Site icon Sirichaiwatt

“มืออาชีพ” ไม่ใช่แค่มีอาชีพ

คำว่า “มืออาชีพ” เบื้องต้นเราคงนึกถึงคนที่ ดูเก่ง, คล่องแคล่ว, หรือดูตั้งใจ ยิ่งถ้าประสบหน้างานหรือเหตุการณ์หนึ่งจะทำให้เรารู้สึกได้ทันทีว่าคนไหนทำงานมืออาชีพ หรือคนนี้เป็นมืออาชีพมาก แต่พอมาคิดดูเราอาจไม่เคยมีกรอบเลยว่า มืออาชีพจริง ๆ ควรมีคุณสมบัติอะไร?.

เพราะมืออาชีพที่หากเป็นภาษาอังกฤษมักใช้คำว่า Professional โดยส่วนตัวแล้วในเชิงภาษาไทยของเราดูจะมีอะไรมากกว่า ลองมาทบทวนกันดูว่า มืออาชีพควรเป็นอย่างไร

มืออาชีพ ไม่ใช่เรื่องเก่ง มีความรู้มาก หรือแค่ความตั้งใจ

สิ่งแรกที่รู้สึกได้หากจะชี้ชัดว่าใครเป็นมืออาชีพหรือไม่นั้น ย่อมเกิดเมื่อได้ร่วมงาน, ประสานงานกัน หรือมีประสบการณ์ร่วมกัน เหล่านั้นทำให้เราพบว่า บางทีคนที่มองว่า”เก่ง” พอร่วมงานด้วยก็ไม่มืออาชีพเอาเสียเลย หรือเขาน่าจะ “รู้” ในบางเรื่องแต่กลับไม่รู้ หรือแม้ว่าจะดู “ตั้งใจ” พยายาม แต่กลับแก้ปัญหาไม่ได้ จบงานไม่ได้ ไปกระทั่งแย่ลง  นี่จึงเป็นเหตุว่า มืออาชีพ ไม่ใช่เรื่องเก่ง มีความรู้มาก หรือแค่ความตั้งใจ มืออาชีพจะมีบางสิ่งที่สะท้อนมาให้สัมผัสได้ และโดยส่วนตัวแล้วนี่คือคุณสมบัติของมืออาชีพ

มืออาชีพ คือ?

“คนที่พร้อม และ คนที่เข้าใจ” นี่เป็นการสรุปแบบกระชับเพียง 2 ประการเท่านั้นสำหรับคนที่เป็นมืออาชีพ และสามารถขยายความในคำว่า “ความพร้อม” และ “ความเข้าใจ” แต่ละส่วนกันดังนี้

ความพร้อม (1) วางแผนเตรียมแผนมาดี : นี่คือสิ่งแรกที่เราจะได้รับจากคนที่ชื่อว่าเป็นมืออาชีพ เพราะเขาย่อมมีประสบการณ์มาประมาณหนึ่ง หรือไม่เช่นนั้นก็สามารถที่จะประเมินได้ว่าอะไรอาจจะเกิดขึ้นบ้าง คนที่ไม่วางแผน มาเจอหน้างานแล้วเพิ่งคิด หรือเพิ่งมาบอก มาถามรายละเอียด รวมถึงเรื่องของ เวลา ก็ไม่ชัดเจน เมื่อขาดการวางแผนย่อมทำให้ขาดความพร้อมในหลายด้าน เช่นนี้เราไม่มีวันมองว่าเขาเป็นมืออาชีพได้เลย

ความพร้อม (2) พร้อมรับสถานการณ์ : มีหลายสถานการณ์ที่ในการทำงานหนึ่งอาจมีข้อมูลมาให้น้อยมาก วางแผนได้ยาก แต่มืออาชีพก็จะแสดงถึงความพร้อมในการรับมือ ตั้งแต่อุปกรณ์ เครื่องมือ ทีมงาน แม้ในภาวะที่เกิดจากปัจจัยที่ไม่คาดคิด ผู้ที่ตัดสินใจหน้างานได้ดี ก็จะช่วยวัดความเป็นมืออาชีพชัดเจน แม้ว่าจะใช้เวลามาก หรือผลลัพธ์อาจไม่สมบูรณ์ด้วยปัจจัยที่เปลี่ยนแปลง แต่มืออาชีพจะไม่หนีปัญหา หรือไม่มีทางออก เพราะถ้ามันไม่ได้จริง ๆ เขาก็จะประเมินสถานการณ์ได้ไม่ใช่ดันทุรังเพื่อเอาชนะ…

