มีเพื่อน พี่ น้องหลายช่วงนี้ที่อยากทำอะไรเสริม ธุรกิจส่วนตัว โดยใช้ อินเตอร์เน็ต หวังพึ่งการตลาดออนไลน์ และคิดใช้ กลยุทธ์การตลาด Facebook เป็นส่วนหนึ่ง ที่บ้างผมก็สังเกตเห็นเอง บ้างเขาก็มาปรึกษา
ประกอบกับช่วงนี้ผมเริ่มธุรกิจใหม่ตัวที่ 2 ของปี คือ i-Fair Marketing หวังรับดูแลการตลาดและทำสื่อการตลาด (อัพเดต-ไม่สนุกกับมันคาดว่าจะไม่ทำต่อ) โดยมุ่งบริการให้กับลูกค้าท้องถิ่นเป็นหลัก ทว่า พอเริ่มจัดตั้ง ตัวเว็บไซต์ และมีแฟนเพจ การตลาดมันกลับเริ่มทำงาน มีลูกค้าติดต่อเข้ามา นั่นเป็นเรื่องดี แต่ ทั้งเพื่อนบางคน และลูกค้าดังกล่าว อาจมองอะไรพลาดไป..
ผมจึงเขียนเป็นบทความสร้างความเข้าใจหวังเป็นประโยชน์กับผู้ที่คิด ลงทุน หรือหาอาชีพเสริม รายได้เสริม ใดๆ ก็ตาม ให้มีการวางแผนให้รอบคอบอีกสักนิด โดยอย่างยิ่งกับการตลาดออนไลน์ ที่ชื่อว่า Facebook ตัวนี้
กลยุทธ์การตลาด Facebook 2559
ก่อนอื่นขอเล่าย้อนไป ราว 4-5 ปีที่แล้ว คือช่วงแรกที่ผมทำ Fanpage หรือสร้าง Facebook Business Page ให้เป็นเครื่องมือการตลาดให้องค์กรที่ผมทำงานให้ในตอนนั้น ถือว่าเป็นยุคแรกๆ ก็ว่าได้ แม้ว่าเจ้าของกิจการในตอนนั้นไม่ได้เล็งเห็นความสำคัญมากนัก แต่ผมก็ผลักดันให้มี ด้วยเงื่อนไขที่เขาไม่ปฏิเสธคือ “มันฟรี” หลังจากทำให้ 2 หน่วยธุรกิจย่อย แม้มันไม่ได้ส่งผลในแง่ “การขาย” โดยตรงนัก เพราะ Facebook ในช่วงนั้นก็ยังเพิ่งโต แต่การสร้างการรับรู้หรือที่เรียกว่ามีคนเห็นนั่นแหละ “Reach” หลักพันต่อวัน/โพส ที่หากเป็นวันนี้ก็มีมูลค่า หลักร้อยบาท/โพส คุณลองคิดดูว่า ตอนนั้นเราใช้ฟรี ทุกวัน วันละหลายโพส หลายเพจ มันมีมูลค่าทางการตลาดเท่าใด..
ต่อมาองค์กรเราในตอนนั้นเปิดหน่วยธุรกิจใหม่ขึ้นมา เราเริ่มมีการลงทุนแรก คือการ “ซื้อ like” เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้เร็วที่สุด เงินลงทุนการซื้อ like ตอนนั้น ราคาเพียง like ละ 0.50 บาท แม้ว่าเป็น like – ไร้คุณภาพ แต่แง่การสร้าง Brand Image หรือภาพลักษณ์ย่อมสำคัญ การมี like ไม่กี่พันในตอนนั้นดูดีมากทีเดียว และประกอบกับเป็นธุรกิจใหม่ First Mover ทั้ง Product และ Marketing ย่อมเท่ากับว่า “ทำก่อนได้เปรียบสูง” นั่นเอง
ดังที่บอกไปแม้ว่าเจ้าของกิจการในตอนนั้นเดิมทีไม่เห็นความสำคัญ เพราะมันไม่ได้ส่งผลการขาย เหมือน google adwords ที่เจาะตรงเข้าลูกค้า แต่เขาก็มีวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้างจนเริ่มยอมรับ และมีการจัดกิจกรรม ลงมาที่เพจต่างๆ ของธุรกิจในเครือ ประกอบกับตัว Facebook เองที่เริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ ในบ้านเรา ผลลัพธ์มันคือการส่งผลทางการตลาดโดยอ้อม ทำไมโดยอ้อม?
