5 อันดับ อุปสรรคนักการตลาด

by

| Home » บทความธุรกิจ-การตลาด » การบริหาร การจัดการ » 5 อันดับ อุปสรรคนักการตลาด |


มีธุรกิจ หรือเจ้าของธุรกิจหลายราย ยังไม่เห็นหรือไม่ให้ความสำคัญการตลาดนัก นั่นก็เป็นเรื่องโชค หรือจุดแข็งด้านๆ อื่นที่นำพาธุรกิจเดินหน้าไปได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีธุรกิจ หรือเจ้าของธุรกิจหลายราย พอจะเห็นความสำคัญของการตลาด แต่กลับรู้สึกว่า ส่วนงานการตลาดนั้นกลับไม่เห็นได้ผลลัพธ์ หรือเกิดประโยชน์อย่างที่คิด และบางทีก็คิดเอาเพียงว่า คนที่ดูแลเรื่องการตลาดรวมถึง ที่ปรึกษาการตลาดนั้นไม่เก่งหรือไม่ดีพอ บทความการตลาดนี้นำเสนอมุมมองอีกด้านในการทำงานของพวกเรา

จริงอยู่ที่เป็นไปได้ว่า การตลาดนั้นทำงานไม่ดีพอ แต่ท่านรู้หรือไม่ว่า บางทีเป็นที่ท่านหรือองค์กรต่างหากที่สร้างปัญหาให้การตลาดไม่เกิดผลที่ดีเท่าที่ควร โดยหลายๆ ปัจจัย และเหตุผลทั้งที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัว วันนี้เรามาดูว่าอุปสรรคเด่นๆ 5 ลำดับ ที่เป็นปัญหาดังที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง

5 อันดับ อุปสรรคนักการตลาด

ไปดูแต่ละอันดับ นับจากท้ายกันก่อน

5.  การจัดการด้านอื่นๆ (Other Management) – ทำอะไรกันไว้ แล้วให้ฉันแก้?

หลายๆ ธุรกิจ หรือหลายๆ แบรนด์ ย่อมมีปัญหาบ้างถือเป็นเรื่องปกติ แต่พอหนักเข้าแล้วหวังให้การตลาดจะมาช่วย หรือมากู้หน้า ซึ่งจริงอยู่ว่าอาจทำได้ ก็ต้องเข้าใจร่วมกันด้วยว่า ทุกส่วนงานมีหน้าที่และมีความสำคัญ บางครั้งธุรกิจก็มองว่า ส่วนของการบริหารจัดการนั้น มีปัญหาเป็นเรื่องธรรมดา แต่หาได้คิดไม่ว่า ในความปกติธรรมดาที่ไม่ควรจะปกตินี้ มันมีผลต่อกันมา

เช่น ฝ่ายผลิตทำสินค้าผิดสเปค การตลาดดียังไงก็ไม่ทำให้ความเชื่อถือดีขึ้นง่ายๆ.. หรือ พนักงานส่วนบริการอารมณ์ร้าย พอภาพพจน์เริ่มส่งผลร้ายก็มักจะคิดให้ใช้ภาพการตลาดแก้ หรือบางสินค้าลดต้นทุนไม่ได้ขายแพง ก็หวังให้การตลาดเพิ่มยอด บางครั้งก็ช่วยได้ แต่ในบางการแข่งขัน มันก็ไม่ไหว หลายสิ่งหลายอย่างที่มักจะมีปัญหามาจากการจัดการที่ไม่ดีหรือสอดคล้อง และหวังเพียงว่าจะให้การตลาดนำหน้าทุกอย่างนั้นมัน เป็นไปไม่ได้เลย

