ความเกลียดชัง ที่น่าคบหา (เปลี่ยนความเกลียดเป็นความเกลียด!)

by

| Home » บทความดีๆ » การพัฒนาตนเอง Think+ » การเปลี่ยนแปลงตัวเอง » ความเกลียดชัง ที่น่าคบหา (เปลี่ยนความเกลียดเป็นความเกลียด!) |


บทความบนเว็บไซต์นี้ ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่อง ข้อคิด, ทัศนคติที่เป็นบวก, การพัฒนาตนเอง อาจมีคำคม และมีบทความธุรกิจการลงทุนอยู่ด้วยอีกส่วน แต่รวม ๆ แล้วเพื่อเป็นประโยชน์ หรือสร้างมุมมองแง่คิดบางประการให้กับผู้อ่านในด้านดี

ฟังบทความนี้ในรูปแบบ Podcast ตามช่องทางเหล่านี้

Sirichaiwatt Podcast Youtube
sirichaiwatt podcast spotify podcast
sirichaiwatt podcast google podcast
sirichaiwatt podcast apple podcast

เมื่อมาพูดถึงความเกลียดชังแล้ว ดูจะย้อนแย้ง และไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ดีได้ ทำไมจึงกลายเป็น “ความเกลียดชัง ที่น่าคบหา” ได้ ต้องลองเปิดใจคิดตามกันดู

ความเกลียดชัง ในบริบททั่วไป มักจะไม่มีอะไรดี ไม่น่าคบหา และเป็นเหมือนมะเร็ง ที่ทางศาสนาและจิตวิทยามักมองไปในทางเดียวกัน ด้วยที่คุ้นกันดีว่า โลภ โกรธ หลง เป็นสิ่งไม่ดี ที่เรา ๆ ได้ยินกันบ่อย จน แทบไม่รู้สึกอะไรกับประโยคแบบนี้แล้ว อาจถึงขั้นเบื่อกับมัน เพราะ “รู้แล้วยังไง?” ทำกันได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็เป็นคนธรรมดามันต้องมีสิ่งเหล่านี้กันบ้างแหละ แล้วมันก็จริงเสียด้วย..

หลายสิ่งหลายอย่างมักมีหลายด้าน ทั้งด้านที่เรา “คิดว่า” ดี และ ไม่ดี ที่เน้นตรงคำว่า “คิดว่า” เพราะความคิดคนเราแตกต่างกัน บางอย่างผมมองว่าดี คนอื่นอาจมองว่าไม่ดี ตรงนี้เราอาจมองไม่เหมือนกันก็ได้ ดังนั้นจึงใช้คำว่า “คิดว่า..” ในความเกลียดชังนี้ มันมีด้านที่ดีอยู่ สามารถใช้ประโยชน์จากมันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน การพัฒนาตนเอง

จากที่เคย ดู อ่าน ฟัง เรื่องราวของคนที่ประสบความสำเร็จมามาก เรียกว่าชอบตั้งแต่สมัยวัยรุ่น มีอย่างหนึ่งที่ได้ยินจากปากคนที่สำเร็จทางการเงิน เรียกว่าร่ำรวยหลายคน คือ วัยเด็ก หรือชีวิตช่วงหนึ่ง “เขาเกลียดความจน” ความลำบาก หรือเกลียดบางอย่างจากการที่ไม่มีเงินในตอนนั้น มันเป็นสิ่งผลักดันให้เขาคิดว่าเขาต้องรวย เพื่อจะหนีจากสิ่งนั้นให้ได้…

หรือถ้าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จด้านอื่น ๆ เขาก็จะมีความเกลียดอีกรูปแบบ เช่น เขาเกลียดที่โดนดูถูก, เกลียดที่ถูกปิดโอกาส, เกลียดที่ใครบางคนไม่เชื่อเขา อะไรทำนองนี้ เป็นแรงผลักดันให้เขาต้องทำบางสิ่ง และมันกลายเป็นความสำเร็จ เรื่องราวแนวนี้มีพอสมควร ถ้าเคยดู/อ่าน บท สัมภาษณ์คนที่สำเร็จบ่อย ๆ อาจพอนึกออกอยู่บ้าง แต่อาจไม่เคย สังเกต หรือสนใจมองให้เห็นในมุมที่เอามาปรับใช้ในการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาตัวเอง

เปลี่ยนความเกลียดเป็นความเกลียด!

