Site icon Sirichaiwatt

การพัฒนาตนเองครั้งใหญ่ แค่ “ไม่โกหก”

การพัฒนาตนเอง ไม่ใช่เรื่องที่ทำครั้งเดียวแล้วจบ เชื่อว่าคนที่เข้าใจหรือสนใจในเรื่องนี้รู้ดีว่า มันไม่มีที่สิ้นสุด เพราะทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลง ไม่เกิดจากเรา ก็จากโลกที่เปลี่ยนไป

เช่นกัน ที่โดยส่วนตัวแล้ว ก็คิดว่ายังต้องพัฒนาไปอีกเรื่อย ๆ  แต่มีเรื่องหนึ่งที่นับว่าเป็นการพัฒนาตนเองหรือการเปลี่ยนแปลงตัวเองแบบก้าวกระโดด นั่นคือ “การไม่โกหก” ที่เพียงนึกขึ้นมา หลายคนคงมองว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ และหลายคนอาจสงสัยว่า มันช่วยให้อะไรดีขึ้นได้ด้วยหรือ?

จุดเริ่มต้นของผม มาจากการอ่านเจอประโยคคำคมทำนองว่า “ถ้าเราพูดความจริง คุณไม่จำเป็นต้องจดจำอะไรเลย” ในตอนนั้น แม้จะเห็นด้วยกับประโยคนี้ ทว่าด้วยวัยวุฒิที่มี ทำให้เกิดการขบคิดอย่างหนักว่า จะทำได้หรือในชีวิตจริง แต่ประสบการณ์จากอดีตหลายอย่าง ก็ทำให้นึกลองอยากเปลี่ยนตัวเองดู
(ที่มา If you tell the truth you don’t have to remember anything โดย Mark Twain ปี 1894)

การโกหกและปมชีวิต

พื้นฐานของการโกหก ย่อมเป็นความต้องการที่จะบิดเบือนความจริง ไม่อยากให้อีกฝ่ายรับรู้ เบื้องต้นมักเป็นการ “กลัวผิด” แต่ในอีกด้าน การโกหก คือ ความต้องการให้อีกฝ่ายรู้ในสิ่งที่ไม่จริง…

ในมุมหนึ่งของวัยเด็ก ที่เราอาจเคยโกหก หรือได้ฟังเรื่องโกหก โดยในเรื่องที่โกหกนั้น มันทำให้ผู้โกหกรู้สึกดีขึ้น หากเด็กคนนั้นไม่เคยมี, ไม่เคยได้, หรืออยู่ในสถานะที่ดูด้อยกว่า เช่น บ้านเราก็มีสิ่งนั้น, เราก็เคยเล่นของเล่นแบบนี้, เราก็เคยไปที่นั่นแล้ว อะไรทำนองนี้ โดยที่ความเป็นเด็ก อาจถูกจับผิดได้ไม่ยาก แต่ลึก ๆ มันสะท้อนความเป็นปมด้อยที่ไม่ต่างกับผู้ใหญ่ เพียงแต่ในฝ่ายหลังนั้น แยบยลกว่า…

ความไม่ต้องการเสียหน้า, การพยายามมีศักดิ์ศรี ไปจนถึงความอยากได้ อยากมี สิ่งเหล่านี้ก็มีเหตุให้ผู้ใหญ่หลายคนโกหกเพราะ “ไม่ยอมรับตนเอง” และด้วยกรอบคิดประเภท ไม่รู้คือโง่, ไม่มีคือต่ำต้อย, ไม่เหมือนคนอื่นคือแปลกประหลาด สังคมที่เอนเอียงไปในทางนี้ บีบให้บางคนมองว่า โกหก เป็นเรื่องจำเป็น เสแสร้งบ้างเป็นเรื่องธรรมดา หนักเข้าในคนที่รับความกดดันไม่ได้ อาจกลายเป็น “รังเกียจความจริง” ไปเลยก็มี ถ้าพิจารณาดี ๆ บางทีเราก็แค่สร้างปมให้ตัวเอง

การโกหกเพียงเพราะกลัวผิด ที่เหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาก็เช่นกัน แม้มันจะเป็นพื้นฐานที่เหมือนมีเหตุ มีผล ตรงไปตรงมา ให้ควรโกหก แต่หลายครั้งก็ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะบางสิ่งเรารู้แก่ใจว่า “ทำแล้วผิด” แต่ยังอยากทำ หวังใช้การโกหกเป็นเครื่องมือปกปิด มันไม่เหมือนเด็กที่ทำจานตกแตกแล้วกลัวจนต้องโกหก… เพราะพลาดแล้วกลัวผิด ย่อมแตกต่างกับ รู้ว่าผิดแต่ยังทำ

ณ วันนี้ถ้าเรามีเรื่องที่ตั้งใจทำลงไปแล้ว แต่พูดไม่ได้ หรือมีใครคนหนึ่งรู้ไม่ได้ ลองถามตัวเองสิว่า ทำไมต้องเป็นเช่นนั้น? ที่แน่ ๆ มันย่อมกลายเป็นปมในใจเราอย่างหนึ่ง ไม่มากก็น้อย

