หม้อทอดไร้น้ำมัน ทำไมฮิตกันจัง?

by

| Home » บทความธุรกิจ-การตลาด » บทความการตลาด » หม้อทอดไร้น้ำมัน ทำไมฮิตกันจัง? |


เป็นเวลาพอสมควรที่ไม่ได้เขียน บทความการตลาด อาจด้วยการทำงานปัจจุบันที่ไม่ค่อยได้ข้องเกี่ยวกับเรื่องนี้เท่าใดนัก แถมคอลัมน์การตลาดที่เคยเขียนให้นิตยสาร เขาก็ต้องปิดตัวไปตามสภาพการณ์ หม้อทอดไร้น้ำมัน หรือ Air fryer ที่เป็นกระแสในบางกลุ่มคนนั้น มันน่าสนใจจนทำให้ผมอยากเขียนในเชิงธุรกิจการตลาดแบ่งปัน ขอรวบรัดการเกริ่นนำ ห้วน ๆ แบบนี้แหละครับ เพราะรู้ตัวว่าบางทีเขียนอะไรยาวไปแบบไม่จำเป็นนัก ฮ่า..

หม้อทอดไร้น้ำมัน (Air fryer) คืออะไร?

อธิบายย่อสำหรับคนที่ไม่รู้จักเลย ก็คือ หม้อที่เอาไว้ปรุงอาหารด้วยกรรมวิธีหนึ่งแทนการทอด โดยที่ไม่ต้องใส่น้ำมัน โดยลักษณะคล้ายการ “อบ “แต่ถ้าคุณพอรู้จักมันบ้าง มันทำงานด้วยการปล่อยลมร้อนผ่านขดลวดนำความร้อนที่ทำหน้าที่ให้ความร้อนเข้าสู่วัตถุดิบแทนน้ำมัน มีความคล้าย “หม้ออบลมร้อน” แต่กระบวนการหมุนเวียนความร้อน ความดันภายใน ออกแบบมาแตกต่างกัน จึงทำให้การใช้งานมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง

*ต้นกำเนิดของหม้อทอดไร้น้ำมัน มีต้นแบบมาจากผลิตภัณฑ์ของบริษัท Turbochef Technologies ในราวปี พ.ศ. 2548 (นานมากกก) เพียงแต่น่าจะเรียกว่า “ตู้อบลมร้อน” ด้วยขนาด และใช้สำหรับโรงแรม กับอุตสาหกรรมอาหาร มากกว่าใช้บ้าน

แต่ในปี พ.ศ. 2553 Philips ก็ได้ออกผลิตภัณฑ์ ตัวนี้ออกมาในลักษณะรูปทรงที่เป็นหม้อกลม โดยการทำงานคล้ายคลึงกับปัจจุบันดังที่อธิบายไปข้างต้น และก็มีการต่อยอด ปรับปรุงพัฒนากันไปในหลายหลากยี่ห้อ จนกำลังฮิตมากมายบ้านเราในปี พ.ศ.2563 นี้เอง

(*รูปและข้อมูลที่มาจาก wikipedia.org ครับ)

ขดลวดให้ความร้อนหม้อทอดไร้น้ำมัน
ขดลวดให้ความร้อนหม้อทอดไร้น้ำมัน (ที่มา wikipedia)

ทำไมจึงเป็นที่นิยม

ผมเชื่อว่าเป็นที่สังเกตได้ง่ายหลายประการถึงความสำเร็จของผลิตภัณฑ์นี้ โดยอาจไม่จำเป็นต้องอ้างถึงมุมมองทางการตลาดให้ยุ่งยาก แต่เพื่อเป็นประโยชน์ ก็จะลองมาแยกย่อยให้เห็นถึง ปัจจัยต่าง ๆ โดยในที่นี้ไม่ได้มากล่าวถึง การตลาดในเชิงการแข่งขันของแต่ละแบรนด์นะครับ เรียกว่าให้เรามองผลิตภัณฑ์รวมกันเฉย ๆ ว่าทำไมเป็นที่นิยม

