Site icon Sirichaiwatt

จงเลือกช่วงเวลาที่ยากลำบาก

มันคงเข้าใจยากหากบอกว่า “ลำบาก” เป็นเรื่องจำเป็น คนเราล้วนต้องอยากสบาย และไม่มีใครอยากลำบากเป็นแน่แท้ แต่ในอีกด้านเชื่อว่าทุกท่านคงรู้ว่า มันก็ต้องมีลำบากกันบ้างทุกคน จะมากน้อยอาจต่างกันไป ทว่าความลำบากนี่มันเป็นช่วงเวลาที่เราเลือกได้ด้วยหรือ?

ฟังบทความนี้ในรูปแบบ Podcast ตามช่องทางเหล่านี้

ขอถามคุณเล่น ๆ แต่อยากให้คุณลองคิดดูแบบจริงจังว่า ถ้าคุณไม่ใช่นักวิ่ง คุณต้องลงงานวิ่ง 10 กิโลเมตร คุณซ้อมกี่กิโล? หรือถ้าเป็นนักวิ่งสักหน่อย แล้วคุณต้องวิ่ง 20, 30, 40, 100 กิโลเมตร ที่ปกติแล้วไม่ง่ายต่อร่างกายคุณนั้น คุณจะซ้อมกี่กิโล ?

เรากลับมาสมมติว่าต้องวิ่ง 10 กิโลเมตร แบบที่ปกติแล้วมันยากลำบากสำหรับเรา ย่อมมีความแตกต่างในความคิดต่อการซ้อมดังเช่น

ประเภทที่ 1 พยายามซ้อมให้ได้ 12 โล เพื่อเมื่อวันวิ่งจริง คุณจะได้ผ่านมันได้สบายๆ ประเภทนี้ย่อมต้องลำบากก่อนอย่างหนัก เพราะในที่นี้ถือว่า 10 โล ก็เป็นเรื่องที่ลำบากมากแล้ว แต่ถ้าทำได้ แน่นอนว่า เขาไม่ลำบากในตอนท้าย เรียกว่า ซ้อมเผื่อ

ประเภทที่ 2 พยายามซ้อมให้ได้ 5-8 กิโล เพราะจะให้วิ่งทีละ 10 โลสำหรับเขามันเหนื่อยมาก และเชื่อว่าซ้อมเท่านี้ ไปลุยอีกทีวันจริง หรือ ถ้าเขาซ้อม 10 โล ไหว สบาย เขาคงเลือกลงวิ่ง 20 โล จะสรุปเอาก็ได้ว่าเป็นประเภท ซ้อมครึ่งหนึ่ง ใจครึ่งหนึ่ง

ประเภทที่ 3 อาจซ้อมบ้างไม่กี่วัน หรือนาน ๆ ครั้ง รวมถึงไม่ซ้อมเลย และเชื่อว่า วันจริง วิ่งไป เดินไป ยังไง ก็ต้องผ่านไปได้อยู่ดี เลือกไปลุยเอาข้างหน้า.. เรียกได้ว่าใช้ใจ

คุณเป็นประเภทไหน?

ในที่นี้ผมไม่ได้มาคุยเรื่องหลักการวิ่งแบบจริงจัง ว่าควรจะซ้อมแบบไหน เพราะทุกการซ้อม มันมีความลำบากอยู่ในนั้น เทียบการไปวิ่งกับนอนอยู่บ้าน ย่อมสบายผิดกัน และผมแค่กำลังพยายามเปรียบเปรยอย่างง่าย ๆ หลายคนอาจคิดว่าทำไมเราต้องวิ่ง ก็อยากให้ลองสมมติว่า ถ้าการวิ่งในที่นี้เปรียบกับการดำเนินชีวิต ที่หากมองตัวเอง หรือรอบ ๆ ตัวเราอาจเห็นความต่างของความคิดแต่ละรูปแบบ

