Site icon Sirichaiwatt

“การยอมรับ – ทำไมต้องรับ” กับผลลัพธ์ที่แตกต่าง

“ระบบมันแย่ ทำไมเราต้องยอมอดทนด้วย” ชายคนหนึ่งลุกขึ้นประท้วงเสียงดัง “ทำไมต้องรับ ปล่อยให้เป็นแบบนี้ตลอดไปเมื่อไรจะเจริญ!?” ห้องประชุมใหญ่ที่กำลังเงียบงัน แต่ก็มีเสียงพึมพำจากมุมหนึ่งว่า “…ทำไมไม่รู้จักยอมรับ.. วุ่นวาย” และอีกมุมหนึ่งก็พึมพำไปในทางเดียวกันว่า “..ก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น ไม่งั้นไม่อยู่กันมาได้ตั้งนานหรอก..”

ถ้าเราเป็นคนที่อยู่ระหว่างเรื่องราวข้างต้น เชื่อว่าการตัดสินใจไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ย่อมส่งผลลัพธ์ต่อเราแตกต่างกัน และหากเรื่องนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคล แง่ว่า ควรยอมรับอะไรหรือไม่นั้นก็ยากจะตัดสิน แต่ปัญหาที่สำคัญกว่าคือความ “ขัดแย้งภายในใจเราเอง” ว่าเราจะตัดสินมันไปในทางใดดีกว่ากัน

ส่วนหนึ่งก็คล้ายกับคำถามว่า “เรื่องนี้เราควรที่จะ อดทน ไหม?” แต่นัยหนึ่ง การ “ต้องทน” กับภาวะ “ยอมรับ” ช่างต่างกัน เพราะหากยอมรับได้แล้วมันมัก “ไม่ต้องทน” หรือทนน้อยกว่าดังนั้นการยอมรับ ย่อมดีกว่าอดทน เพียงแต่ตามประเด็นคือความขัดแย้งในใจ ในห้วงความคิดว่า “นี่เราควรยอมรับหรือ?” ควรปล่อยให้มันเป็นเช่นนั้นหรือ? แม้ไม่ต้องทนก็ตาม

ลองสมมติเป็นเรื่องราวคนใกล้ตัวของหลายคน เช่น มีคนทำตัวน่ารำคาญ (toxic) ในออฟฟิศ หรือที่ทำงาน กรณียอมรับได้ก็คือปล่อยเขาไป ไม่ยุ่ง ไม่สนใจ หรือเปิดใจรับให้ได้ กรณีที่ไม่ยอมรับคือ การพยายามเตือน, แนะนำ ไปจนถึงตำหนิทั้งโดยตรงหรือตามสายการบังคับบัญชา…

ผลลัพธ์จากกรณีตัวอย่างนี้ หากอยู่ในภาวะยอมรับ ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น อาจมีหงุดหงิดรำคาญใจบ้างเป็นบางเวลาที่คนนั้นเขาก่อเรื่องเกินเหตุ แต่หากไม่ยอมรับ แน่นอนว่า เรากับเขา จะมีปัญหากันโดยตรงอย่างไม่ต้องสงสัย และคาดเดาไม่ได้ว่าผลลัพธ์ต่อ ๆ ไปจะลงเอยแบบไหน เป็นไปได้ที่จะเกิดผลเสียกับเราเองโดยที่เขานั้นก็ toxic เหมือนเดิม…

ถ้ามองมุมนี้ การไม่ยอมรับดูเป็นภาวะที่เสี่ยงกว่าชัดเจน เพราะนอกจากอาจไม่แก้ปัญหาแล้ว จะกลายเป็นสร้างปัญหาเพิ่ม และเมื่อมองอีกมุมที่พิเคราะห์อีกหน่อย เรื่องนี้อาจตัดสินใจบนแนวคิดแบบหนึ่งได้ว่า การที่เราเอาความรู้สึกไปแขวนไว้กับคนที่น่ารำคาญคนนั้น มันไม่คุ้มค่าเลย เช่น ออฟฟิศมีคนสัก 7-8 คนแต่เราไปจดจ่อ (focus) ที่คน ๆ เดียวเราก็เหมือนไม่เห็นค่าคน 6-7 คนที่ดีหรือนำพาสิ่งแย่ ๆ จากคนเดียวมาบดบัง 6-7 คนที่เหลืออย่างน่าเสียดาย และมองลึกลงไปอีกก็อาจคิดได้ว่า แท้แล้วไม่มีอะไรสมบูรณ์ ไม่ว่าจะจำนวนหลายคน หรือจากคน ๆ เดียว ย่อมมีสิ่งที่รบกวนจิตใจเราบ้าง และบางทีตัวเราเองอาจมีความน่ารำคาญ กวนใจคนอื่นอยู่โดยไม่รู้ตัวได้เหมือนกัน เพียงแต่คนอื่นนั้นเขาแค่ “ยอมรับ” เราได้… ก็ไม่แน่นะ…

ในอีกกรณีสมมติ กับเรื่องคล้ายเดิมในที่ทำงาน แต่ไม่ใช่แค่น่ารำคาญ กลับกลายเป็นเราทราบว่าเขากำลังทุจริต ไม่ซื่อตรง เพียงแต่ถ้าการแจ้ง/ร้องเรียนมันง่าย ก็อาจไม่ใช่ปัญหา สรุปง่าย ๆ คือ ถ้าเราโวยวาย มันต้องเป็นเรื่องใหญ่โต อาจมีผลที่คาดเดายาก เช่นนี้ เราควรยอมรับด้วยการวางเฉย หรือ ลุกขึ้นมาต่อต้าน…

