลต่อเขา บางคนนอกใจแม้กลัวภรรยา เชื่อหรือไม่ว่าแต่เขากล้าพูดให้เพื่อนฟัง ถึงไม่ใช่เรื่องนอกใจ หลาย ๆ คน ต้องระบายเรื่องที่บ้านให้คนอื่นฟัง เพราะคิดว่าพูดที่บ้านไปก็ไม่มีใครฟัง หรือทะเลาะกันเปล่า ๆ..

ผมอาจจะยกเรื่องนอกใจ หรือชีวิตคู่ มาเป็นตัวอย่าง ในที่นี้ก็ใช่ว่าจะตามนี้เสมอไป มันมีอีกหลายปัจจัย เช่น การเห็นแก่ตัว การเปลี่ยนไปของคนเรา หรืออื่น ๆ ถ้าเป็นเรื่องคนอื่น มันไม่สำคัญเลย ในบทความนี้กล่าวในลักษณะว่า หากเป็นเรื่องตัวเรา..

เพราะในความเป็นจริง เรื่องหรือเหตุการณ์ ที่มีความสัมพันธ์ของเราเกี่ยวข้อง ไม่มีทางเลยที่จะมีเพียงคนหนึ่งคนใด “ผิดคนเดียว” อาจจะพอวัดได้ว่า ผิดมาก ผิดน้อย นั่นก็เรื่องหนึ่ง อาจฟังดูเข้าใจยาก แต่ตรองดูจะเข้าใจว่า “ถ้าไม่มีผิดน้อย ก็อาจไม่เกิดผิดมากนั้น” ยกตัวอย่างได้ว่า คน ๆ หนึ่งไปทำอะไรไม่ดี โดยเรารู้ก่อน แต่ไม่ทัดทาน เช่นนี้ จริง ๆ เราก็มีส่วนผิดแต่ก็น้อยกว่าคนทำ ถือว่า “ผิดน้อย” แต่หากทัดทานได้ ผิดมากนั้นก็ไม่เกิด..

ยกตัวอย่างว่า เราเห็นแฟนของเรา กำลังซื้อของที่ไม่มีคุณภาพ แต่เราไม่คัดค้าน ทั้งที่รู้ว่าอาจเป็นปัญหา เมื่อเป็นปัญหาขึ้นมา เราจะโทษเขาว่า ซื้อของไม่ดูให้ดี ๆ เช่นนี้ไม่ได้ เพราะเราเองก็ไม่ทัดทานในทีแรก แม้จะอ้างว่า เตือนไป เขาก็ไม่ฟัง ก็ตาม..

นี่ยังคงเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะการทัดทาน มันก็คือ feedback ประการหนึ่ง ถ้าลงมือทำด้วยกัน แน่นอนชัดว่า มันยากที่จะโทษใครฝ่ายเดียวโดยตรง

พยายามคิดบวก แต่ได้ไม่ตลอด

ที่นี้ หลายคนรู้อยู่ว่า การ feedback หรือพูดความจริง ความเห็น ต่อใครคนหนึ่งนั้น ไม่เพียงเขาจะไม่เข้าใจ ไม่รับ เขาอาจยังไม่พอใจคุณอีกด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็จะมักเงียบ ไม่พูด ไม่สะท้อน อาจเรียกว่า พยายามคิดบวก ก็ว่าได้ ทว่า วันหนึ่งอาจมีปัจจัย ให้คุณหลุดอะไรออกไป ทีนี้กลายเป็นว่า มันหนักกว่าเก่า เพราะเขาไม่เคยได้ feedback จากคุณเลย เขาไม่เคยเหลียวมอง หรือรู้ในความคิดคุณเลย และอาจจะคิดว่าที่ผ่านมาก็ดี ตอนนี้คืออะไร? เช่นนี้ ใครผิด..

กรณีนี้หากยังคิดโทษเขา มันก็ผลลัพธ์เหมือนเดิม คือ ป่วยการ อยู่ดี ก็ไม่ได้บอกว่าเขาผิดไม่ได้ ทว่าผลลัพธ์อีกทาง ถ้าคุณรู้สึกแย่ นั่นก็หมายความว่า คุณเองก็ทำผิด พลาดไป ไม่ว่าเหตุผลนั้นจะคืออะไร คุณก็ผิดอยู่ในนั้น ไม่เช่นนั้น คุณคงไม่รู้สึก อาจต้องย้อนมองไปไกล ๆ เลยทีเดียว

ไป ๆ มา ๆ บทความนี้เหมือนจะเป็นเรื่อง feedback ไปเสียแล้ว อันที่จริงผมก็ยังคงอยากสะท้อนในมุมที่ว่า เพราะในทุกความสัมพันธ์ หากเรา feedback ไม่ดีผลเสียก็เกิด หากเราไม่เคย feedback ปล่อยผ่าน จนไปทำอย่างอื่น หรือปล่อยให้อะไร ๆ เกินเยียวยา ก็ต้องยอมรับว่า ผลที่เกิดขึ้นมา เรามีส่วนทั้งสิ้น

การหาข้อสรุปว่า ใครผิด ใครถูกนั้น บางทีมันก็พอชี้กันได้ แต่ถ้ามองกันอย่างที่เราไม่กลัวความผิด เราก็จะพบว่าแทบทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “ความสัมพันธ์ อันหมายถึงเราเกี่ยวข้อง” และเกิดปัญหา เรามีส่วนผิดอยู่ในนั้น อย่าโทษใครให้ป่วยการ..

แน่นอนไม่มีใครผิดทุกเรื่องฝ่ายเดียว แต่ดีที่สุดคือต้อง “ไม่กลัวผิด” ก่อนจึงพิจารณา กล้าที่จะยอมรับผลที่เกิดขึ้นให้ได้ แก้ไขต่อไป ไม่ใช่เพื่อใคร เพื่อตัวคุณเอง

ปล.ผมว่าเรื่องนี้อ่านยากสักหน่อย..

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 16/10/2019

Exit mobile version