Site icon Sirichaiwatt

อวดทำไม? รายได้ต้องดูกันปลายเดือน..

ตั้งใจโพสต์เรื่องนี้ตอนสิ้นเดือน “เงิน” อาจไม่สำคัญที่สุด แต่ก็สำคัญมากพอที่ทำให้เดือดร้อน มีปัญหา ทุกข์ใจ เพราะเรื่องเงินไม่เข้าใครออกใคร ส่งผลเลวร้ายก็ได้มากมาย ทั้งที่จริง ๆ แล้วโดยทั่วไปมันมีแค่ “รายรับ กับ รายจ่าย” เท่านั้นเอง

เรื่องการเงิน (ส่วนบุคคล) นี้เขียนแบบเต็ม ๆ ไปแล้วในตอนชื่อ “เงิน สำคัญ หรือ? ยัง?” แต่เรื่องนี้จะเขียนเป็นบทความสั้น ๆ ให้อ่าน ในอีกมุมหนึ่งแง่ของ “รายได้” เอ๊ะ หรือ “รายรับ” กันนะ แต่เรื่องนี้หากไม่เคยตระหนัก ก็ไม่ต้องตระหนก เมื่อมีปัญหาหนักทางการเงิน… ƪ(˘⌣˘)ʃ

อยากมีเงินเดือนเท่าไหร่?

ใครก็อยากมีเงินเดือนเยอะ ๆ และคงไม่อยากเขียนว่า ต่อให้มีเท่าไหร่ก็ไม่พอ เพราะไม่ใช่บทความธรรมะ (─.─||)มีการวิจัยโดยสรุปทำนองว่า เราจะไม่พอใจเงินเดือนตัวเอง ถ้าเพื่อนร่วมงานมันได้มากกว่าเรา แม้จริง ๆ เราจะได้เยอะแล้วก็ตาม ซึ่งมันเป็นเรื่องของจิตวิทยาที่ว่ากันไม่ได้ ยังไงก็ต้องรู้สึกกันบ้าง แต่..

เพราะเรามักจะรู้แค่ “รายรับที่ไม่ใช่รายได้” หากเทียบแล้วคนทำกิจการมีรายรับ หลักแสน หลักล้าน กันมากมาย แต่หักรายจ่ายต่าง ๆ นา ๆ แล้วเหลือเป็น “รายได้” เท่าไหร่อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งบางทีก็ไม่เหลือ…

สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่เงินเดือนเท่ากัน หรือต่างกันไม่มาก แค่ 1-2 พัน ก็รู้สึกว่าเดือดร้อนใจ (บางคนหลักร้อยก็คิดมาก) แต่เนื้อแท้วัดไม่ได้ว่าชีวิตใครดีกว่า รายรับ คงที่ เหมือนกัน แต่หากใคร “รายจ่ายคงที่” ได้ด้วย ชีวิตน่าคงดีกว่าเพราะบริหารจัดการได้ มีหลายคนเรียกอีกแบบว่า “รายเหลือ”

เช่นที่เคยยกตัวอย่างไป นาย A เงินเดือนมากกว่า นาย B 2,000 แต่ นาย A ต้องจ่ายค่าเดินทางมาทำงานเดือนละ 1,500 ขณะที่นาย B เดินมา อีกทั้งนาย A จ่ายค่าที่พัก แพงกว่านาย B เดือนละ 500 บาท หรือจ่ายค่าไฟมากกว่า ค่าโทรศัพท์แพงกว่า แบบนี้แต่ละเดือนก็ไม่ต่างกันเพราะนาย A มีรายจ่ายมากกว่า 2,000 สุดท้ายก็ไปดูที่การใช้ชีวิตว่าแต่ละคนเป็นอย่างไรอีกที…

