Site icon Sirichaiwatt

ในเมื่อไม่มีใคร หนีปัญหาได้พ้น…

ชีวิตที่ไม่มีปัญหาเลย คงเป็นไปไม่ได้ แต่ ช่วงชีวิตที่ไม่มีปัญหา เป็นไปได้ ในยามที่เราไม่มีปัญหาชีวิต น่าจะคือช่วงที่เรามีความสุขมากช่วงหนึ่ง ทว่าสำหรับบางคนแค่ “ช่วงเวลา” ที่จะไม่มีปัญหาก็ยาก หรือมีน้อยเหลือเกิน เพราะส่วนหนึ่งคนเรามอง “ปัญหา” ไม่เท่ากัน ทั้งขนาดของปัญหา ความเดือดร้อนต่อปัญหา กระทั่งมองมันว่า “ไม่เป็นปัญหา” ก็ต่างมุมกัน

เมื่อมีปัญหาควรทำอย่างไร?

ก่อนจะหาคำตอบ คำถามนี้ก็ยังเป็นปัญหาอีกทีเลย ปัญหามีอยู่แล้วยังต้องมีปัญหาในการแก้ปัญหาอีก งงไหม? (ไม่งงก็แปลก) (☉。☉)! ดูตัวอย่างดีกว่า

นาย A มาทำงานตามปกติถูกเจ้านายเรียกพบ เพื่อที่จะแจ้งว่าเขาถูกเลิกจ้าง ปัญหาของนาย A คือ?

นั่นเป็นเพียงตัวอย่างสารพัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นมาในหัวนาย A ที่ หากเป็นปัญหาคนอื่นเราอาจแนะนำเพียงว่า “ก็หางานใหม่” ง่าย ๆ แค่นั้น…

ประเด็นคือ บางทีเราก็มองปัญหายากไป แต่หลายครั้งก็มองตื้นไปหรือไม่เห็นมากพอหากไม่เกิดกับเรา การแก้ไปปัญหาไม่ใช่เรื่องสนุกนัก ยากคาดเดาผลลัพธ์ และอะไรที่เป็นปัญหาไปแล้ว แม้แก้ไขได้ ก็น้อยนักจะสมบูรณ์ดังเดิม ยิ่งหากเป็นปัญหาชีวิต เวลาเกิดขึ้นทีหนึ่ง มักจะมีปัญหายิบย่อยจะแอบตามมาเหมือนปัญหาของนาย A มันจึงแก้ยากสำหรับหลายคน ผิวเผินเราอาจไม่ชอบปัญหา แต่มีนะหลายคนดูจะสนุกในการสร้างปัญหาให้ตัวเอง…

แน่นอนว่าดีที่สุดคือการ “ไม่สร้างปัญหา” หรือไม่ทำอะไรให้เกิดปัญหา แต่ว่า มันทำได้จริงหรือ?

ส่วนหนึ่งเราต้องแยกแยะก่อนว่า เรามองปัญหาต่างกัน ให้น้ำหนักต่างกัน และมีหลายเรื่อง “เล็กเกินไปที่จะนำมาเป็นปัญหา” เช่น วันนี้จะใส่เสื้อสีอะไรดี, เดินสะดุดพื้นฟุตบาท, ลืมของไม่สำคัญ, เที่ยงนี้กินอะไรดี? เหล่านี้ไม่ควรนับเป็นปัญหา ซึ่งก็มีแหละที่เอามาเป็นปัญหาให้ตัวเองและคนอื่นปวดหัวได้เหมือนกัน

ในอีกส่วน เรายังมี “ปัญหาเชิงบวก” ที่แม้จะเป็นปัญหา แต่มันเป็นเรื่องที่ดี โดยไม่ใช่ว่าเรามองโลกในแง่ดีเพียงอย่างเดียว เช่น สมมติคุณเปิดร้านอาหาร ปัญหาคือร้านคุณเล็กเกินไป ลูกค้าไม่มีที่นั่ง ที่นั่งไม่พอบ่อย ๆ อะไรเช่นนี้ ที่แม้จะเป็นปัญหา แต่ก็ถือว่ามีสัญญาณที่ดีในนั้น ดีกว่าอีกปัญหาที่ร้านกว้าง แต่ไม่มีลูกค้ามานั่งเป็นไหน ๆ

