ด้วยจากที่มีคำถาม ปัญหาชีวิต มีคำปรึกษามาบ่อยๆ จึงเปิดคอลัมน์ที่เรียกว่าเป็นเว็บคอลัมน์นี้ เกี่ยวกับปัญหาชีวิตต่างๆ ที่นำมาแบ่งปัน ช่วยกันหาคำตอบ โดยมีผมเสนอเพียงมุมมองหนึ่งให้ได้ลองคิด หรือต่อยอดกัน
คำถาม (ปัญหาชีวิต) : “คนมากมายเชื่อฟังฉัน แต่ทำไมคนใกล้ตัวดื้อกันจัง?”
เป็นคำถามที่เจ้าของคำถามรู้สึกว่าตนมีความรู้ มีความเชี่ยวชาญอยู่เรื่องหนึ่งพอสมควร เพียงแต่ว่าด้วยหน้าที่การงานไม่ได้อยู่กับครอบครัว และไม่ค่อยได้ติดต่อกันเท่าใดนัก(อันนี้สอบถามเพิ่มเติม) อยู่มาวันหนึ่งได้ยินปัญหาหนึ่งจากพี่น้อง เป็นเรื่องของคนในครอบครัว และเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่เขามีความรู้ ความเข้าใจพอสมควร เขาจึงพยายามช่วยเหลือด้วยการให้คำแนะนำ ปรากฏว่า คนในครอบครัวคนนั้นกลับไม่ฟังเขา ดื้อ(อายุราว 30-40) ในแบบไม่ต้าน แต่ไม่รับ ผลที่ตามมาคือปัญหานั้น ยังคงสะสม ไม่ดีขึ้น มีทีท่าว่าอาจจะแย่ลง
เขาบอกว่าเขาก็ยังพยายามบอกและอธิบายว่า เขานั้นรู้และมีประสบการณ์กับเรื่องพวกนี้มา คนในครอบครัวก็เหมือนจะฟัง ทว่าฟังแต่ไม่ทำ ผลก็ยังคงไม่ต่างจากเดิม ประเด็นที่เขาอยากรู้คือ ทำไมไม่ฟังเขา ทั้งที่เขาอยากจะให้ดีขึ้น
ความคิดเห็น :
คำถามจาก Inbox แรกก็เป็นเรื่องยากเลยนะครับ ทีนี้ปัญหาส่วนใหญ่นั้นมันอาจมีปัจจัยที่กว้าง ยากที่จะสรุปกันง่าย ผมจะวิเคราะห์โดยแยกแยะจากแต่ละมุมมองให้ดูก่อนครับ
- มุมเจ้าของปัญหา :
เป็นความคิด หรือสิ่งดีๆ ทั่วไปครับ ที่เห็นญาติ พี่น้อง หรือคนใกล้ตัวเดือดร้อน ย่อมอยากช่วย ไม่ว่าจะเป็น การให้คำปรึกษา แนะนำ หรือยื่นมือเข้าไปช่วย ตรงนี้ต้องมองนิดหนึ่งว่า “การช่วยมันก็มีหลายวิธี”
แง่ “ความเชื่อมั่น” ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นในความรู้ ความตั้งใจ หรือเจตนาของเจ้าของปัญหาก็ตาม ตรงนี้สร้าง “ความมั่นใจ” ที่ตามมาด้วยความหวังว่า “เขาจะมั่นใจในตัวเราด้วย” ในการให้ความช่วยเหลือครั้งนี้ เมื่อเขาไม่ฟัง มันก็คือ เขาไม่ยอมมั่นใจในเรา ทำให้เราอาจรู้สึกว่า ทำไมกันนะ หรือเสียความมั่นใจอยู่ลึกๆ โดยไม่รู้ตัวก็ได้ ประกอบกับทำไมเขาช่างไม่เห็นความตั้งใจ หรือเจตตา ต่างๆ ที่บอกไปเหล่านี้ นี่น่าจะคือส่วนความรู้สึกของเจ้าของปัญหาคร่าวๆ
- มุมคนในครอบครัวคนนั้น :
ซึ่งเขาย่อมมองได้สองด้านครับ คือด้านที่เขามองตัวเอง กับด้านที่เขามองคุณที่จะมาช่วยมาบอก– ด้านมองตัวเขาเอง
จริงๆ แล้วเขาแค่เป็นคนที่ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเองเลย ดังนั้นในความคิดเห็นต่างๆ ที่แนะนำ ไม่ใช่แค่จากคุณเจ้าของปัญหา ต่อให้คนอื่นแนะนำเขาก็รู้สึก โดยรู้ตัวหรือรู้ตัวหรือไม่ก็ได้ว่าแท้จริงแล้ว เขาทำไม่ได้ ไร้ความสามารถ ขาดความมั่นใจ เขาจึงไม่ได้ทำตาม ไม่ใช่ไม่อยากทำนะครับยังมีความเป็นไปได้อีกด้วยว่าหรืออีกส่วนเขาอาจเคยลองทำมาก่อนแล้วตามที่ได้รับคำแนะนำแต่มันไม่สำเร็จ (เขาเลยไม่เชื่อไงครับ เพราะทำแล้ว) ซึ่งแม้ว่า เขาอาจทำผิดวิธี ผิดขั้นตอนก็เป็นได้ มันเลยยังไม่สำเร็จ แต่มันก็คือสาเหตุที่ทำให้เขา “ไม่ทำตาม” หรือเหมือนไม่ฟังอีกประการอนึ่ง สำหรับบางคนมีความเอาแต่ใจอยู่ในตัว จะสอดคล้องดังที่บอกไปในมุมของเจ้าของปัญหาครับว่า สิ่งที่คุณเรียกว่า “ช่วย” คือการให้คำแนะนำนั้น เขาไม่ต้องการครับ เขาอาจต้องการให้ช่วยเลยในบางอย่าง เช่น ช่วยออกเงิน ช่วยหาของ ช่วยไปทำเรื่องหนึ่งๆ ให้เขาเลย เขามีแนวทางของเขาอยู่แล้ว ไม่ได้อยากได้คำแนะนำ เป็นต้น เรื่องนี้ มุมของเจ้าของปัญหาจะมองว่า มันแก้ปัญหาเขาได้หรือไม่ได้อีกเรื่องหนึ่งครับ อันนี้คือให้มองมุมของคนในครอบครัวคนนั้น ว่าเขาอาจคิดเช่นนี้– ด้านที่เขามองคุณ อาจแยกได้อีกว่า
เพราะไม่เห็น อันนี้ก็เป็นปัจจัยหลักที่เขาไม่ฟัง อาจเกิดจากยังไม่เคยเห็นผลงานจริงๆ คนเราผ่านอะไรมามากบางทีจะเชื่ออะไรยากครับ แม้จะออกตัว จะอ้างสรรพคุณแต่บางทีเขาก็ยังไม่เชื่อ “เพราะไม่เห็นกับตา” เป็นคุณล่ะครับก็อาจจะยังฟังหูไว้หูจริงไหมครับ รวมกับเขาอาจคิดหรือมองว่า “คุณไม่เห็น” ไม่รู้ปัญหาจริง สิ่งที่คุณพูดนั้นจะมารู้ดีกว่าเขาได้อย่างไรเพราะต่อต้าน เป็นไปได้ครับในความเป็นมนุษย์ ที่มี โลภ โกรธ หลง ความอิจฉา ก็เป็นสาเหตุลึกๆ ในใจครับ หากเขาก่อลึกๆ อยู่โดยแสดงออกหรือไม่นี้ เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน คนที่อิจฉาคนอื่นได้ จะมองคนแบบแบ่งชั้นครับ คือเขาอาจมองว่าคุณอยู่ชั้นสูงกว่าเขา (ถ้าไม่แยกชั้น หรือชั้นเดียวกันคนเราจะอิจฉาทำไม?) ทีนี้ยิ่งเขาอยู่ในสถานการณ์ที่แย่ และคุณยื่นมือไปช่วย มันยิ่งสะกิดต่อมครับ ว่าคนละชั้นกัน แม้คุณไม่คิดก็ตาม ตรงนี้เขาสามารถสร้างทิฐิลึกๆ ในใจอีกฝ่ายได้ ลองนึกภาพตามสิครับ มีคนที่ดีกว่าเราตลอด และเราอยากดีกว่าเข้าบ้าง ถ้าเขาต้องมาช่วยเราก็เหมือนเราด้อยอีกแล้ว ผิดอีกแล้ว เราย่อมไม่อยากได้ภาพนั้น ตรงนี้ก็เป็นส่วนที่อาจทำให้เขาต่อต้าน คำพูด คำแนะนำ หรือการช่วยจากคุณได้
สรุป :
จากที่แยกแยะ คุณต้องกลับไปลงรายละเอียดดูครับว่าคุณช่วยเขาด้วยใจที่วางหรือยังเป็นอันดับแรกครับ และจากนั้นดูครับว่าเขา ไม่ฟังไม่รับเกิดจากมุมมองแบบไหน จากเรา หรือจากตัวเขาเอง ถ้าจากที่เขามองเรา เราก็ใช้ Nominee หรือตัวแทนเอาก็ได้ครับ เช่น แง่ที่เขายังไม่เชื่อใจว่าคุณรู้จริง ก็อาจให้คนอื่นไปพูดให้เห็น หรือพิสูจน์ตัวคุณเองเพิ่มมากกว่าแค่พูด หรือคุณต้องลงไปฟัง รับปัญหาให้เขาเห็นว่าคุณรู้หมดแล้วจริงๆ
แต่ถ้ากรณี่ต่อต้าน แล้วคุณยังอยากช่วยจริงๆ ตรงนี้ก็ใช้ตัวแทนเช่นกัน ให้คนอื่นช่วยเขาครับ โดยคุณอยู่เบื้องหลังเขาจะได้ไม่ต่อต้าน และถ้าเป็นกรณีเขาขาดความมั่นใจก็ให้หลายๆ คนกระตุ้นก็ได้ สร้างความมั่นใจได้หลายๆ วิธี แต่ถ้าเขาแค่ต้องการให้คนช่วยบางอย่าง เช่น จริงๆ แค่ต้องการเงินทำนองนี้ อันนี้ก็ขึ้นอยู่ว่าจะช่วยหรือไม่ ดังที่บอกไปแต่แรกว่า การช่วยก็มีหลายวิธี ถ้าไม่อยากช่วยแบบนั้น เรื่องนั้น ก็ไม่ต้องหาวิธีอื่นหรอกครับ เขาไม่ต้องการ
คงพอได้มุมมองไปบ้าง คุณล่ะครับ มีมุมมองหรือแนวการแก้ปัญหาเรื่องนี้บ้างอย่างไร ลองช่วยกันวิเคราะห์ดูครับ
พบกันอาทิตย์ละคำถาม สำหรับผู้มีคำถามสามารถส่งคำถามที่ inbox FB คลิ๊กได้เลยครับ