หลายคนก็เหลือน้อยตั้งแต่ต้นเดือน เพราะสารพัดหัก/จ่าย ก็รอวันไปเงียบ ๆ หลายคนก็เป็นช่วงเวลาปลดปล่อย(อะไรก็ไม่รู้) ชิมช้อปใช้ ที่ไม่ใช่เงินรัฐ ทำยังกับว่าอาทิตย์หน้าเงินเดือนจะเข้าอีกรอบ ประเภทนี้พอกลางเดือนเป็นต้นไปก็จะทำตัวเงียบลง และน่าจะมีส่วนน้อยที่ต้นเดือนทำตัวเฉย ๆ เพียงแต่คิดในใจว่า “เงินออกอีกแล้วเหรอ ของเดือนที่แล้วยังใช้ไม่หมดเลย” ¯_(ツ)_/¯

ความภาคภูมิใจในตนเอง

ถ้าเราได้เคยสัมผัส “ความสุขที่เกิดขึ้นจากตัวเราเอง” เราจะพบว่าในความสุขนั้นส่วนหนึ่งมาจากความภาคภูมิใจในตนเอง…

ในอดีตคนส่วนใหญ่ไม่นิยมมีหนี้สิน การมี “สิ่งของ” บ้านหรู รถยนต์ เพชร ทอง เครื่องประดับ อาจเป็นการอวดกันได้โดยตรง เพราะถ้าไม่มีจริง ๆ ก็ไม่สามารถนำมาอวดกันได้ (เป็นหนี้ยากกว่าปัจจุบัน)

แต่ทุกวันนี้ไม่อาจตัดสินคนได้จากสิ่งเหล่านี้เลย เพราะทุกอย่างล้วน กู้ ผ่อน ยืม กระทั่ง “เช่าเอามาอวด” ได้ไม่ยาก เพียงแต่ว่าสังคมให้ค่าสิ่งที่เห็นโดยง่ายมากกว่าอยู่ดี หากไหลตามกระแสนี้คุณก็ยากจะมีความสุข..

คนอวดไม่ผิด และบางคนเขาก็ไม่คิดว่าโอ้อวด มันคือความมั่งมีของเขาจริง ๆ และเป็นความภูมิใจของเขาเช่นกัน ที่ได้ กิน ได้อยู่ ได้ใช้ ในสิ่งของที่มีราคา แต่คนที่สุขไม่ได้ ไร้ซึ่งความภูมิใจในตนเอง ก็พยายามไปหยิบยืมความภูมิใจในแบบ “คนอื่น” ที่ตนเองไม่มีจริง จึงต้องดิ้นรนหวังว่าจะได้มีจุดนั้นเหมือนเขา

คนที่มีความภูมิใจในตนเองอยู่แล้ว ก็มักจะไม่รู้สึกว่าต้องอวดหรือเท่าคนอื่นในด้านนี้  หรือคนเข้าใจ ภูมิใจในการเงินตัวเองอีกมุม ก็จะสุขอีกแบบ เช่น ดีใจที่ไม่มีหนี้ สุขใจที่ รู้ว่ามีรายรับ มากกว่ารายจ่าย สุขใจที่เห็นเงินในบัญชีเพิ่มขึ้นทีละน้อยมากกว่าเสื้อผ้าในตู้ คนที่ใช้ชีวิตธรรมดา เช่นนี้มีมากมาย มีความสุขที่จับต้องได้ และเขาจะไม่ค่อยเกรี้ยวกราดหรือไม่พอใจกับอะไรง่าย ๆ เพราะมีความพอใจในตนเองเป็นทุน ไม่จำเพาะเรื่องเงิน ความภูมิใจมั่นใจอื่นก็ทำให้เป็นเช่นนี้ จนถึงแอบซ่อนยิ้มมุมปากได้เสมอที่เห็นคนโอ้อวด เมื่อใดที่คุณอยู่จุดนั้นคุณจะเข้าใจมันได้เอง (◠‿◕)

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 02/09/2020

Exit mobile version