4. ผู้ตาม (Staff) – ที่ไม่รู้ตามใคร

เบื้องต้นก็หมายถึงทีมงานส่วนการตลาด ในการทำงานโดยทั่วไปแล้วย่อมมีบ้างที่ลูกน้องทำงานผิดพลาดไม่เข้าใจ หรือไม่ตรงตามที่หัวหน้างาน(ฝ่ายการตลาด) ต้องการ ซึ่งเหมือนแผนกอื่นๆ แต่ปัญหาการตลาดมันมักไม่ใช่แค่นั้น เพราะมักจะต้องเกี่ยวข้องในการประสานงานไปในหลายภาคส่วน และทำให้ เราต้องตามงานเขา ไปทุกเรื่อง นู้นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ทัน นั่นก็ไม่เสร็จ บ้างก็ไม่เห็นความสำคัญ โอ้ อย่าได้คิดเชียวว่านักการตลาดจะดำเนินแผนการ หรืองานนี้จะสำเร็จได้อย่างไร ซ้ำร้ายถ้าเกิดกับระดับแค่พนักงาน ที่ไม่ใช่ผู้จัดการหรือหัวหน้า ยิ่งไม่ต้องหวังว่าจะตามงานใครได้ และอีกเรื่องใหญ่ คือ โดนหัวหน้าที่ไม่ใช่ฝ่ายการตลาดสั่งการเข้ามา ไม่ทำก็ถูกต่อว่า ที่ประชุมแผนมาไม่ใช่แบบนี้ อย่าว่าแต่ลูกน้องกลุ้มใจ หัวหน้าไหนๆ หากโดนแทรกแซงงานมันก็ปวดหัวไปหมดอยู่ดี นี่แหละ ทั้งตามงาน ทั้งต้องตามคน ที่จนปัญญาว่าจะตามใครดี โชคดีฝ่ายการตลาด..

3. ผู้นำ (Leader) – หัวไม่กระดิก หางไม่ส่าย

ผู้นำหลายคนเป็นประเภท อยากนำ แต่ไม่อยากทำและรับผิดชอบ นี่ก็เป็นฝันร้ายหนึ่งของการตลาด หากเสนอแผนวันใด มักได้คำตอบว่า ความเห็นยังไม่มี และขอไปคิดดูก่อนบ้าง ไม่แน่ใจว่าจะทำดีไหมบ้าง ซึ่งนี่ก็ทำให้นักการตลาดไปคิดใหม่ คิดแล้วคิดอีกจนพอใจ ถึงได้ทำบ้างไม่ได้ทำบ้าง อ้างเขาก็ไม่ได้..

อีกประการที่เจอมา คือประชุมสรุปไป อธิบายไปไม่ค่อยคิดตาม พอทำไปสักหน่อย ค่อยอยากมีไอเดีย แทรกนั่น เสนอนี่ บางทีนักการตลาดมันคิดไปไกล คิดในแผนไว้หมดแล้ว แต่เขาว่ามาให้เปลี่ยน ก็ต้องเปลี่ยน เพี้ยนกันไป พอไม่ค่อยดี.. มีเงียบ ประหนึ่งว่าไม่เกี่ยว เราคนเดียวเจ้าของความคิด ผิดเต็มๆ!

ก็ต้องคิดให้ได้ เจอเจ้าของ, เจ้านาย ถ้าแนวนี้ บ้างทีสิ่งนั้นเป็นการทำแบบถูกใจแต่ไม่ใช่ถูกต้อง ซึ่งก็ไม่ต่างกับผู้นำบางประเภทที่อยากจะเป็นเจ้าของความคิดในทุกๆ เรื่อง มากกว่าเป็น ผู้ตัดสินใจ เหล่านี้มีมากมายในโลกธุรกิจ ซึ่งบางทีเขาจะเหมาะเป็นผู้นำหรือไม่นั่นเรื่องหนึ่ง แต่นักการตลาดพึงเข้าใจได้ว่า เราก็ไม่น่ามาเป็นผู้ตามเช่นกัน

2. หน้าที่ (Responsibilities) – ผู้ช่วยมากเกินไปตกลงจะให้ใครทำงาน

นี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งซึ่งอาจไม่ใช่เฉพาะแค่การตลาด ในแง่ที่ไม่รู้จักหน้าที่ของตน
อาจเป็นเพราะคนทั่วไปมองว่า การตลาดนี่เป็นงานสนุก หรือง่าย คิดอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ แค่นั้นเป็นใช้ได้ มันก็อาจเป็นการเสริมไอเดียได้ในบางครั้ง