จากที่กล่าวไปหลายสิ่งเราเคย “คิดว่า” มันไม่ดี อาจมีอีกด้าน หากเปลี่ยน ย้าย สลับ ไปให้มันอยู่ในอีกมุม แล้วอาจกลายประโยชน์ได้

โดยส่วนตัวแล้ว การโกรธ เกลียด ไม่มีประโยชน์ใด จึงพยายามปล่อย วางเฉย ซึ่งเป็นจริงแท้หากเราหมายถึงความรู้สึกเหล่านี้ต่อ “คน” หรือบุคคล แต่ถ้าเป็นเรื่องอื่น ๆ แล้วเราปล่อยวางมากไป เราก็ดูจะเป็นคนไร้แรงบัลดาลใจ รวมถึง ไร้ประโยชน์ในหลาย ๆ อย่าง ไม่ใช่แค่นี้ คนที่ไม่ได้วางเฉย มีโกรธ มีโมโหอันเป็นปกติ หากย้าย หรือใช้วิธีเพ่งใหม่ (Swop Focus) ไปในทางที่เกิดประโยชน์กับตัวเองได้ก็จะดี

โดยธรรมดามนุษย์แล้วไม่สามารถโกรธ เกลียด อะไรทีละหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน แม้ชีวิตจะโกรธเกลียดอยู่หลายเรื่องในตอนนั้น แต่พอรู้สึกแล้วมันมักจะเกิดขึ้นทีละเรื่องและไม่พอใจ ไม่ชอบใจทุกครั้งเมื่อพบเห็น หรือคิดขึ้นมาถึงเรื่องนั้น ทว่า ความโกรธ เกลียด มีพลังมหาศาล แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความโกรธ เกลียด แบบอารมณ์ชั่ววูบ เป็นความเกลียด แบบไม่ชอบ ไม่ยอมรับ หรือไม่รู้สึกดีอันมีแรงกดดันต่อสิ่งนั้น ๆ ซึ่งมันจะมีแรงผลักอยู่เบื้องหลัง เช่น การเกลียดที่แฟนนอกใจ เป็นการเกลียดที่อยู่ในใจอยู่แล้วไม่ว่าจะเกิดหรือยังไม่ได้เกิด แต่เรารู้แก่ใจ เมื่อมีความเกลียดนี้ขึ้นมากระตุ้น มันเป็นแรงผลักให้คุณใช้สมอง มีความคิดทั้งกระบวนการ และวิธีการ มีแรงที่จะตามสืบ จับผิด กระทั่งดึงดูดให้พบเห็นในสิ่งที่คุณคิด เป็นต้น หรือในอีกส่วน เมื่อเกลียดสิ่งใด คุณจะพาตัวเองออกมาหรือพ้นไปในทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข แรงส่ง ผลักดัน กดดันเหล่านี้เอง ที่มีพลัง ให้เราน่าจะนำ “ความเกลียด” มาใช้ได้

ม้าป่ามันย่อมพยศ ถ้าเราขี่มันก็พาเราไปไหนไม่รู้ แต่ถ้าฝึกมันได้เราก็จะเป็นผู้นำมันให้พาไปตามเส้นทางที่เราต้องการ

