Site icon Sirichaiwatt

การตลาด #สายมู ยังคงอยู่คู่ไทย

ถ้าคุณอยากเชี่ยวชาญด้านการตลาด ต้องเข้าใจไว้ประการหนึ่งว่า “กระแส” หรือ (Trend) คือสิ่งสำคัญ หากไม่ติดตาม หรือห่างหายจากวงการ แม้มีความรู้แต่ก็อาจเอาไปประยุกต์ใช้ได้ลำบาก ยิ่งรู้ไม่มากแล้วมาทำจึงได้แต่นั่งงงว่าทำไมโปรโมทอะไรก็ไม่ปัง ก็หลายครั้งมันผิดที่ผิดทางนะสิ เหมือนปัจจุบันถ้าคุณไม่รู้จักคำว่า “สายมู” ก็ดูจะไม่ทันกระแสเสียแล้ว…

ส่วนตัวก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกิจการแบบ B2C คือกิจการค้าขายต่อผู้บริโภคทั่วไปมาหลายปี แถมไม่ได้เขียนคอลัมน์การตลาดประจำแล้วด้วย ก็เป็นคนล้าสมัยไปบ้างแล้วเช่นกัน แต่ ณ วันนี้มีเรื่องที่พบว่ากระแสบางอย่างนั้นมันก็ยากจะจางหายไปได้จริง ๆ…

ผมเคยเขียนบทความสำคัญไว้คือ “การตลาดแบบไทย ๆ” หนึ่งในนั้นมีแง่ของ “ความเชื่อ” เป็นหัวข้อใหญ่อยู่ด้วย เขียนไว้เมื่อปี 2016 ถึงตอนนี้ ก็ 5 ปีผ่านไปแล้ว แง่หนึ่งก็ไม่ได้นานอะไร ด้วย “ความเชื่อ” เป็นเรื่องของค่านิยมที่สั่งสมมานาน (นับร้อยปี) เพียงแต่ว่า…

ในรอบราว 10 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีเรียกว่าก้าวกระโดด ยกตัวอย่างว่า โทรศัพท์มือถือเครื่องเล็ก ๆ น่าจะเป็นเรื่องตื่นเต้นมากแล้ว แต่ไม่นานจากมือถือเครื่องเล็ก ๆ กลับเต็มไปด้วยเทคโนโลยีในนั้น ทั้งแอพมากมาย ทั้งกล้อง เร็วและแรงกว่าโน้ตบุ๊ค 10 ปีก่อนเสียอีก…

ประกอบกับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ที่ดูเน้นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการเมือง ผมก็อนุมานเอาว่าการตลาดความเชื่อน่าจะลดลงไปกับคนรุ่นใหม่ ๆ จนเริ่มมาได้ยินกับคำว่า “สายมู” ที่จริง ๆ ดูจะใช้คำนี้กันมากและบ่อยช่วงปี 2019-2020 ที่ผ่านมา

จึงค้นหาข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต เจอต้นตอที่น่าสนใจเป็นกระทู้เก่า[1] 10 ปีได้แล้ว บอกว่าคำนี้มาจากชื่อภาพยนตร์ต่างประเทศที่มาฉายในบ้านและมีชื่อไทยว่า “มูเตลู ศึกไสยศาสตร์” ซึ่งหนังเก่าเกิน 10 ปีเข้าไปอีก โดยไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมคำนี้จึงเพิ่งมานิยมอีกครั้ง

อีกด้านจากการสอบถามบ้างว่า “มู” ในที่นี้เรียกย่อ ๆ จากภาษาอังกฤษ “amulet” ที่แปลว่า เครื่องราง แม้ที่จริงอาจออกเสียงว่า แอม’ มิวเลท แต่อ่านตามสำเนียงไทยก็จะกลายเป็น อะมูเลท เมื่อเรียกย่อจึงกลายเป็น “มู” ได้ไม่ยากเลย..

แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของที่มา ประเด็นก็สืบเนื่องจากข้างต้นที่บอกเล่าไปว่า การตลาดความเชื่อยังคงเป็นที่นิยมในกลุ่มหนึ่ง เพียงแต่ย่อมมีการปรับเปลี่ยนบ้างไปตามยุคสมัย เช่น กำไลที่มาพร้อมเครื่องรางต่าง ๆ ที่ดารานักแสดงหลายคนไปจนกระทั่งเซเล็บผู้มีชื่อเสียงวงการธุรกิจหลายคนก็นิยม

ที่มาภาพ https://mgronline.com/celebonline/detail/9620000048165

ส่วนหนึ่งนั้น ก็ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า กระแสไม่จำเป็นต้องเข้าถึงทุกกลุ่มคน การที่เราไม่ได้สนใจหรือไม่รู้จักไม่ได้หมายความว่าเรื่องเหล่านั้นจะไม่ดีหรือไม่นิยม ซึ่งก็ขึ้นอยู่ด้วยว่าสินค้าและบริการเราสามารถเชื่อมโยงฐานลูกค้ากลุ่มนั้น ๆ ได้หรือไม่ หรือเราต้องการเจาะกลุ่มลูกค้าเหล่านี้หรือไม่ด้วย ที่ไม่แน่ว่าบางเรื่อง บางที เราอาจไม่ได้รู้จักลูกค้าเราเองเลยก็ได้

นี่ก็เป็นเพียงอีกมุมหนึ่งของการตลาด ที่ชวนสังเกตว่าหลายเรื่องหากเราไม่ได้ลงไปดู ไปพิจารณา เราก็อาจเข้าใจอะไรผิวเผินหรือรู้เพียงมุมมองแคบ ๆ ของเรา ที่อาจตามเขา ตามโลกไม่ทัน รู้ทันไว้ไม่ได้ใช้ ดีกว่าไม่รู้แล้วไม่ทันการ ว่ากันด้วยการตลาดนะครับ…

กระทู้อ้างอิง http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/2009/11/A8596805/A8596805.html

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 16/02/2021

Exit mobile version