    1. แนวคิดผลิตภัณฑ์ (Product Concept) ผมยอมรับว่าไม่แน่ใจว่าแนวคิดของสินค้า มุ่งเน้นไปที่ความสะดวก หรือเพื่อสุขภาพเป็นหลัก แต่สังเกตจากชื่อผลิตภัณฑ์ (เฉพาะภาษาไทย) แล้วน่าจะมุ่งเน้นไปในทางสุขภาพ กล่าวคือ การไม่ต้องใช้น้ำมันในการปรุงอาหาร ซึ่งแม้ว่าหลายคนทราบดีว่า แป้ง และ น้ำตาล เป็นตัวการหลักแง่สุขภาพมากกว่าน้ำมัน (ไม่นับรวมน้ำมันทอดซ้ำต่าง ๆ) แต่คนทั่วไปพอคิดถึงความอ้วน สุขภาพที่ไม่ดี ความดัน ไขมันอุดตัน ก็จะนึกถึง น้ำมัน เป็นประการแรก ดังนี้ผลิตภัณฑ์จึงเริ่มไปโดนใจคนหลายคน อีกแง่หนึ่งของผลิตภัณฑ์ คือความสะดวก ซึ่งเชื่อว่าเป็นปัจจัยสำคัญมากกับปัจจุบันเช่นกันและไปสอดคล้องกับข้อ 2 พอดีผมเองก็เป็นหนึ่งคนที่ได้ยินและมองผลิตภัณฑ์ตัวนี้ว่าน่าสนใจมากสักพักแล้ว แต่ช่วงหลายปีหลัง ไม่ค่อยจะทำอาหารทานเองจริงจัง ก็เลย(งก) ไม่คิดจะซื้อเสียที เพราะคิดว่าตัวเองอาจใช้ไม่คุ้ม..
    2. พฤติกรรมผู้บริโภค (Customer behaviors) ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับผลิตภัณฑ์ชัดเจน หรือจะบอกว่าเขาออกแบบผลิตภัณฑ์มาเพื่อ กลุ่มเป้าหมายนี้ (target) อยู่แล้ว แต่ทว่า พฤติกรรมผู้คนขยายตัวเป็นวงกว้างไปด้วยนี่สิ ซึ่งอาจแยกย่อยในหลายส่วนได้เช่นกัน
      1. กระแสรักสุขภาพ เป็นปัจจัยส่วนบุคคล (Personal Factors) ที่มีมากขึ้น ดังที่เราทราบดีผู้คนทุกวันนี้ให้ความใส่ใจในเรื่องความรักสุขภาพมากขึ้น สำหรับผมแล้วสิ่งที่ผมรู้สึกว่าเหลือเชื่อ และเป็นเครื่องการรันตีได้ดีคือ “งานวิ่ง” ไม่น่าเชื่อว่า เราจะมีงานวิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะฟันรัน ยัน มาราธอน ในประเทศจะมีการจัดได้ทุกอาทิตย์จริง ๆ ซึ่งหากมองลึกแล้วที่งานวิ่งจัดได้ ใช่ว่าคนที่ไปวิ่งทุกคนดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี แต่มันคือการแสดงว่าการเข้าร่วมงานแนวนี้ คือเราเป็นคนหนึ่งที่มีความใส่ใจสุขภาพ ดังนี้แค่ชื่อ ผลิตภัณฑ์ มันก็ไปตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ได้ไม่ยาก
      2. ความสะดวกที่ทุกวันนี้น่าจะเป็นวัฒนธรรม (Cultural Factors) มากกว่าส่วนบุคคลไปแล้ว เพราะไม่ว่าสินค้าบริการใด หากมีหลายขั้นตอนไม่สะดวก ยากที่จะไปต่อ ความสะดวกรวดเร็วจึงกลายเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของผู้บริโภคไปแล้ว สอดคล้องกับตัวผลิตภัณฑ์ ลองคิดดูว่าการต้องติดเตา ตั้งกระทะ แล้วคอยทอด กับใส่หม้อแล้วรอ ความสะดวกมันผิดกันมากมาย 
      3. ภาพพจน์บางประการ เป็นปัจจัยทางสังคม (Social Factors) จากหลักการอันโด่งดังของ นักจิตวิทยาที่ชื่อ เออเนสท์ ดิชเตอร์ (Ernest Dichter) เล่าสั้น ๆ คือ เรื่องแป้งเค้กสำเร็จรูปแบบที่แทบไม่ต้องทำอะไรเลย สะดวกเกินไป ดีเกินไป ทำให้คนไม่ซื้อ “เพราะใคร ๆ ก็ทำได้” แต่แค่พอปรับสูตรใหม่ให้ใส่ไข่เองเพียงอย่างเดียว ผู้คนชื่นชอบ และรู้สึกในการมีส่วนร่วม ความเป็นเจ้าของ หรือ“ความภาคภูมิใจในฝีมือตัวเอง” คล้ายกันกับหม้อทอดที่ตอนนี้ “ใคร ๆ ก็ทำหมูกรอบ ที่ดูน่าอร่อยได้!” แล้วใครล่ะจะไม่อยากมี
