โดยส่วนใหญ่แล้ว เราก็ไม่ต่างจากคนทั่วไปที่อยากประสบความสำเร็จในด้านใดด้านหนึ่ง หรือ มีเรื่องที่อยากทำให้สำเร็จมากกว่าหนึ่งเรื่อง แต่ก็ส่วนใหญ่อีกนั่นแหละ ที่เรื่องเหล่านั้นมันเหมือนความคิดที่ลอยฟุ้ง ๆ ขึ้นมาในหัว มีผลให้ตรึกตรองบ้าง ให้รู้สึกมีแรงผลักบ้าง และแล้วก็มักจางหายไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น…
ในช่วงปิดเทอมของยุคโซเชียล เน็ตเวิร์ก เราจะเห็นพ่อแม่หลายคนโพสต์อวดเกรดผลการเรียนของลูก โดยอย่างยิ่งเด็กเล็ก ๆ ที่ได้ 4.0 ไม่ผิดแปลกอะไรที่พ่อแม่จะรู้สึกดี แต่เรื่องนี้ไม่ได้กำลังจะเขียนเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก หรือเรื่องเด็ก ทว่าเรื่องการแบ่งเกรดนี้มีมุมที่อาจบอกอะไรผู้ใหญ่อย่างเรา ให้ได้คิด ได้ทบทวน อันอาจเป็นประโยชน์…
เกรดที่หายไป…
ชีวิตเราหลายคนก็เหมือนเด็กที่เรียนดีเฉพาะวัยประถม และประถมก็แปลว่าขั้นต้น เมื่อเจอเรื่องยากขึ้นในชั้นต่อมา เกรดก็มักจะหายไป… จากการหลงสิ่งยั่วเย้า สุขชั่วคราว สนุกสนานกับสิ่งต่าง ๆ มากไป เหมือนกับเด็กที่พอขึ้นชั้นมัธยมบางคนที่ไม่ได้นึกถึงอนาคต หรือเห็นคุณค่าความสำเร็จเล็กน้อยเหมือนอดีต…
สิ่งที่ช่วยยืนยันคือ เราหลายคนที่เคยนั่งคิดว่าอยากกลับไปเรียนมัธยมใหม่ จะได้เข้าเรียนต่อคณะดี ๆ หรือคงจะได้มีการวางพื้นฐานอนาคตใหม่ แม้จะรู้สึกว่าชีวิตมัธยมตัวเองไม่ได้แย่อะไร ได้ประสบการณ์ห่าม ๆ เรื่องราวสนุกมากมายก็ตาม และส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครอยากย้อนไปเรื่องเรียนสมัยประถมเลยไม่ว่าจะเคยเรียนดีหรือไม่ก็ตาม สิ่งเหล่านี้อาจสะท้อนให้เห็นด้านหนึ่งว่า การพยายามวัดค่ากับเด็กไม่มีประโยชน์อะไร แต่เมื่อยิ่งโตมา “ความรับผิดชอบ” นั้นมันสำคัญกว่ามาก
คนที่มองอนาคตและรับผิดชอบอนาคตตัวเองการมีการวัดผล เป็นประโยชน์กับเขา เหมือนเด็กมัธยมอีกหลายคนที่มุ่งมั่นว่าต้องชนะในการสอบเข้า ในขณะที่อีกด้าน ก็มองการวัดผลว่าเป็นการตีกรอบความสามารถ รวมถึงทำลายความสุขสบายในการใช้ชีวิต…
กับเด็กเล็กอาจใช่ ที่เราไม่ควรไปวัดผล แต่โตมาเมื่อใด แม้จะไม่อยากวัดเกรด วัดค่าอะไร สุดท้ายเราก็ใช้ชีวิตแบบเปรียบเทียบกันกับคนอื่นกันอยู่ดี และมันคือสิ่งที่ดิ้นรนอยากมาเติมเต็มกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น วัตถุ สิ่งของ หรือแค่ “การยอมรับ” ก็ตาม ตัวอย่างเช่นว่า ขับรถอะไร ใส่นาฬิกาอะไร เหมือนเป็นตัวแทนว่า ชีวิตคุณเกรดไหน กระทั่งคนรอบตัว เขารัก เขาชอบ เขามองเราอย่างไร แม้จะไม่เกี่ยวกับวัตถุก็ตาม เราก็จะมีความวัดระดับอยู่ในใจเสมอ
