Site icon Sirichaiwatt

หลอกตัวเองว่ามีความสุข แล้วจะสุขจริงหรือ

การหลอกตัวเองว่ามีความสุข นั้นไม่น่าจะใช่เรื่องที่ดี แต่.. (หากขี้เกียจอ่าน ข้ามไปอ่านบรรทัดสุดท้าย)

การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีไร้พรมแดนและสังคมออนไลน์ มีข้อดีที่ทำให้เราเห็นโลกที่กว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยแท้แล้วสิ่งเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์หากมีวิจารณญาณในการมอง สามารถทำให้เราเห็นผู้คนได้มากมายโดยไม่ต้องออกจากบ้าน ไม่ต้องไปไหนในไม่กี่นาที เราเห็นความแท้, ความทุกข์, อัตตา หรือปรารถนา แต่ละประเภทของผู้คนเหล่านั้น และเชื่อเหลือเกินว่า สังคมออนไลน์ สะท้อนคนที่เรารู้จักบ้าง ไม่รู้จักดีบ้าง ให้ได้เห็นในหลายอย่าง ในสิ่งที่เป็นสมัยก่อนเราคงยากจะรู้หากไม่คลุกคลี สนิทสนม

ฟังบทความนี้ในรูปแบบ Podcast ตามช่องทางเหล่านี้

สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องนี้คือ การที่เราได้เห็นหลายคนวนทุกข์กับเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ได้อย่างประหลาด คนที่พร่ำบ่นเรื่องไหน ก็มักจะพร่ำบ่นเรื่องนั้น, การงาน, การเงิน, ครอบครัว, ความโสด, แฟน, อกหัก อาจมีระยะได้ชดเชย กล่าวคือเงียบ ห่างจากเรื่องนี้ไปสักพัก แต่ไม่นานสิ่งเหล่านั้นมันก็จะกลับมาหาคน ๆ นั้นอีกครั้ง ทำไมกันนะ? เขาช่างดูไม่มีความสุขเลย..

เมื่อเราได้เห็นคนเหล่านี้ (หรือมันอาจเป็นเราเองอยู่ก็ได้) เวลาที่เขาเหล่านี้บ่นทุกข์ ย่อมมีคนเห็นใจ และในอีกด้าน เมื่อเขาบ่นวนซ้ำ นานไปก็ย่อมมีคนเบื่อเลิกเห็นใจ แต่ก็อาจมีคนใหม่ ๆ มาเห็นใจแทนช่วยเขาเติม วัฏ หรือวงเวียนทุกข์ของคนนั้น ๆ

จึงคิดในมุมหนึ่งว่า ถ้าบางทีถ้าเขาแสร้งว่ามีความสุขไปวัน ๆ บ้าง เขาอาจะมีความสุขกว่าเจตนาทุกข์ตลอดกาลเช่นนี้ก็เป็นได้..

“เจตนาทุกข์หรือ?” ใครอยากจะทุกข์กัน มันก็จริง…

หลอกตัวเองว่ามีความสุข ดีกว่าหลอกตัวเองให้มีความทุกข์ไปวัน ๆ

แต่หากถามหรือให้ทบทวนดูว่า คนที่ชอบพร่ำบ่นแต่ความทุกข์วน ๆ นั้น ชีวิตเขาหาความสุขไม่ได้แล้วหรือ? คำตอบคงไม่ใช่ เขาหาความสุขได้… ก็นี่ยังไง จะไม่ให้บอกว่า เจตนาทุกข์ได้อย่างไร ในเมื่อเขาหาความสุขได้ แต่กลับชอบเห็นแต่ทุกข์ หรือไม่ใช้คำว่า เจตนาทุกข์ก็ได้ แต่ก็คงเป็น “พยายาม” ทุกข์ แทน และแทนที่จะ “พยายามสุข” อีกด้วย

ย้ำทวนว่า เรากำลังพูดถึงคนที่ชอบบ่นทุกข์ อวดทุกข์ อาจเป็นเราเองหรือใครก็ตาม ที่ซึ่งบทความนี้อาจควรชื่อว่า “หลอกตัวเองว่ามีความสุข ดีกว่าหลอกตัวเองให้มีความทุกข์ไปวัน ๆ” ก็ได้อยู่เหมือนกัน

