Site icon Sirichaiwatt

ดวงดีเพราะมีโชค? – ไม่โทษดวงให้โทษใคร?

คุณเชื่อเรื่องดวงไหม? ลองพิจารณาจากประโยคที่ว่า ต่อให้ขับรถดียังไง เราไม่ชนเขา เขาก็อาจมาชนเรา เป็นไปได้ไหม? ซึ่งเราคงไม่อยากขับรถชนใคร และเขาก็คงไม่ตั้งใจเลือกมาชนกับเราเหมือนกัน แล้วถ้ามันเกิดขึ้นทำไมต้องเป็นเรากับเขา?

หากตำนานในวงการคอมพิวเตอร์อย่าง บิล เกตส์ (Bill Gates) และ สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) ไม่ได้บังเอิญเกิดในปี 1955 เขาคงเกิดเร็วไปที่จะได้ยุ่งเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือเกิดช้าไปจนคนอื่นทำบริษัทคอมพิวเตอร์กันเต็มไปหมดแล้วก็ได้ นี่เป็นเพียงหนึ่งข้อสังเกตเหมือนที่ มัลคอล์ม แกลดเวล (Malcolm Gladwell) เขียนไว้ในหนังสือชื่อ Outliers

หรือคล้ายกันถ้า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) เกิดช้าหรือเร็วสักปีเดียว ฝาแฝด วิงเคลวอสส์ (Winklevoss) ผู้ที่จ้างเขาทำเว็บไซต์ (ที่คล้าย) Facebook ก่อนหน้า อาจจ้างคนอื่นทำจนกลายเป็นเจ้าของคนปัจจุบันอยู่ก็ได้ หรืออาจล้มไม่เป็นท่าจนไม่มี Facebook ในทุกวันนี้ก็ได้อีก และนั่นหมายความว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จะไม่กลายเป็นคนดัง รวมถึงร่ำรวยขนาดนี้ได้เลย…

และคุณรู้หรือไม่ว่า นักกีฬาไทย หรือเอเชีย ต่อให้เก่งแค่ไหน ก็มีโอกาสทำเงินได้น้อยกว่านักกีฬา ยุโรป หรืออเมริกาในระดับเดียวกัน เหตุผลเพราะ สปอนเซอร์จะน้อยกว่า ไม่ก็ค่าตัวน้อยกว่า แม้จะเป็นนักกีฬาที่เก่ง แต่รูปกายภายนอกที่เป็นเอเชีย ย่อมสร้างอิทธิพลต่อลูกค้าได้ไม่เหมือนกัน ดังที่เห็นง่าย ๆ สินค้าไทยยังนิยมใช้นาย-นางแบบต่างชาติโฆษณา แถมได้ผลกว่าในหลายประเภทสินค้าด้วย…

จากตัวอย่างเหล่านี้เหมือนดวงและโชค ผูกกับเรามาตั้งแต่เกิด เพราะเราเลือกเกิดไม่ได้ ถ้าลองพิจารณาดู ไม่ว่าเราจะเกิดมาอยู่ตรงไหน เป็นลูกใคร มีเพื่อน มีญาติเป็นใคร ครอบครัวทำกิจการอะไร สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร ร่ำรวยหรือยากจน ก็มีผลได้หมดจริง ๆ

อาจแย้งว่า “เราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกทำได้” นั่นคือคติที่ดี แต่ในประโยคนี้มันก็คือการยอมรับอยู่ในตัวว่า “ใช่! เราเลือกไม่ได้..” ซึ่งยังมีอีกหลายเรื่องด้วยในชีวิต จึงเป็นคำถามว่า แล้วใครเลือกให้เรา?

จริงอยู่ที่การเกิดมาใช่ว่าเป็นตัวกำหนดชีวิตทุกอย่าง จะอ้าง จะโทษดวงทุกเรื่องไม่ได้ แต่หลายครั้ง เพียงหนึ่งเหตุการณ์ ก็สร้างหรือเปลี่ยนอะไร ๆ ในชีวิตได้ บางครั้งเราก็ไม่อยากเชื่อเหมือนคำสมัยนี้ที่เราจะชอบพึมพำว่านี่มัน “อิหยังวะ…”

เพราะในความดวงซวย เราก็อาจมีความซวย ซ่อนอยู่ได้อีก เช่น หากกลับมาเรื่องรถชน ที่แม้เราไม่ได้เป็นฝ่ายผิด หรือพยายามไม่ประมาท ยกตัวอย่างเพื่อนผม 2 คน รถโดนชนท้ายเหมือนกัน แต่ต่างเวลา ต่างสถานที่ โดยที่เพื่อนผมทั้งคู่ไม่ผิด…

กรณีของคนแรก ผู้ชนมีฐานะ ลงมาขอโทษ รับผิดชอบค่าซ่อมให้ทั้งหมด (ประกัน) พาไปเลี้ยงข้าว และซื้อเสื้อให้เป็นของขอโทษ, ปลอบขวัญ (ชนไม่หนักไม่มีใครบาดเจ็บ) อีกฝ่ายยอมรับโดยดีว่าผิด

