ทุกคนล้วนต้องมีความปรารถนา หรือมีความอยากต่อสิ่งหนึ่ง แม้ “อยาก” คำนี้ พูดห้วน ๆ อาจฟังดูไม่ไพเราะ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราทุกคนล้วนมี ทั้งนี้อาจเคยได้ยินมาแล้วว่า ทัศนคติ มีผลต่อความสำเร็จ โดยความสำเร็จนี้เองที่เราอาจเรียกว่า เป้าหมาย แต่มันก็หมายถึง อยากได้, มี ในสิ่ง ๆ หนึ่ง ด้วยเช่นกัน
ฟังบทความนี้ในรูปแบบ Podcast ตามช่องทางเหล่านี้
สิ่งสำคัญประการหนึ่ง ในความต้องการนั้น แม้มันจะอยู่บน ทัศนคติที่ดี เป้าหมายที่ชัดเจน ทว่าบริบท หรือเงื่อนไขที่ทำให้มันไม่สำเร็จนั้น อาจเพราะว่ามัน อยากผิดเรื่อง หรือ ผิดวิสัยที่ควรจะเป็นต่อคน ๆ นั้น
หลายคนเชื่อใน กฎแรงดึงดูด พลังความเชื่อใดก็ตาม แล้วมันก็ไม่เป็นจริง ก็ไม่แปลกอะไร เพราะตรงนี่ ก็อธิบายได้อยู่ อีกทั้งสิ่งเหล่านี้มันมีวิทยาศาสตร์อธิบายไว้อยู่บ้างแล้ว เพียงแต่ความเชื่อเหล่านี้ก็คงคล้าย ส่วนผสมเครื่องสำอางค์ ที่เอาสรรพคุณอย่างหนึ่ง เชื่อถือได้ แต่ไปหลอกขายใหญ่โต ซึ่งก็ไม่ผิด แต่อาจไม่ได้ผลตามที่ใจคิด เท่านั้นเอง.. (อะไรก็ตามจะไม่พูดเรื่องนี้ในวันนี้)
อะไรที่เรียกว่าอยากผิดที่ ทั้งที่คุณมีแรงบันดาลใจ ปรับใจอะไรก็ตาม แล้วไม่ได้ผล ไม่ได้สมใจอยากเสียที ผมขอยกตัวอย่างที่ง่าย และชัดเจน เช่นว่า ความ “อยากรวย”
มีใครบ้างไม่อยากรวย แต่อยากรวยแล้วทำไมไม่รวย?
อยากรวยนี่ผิดอะไร? ตอบว่า ไม่ผิดเลย ผมก็อยากรวย ถ้าพูดในกันโดยทั่วไป แต่เมื่อคุณไม่เคยโฟกัส หรือใส่ใจจริงจังกับความอยากรวย มันจะรวยได้ไง (เหมือนกฎแรงดึงดูดเลยไหม) อย่าเพิ่งด่วนสรุป มันก็ไม่ใช่แค่นั้น อาจมีคนอ่านตรงนี้แล้วบอกว่า คิดทุกวันเลย “อยากรวย” เนี่ย นี่แหละครับ อยากผิดที่..
ที่จริงความอยากรวย เป็นเพียงนามธรรม หรืออะไรที่จับต้องไม่ได้ ถ้าคุณเปลี่ยนใหม่เป็น “อยากมีเงินเยอะ ๆ” จะเริ่มมีความเป็นไปได้ ทีนี้โดยระบบสมอง ความนึกคิด คุณจะเปลี่ยนไป
ผมจะไม่เอาหลักการอะไรมาอธิบาย แต่เชื่อว่า ตัวอย่างที่จะยกต่อไปนี้ ทำให้คุณเห็นภาพมันชัดเจนมากขึ้น..