ก็หลายคนชอบเข้าใจอยู่ว่าการตลาดคือการขาย “ขายไม่ได้เท่ากับการตลาดไม่ดี” มันทั้งใช่และไม่ใช่ ที่บอกว่าโดยอ้อม นั่นเพราะธุรกิจที่เราทำในตอนนั้น กลุ่มลูกค้าเรียกว่า “เฉพาะ” พอสมควร เราไม่ได้ขายสินค้าสาธารณะ ที่จะต้องกระตุ้นให้ทุกคนซื้อได้ ดังนั้น google adwords จึงชัดเจนกว่าในแง่หากทำการตลาดออนไลน์ (ย่อหน้านี้สำคัญอ่านแล้วลองคิดตามนะครับ) คุณขายแว่นสายตาให้คนตาดีไม่ได้ การคิดทำการตลาดแบบหว่าน ตามๆ ไปและหวังทางตรงในบางอย่างเป็นเรื่องที่ผิดและเสียเวลา แต่ถ้าสมมติ คุณลงโฆษณาวิทยุฟรี! แน่นอนว่าย่อมเข้าหูทั้งคนตาดี และสายตาไม่ดี แต่สิ่งที่ได้รับเหมือนกันคือ “ความคุ้นเคย” ที่หล่อหลอมเป็นการรับรู้ เริ่มเชื่อใจ และเชื่อถือ เมื่อมีความวางใจ การตัดสินใจซื้อโดยง่ายจึงตามมา.. และภาพลักษณ์ธุรกิจก็ถูกผลักขึ้นไป เมื่อมันติดลม มันก็ลงยาก เราก็สบายใจ แต่มันก็เป็นสิ่งที่ทำได้ในอดีตที่มัน ฟรี..
สรุปในปัจจุบัน
ที่กล่าวไปด้านบนเป็นเพียงกรณีศึกษาหนึ่ง อย่างคร่าวๆ ที่มีหลายอย่างให้สังเกต แต่จงเข้าใจว่า มันเปลี่ยนไปแล้วหลายอย่างมากมาย จึงจะสรุปให้ฟัง และเข้าใจใหม่ดังนี้คือ
- ของฟรีไม่มีอีกแล้ว : ไม่ได้หมายความว่า Facebook เก็บเงินเราโดยตรงไม่ให้ใช้ แต่มันไร้ประโยชน์สิ้นดีกับการมีเพจขึ้นมาและหวังให้ผู้คนรับรู้เหมือนแต่ก่อน การถูก like ถูก Share ยังคงช่วยให้มีคนเห็นมากขึ้นจริง แต่เมื่อ เพจยิ่งโต มันก็ยิ่งถูกบีบให้น้อยลง นั่นหมายถึง จ่ายมาเสียเถอะ บางคนอาจบอกว่าบางเพจก็ยัง แชร์กันกระหน่ำ นั่นเพราะเพจเหล่านั้นไม่ใช่เพจค้าขาย หรือทำธุรกิจโดยตรงใช่หรือไม่? ถ้าใช่เพจคุณเป็นประเภทไหน? ซึ่งไม่ได้นับรวมการทำแคมเปญ แจก แถม นั่นก็ต้องลงทุน จ่ายในส่วนอื่นแทนอยู่ดี..
