มีหลายคนที่อยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง พัฒนาตนเอง ต้องเคยคิดหรือรู้สึกว่าเจ้าความขี้เกียจของเรานี่มันช่างเป็นตัวขัดขวางให้เราไม่พัฒนาเสียจริง ๆ ทั้งที่มีความตั้งใจเริ่มต้นไว้ดิบดีแล้วก็ตาม.. เขาถึงได้บอกว่าการพัฒนาตนเองนั้น เราต้องมีเป้าหมาย มีแรงจูงใจ แรงบันดาลใจ เพราะเมื่อใดเกิดขี้เกียจขึ้นมา ท้อขึ้นมา ก็จะได้แรงเหล่านี้เป็นตัวผลักให้หลุดจากความท้อ ความขี้เกียจไปได้
ขี้เกียจอ่าน กดฟังแทนก็ได้นะ [Podcast]
ซึ่งปัญหามันก็มีต่อว่า แม้ได้รับแรงผลักที่ดี บางทีผ่านไปไม่นาน มันก็ยังขี้เกียจอยู่ดี.. อาจเพราะเจออุปสรรค หรือหมดแรงจูงใจก็ตาม คงไม่จำเป็นต้องมัวไปหาสาเหตุที่คนเราขี้เกียจ เพราะไม่ว่าจะจากเหตุไหน อย่างไร มันก็คงไม่ดี โดยอย่างยิ่งกับหลายสิ่งที่เราต้องการผลลัพธ์เป็นความสำเร็จมันคงไม่สำเร็จได้โดยง่ายบนภาวะเช่นนี้
สำหรับผมแล้วมีแนวคิดอยู่อย่างหนึ่งว่า อะไรที่เรารู้ว่ามันไม่ดี แต่เอาชนะมันไม่ได้ ตัดมันไม่ได้ เราก็ต้องปรับหรือเปลี่ยนเพื่ออยู่กับมันให้ดีให้ได้ เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอไม่มีอะไรเลวร้ายไปเสียหมด ความขี้เกียจก็เช่นกัน และมันต้องเริ่มจากการ “เปลี่ยนทัศนคติ” เปลี่ยนความคิด ไปในด้านที่ควรจะเป็น เหมือนเช่น ความขี้เกียจที่มันก็มีดีของมันอยู่ ดังแง่คิดต่อไปนี้
ก็เพราะขี้เกียจเดิน เราจึงมีรถใช้?
ขี้เกียจจึงหาทางลัด
นี่เป็นจุดแข็งของความขี้เกียจเลยทีเดียว ผมเป็นคนหนึ่งที่บ่อยครั้งขี้เกียจทำอะไร ๆ ในแบบที่เขาว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งบางทีมันมีกระบวนการที่ไม่จำเป็นเอาเสียเลย จนมันจึงกลายเป็นเรื่องที่ยาก (เพราะหลายขั้นตอน) ไปเลยก็มี จึงชอบที่จะหาทางลัดและทำมันให้สำเร็จโดยเร็ว หรือไม่เช่นนั้นก็หาวิธีช่วย หรือ เครื่องมือช่วยทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ เร็วขึ้น ง่ายขึ้น อะไรก็ตาม ผมเชื่อว่า หลาย ๆ นวัตกรรม ก็เกิดจากความขี้เกียจคล้ายกันแบบนี้แหละ จะว่าไปแล้ว บางทีก็เพราะขี้เกียจเดิน เราจึงมีรถใช้กันอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นได้ (จริงๆ น่าจะอยากไปเร็วขึ้น ขี้เกียจเสียเวลามากกว่า.. แต่ก็ขี้เกียจอีกนั่นแหละ)