    3. สังคมวัฒนธรรม (Sociocultural) อันที่จริงแล้ว ทั้ง 2 ข้อ ก็น่าจะพอทำให้เห็นเหตุผลในหลาย ๆ ประการแต่แง่หนึ่งซึ่งมีส่วนอย่างมากคือ การมีกลุ่มคน การมีสังคมซึ่งเป็นรูปแบบการรวมกันของผู้คนที่ชื่นชอบในสิ่งนั้น ๆ ที่หลายคนอาจจะมองว่า นี่ไม่ใช่เรื่องของสังคมโดยรวมสักหน่อย แง่นั้นก็ถูก แต่ในที่นี้คือเทคโนโลยีช่วยให้พฤติกรรมทางสังคมของผู้คนรวมกลุ่มความชอบความสนใจได้มาพักใหญ่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเว็บบอร์ด หรือ ฟอรั่ม กระทู้ต่าง ๆ ในปัจจุบันก็จะเป็น กลุ่มทางโซเชียลเน็ตเวิร์คที่ช่วยกันแชร์ และผลักดัน ซึ่งสำหรับตัวผลิตภัณฑ์นี้ก็จะมีกลุ่มใหญ่บน Facebook ที่ชื่อว่า “สมาคมเราจะผอมด้วยเมนูจากหม้อทอดไร้น้ำมัน” ที่ปัจจุบันมีสมาชิกราว 36x,xxx ราย (ต้นเดือน พ.ค.63) สามแสนกว่ารายนี้ ก็จะแชร์เทคนิค วิธีการ เมนูต่าง ๆ ทำให้รู้สึกของการมีส่วนร่วม ยกระดับความภูมิใจในการทำอาหารให้หลายคน มีแม้กระทั่งกรณี น่ารัก ๆ อย่างหญิงสาวตกลงกับแฟนว่าถ้าได้ 4 ร้อย like จะได้หม้อทอด แน่นอนว่า เธอได้ like ถล่มทลาย และมีแม้กระทั่งวลีที่เรียกว่า “หม้อทอดสะพาน” อันนี้ก็ต้องไปสืบสาวกันเอาเอง อย่างไรก็ตาม ถ้าหลงเข้าไปในกลุ่มนี้ มันแทบไม่มีทางเลยที่คุณจะไม่อยากได้สินค้าตัวนี้.. (ปล.ผมก็อยู่ในกลุ่มนะครับแต่ยังไม่มีหม้อทอดอยู่ดี อิอิ)
    4. สภาวะทางธรรมชาติ (Natural Environment) การเกิดโรคระบาดเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ที่เป็น “แรงกระตุ้น” สำคัญ ที่ทำให้หม้อทอดนี้เป็นที่นิยมขึ้นทันที ด้วยการที่ผู้คนต้องอยู่บ้าน และอาหารเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ประกอบกับสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้นยิ่งทำให้ หม้อทอดไร้น้ำมัน เป็นที่ต้องการอย่างไม่ต้องสงสัย โดยส่วนหนึ่งสินค้า บริการหลาย ๆ อย่างก็ได้รับแรงกระตุ้นจากเรื่องไวรัสระบาดนี้เช่นกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เรามองข้ามไม่ได้ก็คือ สินค้า/บริการเหล่านี้ ล้วนมีแนวโน้มในทางที่ดีมาก่อนแล้ว หม้อทอดฯ นี้เองดังที่บอกว่าผมให้ความสนใจมาก่อนหน้านี้แล้วก็ดูว่ามีแนวโน้มที่คนจะให้ความนิยมเพิ่มขึ้นแม้ไม่มีเรื่องโรคระบาด เปรียบได้กับบริการส่งอาหาร ที่ยังไงก็มีแนวโน้มเติบโต เพียงแต่ว่า เมื่อเกิดไวรัสระบาด ก็เลยเป็นแรงกระตุ้นที่รวดเร็วให้ เหล่าสินค้าบริการที่กำลังจะโต จึงโตขึ้นทันทีไปโดยปริยาย และอาจมากกว่าที่ควรไปช่วงระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตามเรื่องที่เขียน อาจไม่ใช่บทความการตลาด แบบจริงจังนัก เป็นเพียงข้อสังเกตที่อยากให้มองเห็นว่า การทำธุรกิจมันก็ต้องมีแนวทางบางอย่างที่ชัดเจนก่อน ไม่มีทางที่อะไรจะโชคช่วยได้ดื้อ ๆ และโอกาส อุปสรรค หรือปัจจัยภายนอกต่าง ๆ แม้ควบคุมไม่ได้แต่ถ้าเรียนรู้ เราก็เข้าใจมันได้ ปรับตัว ปรับตามได้ ที่สำคัญที่สุด ธุรกิจส่วนใหญ่ในช่วงนี้อาจจะแย่ (รวมถึงผมด้วย) แต่มันก็มีหลายธุรกิจที่ดี และได้โอกาสแบบไม่ต้องฉวย

หรือ บางทีเรื่องนี้ก็แค่อยากให้มองวิกฤตินี้แล้วถือเสียว่า เป็นเวลาพักหาอะไรอร่อย ๆ ทานกันดีกว่าครับ

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 12/5/2020

บทความการตลาด หม้อทอดไร้น้ำมัน ทำไมฮิตกันจัง?

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา อิสระ ปัจจุบันประกอบอาชีพหลัก พ่อบ้าน :P ส่วนวิทยากร ธุรกิจส่วนตัว และอื่น ๆ เป็นอาชีพรอง.. V(^0^)V
แสดงความคิดเห็น