มันอาจฟังดูแปลก ๆ และไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ทันทีสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งส่วนหนึ่งต้องแยกแยะอารมณ์กับความเกลียดชังให้ได้เสียก่อน ซึ่งเราย่อมคิดทันทีว่าความเกลียดจะไม่ข้องเกี่ยวกับอารมณ์ได้อย่างไร ซึ่งมันอาจทำให้ขาดสติ และนั่นน่าจะเรียกว่า แค่ความไม่พอใจหรือเปล่าถ้ายังมีสติ? จริงอยู่ครับว่า อารมณ์มีแรงผลัก แต่เราก็ต้องแยกให้ออกระหว่าง โกรธ กับ เกลียด ที่ในกรณีนี้ โกรธไม่เกี่ยวข้อง โกรธเป็นอารมณ์เมื่อถูกกระทำบางอย่างทันที แต่เกลียดไม่จำเป็นต้องทันที และโกรธเกิดซ้ำไม่ได้อารมณ์หายก็หาย แต่เกลียดเกิดได้ซ้ำๆ ได้ไม่เกี่ยวกับอารมณ์ แต่ในลักษณะหนึ่งมันมีแรงผลักมากพอมันก็ต้องการการฝึกควบคุมบางอย่าง ถ้าให้ยกตัวอย่างก็ลองนึกถึงว่า ก่อนเราจะนำม้ามาใช้งานได้ เดิมที่ม้าเป็นสัตว์ป่า เรียกว่าเป็นตัวแทนความเถื่อน(ไร้ความยั้งคิด) ม้าป่ามันย่อมพยศ ถ้าเราขี่มันก็พาเราไปไหนไม่รู้ แต่ถ้าฝึกมันได้เราก็จะเป็นผู้นำมันให้พาไปตามเส้นทางที่เราต้องการ ก็คล้ายกันตรงนี้

หากพอเข้าใจและลองแยกความเกลียดออกมาได้แล้ว ทีนี้ก็ต้องลองสลับจากสิ่งที่รู้สึก ไปกับอีกสิ่ง เช่น เกลียดใครคนหนึ่งที่มองเราแบบดูถูก (สมมติมองเหมือนแต่งตัวเชย ๆ) เราก็สลับไปที่ เกลียดตัวเองนี่แหละที่ชอบแต่งตัวแบบนี้ ทำตัวแบบนั้นให้เขามอง หรือแม้กระทั่งวางตัวไม่ดีเอง เมื่อสลับมาเกลียดในสิ่งที่เราจัดการได้ เราก็กำจัดมันเสียด้วยแรงผลักได้ ตรงนี้บางคนอาจกำลังคิดทันทีว่าทำไมเราต้องเปลี่ยน? ทำไมเราต้องไปแคร์สายตาเขา?

ถูกต้องแล้วในกรณีที่เราปล่อยวางได้ในเรื่องนั้น ๆ เราไม่รวย เราไม่สวย เราไม่ดี ไม่เด่น ถ้าปล่อยวางแล้วไม่รู้สึกอะไรจริง ๆ เราก็ไม่จำเป็นต้องโกรธเกลียดอะไร แต่ส่วนใหญ่เรายังมีกิเลส เราอยู่มีความรู้สึกต่อสิ่งเหล่านี้ แล้วถ้าลึก ๆ ในใจเรามี “ความเกลียดชังก่อขึ้นในใจแล้ว” แทนที่จะปล่อยให้เผาใจตัวเราเอง เราควรนำมันมาเพื่อก่อเป็นประโยชน์ให้กับเราดีกว่า

ซึ่งหากเข้าใจเทคนิคของโปรแกรมสมองเสียหน่อย จะพบว่ามันแก้ปัญหาอีกเรื่องไปได้ในทันที ดังกรณีที่ยกตัวอย่างว่ามีคนดูถูกว่าเราเชย เชื่อหรือไม่ว่าหากเราแค่เปลี่ยนสไตล์การแต่งตัว คนที่เคยมองเราแบบหนึ่งจะเริ่มมองต่างไป ไม่ใช่แค่เขารู้สึกแปลก ๆ มันจะเริ่มสะกดลงไปในจิตใต้สำนึกได้ทีเดียว ลอง ๆ นึกถึงคนอื่นที่เราเคยรู้จักดูก็ได้ หากจู่ ๆ เขาแต่งตัว หรือเปลี่ยนภายนอกตัวเองไปอีกแบบถาวร เรารู้สึกกับเขาเปลี่ยนไปไหม? เหล่านี้เพราะคนเราหลอกสมองตัวเองไม่ได้