เมื่อแยกแยะแล้วว่าสิ่งไหนคือปัญหาจริง ๆ และสิ่งไหนที่ไม่ควรนำมาเป็นปัญหาก็ไปต่อกันตรงที่…

การพยายามไม่สร้างปัญหา

จากที่กล่าวมา จริง ๆ แล้วการแก้ปัญหาเป็นเรื่องยาก ดีที่สุดคืออย่าให้มันเกิด ซึ่งเราล้วนเข้าใจดีว่าไม่มีทางป้องกันมันได้ตลอดไป แต่อะไรยากกว่ากันระหว่างแก้ปัญหา กับป้องกันปัญหา คำตอบชี้ชัดอาจยากสรุป แต่สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้แน่นอนคือ

ป้องกันปัญหา เราทำได้โดยไม่เครียด แต่แก้ปัญหาเครียดไปแล้วแน่นอน และ
ป้องกันปัญหา คุณยังมีโอกาสเลือก แต่ปัญหาเกิดแล้วคุณเลือกอะไรได้น้อยจนถึงไม่ได้เลย
ป้องกันปัญหา เป็นการลดโอกาสเกิด และอาจคุมปัญหาได้ แต่เกิดปัญหาแล้ว มีโอกาสเกิดเพิ่ม และอาจคุมอะไรไม่ได้เลย

ดังนี้แล้วลองมาช่วยกันทบทวนดูดีกว่า ถ้าไม่อยากมีปัญหาเราจะคิด จะทำอย่างไรดี? ก่อนอื่นขอแบ่งปัญหาออกก่อน และมีมุมแบ่งปันตามต่อไปนี้ (ขี้เกียจอ่านมีสรุปท้ายบทความ)

1. ปัญหาตรงไปตรงมา

ถือว่าเป็นปัญหาที่ เห็นเหตุ เห็นผลชัดเจน เช่น ชอบลืมกุญแจบ้าน, ไปทำงานสาย, กระทั่งทะเลาะกับใครคนหนึ่งเรื่องเดิม ๆ ปัญหาตรงไปตรงมานี้ มักเป็นปัญหาที่อาจ “เลี่ยงไม่ได้ในครั้งแรก” (ใครจะอยากทำล่ะ) ดังนั้นเวลาเกิด มักเกิดด้วยความไม่รู้ หลงลืม หรือพลาดจริง ๆ

ปัญหาแบบนี้แก้ง่ายตรงไปตรงมา และก่อเกิดประสบการณ์ทำให้เราเรียนรู้ที่จะป้องกัน แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า “เราใส่ใจที่จะไม่ให้เกิดปัญหาหรือเปล่า?” เช่น ลืมกุญแจบ้านบ่อย แต่เรากลับสรุปไปง่าย ๆ เลยว่า ขี้ลืม.. จึงไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใด ปัญหานี้ก็ยังคงเกิดต่อไป อาจด้วยเพราะมันแก้ง่าย แก้ได้ เลยไม่ใส่ใจนัก แต่ส่วนหนึ่งมันก็เสียเวลาชีวิต เสียสุขภาพจิตอยู่เนือง ๆ และระวังมันจะกลายเป็น “ปัญหาที่ไม่เห็นผลทันที” ที่มีอธิบายในข้อต่อ ๆ ไป