ความอยากรวย มักทำให้คนส่วนใหญ่ อยากถูกหวย อยากรวยลัด เล่นพนัน หาช่องทาง และถูกหลอกคำโฆษณาที่ผสมคำว่า “รวย” อยู่ในนั้น
ความอยากมีเงิน มันก็เป็นไปได้เหมือนรวย แต่อีกส่วนมันจะทำให้คิดว่า จะหาเงินจากไหน ทำอะไร ทำอย่างไรให้ได้เพิ่มอีก ทำอะไรได้เงินเยอะ ๆ แม้จะคล้ายกัน แต่วิธีการคิดมันจะเริ่มต่างกัน และที่คล้ายกันมันก็ไม่แปลก เพราะจริง ๆ แล้วคือเรื่องเดียวกันถูกไหมล่ะครับ
เพียงแต่การคิดอีกแบบมันย่อมทำให้สะท้อนไปได้ ในอีกทางที่สร้างสรรค์ หรือจับต้องได้ เช่น งานที่ทำนี้ คงไม่ได้เงินเยอะ (มันก็จริงในหลายครั้ง) เมื่อเป็นเช่นนี้ ความคิดจะเริ่มมองหาสิ่งใหม่ ก็เกิดขึ้น ซึ่งมักเป็นจุดเริ่มต้นของคนรวย(กว่าเดิม) หลายคน เพราะดังที่รู้ ทำเหมือนเดิม ผลลัพธ์ เท่าเดิม จะให้มากกว่าเดิมเป็นไปไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณบอกว่า ไม่จริงหรอก ผม/ฉัน ก็อยากมีเงิน ไม่เห็นจะมีอะไรดีขึ้น นั่นเป็นเพราะ “คุณอยากไม่จริง” อยากชั่วครั้งคราว แล้วก็เอาไปเวลาไปใช้เงิน หรือสนใจเรื่องที่.. ไม่ได้เงิน ไม่ต่างกับอยากรวย แม้อยากได้บ่อยกว่า แต่อยากแบบลม ๆ แล้ง ๆ อยู่ดี
นั่นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง มาดูอีกตัวอย่างที่ชัดเจนตามยุคสมัย เช่น อยากผอม? อ่านมาตรงนี้อาจคิดตามว่า ถ้าไม่ใช่อยากผอมแล้วอยากอะไร
“อยากผอม, อยากน้ำหนักลด.. หรือ อยากกินให้หน่อยลง..”
หรือ อยากกินของอร่อย ! และของอร่อยมักอุดมไปด้วยสิ่งที่ทำให้อ้วนง่าย ความอยากที่ผิดนั้น ไม่เพียงอยากผิดความหมาย แต่ ความอยากที่ย้อนแย้งกัน มันก็ผิด คุณ “อยากผอม” แต่ “อยากกิน” มันยิ่งใหญ่กว่านัก แบบนี้มันจะดีได้อย่างไร มันก็คืออยากผอมไม่จริงอยู่ดี
“แม้กระทั่ง อยากผอม = อยากออกกำลังกาย นี่ก็ไปกันใหญ่ ทำตัวเองลำบาก”
ผมไม่ได้บอกว่า อยากผอมแล้วออกกำลังกายไม่ดีนะครับ ที่จริงดีมาก แต่ในเรื่องนี้คุณไม่ได้อยากสุขภาพดี คุณอยากผอม การแค่ลดน้ำหนักนั้น มันควบคุมการกินก็ลดได้มากโขแล้ว ว่ากันตามหลักเป็นส่วนช่วยมากกว่าออกกำลังกายด้วยซ้ำ แต่การออกกำลังกายทำให้กล้ามเนื้อไม่เหี่ยว ผอมแล้วดูดี หรือบางที น้ำหนักไม่ลดหรอกนะ แต่หุ่นดีขึ้น ด้วยไขมันเปลี่ยนเป็นกล้ามเนื้อ มวลน้ำหนักไม่ลดนั่นเอง ไอตรงนี้ ก็ผิดอีก “ออกกำลังกายไม่เห็นน้ำหนักลดเลย”
อยากมีแฟนดี แต่ชอบทำตัวงี่เง่า..
อยากมีคนรักเยอะ ๆ ก็เลยจ้องว่าใครบ้างที่ไม่รัก..
อยากให้เขารักเราคนเดียว อยากสำคัญ แต่ทำตัวไร้ค่า หึงหวงวิ่งไล่ตาม นั่นแสดงว่าเขามีค่ามากกว่าเรา แล้วเราสำคัญตรงไหนแบบนี้
อยากได้งานดี ๆ อยากได้เงินเดือนเยอะ ๆ วันนี้พัฒนาตัวเองตรงไหน มันควร “อยากเก่งขึ้น” ก่อนไหม
อยากเขียนหนังสือ แต่อยายามจะคิดให้มันจบในหัว ไม่ลงมือเขียน เปลี่ยนเป็น “อยากเขียนเยอะ ๆ” ดูก่อนก็ดี
อยากผิด ย่อมส่งผลให้ คิดผิด และ ทำผิด ๆ ต่อไป ถึงตรงนี้คงหายสงสัย ทำไมอยากอะไรแล้วไม่เคยได้ดังหวัง ก็มัวนั่งอยากผิด ๆ อยู่นี่ไง
(แถมท้าย การตั้งเป้าหมายแบบ S.M.A.R.T. ล่ะ นั่นก็มีประโยชน์มากมายครับ แต่ในบทความนี้อยากชี้ให้เห็นเชิงทัศนคติต่อความคิดตั้งต้น)
บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 29/05/2019