ชีวิตที่ไม่โกหก

คงจะมีบางคนที่ไม่ชอบการโกหก หรือมีชีวิตที่ไม่ค่อยโกหกอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะไม่เป็นเช่นนั้น เรามักจะมีบางมุม บางเรื่องที่อยากปกปิด ไม่อยากบอกใคร บางครั้งก็แค่หลอกตัวเองว่า “ทำไมต้องเปิดเผย” ซึ่งมันไม่ผิดอะไรที่คนเราควรมีเรื่องส่วนตัว มุมส่วนตัว เพียงแต่ “เรื่องที่ไม่ควรเปิดเผย กับเรื่องที่เปิดเผยไม่ได้” มันก็เส้นบาง ๆ

โดยรวมแล้ว ชีวิตที่ไม่โกหกมันจะทำได้ก็ต่อเมื่อ “เราไม่ได้ทำอะไรไม่ดีไว้เลย” ดังนั้นมันจึงไม่มีวาระซ้อนเร้นใด ๆ ในการใช้ชีวิตและความเป็นเรา เช่น ไม่กลัวใครจะจับได้ว่าทำไม่ดีไว้หรือเปล่า, ทุจริต, นอกใจ, ไม่ซื่อสัตย์, กระทั่งนินทาใคร ซึ่งเมื่อใดที่เราเลือกที่จะ “ไม่มีวันโกหก” เราจะไม่กล้าทำสิ่งเหล่านี้ทันที เพราะหากทำไปแล้ว เราต้องกล้าพูดเปิดเผย กล้าสารภาพนั่นเอง

อาจมองว่า “ทำได้ก็ดี” หรือ เป็นไปไม่ได้หรอกสำหรับบางคน บนความคิดที่ว่าคนเราก็ต้องมีช่วงเวลาที่ทำผิดบ้าง นอกลู่นอกทางเล็กน้อยบ้าง ทำไมต้องไปบอกใคร สารภาพใครให้มันเสียหาย ปล่อยให้ผ่าน ๆ ลืม ๆ ไปดีกว่า…

ซึ่งมันก็จริงอยู่ ในแง่ที่ว่าไม่จำเป็นต้องไปป่าวประกาศ แต่อย่าลืมว่าในมุมการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองนั้น มันเริ่มจากความคิดที่ชัดเจน ถ้าเราตั้งใจจะไม่โกหก สิ่งแรกที่เราจะได้คือ “การใช้ชีวิตที่ละเอียดขึ้น มีสติขึ้น และพิจารณามากขึ้น” ย่อมทำให้เรื่องผิด เรื่องเสียหายน้อยลง หรือหากเกิดก็มักเป็นเรื่องเล็กน้อยจริง ๆ ที่ไม่ต้องพูด เพียงแต่ถ้าต้องพูดก็ย่อมไม่เสียหาย

สิ่งที่จะได้เพิ่มเติมคือ เราจะกล้า “ขอโทษ” เพราะในคนที่กล้ายอมรับ การขอโทษย่อมเป็นเรื่องที่ไม่ลำบาก และพร้อมจะทำทันทีดีกว่าเก็บเป็นความโกหก หรือความปกปิดในใจ (ลองคิดตามดี ๆ มันจะเป็นเช่นนี้) ประกอบกันหลายสิ่ง จิตใจเราย่อมเบาขึ้น และปลอดโปร่งจากสิ่งกังวลใด ๆ เพราะทุกเรื่องไม่มีอะไรค้างใจ มันส่งผลให้สมองมีเวลาและโอกาสที่จะทำงานด้านสร้างสรรค์ได้ดีกว่า

อีกทั้งเราจะได้พบมุมมองใหม่ของชีวิตที่ได้เข้าใจว่า คนอื่นไม่ได้มานั่งจดจำเรื่องที่ไม่ดี หรือเรื่องที่ผิดพลาดของเรานัก เราต่างหากที่เอามันมากดดันตัวเอง และเมื่อเราคิดว่า “ผิดไม่ได้” เราก็กลายเป็นคนกลัวความล้มเหลว ซึ่งการกล้าที่จะไม่โกหก นั้น เท่ากับว่าเรากล้าที่จะเจอความล้มเหลวมากขึ้นไปในตัว

ยังรวมถึงการ “ไม่ได้เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง” ดังที่กล่าวข้างต้น ว่าการโกหกของเราส่วนหนึ่ง บางทีเราทำเพื่อซ่อนความไม่มี, ความไม่เท่าเทียม, ความอายในสถานะ และตัวตนของเรา ทั้งที่มันไม่จำเป็น คุณจะกล้าพูดว่า เราไม่มีเสน่ห์ เราอ่อนแอ เราไม่เก่งเรื่องนั้น เราโง่เรื่องนี้ และเรายังขาดสิ่งใด ผลที่ได้คือนอกจากคนจะเข้าใจเรามากขึ้นแล้ว เขาก็พร้อมจะช่วยเหลือ ให้โอกาส หรือแนะนำในสิ่งที่เราขาดพร่อง มากกว่าการมัวมานั่งสร้างภาพอีกด้วย