2. ปัญหาที่ซับซ้อนขึ้น

แน่นอนมันไม่ตรงไปตรงมา เป็นปัญหาที่อาจไม่แน่ใจในสาเหตุ หรือป้องกันได้ทันที จำเป็นต้องมีความคิดละเอียดซับซ้อนขึ้นสักหน่อย เช่น เจ้านายไม่รัก, เพื่อนไม่ค่อยสนใจ, พูดอะไรดูผิดไปหมด, กระทั่งทำอะไรก็ไม่สำเร็จ ในที่นี้เราไม่ได้พูดถึงการแก้ปัญหา แต่พูดถึงการป้องกันปัญหา เพราะหากเป็นปัญหาที่ซับซ้อนขึ้น เวลาเกิดปัญหาแล้ว คนที่โทษตัวเองก็จะเฝ้าถามว่า “ทำไม?” ส่วนอีกคนก็โทษคนอื่นสิ่งอื่นไปเลย ก็เพราะเขาไม่รู้สาเหตุ หรือเหตุผลที่มันเกิด (ก็มันไม่ตรงไปตรงมาง่าย ๆ น่ะสิ)

ดังนี้ก่อนจะเกิดปัญหาเหล่านี้ หรือเหตุที่เกิดปัญหาเหล่านี้ เพราะเรามีมุมมองที่แคบไป ไม่ว่าจะความคิด ประสบการณ์ กระทั่งความรู้สึก เช่น เป็นคนพูดตามที่ตัวเองรู้สึกว่าไม่เป็นไร แต่คนฟังเขาไม่ได้รู้สึกเหมือนเราด้วย แบบนี้จึงมีปัญหา (แต่เราไม่รู้ตัว) หรือทำงานในส่วนที่ตัวเองคิดเองว่าสำคัญ จึงมองว่าทำไมเจ้านายไม่รักทั้งที่ก็ทำงานหนัก เช่นนี้ก็เหมือนกัน

ความซับซ้อนเป็นของแสลงกับคำว่า “ง่าย ๆ” ถ้าเราคิดง่ายเกินไป ไม่สำรวจตัวเอง หรือศึกษาบางเรื่องให้รอบด้าน ก็ย่อมส่งผลให้มีปัญหาที่รู้สึกว่าซับซ้อนตามมา เหล่านี้มันจึงเป็นเหตุว่าทำไมเราจึงรู้สึกไม่เข้าใจเมื่อปัญหามันเกิด..

3. ปัญหาที่ไม่เห็นผลทันที

ก็ถือว่าเป็นปัญหาซับซ้อนแบบหนึ่ง อาจภาพชัดกว่าถ้าเรียกว่า “ปัญหาที่ไกลตัว หรือปัญหาที่เห็นผลช้า” เช่น เราหลายคนมีปัญหาว่าทำไมขาดเงิน ขัดสน ซึ่งเรามักอยากได้ทางแก้แบบ มีเงินทันที รวยทันที และหาทางที่มีความหวัง อย่าง เล่นหวย ร้ายหน่อยก็การพนัน การโกงคนอื่น

ซึ่งปัญหาแนวนี้ส่วนใหญ่แล้ว คิดดูดี ๆ ก็รู้ที่มาที่ไป แต่ด้วยผลร้ายไม่มาทันที ความยากจน, สุขภาพร่างกาย, การไม่ใส่ใจลูกหลาน คนใกล้ตัว เราล้วนรู้ว่าผลลัพธ์จะออกมาไม่ดีทั้งสิ้น แต่เรามักไม่เลือกทำ, ประมาท, หรือไม่เอาเวลาสร้างสรรค์ในสิ่งนั้น เมื่อตอนที่มันยังดีหรือปกติดีอยู่

แต่ในอีกด้านก็เป็นธรรมชาติของคนเรา นักจิตวิทยาสังคม และเศษฐศาสตร์พฤติกรรม วิจัย เขียนหนังสือมากมายให้เห็นแนวคิดการตัดสินใจ แรงจูงใจหากมีเงื่อนไขผูกกับเวลา ชัดเจนว่าสิ่งใดที่ไกลออกไป ทำให้ความอดทนผู้คนต่ำ ซึ่งอดทนต่ำในที่นี้ ไม่ใช่อดทนลำบากไม่ได้ หรือไม่เข้มแข็ง แต่หมายถึง มักที่จะเลือกเอาสิ่งใกล้ ๆ หรือฉวยเอาความสุขง่าย ๆ ก่อน โดยจะลำบากภายหลังหรือไม่ ยังไม่สนใจ เพราะยังไม่เห็นในวันนี้…