ทั้งหมดนี่อาจสรุปเทคนิคส่วนนี้คร่าว ๆ ก็ได้ว่า “เปลี่ยนความเกลียด เป็นการทำอะไรสักอย่างกับตัวเอง” ถ้ามันถูกผลักดันได้ มันจะมีผลลัพธ์เหมือนที่ยกตัวอย่างไปในตอนแรก เขาเกลียดความจน มันจึงทำให้เขารวย..

ความเกลียดชัง ที่น่าคบหา

มันอาจยากสักหน่อยที่จะต้องสลับความรู้สึกหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง บนแนวทางที่กล่าวไป แต่ในอีกส่วนก็ไม่จำเป็น เราสร้างความเกลียดขึ้นมาเลยก็ได้แล้วอาศัยพลังจากมันเพื่อกำจัดสิ่งที่เราเกลียดนั้น

อาจฟังดูแปลกๆ สำหรับคนที่ไม่คุ้นชินกับเรื่องของกระบวนการสมอง ความคิด เชิงจิตวิทยาบำบัด แต่มันก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เรา “สะกดจิตตัวเอง” ซึ่งมันไม่ได้ดูน่ากลัว แปลก และไม่จำเป็นต้องซับซ้อนอะไรในเรื่องนี้ แค่อาศัยความเชื่อและลงมือทำ ตัวผมเองเคยใช้เทคนิคแบบนี้ โดยมันเริ่มเกิดความไม่พึงพอใจ ความรังเกียจที่ก่อตัว ทว่าพอปรับหรือเพ่งมันให้เข้มข้นมากขึ้น จนเรารู้สึกว่า “ต้องทำบางอย่าง” เพราะความไม่พอใจ ไม่สบายใจบนความเกลียดมันมีมาก เรื่องที่ว่าก็คือในตอนนั้นผมเริ่มไม่พอใจ “พุง” ตัวเอง แม้จะไม่ใช่คนดูอ้วน แต่ทุกครั้งเวลาส่องกระจกคือ เราจะพบว่าเรามีพุง สาเหตุคือพฤติกรรมการกินที่ผิด แม้ในตอนนั้นจะกินมังสวิรัติก็ตาม แล้วหลังจากนั้นเองเมื่อความไม่พอใจเปลี่ยนเป็นความเกลียด (พุง) จนมีความเข้มข้นมากพอ เชื่อหรือไม่ว่า ภายใน 2-3 เดือน น้ำหนักผมหายไป 9-10 กิโลกรัม จนคนที่พบเห็นมองว่า ผมผอมเกินไป (ก็ผอมเกินไปจริง ๆ)

แต่ประเด็นสำคัญอยู่ในเรื่องที่บอกว่าจุดเริ่มต้นมาจากเพียงคำว่า “เกลียดพุง” ตัวเอง ผมไม่ได้ตั้งใจที่จะลดน้ำหนักเลย เพียงแต่ยิ่งเห็นพุงตัวเองก็ยิ่งไม่ชอบ เมื่อความเข้มข้นมันสูงจึงทำให้เราทำอะไรสักอย่าง เช่นลดน้ำหนักได้มากทันที เชื่อว่าคนที่ทำได้คงพอนึกออกว่ามันจะมีแรงบางอย่างคล้ายกัน

นั่นเป็นเพียงตัวอย่างเดียวที่เป็นเรื่องจริง แต่เราสามารถทำได้กับหลายๆ เรื่อง ปัจจัยประการหนึ่งก็ดังที่บอกไปมันอยู่ที่ “ความเข้มข้น” ของความเกลียดหรือไม่พอใจในสิ่งนั้น ส่วนหนึ่งถ้าจะสร้างก็เหมือนการสะกดตัวเองที่กล่าวไปแล้วเช่นกัน คือเพ่ง มองและบอกตัวเองซ้ำ ๆ ธรรมดานี่แหละ และเราต้องทำบางอย่างกับมันจริงจัง โดยเราอาจจะเปลี่ยนหรือสร้างความเกลียดขึ้นมาเลย ก็ได้ เช่น