แต่ก็ต้องเตือนกันไว้ก่อนว่า บางเรื่อง บางอย่างมันไม่มีวิธีลัด กลายเป็นว่ามัวแต่หาวิธีทั้ง ๆ ที่ทำ มันไปเลยคงจบไปแล้ว ตรงนี้ก็ต้องดูด้วยว่าบางเรื่องมันขี้เกียจหรือขยัน(หาวิธี) แบบผิด ๆ กันแน่ รวมถึงต้องเตือนกันในความคิดบางอย่าง ที่อยากจะลัดมากไปจนกลายเป็นสิ้นคิดในบางแง่มุม ยกตัวอย่างสุดง่าย ก็คือ ขี้เกียจทำงาน เลยไปปล้นธนาคาร นี่คือวิธีลัดแบบสิ้นคิด ด้วยความเคารพ ขี้เกียจไม่ว่าแต่อย่าโง่ไปด้วยเลยครับ
ขี้เกียจถาม/ขอร้อง
เอาความขี้เกียจตัวเองยกมามาเป็นตัวอย่างอีกเรื่อง ที่ถือว่าเป็นข้อดีที่สุดของความขี้เกียจของผม และมันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมเป็นผมในวันนี้ ในการที่คนเราจะรู้หรือทำอะไรสักอย่าง มันก็ต้องควรได้รับองค์ความรู้ที่ถูกต้องเสียก่อน ไม่เช่นนั้น มันนก็ยาก เพราะไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน แต่จากประสบการณ์ ผมมักจะมีปัญหาในการที่จะถาม ขี้เกียจถาม บางทีถามไม่ได้คำตอบที่ดีพอ ทำให้ชอบที่จะหาคำตอบเอง ไม่ว่าจะเป็นการหาความรู้ ไปจนถึงลงมือลองทำด้วยตนเอง อะไรก็ตามที่เราศึกษาเอง ลองผิดลองถูกเอง เรามักจะรู้จริง รู้ซึ้งในระดับหนึ่งต่อสิ่งนั้น เพราะนอกจากต้องหาความรู้ให้รอบแล้วยังต้องผ่านกระบวนการผิดถูกมาพอสมควร เมื่อเป็นแบบนี้ในหลายครั้ง หลายเรื่อง เราก็รู้มาก รู้กว้าง ที่แม้ไม่ได้เก่งไปเสียทุกเรื่อง แต่ก็ได้เปรียบคนอื่นพอควร
หลายคนอาจบอกว่า ไม่เคยขี้เกียจถาม เพราะถามแล้วเขาบอกมามันทำได้เร็วกว่า หรือถามให้คนอื่นช่วยทำดีกว่า รวม ๆ คือขี้เกียจคิดเองทำเอง ถามเอาสบายกว่าเยอะ ผมก็เห็นด้วย แต่เฉพาะในบางเรื่องเท่านั้น เพราะหลาย ๆ เรื่อง ถ้าถามครั้งหนึ่ง เราก็รู้แค่มุมหนึ่ง ด้านหนึ่ง อาจต้องถามเขาเอาอีกหลายด้าน แถมบางทีก็ต้องไปไล่ถามคนอื่นต่อเอาอีก ได้คำตอบผิด ๆ อีก ไม่รู้จริงอีก ส่วนตัวมองว่ามันน่าเบื่อมาก ที่สำคัญคือ เราไม่สามารถแก้ปัญหาเองได้ในสิ่งนั้น(ต้องไปถามคนอื่น) ถึงแม้ไม่ใช่ทุกกรณี แต่หลายครั้งก็เป็นแบบนี้จริง ๆ จึงมีคนประเภทหนึ่ง เหมือนจะขี้เกียจเรียนรู้ แต่ขยันถาม ถามแล้วถามอีกไม่มีเบื่อ!