ทานของไม่ดี, สูบบุหรี่, ไม่ออกกำลัง กระทั่ง ทำงานสาย เหล่านี้ ไม่มีใครเดือดร้อนในทันที และหลายคนโชคดีที่ไม่ได้รับผลกระทบอะไรกับสิ่งเหล่านี้โดยตรง เพียงแต่เมื่อเกิดผลกระทบขึ้นมาเมื่อใดช ล้วนเป็นปัญหาที่ย้อนมาแก้ไขอะไรแทบไม่ได้เลย ไม่ว่าจะด้านสุขภาพ ชีวิตการงาน

ตัวอย่างชัดที่สุดคือ สูบบุหรี่ ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นป่วยเป็น มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง หรืออื่น ๆ และแน่นอนวันนี้ไม่เห็นผลอะไร แต่หากเป็นมะเร็งขึ้นมาแล้วก็ย้อนไปแก้ไขอะไรไม่ได้

หรือ คุณมาทำงานสายตลอดแม้ผลงานจะดีแค่ไหน แต่มันก็ถือเป็นความด่างพร้อยในผลงานได้ (สมมติที่ทำงานนั้นให้ความสำคัญเรื่องเวลา) ถึงคุณจะเถียงแย้งกับที่ทำงานว่า แค่มาสายแต่ผลงานดี ก็ไม่ผิดในมุมของคุณ แต่หากบริษัทถือเอาเรื่องนี้เป็นการประเมิน คุณก็แก้ไขอะไรไม่ได้นอกเสียจากมาเช้าแต่แรก.. และนี่เป็นแค่ตัวอย่างง่าย ๆ เพียงเท่านั้น

การป้องกันปัญหาแบบนี้คือ ทำอะไรก็ต้องคิดให้ไกล หากมีชีวิตอยู่เพื่ออนาคต เพื่อเป้าหมาย เราจะยิ่งมองไกลและห่วงสิ่งที่จะตามมามากขึ้นเอง หรือที่สำคัญประการหนึ่งคนที่รักตัวเองมากพอ ก็จะห่วงตัวเองในทุกเรื่องมากขึ้นได้ไม่ยากเลย

4. ปัญหาที่ไม่ได้สร้างเอง

ส่วนหนึ่งของการหนีปัญหาไม่พ้นคือ พยายามไม่สร้างปัญหาแต่ปัญหาก็มาเอง ปัญหาแนวนี้เข้าใจไม่ยาก วิธี (คิด) ป้องกันก็ไม่ยาก.. แต่ปฏิบัติจริง อาจจะยากเสียหน่อย

กล่าวคือ ก็ในเมื่อปัญหาไม่ได้มาจากเรา หากเรา “ไม่ยุ่งกับใคร” ปัญหาก็ไม่มี ทว่านอกจากทำได้ยากแล้วยังอาจไม่เพียงพอ ซึ่งต้องมีคนกล่าวว่าเราไม่ได้ยุ่งกับใคร ก็อาจมีใครมายุ่งกับเรา

วิธีหนึ่งนั้น แม้คนที่เรา “เต็มใจ” ยุ่งด้วยก็จำต้องมีกรอบ มีขอบเขตในแต่ละเรื่องชัดเจน อย่าพยายามเอาบางเรื่องไปเกี่ยวพันกันโดยไม่จำเป็น เช่น เพื่อนผู้กลายมาเป็นหุ้นส่วน จากแค่ความรู้สึกความสัมพันธ์กันฉันท์เพื่อน มันจะมีเงิน และธุรกิจมาเกี่ยวข้อง เช่นนี้ อาจมีปัญหา