เกรดของความสำเร็จ
อันที่จริงแล้ว ไม่มีใครมาชี้วัดความสำเร็จใด ๆ ของใครได้ ว่าแบบไหนที่เรียกว่าสำเร็จ หรือความสำเร็จต้องเป็นแบบใด รวมถึงไม่มีกระบวน หรือคำแนะนำใด ที่จะการรันตีว่าทำตามแล้วจะสำเร็จทุกอย่าง แต่หากขาดซึ่งตัวชี้วัดที่จะมายึดโยงให้เราได้เห็นบ้าง ก็จะคล้าย ๆ ที่กล่าวไว้ในตอนแรกคือ มันเลื่อนลอย หรือไร้แรงจูงใจ
และความสำเร็จไม่เคยมาแบบทำปุ๊บ ได้ปั๊บ ก่อนจะถึงความสำเร็จใดเราก็ต้องมี “การพัฒนาตนเอง” หรือ มีลำดับขั้น, ความก้าวหน้า ให้พอเห็นว่า เข้าใกล้ความสำเร็จนั้นหรือยัง ซึ่งในที่นี้เป็นแง่คิดง่าย ๆ ให้เราลองตัดเกรดตัวเองเหมือนเด็กนักเรียน เพียงแต่ประเมินจากภาพรวมได้เลยว่า ณ เวลานี้ “เรากับเป้าหมาย” อยู่ในเกรดใด
เกรด 0 = ไม่ได้ทำ
จะคิดฝันไว้ดีแค่ไหน ไม่ได้ทำอะไรเลยมันก็เป็นศูนย์
เกรด 1 = ได้ทำ
เราอาจมีแรงฮึดมากพอให้ “เริ่มทำ” บางอย่าง อย่างน้อยก็วางแผนมันจริงจัง มันก็ดีและถือว่าไม่สอบตก แต่ผลงานหรือความสำเร็จนั้นมันก็ยังอีกไกลถ้าแค่ เคยได้ทำ หรือลองทำ
เกรด 2 = ทำได้
ทำได้ทำไมแค่เกรด 2 ล่ะ? ทำได้ในที่นี้คือ ได้ทำบางสิ่งจนเป็นรูปเป็นร่าง เหมือนคนอยากเปิดร้านกาแฟ ก็เปิดร้านมาจนได้ ก็ถือว่าทำได้ แต่จะขายดีเปล่าล่ะ? อยู่รอดไหม? อันนี้ยังไม่รู้ถึงได้เปรียบเป็นเกรดนี้ ซึ่งถือว่า กลาง ๆ ไม่แย่ แต่ยังเรียกว่าดีก็คงยังไม่ได้ หรืออีกตัวอย่าง คนวางแผนที่จะออกกำลังกายวันละ ครึ่งชั่วโมง ก็ทำได้ในวันนี้หรือพรุ่งนี้ แต่อีกเดือน อีกปีต่อไปล่ะ? ก็ยังพูดยาก จึงถือว่ายังอยู่ในเกรด 2 ซึ่งข้อนี้เตือนสติได้ดี โดยอย่างยิ่งคนที่มีเป้าหมายเป็นการลงทุนทำอะไรสักอย่าง อย่าลืมว่าแค่ เปิดธุรกิจได้ ตั้งร้านได้ ไม่ใช่ถือว่าสำเร็จแล้ว ดังนั้นตอนวางแผนอย่าคิดแค่ว่าหาทุนที่ไหนมาเปิด ทุนการทำการตลาด สายป่านการบริหารจัดการก็สำคัญ เพราะกิจการมันยังต้องไปต่อได้ด้วย
เกรด 3 = ทำดี