กระนั้นความขี้เกียจถาม ขี้เกียจร้องขอนี้มีข้อเสียอีกเหมือนกัน คือ เสียเวลา ต้องเจียดเวลาเพื่อรู้เอง เพื่อลองเอง บางทีถามถูกที่ ถูกคน ถูกเวลา ง่ายกว่าจริง ๆ ดังนี้ต้องดูดี ๆ ว่า มีใครพอพึ่งพาได้ไหม และอะไรก็ตาม ดังที่บอกไปส่วนหนึ่งว่า นี่ทำให้ผมเป็นแบบนี้ เป็นผู้มีใจที่รักจะแบ่งปันความรู้ แนวคิดต่าง ๆ เพราะชีวิตตัวเองเสียเวลาศึกษาอะไรมาเยอะ จึงไม่อยากให้ใครต้องเสียเวลาชีวิตไปเพื่อต้องเรียนรู้อะไรด้วยตัวเองเสียหมดเช่นผม
เรื่องของตัวเองขี้เกียจ เรื่องของคนอื่นขยัน หากลองคิดดูดีๆ ก็น่าสงสัยตกลงขี้เกียจจริงๆ หรือขยันผิดเรื่องอยู่กันแน่
ขี้เกียจเสียเวลา
เรื่องของเวลา มันมีมาตรฐาน เรามีเท่ากันในแต่ละวัน แต่เราก็กลับรู้สึกเหมือนมันไม่เท่ากัน และใช้มันได้อะไรกลับมาไม่เท่ากัน หลายคนได้ประโยชน์ พัฒนา หลายคนไม่ได้ประโยชน์ การที่เราขี้เกียจทำอะไรสักอย่าง หากมันเป็นสิ่งไม่จำเป็น ก็คงไม่เสียหายอะไร แต่ถ้าเป็นเรื่องจำเป็น ย่อมมีผลตามมา บางเรื่องที่เรามองว่าไม่อยากทำตอนนี้ รู้สึกไม่อยากเสียเวลาทำมัน แต่ก็ต้องทำในวันหน้าอยู่ดี แบบนี้แสดงว่าเรากำลังผัดวันประกันพรุ่ง มองให้ดี ๆ แทนที่เราจะได้มีเวลาเหลือในอนาคต ก็กลายมาเสียเวลาทำสิ่งนี้อีก และด้วยเงื่อนเวลามันกลายเป็นว่า ทำภายหลังลำบากกว่า ยากกว่า หรือทำไม่ได้แล้วก็มี.. เช่น ไม่มีคนอยู่ช่วยทำแล้ว
“ดีจะได้ไม่ต้องทำ?” มันไม่เป็นเช่นนั้นน่ะสิ ทุกสิ่งในชีวิตมักเกี่ยวโยงกัน อะไรที่พลาดไป ขาดไป ย่อมต้องถูกทดแทนด้วยสิ่งหนึ่งอย่างรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ลองคิดเอาง่าย ๆ แค่ว่า บางเรื่องทำ ๆ ไปตอนนี้ดีกว่ายากภายหลัง เหมือนบอกตัวเองว่า “อย่าต้องเสียเวลากับเรื่องนี้อีก” นั่นก็คือ ทำให้มันจบๆ ไปซะ
ขี้เกียจเสียเวลาในมุมที่กล่าวมานี้ โดยสรุปก็คือ บางครั้งหากขี้เกียจเสียเวลา ก็ให้เวลามันตอนนี้แล้วจบไป จะได้ไม่เสียเวลาในภายภาคหน้าอีกนั่นเอง
ขี้เกียจเสียเวลา ก็ยังมีอีกมุม ดังที่บอกไปว่าเวลาเรามีเท่ากัน แต่หลายคนแทนที่จะเอาไปทำอะไรก็ไม่ทำ อ้างว่าขี้เกียจ แต่มักขยันที่จะไป ฟัง รู้ สนใจ เรื่องคนอื่นไว้ก่อน บ้างอ้างว่าช่วย ช่วยรับฟัง หรืออะไรก็ตาม ซึ่งการช่วยเหลือผู้อื่นเป็นเรื่องดี แต่บางทีก็ขยันแต่เรื่องคนอื่น เพราะคิดเอาว่าตัวเองคงไม่สามารถทำชีวิตตัวเองดีขึ้นได้ง่าย ๆ เลยทำให้การได้ช่วยคนอื่นนั้น มันทำให้ชีวิตตัวเองดูมีคุณค่าขึ้น.. ก็ไม่ผิดที่คิดเช่นนี้ แต่ลองตรองดี ๆ ว่าคนเราหากนำพาชีวิตตัวเองก้าวหน้าได้มาก นั่นก็ยิ่งมีกำลัง มีอะไรไว้ช่วยคนอื่นได้มากกว่าตอนนี้หลายเท่านัก และไม่ตกอยู่ในภาวะช่วยแต่เขา ตัวเองเอาไม่รอดอีกด้วย คนเป็นเช่นนี้ อยากก้าวหน้า อยากพัฒนาตนเอง แต่เลือกที่จะใช้เวลากับเรื่องคนอื่น พอเรื่องของตัวเองเต็มไปด้วยข้ออ้างในการทำ และออกแนวขี้เกียจ หากลองคิดดูดีๆ ก็น่าสงสัยตกลงขี้เกียจจริง ๆ หรือขยัน.. ผิดเรื่องอยู่กันแน่?