คนประเภทที่ 1 ชีวิตอาจก้าวไกล ถ้าคุณเป็นคนประเภทนี้จะมีคนที่ไม่เข้าใจคุณอย่างมาก และคิดว่าคุณสบาย ในแนวว่า “ใช่สิร่างกายคุณดีนี่” ทั้งที่ คุณก็ไม่ได้ร่างกายดีมาแต่แรก ผ่านความลำบากในการซ้อมมานาน เพียงแต่ว่า คนเรามักมองกันตอนสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ นี่เป็นเรื่องที่หลายคนรู้ คนประเภทที่ 3 จะชอบมองว่าคนพวกนี้มีต้นทุนดี หรือเหมือนไม่ต้องซ้อม แม้จะมองว่าซ้อม ก็จะตีความเอาว่า เพราะเขามีเวลามาก ไม่ลำบากเหมือนตน..

และในอีกด้านของคนประเภท 1 ย่อมมีสิ่งที่เสียไป เพราะเขาอาจต้องใช้เวลาในการซ้อมเยอะ แต่วันหนึ่งร่างกายคงที่ การซ้อมของเขาเป็นเรื่องสบายไม่ลำบากเหมือนแรก ๆ ก็ในตอนนี้นี่แหละ เขาสามารถใช้เวลาไปหาสิ่งที่เคยเสียไปมาทดแทนได้ จึงกลายดูเป็นคนที่เหมือนได้อะไรทุกอย่างง่ายสบายกว่าคนอื่น

คนประเภทที่ 2 เลือกลำบากพอประมาณ เพื่อข้างหน้าจะฟ่าฟันได้ไม่ยากนัก คนประเภทนี้อาจมีเรื่องอื่นให้มุ่งมั่นด้วย ไม่เพียงเรื่องนี้เรื่องเดียว แต่เขาก็เลือกที่จะไม่ปล่อยให้อนาคตต้องไปเสี่ยงเฉย ๆ เขาอาจจะไม่แน่วแน่เท่าประเภทที่ 1 แต่ก็ซ้อมยอมลำบากตอนนี้ เพื่อไม่ลำบากมากในอนาคต

แน่นอน การเลือกไม่ลำบากเท่าไหร่ในตอนนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตจะสบายตลอดไป มันก็จะกลายเป็นมีขึ้น มีลง มีเรื่องนั้นให้ห่วง เรื่องนี้ให้สนใจ เมื่อไหร่ที่คนประเภทนี้เลือกได้ว่าจะสนใจอะไรที่สุด เขาก็อาจจะกลายเป็นคนประเภท 1 ที่พร้อมทุ่มเททุกความลำบากไปกับเรื่องไม่กี่เรื่อง แต่ถ้าไม่ มันก็อาจเป็นความท้าทาย ที่ทำให้ชีวิตมีอะไรตลอดเวลา ซึ่งมันหมายความว่า สุขบ้าง ลำบากบ้าง บางเวลา

จะว่าไปแล้ว กลุ่ม 2 นี้น่าจะเป็นคนส่วนใหญ่ ที่หากเรามองกันในแง่ดี ก็มีสุขทุกข์ ปนไป เป็นธรรมดา แต่มองอีกที คนประเภทนี้ ที่เลือกลำบากพอประมาณ อาจมีการเปลี่ยนผันได้ของสิ่งที่เรียกว่า แรงจูงใจ อาจหมด หายได้ กลายเป็นประเภทที่ 3 ได้ไม่ยาก รวมถึง ไม่ก้าวหน้าไปไหนไกลในสักเรื่อง เพราะไม่ทุ่มเทมากพอ เลือกลำบากกับทุกเรื่องพอประมาณ แค่ให้มันผ่านไป..