ส่วนหนึ่งเราหลายคนคงทราบดีว่าถ้าเราได้ เกรด 3 ขึ้นไปนี่ดีมากแล้ว สำเร็จระดับหนึ่งแล้วไม่ต้องเกรด 4 ก็ได้ ซึ่งมันก็จริง การทำได้และดี ย่อมหมายถึง ทำบางสิ่งเกิดขึ้นมาแล้วไปต่อได้ เช่นเป็น กิจการเปิดร้านแล้วกิจการทำกำไรพอคุ้มค่ามาสักระยะ ก็ถือว่าทำได้ดี หรือออกกำลังไปได้สม่ำเสมอ ปีสองปี นี่ก็ยอดเยี่ยมแล้ว เพราะเชื่อว่าร่างกายคุณได้ผลลัพธ์ที่ดีมาแล้วแน่นอน ที่นี้จะตัดเป็นเกรด 3.1 หรือ 3.8, 3.9 ก็อยู่ที่เรารับรู้ตัวเอง แต่มันเก่งมากแล้วล่ะ…
เกรด 4 = ดีที่สุด
แน่นอนว่าเกรด 4 ย่อมหมายถึงดีแทบไม่มีที่ติ แต่สำหรับเรื่องนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ความสำเร็จนี้คือ ร่ำรวยล้นฟ้า โด่งดังไปทั่วโลก หรือเหรียญทองโอลิมปิก เช่นตัวอย่างเดิม หากเป็นกิจการ การที่ดำเนินงานจนผ่านเกรด 3 ได้ที่หมายถึงขายดีมาหลายปี จนเรียกว่าเป็นเกรด 4 ก็ไม่ผิดอะไร แต่หากวันหนึ่งโลกเปลี่ยนไป หรือมีเหตุให้กิจการถดถอย แบบนี้คงไม่มีเกรด 4 กันพอดี ดังนั้นเกรด 4 ย่อมหมายถึง “ทำดีที่สุดหรือยัง”
เพราะเหมือนที่ผมเคยเขียนหรือพูดไว้ว่า คำว่าดีที่สุดนี้มันน่ากลัวโดยอย่างยิ่งภาวะหลอกตัวเอง เพราะในคนที่ไม่หลอกตัวเอง เมื่อเกิดสิ่งไม่ดีขึ้น จะรู้ตัวและยอมรับว่า ผลลัพธ์ก็ควรเป็นเช่นนั้น เพราะเราทำมัน “ยังไม่ดีที่สุดเอง” แต่คนหลอกตัวเองจะบอกว่าได้แค่นี้ก็ “ดีที่สุดแล้ว…” ซึ่งก็แล้วแต่ตัดสิน แต่ที่แน่ ๆ มันมีอยู่จริงที่ดีที่สุดแล้วแต่ผลลัพธ์ไม่ได้ “ถูกใจเราที่สุด” เท่านั้นเอง
อีกประการคือ ความสำเร็จของแต่ละคนนั้นมันวัดกันไม่ได้ แต่เชื่อได้ว่า เกรด 4 มันควรจะหมายถึงจุดที่ “ดีที่สุด” ของคนนั้น ๆ ต่อเรื่องนั้น ๆ อยู่ดี เพียงแต่ต้องไม่ลืมว่า บางทีเกรด 4 ของเราวันนี้อาจเป็นเกรด 4 ที่เราเรียนแค่ประถม มันไม่อาจชี้วัดต่อยอดอนาคตอะไรได้มากนัก เหมือนคนที่หลอกตัวเองว่า วันนี้ฉันดี ฉันเก่ง ฉันพอใจ ฉันได้ดีที่สุดของฉันแล้ว แต่ชีวิตมันยังการันตีอนาคตไม่ได้ เช่นนี้ ก็ไม่ต่างจากการพยายามเอาเกรดเด็กประถมไปอวดใคร เพราะใช่ว่าภูมิใจอะไรไม่ได้ แต่อนาคตยังอีกไกลมากมายเหลือเกิน…
และเกรดในวันนี้ไม่มีครูที่ไหนมาให้คะแนน คงมีแต่ตัวเราเองที่ต้องสอนตัวเอง ให้คะแนนตัวเอง ขึ้นอยู่กับว่า ตัวเราเป็นครูที่ใส่ใจ และมีจรรยาบรรณต่อตัวเองหรือไม่อีกที…
ปล. เขียนเรื่องนี้ค้างไว้ และพอดีวันหยุดได้กลับไปคุยกับเพื่อนสมัยประถมโดยบังเอิญ ยิ่งทำให้เขียนง่ายขึ้นมากมาย เพราะไม่ใช่ใคร ผมนี่แหละเด็กประถมเกรด 4 😅
บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 21/04/2021