  • อยากเลิกบุหรี่ – เกลียดเวลาตัวเองตัวเหม็น มีคนทักเรื่องกลิ่น สายตาคนอื่นที่มองเวลายืนสูบ เกลียดการเป็นพ่อแย่ๆ ตัวอย่างที่ไม่ดี เหล่านี้เป็นต้น
  • อยากดูดี – เกลียดเวลาที่มองตัวเอง เกลียดเวลาเข้าสังคม
  • อยากพัฒนา – เกลียดภาวะเดิม ๆ เกลียดตัวเองขี้แพ้ เกลียดคนขี้เกียจ
  • อยากขยัน – เกลียดบ้านรก เกลียดความสกปรก เกลียดเวลาทำอะไรไม่เสร็จ เกลียดที่ต้องพูด (ทำเลยดีดกว่า)

ถึงตรงนี้อาจยังมีความรู้สึกคลางแคลงใจอยู่ก็เป็นได้ว่า มันเกี่ยวกันหรือ ทำได้แน่หรือ? สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจว่านี่เพียง เทคนิคหนึ่งที่ช่วยพัฒนาตนเอง ย่อมใช่ว่าจะเหมาะกับทุกคน เพียงแต่บางสิ่งบางอย่างเรา “แอบทน” ปลง โดยไม่อยากเกลียด ไม่อยากเครียด ซึ่งมันก็ดีต่อใจ แต่ชีวิตอาจไม่ดีขึ้น แล้วกลายเป็นเรื่องอื่น ๆ เข้ามาทับถมในใจอยู่ดี เช่นนี้ หากเปลี่ยนได้ “เลิกทน” แล้วยอมรับว่าไม่พอใจ เกลียดมัน! แปรมันไปเป็นพลัง มันก็ทำให้อะไรดีขึ้นได้

แต่เพราะแรงเกลียดชัง แน่นอนว่าเรากำลังเอามันมาเป็นแรงจูงใจประการหนึ่ง ซึ่งหากมีมาก บางทีมันก็ทำให้เราต้องการอะไรที่เกินไปมาก ไม่รู้ตัว หรือหมิ่นเหม่ไปบนคำว่าไม่ลืมหู ลืมตา สิ่งเหล่านี้แก้ได้ด้วยการวางเป้าหมายไปพร้อมกัน มันจะได้ไม่ทำให้เราทำอะไรด้วยแรงผลักที่เกินพอดี เหมือนตอนที่ผมลดน้ำหนัก ตรงนั้นก็มากเกินไป

สุดท้าย เราอาจรู้สึกว่ามันก็แปลกดีนะ มันมีด้วยหรือ เป็นไปได้ด้วยหรือ หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต หากอยากเปลี่ยนแปลง การทำอะไรเดิม ๆ ไม่เคยได้ผล ต้องมีการลองทำอะไรใหม่ ๆ ดูจึงจะรู้ว่าเปลี่ยนได้ไหม นี่ก็เป็นอีกแค่ทัศนคติ วิธีการที่นำมาเสนอให้ลองดู และอยู่กับความเกลียดที่น่าคบหา ใครจะรู้ว่าชีวิตบางคนอาจเปลี่ยนแปลงไปมากมาย แค่ได้ “เกลียด” อะไรสักอย่างในวันนี้เท่านี้เอง

บทความดีๆ ความเกลียดชังที่น่าคบหา เปลี่ยนทัศนคติ พัฒนาตนเอง

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา อิสระ ปัจจุบันประกอบอาชีพหลัก พ่อบ้าน :P ส่วนวิทยากร ธุรกิจส่วนตัว และอื่น ๆ เป็นอาชีพรอง.. V(^0^)V
แสดงความคิดเห็น