คนประเภทที่ 3 ถ้าเป็นแค่เรื่องวิ่ง ที่จริงคุณจะซ้อมหรือไม่ ไม่ใช่สิ่งตัดสินว่าคุณเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ ถ้าคุณไม่ใช่นักวิ่ง การไปวิ่ง 10 กิโล โดยไม่ซ้อมเลย มันก็จะทำให้ “ไม่อยากไปวิ่งอีก” เพราะมันเหนื่อยลำบากแทบขาดใจ แน่นอนถ้าไม่มีใครบังคับ การเดินเข้าเส้นชัยมันไม่เหนื่อย

แต่ดังที่บอกไปหากเปรียบเรื่องนี้ได้กับการดำเนินชีวิต ที่บางทีมันมีลิมิตเรื่องเวลา มีสิ่งนั้น สิ่งนี้มาบีบบังคับให้ต้องดำเนินไป หลาย ๆ เรื่องไม่อาจตามใจตัวเอง เช่นเรื่อง เงิน งาน และความก้าวหน้าในทางใดทางหนึ่ง การไม่เคยลำบาก และจะให้มันได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มาโดยสบาย เป็นไปได้ยาก และส่วนใหญ่กลายเป็นลำบากมากในตอนท้าย อาจเลิกไม่เข้าเส้นชัย..

ถ้าเปรียบกับการใช้ชีวิต ตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือการหาเงิน แน่นอนว่าเงินทองหามาลำบาก เราก็คิดว่าหลายคนหามาง่าย นั่นก็คล้ายกันคือเขาผ่านการซ้อมมามาก ลำบากมามาก จนฐานเขาดี มีทุน มีช่องทางต่าง ๆ กลับกันกับหลายคน วันนี้สบาย เพราะไม่ดิ้นรนหาเงิน อยู่เฉย ๆ ใช้เงินน้อย ๆ ก็สบายได้ แต่มันไม่เช่นนั้น วันหนึ่งมันก็ถึงเวลาที่ต้องใช้เงินเยอะ ภาระบางอย่าง เช่น ร่างกายเจ็บป่วย แบบนี้ เพราะที่ผ่านมาเราไม่ลำบาก..

ลำบากก่อนสบายทีหลัง ไม่จริงเสมอไป แต่ไม่ลำบากเลยแล้วหวังสบาย เป็นไปไม่ได้เลย..

อาจคิดได้ว่าหลายคนเกิดมามีพร้อมในบางสิ่ง ซึ่งมันก็ใช่ แต่เชื่อหรือไม่ เขาก็จะต้องไปลำบากในชีวิตบางด้านอยู่ดี เพราะหากไม่เป็นเช่นนี้ ชีวิตไม่มีวันเรียนรู้ และไม่มีใครพร้อมทุกด้านได้ในความเป็นจริง..

ประเด็นสำคัญคือ เราเลือกลำบากเองในตอนนี้ เพื่อสิ่งหนึ่งข้างหน้า หรือว่า เราไม่เคยสนอะไรจนปล่อยให้ชีวิตลำบากแบบไม่ตั้งใจ? เพราะหลายคนใช้ชีวิตเช่นนี้ คล้ายที่เคยเขียนไป เมื่อสบายก็ติดอยู่แต่กับอบาย กิน เที่ยว เซ็กส์ และสิ่งไร้สาระ มากเกินไป และหลายคนอ้างว่าก็มันลำบากมากแล้ว อยากหาความสุขบ้าง มันก็ไม่ต่างจากวัฏ ที่หาทางหลุดพ้นไม่ได้ สบายวันนี้ ลำบากต่อไป

หรือเลือกลำบากอีกหน่อยเพื่อหลุดพ้นไปสบายอย่างแท้จริง ก้าวขาไปซ้อมสักนิด เพื่อให้ชีวิตฟิตอีกสักหน่อย พร้อมเผชิญสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่ลำบาก จะประเภท 1 ก็ดี ประเภท 2 ก็ได้ แต่อย่าขนาดให้ประเภท 3 เลย แม้วิ่งจะไม่ใช่ตัวอย่างที่ชัดเจน แต่หลายคนก็เพียงใช้ชีวิต ให้ผ่านไป เพราะคิดว่าจะต้องสบายไปวัน ๆ และบางทีนั่นคือ เพียงนั่งอยู่ในความลำบากที่ยังไม่มากพอให้รู้ตัวเท่านั้นเอง

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 24/9/2019

Exit mobile version