ทว่าอุปสรรคที่ว่านี้คือการแทรกแทรง ก่าวก่าย รวมถึงไม่ให้ความร่วมมือ เพราะนักการตลาดหรือฝ่าย ที่คิดออกมา วางแผนมาดี ย่อมเห็นปลายทางชัดเจน หรือแผนรายปีที่มีการเชื่อมโยงค่อยเป็นค่อยไป บางทีจะมีมือดี หรือคนรู้ดี มาช่วยชี้ให้ไปอีกทาง บ้างก็เอาไปทำเสียหาย จะด้วยหวังดี หรือไม่ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่คนอื่นไม่รู้คือ งานสนุกๆ นี้อาจจบไปได้งานเดียว แล้วตายไปอีกหลายงานในอนาคต เพราะทั้งวัดผลไม่ได้ และไม่ตรงโจทย์อีกหลายประการ

1. ทรัพยากร (Resource) – หวังผลยิ่งใหญ่แต่ไม่มีเงิน!

ทุน เป็นปัญหาหลักที่หลายคนรู้ดี ที่ใช้คำว่าทรัพยากรเพราะไม่จำเป็นว่าเงินเสมอไป ในหลายกรณี กฎของการแข่งขันง่ายๆ หากว่า แบรนด์คู่แข่งในตลาดสามารถจ้างอั้ม พัชราภา คุณก็ต้องมีเงินจ้าง ชมพู่ อารียา เป็นอย่างน้อย

แต่เดี๋ยวก่อนสมมติ ถ้าคุณวางตำแหน่ง (Positioning) คุณไว้เพียงเข้ามาแบ่งส่วนตลาด (Market Segmentation) นั่นก็หมายความว่าคุณควรมีปัญญาจ้าง เนต ไอดอล (Net Idol) เป็นอย่างน้อย ถ้าไม่มีเลย ก็ควรมีปัญญาจ้าง นางแบบโนเนมมาได้บ้าง เป็นต้น แต่เชื่อไหม หลายๆ ธุรกิจคิดแค่ว่า เราทำอย่างเขาไม่ได้ เลยไม่ลงทุนเลย!

การไม่มีทุนทรัพย์ก็เห็นผลชัดอยู่ประการหนึ่ง ทว่าการทำการตลาดรูปแบบอื่นโดยอย่างยิ่งการตลาดที่เรีนกว่า Below The Line นั้น อาจใช้เพียงแค่กำลังคน ก็อีกนั่นแหละ เงินก็ไม่มีมา คนก็ไม่มีให้ ต่อให้เอานักการตลาดเก่งแค่ไหน ก็ส่ายหัว อนึ่งจากประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษาการตลาดเองก็ตาม นักธุรกิจโดยอย่างยิ่งใหม่ๆ พอได้ที่ปรึกษามาก็คิดประหนึ่งว่า จ้างมาแล้วจะมีไม้เท้าวิเศษ เสกนั่นนี่ได้ในพริบตา แนวคิดเช่นนี้ผิดมหันต์ หรือคิดว่า อั๊วก็ยังทำคนเดียวมาได้ ถ้าท่านเป็นหนึ่งคนที่คิดแบบนี้ เก็บเงินจ้างที่ปรึกษาไว้ หาพนักงานที่ไหนก็ได้สักคนเอาไว้ช่วยทำตามใจนึก(ไว้ช่วยลื้อ) จะได้ประโยชน์ดีกว่ามากมาย เพราะเขาก็ต้องมีแขนขาไว้ต่อยอดสมองของเขาเหมือนกัน

จากที่กล่าวมาบทความนี้จึงน่าจะมีประโยชน์ต่อ เจ้าของธุรกิจ นักการตลาด หรือคนที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว ที่จะต้องดูแลเรื่องการตลาดเองด้วยให้เข้าใจว่า ในการดำเนินงาน การทำงานด้านการตลาด อะไรคืออุปสรรค ที่ทำให้แผนงาน หรือการทำงาน ของการตลาดนั้นไม่ประสบความสำเร็จ เหล่านี้คือสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อม ไม่ให้เกิดอุปสรรคขึ้นมาเป็นปัญหาต่อการทำการตลาดธุรกิจต่อไป

บทความการตลาด อุปสรรคนักการตลาด

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา อิสระ ปัจจุบันประกอบอาชีพหลัก พ่อบ้าน :P ส่วนวิทยากร ธุรกิจส่วนตัว และอื่น ๆ เป็นอาชีพรอง.. V(^0^)V
แสดงความคิดเห็น