มีหลายอย่างที่คิดว่าขี้เกียจ แต่ที่จริงขยันนะที่ทำไปแบบนั้น
ขี้เกียจทำซ้ำซาก/แก้ไข
นึกกันดูสักหน่อย เราก็จะเจอว่าหลายอย่าง อาจเป็นงานหรือเรื่องในชิวิตประจำวัน ที่เรารู้สึกว่าขี้เกียจและไม่เปลี่ยนแปลง โดยที่มันอาจเป็นเรื่องที่ต้องทำ และทำซ้ำ ๆ ไปเช่นนั้น บ้างก็เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขอยู่เช่นนั้น เหมือนคำคมที่เขาว่า “ทำอะไรเดิม ๆ ก็ได้ผลลัพธ์เดิม ๆ” ในมุมหนึ่งนึ่สะท้อนการพัฒนาบางอย่างของชีวิตชัดเจน และควรจะคิดได้ว่าทำไมไม่คิดหาวิธีที่จะได้ไม่ต้องทำอะไรซ้ำ ๆ หรือต้องคอยแก้ไขเรื่องเดิม ๆ ล่ะ
ทบทวนดูแล้วช่างน่าขัน มีหลายอย่างที่คนเราคิดว่าขี้เกียจ เลยไม่ใส่ใจ แต่ที่จริงขยันนะ การที่ใครคนหนึ่งต้องทำอะไรซ้ำ ๆ ซากๆ หลาย ๆ รอบ แก้ปัญหาแบบเดิม ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเรื่องคน เรื่องงาน หรือเรื่องอะไรก็ตาม ทำแบบนี้ได้ขยันจะตายไป ใครว่าขี้เกียจ
ก็อาจมองได้ว่า “ให้ทำไงล่ะ? เปลี่ยนไม่ได้ ไม่เป็น..ไม่รู้หรอก” ก็แล้วแต่ปัจจัย เช่น งานบางอย่างที่คุณเองก็ไม่เข้าใจว่า ต้องทำเรื่องนี้ซ้ำ ๆ ไปทำไม แต่เปลี่ยนแปลงไม่ได้เพราะเป็นคำสั่ง ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า คุณจะขยันทำต่อไป หรือขี้เกียจหาวิธีใหม่? เพราะไม่จริงเลยที่ว่าจะเปลี่ยนแปลงงานไปในทางดีขึ้นไม่ได้ หากมันดีจริง ๆ หรือดีพอ มันย่อมพิสูจน์ตัวเองได้ ไม่เช่นนั้น หางานใหม่อาจสบายกว่าเดิมก็ได้ (จริงๆ เยอะมากที่เปลี่ยนแปลง แล้วงานน้อยลง แต่เงินดีกว่าเดิม) หรือจะขี้เกียจหางานใหม่.. แต่ขยันทำงานเดิม ๆ ที่ไม่มีอะไรดีขึ้น
ก็แล้วแต่จะเลือก ขี้เกียจคิด ขี้เกียจเปลี่ยน แล้วต้องขยันทำแบบเดิม แก้ปัญหาแบบเดิม ๆ หรือ ขี้เกียจทำแบบเดิม แก้ปัญหาเดิม จึงต้องเริ่มเปลี่ยนแปลง…
ขี้เกียจพูด/อธิบาย
ทำดีกว่าพูด เราก็รู้กันอยู่ แต่ก็มีไม่น้อยที่รู้สึกว่า ขี้เกียจพูดทำไปเลยดีกว่า แต่ผมไม่ได้กำลังหมายความว่า ขี้เกียจพูดแบบนี้จะดี เพราะนี่มันก็ต้องขยันทำ และมันกลายเป็นว่าก็ต้องทำเองมันเรื่อยไป และอีกคนที่ขี้เกียจทำจริง ๆ ก็จะรู้ว่ามีคนทำแทน (จนเริ่มงงว่าใครขี้เกียจ ใครขยันกันแน่งานนี้)