หรือในความสัมพันธ์อื่น ๆ เราก็ต้อง “กล้า” วางตัวหรือใช้กรอบอันควร ไม่ว่าจะเป็นทางมารยาทสังคม ศีลธรรม หรือ กฎหมาย เหล่านี้มีเพื่อป้องกันปัญหาทางสังคมอยู่แล้วนั่นเอง เช่น ญาติกันพี่น้องกัน ถ้าเราเตือน ห้าม เขาก็ว่าเรื่องส่วนตัว เวลามีปัญหา จะมาเป็นเรื่องส่วนรวมคงไม่ได้ ศีลธรรม กฏหมาย จริง ๆ ก็ไม่ผิด ผิดแค่คนพูด คนมอง อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า จะเอามาเป็นปัญหาตัวเองแค่ไหน ซึ่งหากเราไม่ได้ร่วมอะไร “แต่ต้น” ผลสุดท้ายก็ไม่มีใครหนีความจริงพ้น..

5. ปัญหาจากใจ (หรือปมในใจ)

ถ้าบอกว่าเราทุกคนมีปัญหาทางจิตใจ คุณเชื่อไหม? คุณก็อาจรู้สึกว่า ฉันไม่ได้เป็นโรคจิต!! มนุษย์เราเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ ซึ่งคำว่าประสบการณ์นี้กว้างเหลือเกิน ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางเหตุการณ์ในชีวิตเราอาจอยู่ในลักษณะ “ฝังใจ” โดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม..

ขอยกตัวอย่าง อะไรแยกให้คนบางคน กลัวหนอนแบบ.. อี๋ และบางคนไม่กลัว แถมจับเล่นได้ ทั้งที่แม้ว่ากันตามตรรกะ เหตุผล หรือสัญชาตญาณมนุษย์ก็ตาม หนอนชนิดนั้นไม่มีพิษภัย และทำร้ายเราไม่ได้เลย อะไรทำนองนี้นี่คือความแตกต่างที่ดูไม่เป็นเหตุ เป็นผล

ซึ่งในชีวิตจริงอาจมีด้านอื่นที่เป็นปมในใจ เช่น เราไม่ชอบคนเยอะ, เราชอบต่อต้านคนเสียงดัง, เราไม่ชอบงานลักษณะนี้, ไม่ชอบสิ่งแวดล้อมแบบนี้ หรือชอบคนเจ้าชู้ทั้งที่ไม่ควรชอบ และ อีกมายมายที่เราเป็น แต่คนอื่นไม่เป็นและเราก็ไม่รู้เหตุผลที่แน่ชัด หลายเรื่องไม่ผิดอะไร แต่หลายเรื่องก็สร้างปัญหาให้ชีวิตโดยรู้ตัว และไม่รู้ตัว

การป้องกันปัญหาแนวนี้ไม่ง่ายเลย เพราะหลายคนไม่รู้ตัวว่ามีปัญหาแบบนี้ด้วย หรือปมในใจของตัวเองคืออะไร นักจิตบำบัด หรือไลฟ์โค้ชตัวจริง (ที่ให้คำปรึกษารายบุคคล) จึงเป็นสิ่งแก้ไขปัญหา แต่น้อยคนก็จะยอมรับว่าตัวเองมีปัญหา โดยอย่างยิ่งในสังคมเรา หากบอกว่า คุณควรไปหาจิตแพทย์…

เรื่องนี้อาจเป็นปัญหาหนึ่งที่ป้องกันไม่ได้.. ก็เพราะไม่รู้ตัว แต่บางทีการป้องกันกับแก้ไขอาจเป็นเรื่องเดียวกันคือ ค้นจิต ค้นใจ ปรึกษา (ให้ถูกคน) ให้เห็นตัวเองให้มากขึ้น ชัดขึ้น ที่สำคัญคือพยายามพัฒนาตนเอง น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด..