ความพร้อม (3) เรียนรู้ : ทั้งการวางแผนและสถานการณ์ต่าง ๆ ในการทำงาน จาก 2 ข้อแรก ทำให้มืออาชีพพัฒนาตัวเองในเรื่องนั้น ๆ ต่อไป เพราะยิ่งเขาเผชิญปัญหา เขาย่อมรู้ว่าสิ่งที่เขาเคยรู้นั้นมันอาจไม่เพียงพอ ดังนั้นมืออาชีพจึงไม่ใช่คนเก่งที่สุด รู้ดีที่สุดเสมอได้ตลอดเวลา ย่อมมีปัจจัยที่ต่างออกไปบ้าง และในส่วนนี้เอง “ประสบการณ์” จึงเป็นองค์ประกอบความเป็นมืออาชีพได้มาก แต่หากผ่านหลายประสบการณ์แต่ไม่เคยเรียนรู้ก็ไร้ประโยชน์ ที่สุดแล้วใครที่แก้ปัญหายาก ๆ ให้เราจนได้ เรามักมองว่าเขานี่แหละมีความเป็นมืออาชีพ ไม่มากก็น้อย

โดยรวมแล้ว “ความพร้อม” คือตัวแทนแสดงพื้นฐานของมืออาชีพได้ดี เพราะเชื่อว่า การเตรียมตัว เครื่องมือที่นำมา หรือองค์ความรู้ในตอนที่รับฟังปัญหา การหาทางออก มันก็บอกเราได้แล้วว่า ใครมืออาชีพ หรือไม่มืออาชีพ แต่เท่านี้อาจยังไม่พอมืออาชีพต้องมี “ความเข้าใจ” ร่วมด้วย

ความเข้าใจ (1) การประสานงาน : สิ่งแรกของความเข้าใจจะสะท้อนมาจากการ “รับฟัง” ไม่ว่าจะเป็นการมอบหมาย หรือการเข้าไปแก้ปัญหา มืออาชีพจะรู้ว่าต้องวางแผนในลำดับต่อไป ดังนั้นเขาย่อมต้องเปิดรับข้อมูลให้มากที่สุด การสื่อสารจึงสำคัญ อีกทั้งคนเป็นมืออาชีพย่อมทราบดีว่าหลายงานไม่อาจสำเร็จหรือแก้ได้ด้วยตัวเองคนเดียว หรือหลาย ๆ งาน มีปัจจัยมากกว่าส่วนที่ตนรับผิดชอบเพียงส่วนเดียว ดังนั้นแล้วคนเป็นมืออาชีพ ต้องมีความเข้าใจในการประสานงาน ดึงทรัพยากรที่ดีที่สุดออกมาให้ได้ แม้จะไม่ได้รับความร่วมมือ หรือถูกปิดกั้นก็ตาม

ความเข้าใจ (2) ในจรรยาบรรณ : เป็นอีกสิ่งที่มืออาชีพจะได้รับการยอมรับ นอกจากมีศีลธรรมไม่โกง ไม่หมกเม็ด มีความรับผิดชอบแล้ว การเคารพผู้อื่น อาชีพอื่น เช่นไม่ไปเก่งข้ามสายงาน ไม่ดูถูกงานคนอื่น ไม่กล่าวโทษง่าย ๆ และไม่แย่งผลงาน สิ่งนี้อาจไม่ได้ส่งผลทันที แต่ชื่อเสียงการยอมรับจะค่อย ๆ ตามมาทำให้อยู่ในวงการนั้นได้ยาวนาน และนั่นย่อมถูกเรียกว่า “มืออาชีพ”

ความเข้าใจ (3) อารมณ์ : นี่คือสิ่งสุดท้ายที่เราอาจได้เห็น หรือได้ประเมิน แต่เป็นสิ่งสำคัญที่อาจตัดสินความเป็นมืออาชีพได้แบบ ขาว เป็น ดำ เพราะหากไม่เข้าใจทั้งอารมณ์ของผู้อื่น รวมถึงควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ จะดี จะเก่งมากแค่ไหน ก็อาจจะพังได้แต่ต้นหรือตายตอนจบในที่สุด มืออาชีพย่อมที่จะรู้ว่าจะจัดการกับอารมณ์อย่างไร ตั้งแต่ก่อนเริ่มงานด้วยซ้ำไป เพราะหลายครั้งในการทำงาน อาจมีอารมณ์เกิดขึ้นมาก่อนแล้วเสมอโดยอย่างยิ่งในงานแก้ปัญหา ดังนั้นมืออาชีพจะมองที่สาเหตุของปัญหามากกว่าอารมณ์