- คนในเฟสบุ๊คมากขึ้นแต่คุณภาพต่ำลง : อะไรที่เข้าถึงยิ่งง่าย คุณภาพยิ่งลดลงเป็นเรื่องปกติ แต่ก่อนอินเตอร์เน็ตมีมูลค่า และแอพหรือการใช้งาน Social Network ยังดูยาก คนที่ใช้ Facebook จึงต้องพอมีความรู้ หรือมีรายได้ในระดับหนึ่ง แต่ทุกวันนี้ทั้งสองสิ่งหายไปสิ้นเชิง ใครก็เล่นเป็น ใครก็ใช้อินเตอร์เน็ต ดังนั้น ใครๆ ก็มาบน Facebook กันหมด จึงเป็นคำถามยอดฮิตว่า “มีแต่ Like ขายของไม่ได้” ก็เพราะคนที่ like ไม่ได้ตั้งใจหรือเปล่า?
- สินค้าเราเหมาะแค่ไหน? : ดังกรณีศึกษา ข้อนี้ไม่ใช่แค่อดีต ปัจจุบัน แต่ไปได้จนอนาคต หากแค่ตามๆ เขาไปเพราะเห็นปัจจุบันขายบน Facebook กันเยอะ ควรเข้าใจด้วยว่าไม่ใช่ทุกสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เหมาะจะมุ่งเน้นเอาเป็นเอาตายกับ Facebook อย่างเดียว การมีไว้ การทำไว้ไม่เสียหายแต่หวังจะได้ผลทางการขายโดยตรงบางประเภทสินค้า ยิ่งบริการมันไม่ใช่ ผมเคยสอนในคลาส การตลาดออนไลน์ ทั้งในอดีต และปัจจุบันมาเสมอกับเรื่องนี้
- สินค้าได้ แต่ทำไมต้องซื้อเรา? : ก็ยังเป็นอีกปัญหาที่มองว่าสินค้าตัวเองขายคนได้หลากหลาย แบรนด์ก็ดูดีมีชื่อ แต่ทำไมไม่มีคนซื้อ ต้องเข้าใจว่าในปัจจุบัน “ใครๆ ก็แห่มาขายบน Facebook” คุณลองนึกภาพดูว่า เดินตลาดนัดแห่งหนึ่งเจอร้านก๋วยเตี๋ยว 30-40 ร้านคุณว่าอยู่ได้ทุกร้านไหม? แล้วร้านที่อยู่ได้เขาทำไง? เอากลับไปคิดทบทวน กับร้านคุณดู
โดยรวมๆ แล้ว “เราช้าไปไหม?” ก็ต้องยอมรับว่าหลายก้าว แต่ไม่ถึงกับใช้ไม่ได้ เพราะยังต้องใช้กันอยู่ ผมก็ยังใช้ สุดท้าย แม้ว่าคุณจะบอกว่า ไม่ได้ขายแว่นสายตา แต่ขายแว่นตาดำ ที่ใครๆ ก็ใส่ได้ จงคิดด้วยตามที่บอกไปแล้วว่า ทำไมเขาต้องซื้อคุณ? สินค้าใหม่ในโลกไม่มี ช่องทางการตลาดใหม่ในโลกตอนนี้ยังไม่มี แต่ความแปลกใหม่ หรือความแตกต่างยังมีเสมอๆ อะไรที่มาเดี๋ยวก็ไป อะไรที่ไปอาจกลับมาใหม่ Amazon ร้านขายหนังสือออนไลน์ใหญ่ที่สุดในโลก ยังหันกลับมาเปิดร้านหนังสือจริงๆ ครั้งแรกเมื่อปีนี้เอง กลยุทธ์การตลาด Facebook ตอนแรกวันนี้ ในการทำการตลาดนั้น “กระแสมีไว้ตามหรือสร้าง ไม่ใช่มีไว้หลง” ต้องเข้าใจมันมากๆ ด้วย
พบกันใหม่ตอนหน้า ตอนจบที่ถ้าว่างจะมาเขียนตอนต่อกันให้อ่าน หรือถ้าโดนคอมเม้นท์กดดันมากๆ อาจว่างเร็วขึ้น (ฮ่า) สวัสดีครับ