สิ่งที่ “ดีกว่า” ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องดีที่สุด

เชื่อหรือไม่ว่า เวลาเราเห็นทุกข์คนอื่น หลายครั้ง เราจะมองว่า ไม่เห็นจะต้องทุกข์ขนาดนั้นเลย แต่พอเป็นทุกข์ของเราเมื่อใด คนอื่นก็อาจมองกลับได้แบบนั้นเช่นกัน และในอีกด้าน…

เวลาเราเห็นคนอื่นมีความสุข เราก็อาจแอบคิดว่า มันสุขขนาดนั้นเลยหรือ ปลอมหรือเปล่า หลอกตัวเองหรือเปล่า เดี๋ยวก็ต้องทุกข์… และใช่ คนอื่นก็มองกลับมาได้เช่นกัน เวลาเรามีความสุข

นี่กำลังหมายถึงว่า ไม่ว่าเราจะแสดงออกไปในทางที่เราสุข หรือทุกข์ โดยจะจริง ปลอม เสแสร้ง ก็ตาม ก็ย่อมมีทั้งด้านที่เขาเชื่อ และไม่เชื่อ

แม้นั่นจะเป็นแง่ที่คนอื่นมองเรา หรือเรามองคนอื่น แต่ผู้กระทำก็มีสองทางเลือก ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกอะไร “และในเวลาที่เราเป็นทุกข์นั้น ระหว่าง พยายามแสดงว่าทุกข์ กับ แสร้งมีความสุข ทั้งที่มีทุกข์อยู่เบื้องหลัง” แบบไหนดีกว่ากัน? ซึ่งสิ่งที่ “ดีกว่า” ก็ไม่ได้ความว่าต้องดีที่สุด

อาจมีที่เราก็คิด, รู้สึก, มองว่า เราไม่ได้แสร้งทั้งสิ้น บางคนทุกข์มันมาก สุขมันน้อย จริง ๆ หรือ สุขมันมากกว่าทุกข์ จริง ๆ ก็เป็นได้หมด เปรียบกับรูปตัวอย่างนี้ ขาว=สุข ดำ=ทุกข์ รูปหนึ่ง ชีวิตจริงมันมีแต่ทุกข์ มากกว่า อีกรูปหนึ่ง มันก็มีแต่สุขมากกว่า

แต่เชื่อไหมว่า ไม่ว่าจะด้านไหนก็ตาม มันมีที่คนพยายามเพ่ง…

เพ่ง…

เพ่ง..

จนมันกลายเป็นแบบนี้ไปได้กับชีวิต ด้านหนึ่งแทนที่จะสุขกลับทุกข์ ด้านหนึ่ง แทนที่จะทุกข์กลับสุข เป็นไปได้ไหม หลอกตัวเองไหม?

หรือแท้จริงแล้ว จะสุข จะทุกข์ มันเริ่มจากการมอง.. และพิจารณา

ชื่อเรื่องเป็นคำถามที่คงไม่มีคำตอบให้ แต่น่าจะได้ข้อคิด อยู่เหมือนกันว่า ถ้าเริ่มต้นมองว่าสุข มันก็สุขได้ไม่ยาก ถ้าเริ่มต้นมองว่าทุกข์ มันก็คงสุขยากกว่า หรือหาไม่เจอไปเลยบางที

การที่เรากำลังคิดว่าใครหลอกตัวเองหรือไม่นั้น มันก็เท่ากับเราเองกำลังเพ่งแต่จุดสีดำอยู่หรือเปล่า พยายามมองหาทุกข์ของคน ๆ นั้นอยู่หรือเปล่า

และการมองว่าเราหลอกตัวเองหรือเปล่า? บางทีอาจคือการเริ่มการหาจุดสีขาวของตัวเอง..

ที่สุดแล้วหลอกตัวเองว่ามีความสุข จะสุขหรือไม่ คงตอบแทนใครไม่ได้ แม้เราจะบอกว่า ก็สุขจริง ๆ ไม่ต้องหลอกตัวเอง ก็พูดได้

..แต่แน่ใจหรือว่า ทุก ๆ วันนี้เราใช้ชีวิตอยู่บนความจริงแท้ และกำลังสุขแท้จริงอยู่ โดยมิใช่ปรุงแต่ง?

Exit mobile version