Site icon Sirichaiwatt

ความรู้ไม่ว่าจะมาจากไหน..

“ความรู้” เป็นสิ่งมีประโยชน์แน่นอน แต่เราต้อง “รู้” แค่ไหนกัน? รู้มากไปก็รกสมอง หรือรู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม คือ รู้ไว้ไม่เสียหายเผื่อได้ใช้ในวันหน้า…

ผมเชื่อว่าคนเรา “ชอบที่จะมีความรู้” กันนะครับ แต่จะ “อวดรู้” หรือไม่ก็อีกเรื่อง และหลายครั้งเราคงเคยสงสัยว่า บางคน “ทำไมไม่รู้อะไรบ้างเลย” รวมถึง “ไม่เรียนรู้” บ้างเลย ก็นั่นสินะครับ…

ที่จริงเรื่องนี้คิดขึ้นมาตอนที่ผมกำลังเขียนบทความ(อื่น) อยู่ แล้วก็เกิดไม่แน่ใจว่า “ภาพยนตร์” คำนี้สะกดยังไงกันนะ ที่ชอบลืมคือ ต์ หรือ ตร์ ทั้งที่ใช้วิธีคิดช่วยเตือนตัวเองอยู่แล้วบ่อย ๆ ว่า “ภาพยนตร์ มิใช่ รถยนต์” ก็มิวายไม่มั่นใจขึ้นมา (ท่าจะแก่หลง ๆ ลืม ๆ 😅 ) จึง google ตรวจสอบในทันใด…

แล้วก็แว่บคิดขึ้นมาว่า เราโชคดีที่มีเทคโนโลยีให้ได้ใช้ แต่ก่อนการจะเป็นนักเขียน สิ่งที่ต้องมีคือ พจนานุกรม วางไว้ใกล้ตัว เมื่อใดที่คิดคำไม่ออกหรือไม่แน่ใจก็ต้องเปิดหาเอา เสียเวลาไปอีกพัก จนบางทีอาจลืมไปด้วยว่า สิ่งที่จะเขียนต่อนั้นคืออะไร…

ย้อนไปสมัยผมเรียนรู้โปรแกรมด้านกราฟิก (เอง) ยังเป็นยุคที่อินเตอร์เน็ตต้องต่อกับโทรศัพท์บ้านความเร็วได้ 56k ถ้า 256k นี่เร็วสุด ๆ แล้ว แต่สมัยนี้ ถ้าเท่านี้มีหงุดหงิดปาโทรศัพท์แน่นอน แม้จะไม่เร็วแต่ก็ยอมรอที่จะค่อย ๆ โหลดรูปประกอบคำบรรยายในเว็บฝรั่งที่เขาสอนโปรแกรมและเทคนิคต่าง ๆ ไม่ต้องไปซื้อหนังสือ แถมได้ความรู้มากกว่าในหนังสือบางเล่มอีกด้วย สมัยนั้นถือว่าดีและสะดวกมาก ๆ แล้ว สำหรับผม

ประเด็นก็คือ ในเมื่อทุกวันนี้สะดวกมากแล้ว ทำไมบางคนก็ยังไม่ค่อยที่จะอยากเรียนรู้อะไร เช่น ไม่มั่นใจว่าพิมพ์(เขียน) อย่างไรก็แค่เปิดหามันนิดเดียวก่อนที่จะปล่อยให้ตัวเองพิมพ์ เขียนผิดลงไปดื้อ ๆ…

ในยุคนี้เด็กต้องเรียนออนไลน์กันมากมาย แง่การเรียนรู้ส่วนตัวมองว่าศักยภาพมันไม่เท่าการเรียนกับครูที่เจอกันจริง ๆ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ดี เพราะมันมีแง่อื่นที่มีประโยชน์เหมือนกัน เช่น การค้นหาเพิ่มเติม การไม่ต้องเสียเวลา เสียสมาธิจากเพื่อนร่วมห้องที่ไม่สนใจเรียน หรือการเหนื่อยล้าจากการเดินทาง

วิเคราะห์ดูมันก็อยู่ที่ตัวผู้เรียนเองอีกนั่นแหละ เพราะถ้าเป็นตัวผมเองสมัยมัธยม แล้วต้องเรียนออนไลน์ คงเป็นเด็กที่ไม่ตั้งใจเรียนอยู่ดีเหมือนในอดีตที่ผ่านมา…

เพราะผมในตอนนั้น (มัธยม) ไม่ได้ “มีใจ” ที่จะอยากรู้อะไรในตำรา หรือเรียกว่าไม่เห็นความสำคัญก็ได้ ทว่ามันต่างจากภายหลังที่ “มีใจ” อยากจะรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง แม้ไม่สำคัญก็เถอะ จึงทำให้มองว่า ความรู้ไม่ว่าจะมาจากไหนก็ไม่ต่างกัน จะเร็วช้า หาง่าย หรือหายาก สิ่งแวดล้อมเอื้อหรือไม่ ก็ไม่เกี่ยวอยู่ดี..

เพราะปัจจุบันผมเองเป็นนักเรียน(รู้)ออนไลน์มา 20 ปี ได้แล้ว ตั้งแต่เน็ตเต่าดังที่บอกไป เน็ตจะช้าเร็วไม่มีผลอะไร แต่เน็ตช้าบางคนอาจปาโทรศัพท์นั่นเพราะ เล่นเกมส์แล้วตาย..

คนอยากได้ความรู้โลกเราจะเป็นอย่างไร เขาก็คงขวนขวายหาใส่ตัวอยู่ดีแม้ไม่ได้มีโลกออนไลน์ ส่วนคนไม่ได้ “มีใจ” จะมีหรือไม่มีโลกออนไลน์เขาก็ไปสนใจอะไรที่ไม่ใช่ความรู้อยู่ดี..

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 25/01/2021

cr: ภาพประกอบเพิ่มเติม https://mgronline.com/celebonline/detail/9570000007141

Exit mobile version