สรุปแนวทางป้องกันปัญหา

ก่อนอื่นอยากให้เข้าใจว่า ก็ในเมื่อเราหนีปัญหาไม่พ้น ดีกว่าจึง “อย่าให้ปัญหามันเกิด” จะได้ไม่ต้องหนี ไม่ต้องแก้ แค่พยายามป้องกันให้ได้ แม้ไม่ง่ายมันก็ดีกว่า ปัญหาเกิดมาให้ตามแก้

  1. ปัญหาตรงไปตรงมา : ย่อมต้องเกิดเพราะความไม่รู้ เพราะไม่มีใครอยากให้เกิด ถ้าจะไม่ให้เกิดอีก ก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมและนิสัย หากรู้ต้นเหตุแห่งปัญหาแต่ว่ายังเกิดอีกนั้น นั่นเพราะเรายังทำอะไรไปแบบเดิม ๆ
  2. ปัญหาที่ซับซ้อน : จะเกิดขึ้นได้ยากหากคิดอะไรให้ละเอียดขึ้น รอบคอบขึ้น และมองอะไรไกลกว่าแค่ “ตัวเอง” สักหน่อย และด้วยความซับซ้อน อาจต้องใช้เวลาที่จะหา หรือเห็นว่า ทำแบบไหนจะไม่ให้เกิดปัญหาได้อีก..
  3. ปัญหาที่ไม่เห็นผลทันที : ให้ดีก็ต้องมองให้ไกล มีเป้าหมายให้ชีวิต เพราะหากไม่มีเราก็ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย ประมาท ได้ไม่ยาก ที่สำคัญ การรักตัวเองมากพอก็จะช่วยให้เราใส่ใจอะไรหลายอย่างในชีวิต คิดละเอียดขึ้น มีอนาคตดีขึ้นได้ไม่ยาก
  4. ปัญหาที่ไม่ได้สร้างเอง : มันจะเกิดไม่ได้ถ้าเราไม่ไปเกี่ยวข้องแต่แรก ต้องพินิจ ไตร่ตรอง เรื่องของเราควรแค่ไหน เรื่องของเขาเราควรอยู่สถานะใด กรอบสังคม กฎหมาย ศีลธรรม นำมาใช้ก็ช่วยได้ไม่มากก็น้อย
  5. ปัญหาปมในใจ : ป้องกันได้ด้วยการหมั่นสำรวจตัวเอง ไม่ยึดมั่นถือมั่น ที่สำคัญยอมรับในผลที่เกิด หากวันนี้มีปัญหาที่ไม่เข้าใจตัวเองมานาน นั่นยิ่งชัดว่า เราอาจให้เวลาสำรวจตัวเองน้อยเกินไป จึงไม่เข้าใจแม้กระทั่งสิ่งที่ตัวเองทำ

บทความนี้อาจเข้าใจยากสำหรับบางคน โดยอย่างยิ่งคนไม่เคยคิดป้องกันปัญหา แต่ส่วนหนึ่งก็อาจ งง ๆ ว่า มันต่างจากแก้ปัญหาอย่างไร หรือจะป้องกันได้จริงไหม? คงไม่อาจครอบคลุมปัญหาชีวิตใครได้ทั้งหมด และเป็นเพียงมุมมองหนึ่งที่ไม่ได้บอกว่าถูกต้องไปเสียหมด สิ่งใดดีนำไปปรับใช้ก็เป็นประโยชน์แก่ท่านเอง

นอกจากอาจจะได้ช่วยป้องกันปัญหาให้เราแล้ว บางเรื่องก็ไม่ต้องเข้าใจทั้งหมด แต่น่าจะมีบางส่วนที่เป็นแง่คิดดี ๆ ให้ลองตระหนัก เห็นถึงต้นตอปัญหาที่ผ่านมาเพื่อการ พัฒนาตนเอง กันต่อไปก็ได้ครับ

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 05/10/2020

Exit mobile version