ด้านหนึ่ง การขี้เกียจพูด และขี้เกียจอธิบายนี้เป็นเรื่องดีจริง ๆ คือลงมือทำไปเสีย (ไม่ต้องพูดอยู่) และไม่ต้องอธิบาย (ให้มันผ่านไป) เราจะมีเวลาไปคิด ไปทำเรื่องดี ๆ อีกมากมาย ซึ่งในทางตรงกันข้าม คนที่เอาแต่พูด วิจารณ์ ขยันอธิบาย ช่างวิเคราะห์แทนคนอื่นนั้น บางทีก็น่าสงสัยว่า แท้จริงแล้ว ไม่มีปัญญาทำด้วยตนเองหรือเปล่า หรืออยากมีส่วนร่วม อยากสำคัญ จนบางทีก็งงว่า ต้องการอะไรกันแน่
การเป็นคนขี้เกียจพูด/อธิบาย แล้วลงมือทำนี้ ก็ไม่ควรเป็นลักษณะทำแทนใคร ทำเรื่องของใคร เบื้องต้นก็จะคล้ายที่บอกไปก่อนหน้านี้ที่กลายเป็นได้ใจ อีกทั้งหากเราไปพูด ไปบ่น ไปอธิบายเรื่องของคนอื่นที่เราคิดว่า “ห่วง และ หวังดี” ก็ไม่ผิดหรอก แต่ถ้า “ขยัน พูด ขยันอธิบาย สิ่งเหล่านั้น” คุณว่า ได้อะไร?.. นั่นแหละเชื่อว่าทุกคนเข้าใจ อย่าไปขยันอะไรสิ่งนี้เลย
การที่เราขี้เกียจ แค่เพราะทำสิ่งไม่ชอบ หรือมันยังไม่ใช่
ขี้เกียจก็คือขี้เกียจ!!
ถ้าใครขยันอ่านมาถึงตรงนี้ แล้วคิดตามบ้าง แย้งบ้าง รวมถึงสรุปไปตรงที่ว่า มันไม่ใช่เรื่องที่จะขี้เกียจแล้วพัฒนาตนเองได้ มันก็แค่เปลี่ยนมุมมองที่ อาจต้องทำบางอย่าง เพราะถ้าเราพูดถึงคนขี้เกียจจริง ๆ แล้ว “มันไม่อยากทำอะไรสักอย่าง”..
ผมไม่เชื่อว่ามันคือความเป็นจริง เพราะแท้แล้ว ความขยัน กับความขี้เกียจนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ใครชี้วัด คนขยันนั่ง กับคนขยันยืน ก็ขยันเหมือนกัน คนขยันนั่ง ก็บอกว่าขี้เกียจยืน คนขยันยืนก็บอกว่า ขี้เกียจนั่ง มนุษย์นั้นหากหัวใจยังเต้นแล้ว ย่อมต้องสูบฉีดให้ร่างกาย สมองดำเนินไป ในทิศทางที่คน ๆ นั้นต้องการ เพียงแต่ว่า เมื่อไม่ใช่สิ่งที่ต้องการมันจึงไม่อยากกระทำ และ การที่เราขี้เกียจ แค่เพราะทำสิ่งไม่ชอบ หรือมันยังไม่ใช่ ความขี้เกียจจึงมีข้อดีดังที่ยกตัวอย่างไป
ความขยันก็มีข้อดีแบบที่รู้กันอยู่ ขยันผิดเรื่องก็ไม่ดี แต่ขี้เกียจผิดเรื่องก็ไม่ดีเช่นกัน สิ่งที่ต้องมองให้เห็นชัดเจน คือ ใจ เท่านั้น ใจที่พ่ายแพ้หรือยังสู้ ลองดูดี ๆ ที่ขี้เกียจนั้น มันแค่ใจที่ไม่สู้หรือเปล่า เพราะหากใจยังไหวคำว่าขี้เกียจ ก็เปลี่ยนเป็นการพัฒนาตนเองได้เช่นกัน