ผลลัพธ์ของทางเลือกเรื่องนี้ หากไม่ยอมรับ ลุกมาทำอะไรบางอย่างจนสำเร็จ ย่อมทำให้เกิดความยุติธรรมโดยทั่วกัน แต่ถ้าไม่สำเร็จ อาจมีความเสี่ยงระดับอันตรายต่อตนก็เป็นได้ ทั้งหน้าที่การงาน และความปลอดภัย แต่ถ้าปล่อยผ่านเบื้องต้นมันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น โดยอย่างยิ่งถ้าเราถูกระบอบเหล่านี้กลืนกินไปแล้วให้เป็นเรื่องธรรมดา  แต่สำหรับบางคนที่แอบไม่ยอมรับแม้จะไม่ทำอะไรแต่ภายในใจย่อมไม่มีวันสบายใจได้เลย

จุดเริ่มคิดก็คล้ายกันอาจต้องวัดดูว่าคุ้มไหม การเสียสละเสี่ยงเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ส่วนรวม เพราะต่อให้ตอนนี้ยังไม่มีผลอะไรกับเราโดยตรง แต่ในระยะยาวแล้ว ทุกอย่างย่อมเกี่ยวเนื่องและส่งผลได้ ในเมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรนั้น ๆ การทุจริตย่อมไม่ดี แม้ดูว่าน่าจะต้องทำอะไรสักอย่าง แต่สำหรับบางคนก็บอกว่า ยังไงมันก็ไม่คุ้ม…

จากทั้ง 2 กรณี ระหว่างคนน่ารำคาญ กับ คนทุจริต เบื้องต้นยากที่จะ เพราะต่อให้เป็นแค่เรื่องน่ารำคาญ แต่หากเรารู้สึกว่าต้องทน บางทีมันก็ถูกที่ไม่จำเป็นต้องทน หรือในเรื่องทุจริตที่มันดูแย่จริง ๆ บางทีมันก็ไม่คุ้มที่จะเสี่ยงไปแลก ซึ่งปัจจัยเบื้องต้นย่อมเป็นการพิจารณา “การเปลี่ยนแปลง” ทั้งระยะสั้นและระยะยาวกับสิ่งที่เราเลือก

แต่ข้อเสริมคงเป็นเรื่องของ “เวลา” เพราะดังเช่นกรณีความทุจริต อาจจำเป็นต้อง “ยอมรับ” ไปก่อนในตอนแรกจนกว่า “เวลา” จะเหมาะสมพอที่ให้ “ต่อต้าน” หรือ “ร่วมสู้” เพื่อที่จะได้ลดความเสี่ยง หรือเอาตัวไปเสี่ยงแบบสิ้นคิด ซึ่งบางคนก็บอกว่า ออกจากที่นี่ไปให้เวลาจัดการมันเองโดยที่เราไม่ต้องทน นั่นก็ด้านหนึ่ง…

ปัจจัยต่าง ๆ ในชีวิตคนเราก็อาจเป็นเช่นนี้ ต้องรู้จักยอมรับในบางเวลา และไม่ควรยอมรับเมื่อมันถึงเวลา การตัดสินใจอะไรแบบเด็ดขาดอาจดีในบางเรื่อง แต่อาจไม่ได้ผลดีที่สุดในหลายเรื่องเช่นกัน เพราะเราต่างรู้กันดีว่าการใช้เพียงความรู้สึก หรือเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐานนั้น อาจไม่ได้ผลลัพธ์ดีที่สุดเสมอไป “ปัญญา” คือตัวชี้นำ..

และเมื่อเราเข้าใจตัวแปรได้ครบ กล่าวโดยสรุปคือ ไม่ใช่แค่ยอมรับหรือไม่ แต่ประเมิน “เวลาไหน, โดยใคร, สถานการณ์จุดไหน” เป็นแง่คิดเพิ่มอาจช่วยให้เราตัดสินใจอะไรได้ดีกว่าเดิม โดยอย่างยิ่งแง่ “เวลา” เช่น เวลานี้ ควรยอมรับไปก่อน หรือเวลานี้ไม่ควรยอมรับ แต่ควรฉวยโอกาสจัดการบางเรื่อง เช่นนี้เชื่อว่า น่าจะได้ผลดีกว่าเพียงแค่โจทย์ในใจงว่า “ยอมรับ หรือทำไมต้องรับ” อย่างมากมาย

การไม่ยอมรับ เมื่อมีเวลาเกี่ยวข้อง เราอาจเป็นฝ่ายผิดเองก็ได้ แต่ยอมรับเลย เราอาจปล่อยให้ผลเสียเกิดกับเราก็ได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อให้ “เวลา” เข้ามามีบทบาท การยอมรับ กับไม่ยอมรับ จะกลายเป็นเครื่องมือที่ดีได้ อย่างไม่ต้องสงสัยเลย ส่วนคนที่มองไปไม่เข้าใจอาจต้องเครียดหากไม่ยอมรับ หรือทุกข์ใจตลอดไปทั้งที่ตั้งใจพยายามยอมรับมัน…

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 25/09/2023

Exit mobile version