ที่กล่าวไปคงพอเห็นถึงคุณสมบัติสำคัญของมืออาชีพที่หากคิดตามคงพอนึกออกได้ว่าเราเคยเจอสถานการณ์กับผู้คนหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่ผู้ร่วมงาน ผู้รับจ้าง กระทั่งนายจ้าง ที่หากมีแนวคิด พฤติกรรม หรือการทำงานไม่เป็นไปในตามข้อใด เราคงไม่มองว่าเขาเป็นมืออาชีพ

งานที่ดีคืองานที่ผิดพลาดน้อยที่สุด

ถ้าจะยกตัวอย่างหรือขยายความต่อ คงต้องกล่าวถึงอาชีพหนึ่งที่ผมมักพูดบ่อย ๆ ว่า คนเก่งในอาชีพนี้ ต้องมืออาชีพจริง ๆ เพราะต้องใช้ทักษะหลายประการจึงจะสามารถทำงานให้ออกมาดีเยี่ยม นั่นคือ ออแกไนเซอร์ (Organizer) หรือเหล่าผู้จัดการอีเว้นท์ เชื่อว่าถ้าคุณเคยจ้าง หรือเคยร่วมงานจะแยกออกชัดเจนว่า รายไหนพอได้ รายไหนไม่ได้ และรายไหน “มืออาชีพ”

กรณีเป็นออแกไนเซอร์งานแต่งอาจจะได้เปรียบเพราะได้จัดซ้ำ ๆ ในรูปแบบที่คล้ายคลึง ประสบการณ์จึงชี้วัดได้ง่าย แต่กับงานอีเว้นท์อื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่แล้วแทบไม่มีใครรู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง รูปร่างหน้าตาจะเหมือนที่วางแผนแค่ไหน การดำเนินงานจริงจะออกมาเป็นอย่างไร ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เต็มไปหมด จนงานที่ดีคืองานที่ผิดพลาดน้อยที่สุดเท่านั้น

ออแกไนเซอร์ ต้องประสานงานหลายส่วน บางครั้งทางซ้ายได้ ทางขวาไม่ยอม บางครั้งข้อจำกัดมีแบบนี้ แต่ลูกค้าจะเอาแบบนั้น ดังนั้นตั้งแต่เรื่องประสานงาน ไปจนเรื่องอารมณ์ หากเจอคนไม่เข้าใจ ก็พังตั้งแต่ยังไม่เริ่ม

และแน่นอนผลลัพธ์จาก ความพร้อม ของงานประเภทนี้สะท้อนออกมาได้อย่างชัดเจน เพราะปัญหาหรือความวุ่นวายมีตั้งแต่ยังไม่เริ่มงานเป็นเรื่องปกติ แล้วในวันงานจริงก็มีสิ่งที่ไม่ปกติก็เกิดขึ้นได้อีกอยู่ดี ดังนั้น ผู้ที่พร้อม ทีมที่พร้อมจะจัดงานได้ออกมาราบรื่น สวยงาม และแม้ว่าจะมีปัญหาต้องวิ่งวุ่นอยู่เบื้องหลัง แต่มืออาชีพจะไม่มีวันทำให้เจ้าของงาน หรือหน้างานรู้สึกได้เลยว่ามีอะไรไม่เป็นไปตามแผน

ถ้าเปรียบกับคน ๆ เดียวในการทำงาน ผู้เป็นมืออาชีพ ย่อมทำงานด้วยความพร้อมและมีการเตรียมการ ควบคุมตนเองได้ทั้งการแสดงออกและพฤติกรรม หากมีปัญหาก็จะพยายามมุ่งแก้ไข ไม่ใช่โวยวายหรือใช้อารมณ์ หวังงานสำเร็จได้ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังความสัมพันธ์ นี่จึงเป็นสิ่งที่ต่างกันระหว่างคนทำงาน “แบบมืออาชีพ หรือแค่มีอาชีพ”

Exit mobile version