ผลลัพธ์ต่าง ๆ จากสิ่งที่กล่าวไป ถ้าเราเป็นคนที่เคยอ่าน, หรือพอเข้าใจเรื่องการพัฒนาตนเอง ก็จะนึกออกว่า นี่เป็นการได้เปลี่ยนกรอบคิด (Mindset) ทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนแปลงได้มากอย่างไม่ต้องสงสัย

แถมให้อีกมุม แม้กระทั่งในวันหนึ่ง คุณทำสิ่งผิด ๆ ในแบบที่รู้ว่าไม่ดีแต่เผลอใจทำ แต่คุณเลือกแล้วที่จะไม่โกหก คุณย่อมต้องกล้าสารภาพและรับผล… ภาวะเช่นนี้ แม้จะผิดจริง แต่จะทำให้เราผ่านไปและไม่อยากทำมันอีก ในทางตรงข้าม หากเราปิดบังไว้ สิ่งนั้นย่อมดำเนินต่อไป เช่น การนอกใจแฟน แล้วสารภาพ มันย่อมจบไปในแบบหนึ่ง อาจดีหรือไม่ดีก็ได้ แต่หากเลือกโกหก ปกปิด สิ่งนั้นอาจเกิดขึ้นได้อีก และเราจะวนเวียนอยู่บนความไม่ชัดเจน, ทุกข์ พร้อมกับอยู่ในชีวิตที่ไม่พัฒนา สุข ดิบ อยู่แบบนั้นเป็นวังวน สุดท้ายก็จบไม่สวยอยู่ดี เพราะในการโกหกเช่นนี้เหมือนยืดเวลาทรมานทุกฝ่ายไปให้นานขึ้นอีก (นอกจากทรมานตัวเองแล้วยังทรมานคนอื่นด้วยมันโหดร้ายว่าไหม?) โดยอันที่จริงหากเราเลือกไม่โกหก เรื่องการนอกใจยังไงก็ยากจะเกิด เพราะนอกจากเราจะกลัวเองแต่แรก การที่ต้องพูดความจริงเช่น มีแฟนแล้ว ก็เป็นการปิดโอกาสสิ่งไม่ดีแต่แรก ๆ ไปในตัวอีกทาง

ทำได้ก็ดี…

ส่วนหนึ่งก็ต้องเข้าใจว่า การไม่โกหก ไม่ใช่การป่าวประกาศ อยากโพนทะนา หรือหมายความว่าต้องพูดหมดทุกเรื่อง การไม่โกหกในที่นี่ย่อมเฉพาะเรื่องของเราเอง หากเป็นเรื่องคนอื่นแล้วเราพูดเสียหมด แบบนี้ไม่ใช่เรียกว่าเป็นคนไม่โกหก แต่เรียกว่าไร้หัวคิด

ต้องเข้าใจว่า การไม่โกหกในที่นี้ เป้าหมายคือ เพื่อให้การใช้ชีวิตของเราเองเป็นไปในทางที่ดีขึ้น อาจเรียบง่ายขึ้น สงบสุขขึ้น และได้เป็นตัวของตัวเองขึ้น หากการพูดความจริงนั้นไม่เกี่ยวกับเรา หรือกระทบใคร เราเพียงไม่พูดถึง ไม่ออกความเห็น เงียบ ย่อมดีกว่า ซึ่งถ้าต้องพูดออกไปแล้ว เราต้องโกหกนั้นย่อมไม่ดีเช่นกัน

ผลลัพธ์โดยอ้อมจากมุมนี้ คือทำให้เราไม่อยากรับรู้เรื่องคนอื่น เรื่องที่ไม่จำเป็น รวมถึงระวังตนให้ไม่ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ไม่ดี เราจะได้ไม่ต้องพูดไม่ต้องโกหก เพราะไม่รู้ และยิ่งไม่ได้สนใจเรื่องคนอื่น เราก็จะมีช่วงเวลาที่ได้ focus จดจ่อ หรือสนใจ ใช้เวลากับเรื่องตัวเองได้เต็มที่มากขึ้นอีกด้วย

ทั้งสิ้นที่กล่าวมา ลองไล่เรียงดูสิว่า นี่มันจะไม่เป็นการพัฒนาตนเองครั้งใหญ่ได้อย่างไร ในเมื่อเราจะอยู่แต่กับสิ่งดี ๆ ทั้งความคิดและการกระทำได้ในการเปลี่ยนแปลงเพียงเรื่องเดียว “แค่ไม่โกหก”

การไม่โกหกเลย เป็นไปได้ไหม? ดูน่าจะเป็นเรื่องที่ยากสำหรับหลายคน แต่ที่จริง แค่โกหกให้น้อยลง ชีวิตก็คงดีขึ้นมาก ที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ หลายคนไม่รู้ตัวเองเลยว่า  “โกหกตัวเอง” อยู่มากแค่ไหน เรื่องนี้แหละที่น่าจะเป็นปัญหาการพัฒนาตัวเองที่สุด

Exit mobile version