กรณีของเพื่อนอีกคน ก็ไม่มีใครบาดเจ็บ แต่คู่กรณีหลบหนี ด้วยความที่จำทะเบียนได้จึงพยายามตามจนเจอ (เสียเวลาตามเอง ตำรวจไม่ตามหาให้ เจ้าหน้าที่มีน้อย 😅) และพบว่ารถอีกฝ่ายไม่มีประกัน ผลจากการเจรจาออกมาเข้าข่าย ไม่กลัว ไม่หนี ไม่มี ไม่จ่าย แม้ว่าไม่มีใครบาดเจ็บ ไม่ได้เสียหายหนักหรือประกันรถเพื่อนต้องตามต่อเอง แต่มันก็เป็นเรื่องที่เสียเวลา เสียสุขภาพจิต ที่เมื่อเทียบกับเพื่อนอีกคนแล้วต่างกันเหลือเกิน…

ในยุคที่กล้องหน้ารถมีมากมายจึงได้พบเห็นพอสมควรว่า ความซวยอะไรแนวนี้มีอยู่จริง และบางกรณีก็ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งที่ไม่น่าเกิดกับเขาเลย ทำไมต้องออกจากบ้านพร้อมกัน อยู่บนถนนเดียวกัน เวลาเดียวกัน กับคนนั้น ๆ กันนะ

แต่เขียนมาถึงตรงนี้หลายคนก็ยังคงคิดว่า แม้ความโชคดี และความซวยจะเกิดขึ้นได้ แต่เราก็ไม่เชื่อเรื่องดวงอยู่ดี เพราะหลายอย่างมันเป็น เรื่องของสถิติธรรมดา… (ที่อดสงสัยไม่ได้อีกว่าใครเป็นคนสุ่ม 😛)

โทษดวงได้ไหม เชื่อดวงได้ไหม?

สมัยวัยรุ่น ผมเคยศึกษาตำราดูเส้นลายมือ อ่านตำราพรหมชาติ เพราะรู้สึกสนุกกับมัน แต่ ณ จุดหนึ่งก็เลิกสนใจ ด้วยเพราะรู้สึกว่า “บั่นทอน” จิตใจมากกว่าให้กำลังใจ (พอดูว่าดวงจะดี ก็คาดหวัง แล้วก็ไม่สมหวัง 😔 พอดูว่าดวงจะไม่ดี ก็แอบเครียดอีก แม้จะไม่จริงก็ตาม 😓 หรือจริงก็ไม่ดีสิ!) ประกอบกับพอเริ่มไม่ชอบเราก็จะรู้สึกว่ามันไม่แม่น เชื่อไม่ได้หรอก จึงบอกตัวเองว่าจะไม่เชื่ออะไรนอกจากตัวเองและการกระทำ…

แม้จะเลิกเชื่อ เลิกสนใจเรื่องดวงไปแล้ว แต่วันเวลาผ่านไป ก็ทำให้คิดอีกรอบกับหลายเรื่องที่ผ่านมาในชีวิต เรื่องดี ๆ ที่เกิด แม้จะเป็นผลจากสิ่งที่เราทำ แต่บางส่วนก็ถือว่าเรามีโชคช่วยด้วย ส่วนเรื่องไม่ดี บางทีก็คิดว่า ทำไมเรายังซวย ทั้งที่ไม่ได้ประมาท เอ.. ที่เราดวงดีเพราะมีโชค? แล้วที่ซวย ไม่โทษดวงให้โทษใคร? ในเมื่อมันหาเหตุผลไม่ได้นี่นา… เชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ ทำนองนี้ยังคงเกิดขึ้นกับเราทุกคนได้เสมอมา ไม่ว่าจะเชื่อดวงหรือไม่ก็ตาม

เมื่อถามว่าหากเชื่อเรื่องโชค ดวง โหราศาสตร์แล้วจะยังไง? หากเป็นคนสนใจในแง่โหราศาสตร์ย่อมต้องทราบว่าดวงจะดี ก็ต้องรักษาศีล ทำแต่กรรมดี หรือเวลาแก้เคล็ด แก้เคราะห์ ก็ต้องทำบุญ ทำทาน รวม ๆ แล้วมันก็คือ จงทำดี!

ส่วนในคนที่ไม่เชื่อดวง มองว่าเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นสถิติ มันก็ชัดว่าในแต่ละเหตุการณ์มีทั้งเป็นไปได้ และต้องไม่ลืมว่าด้าน “เป็นไปไม่ได้” ก็อยู่ในสถิตินั้นเช่นกันแม้จะส่วนน้อยก็ตาม

ซึ่งเมื่อพิจารณาก็ดูเหมือนว่ามันมีจุดที่ “เห็นร่วมกัน” อยู่ เพราะการคิดดีทำดี ย่อมทำให้มีโอกาสเจอสิ่งดี ๆ ตามสถิติก็คือเปอร์เซ็นต์สูงกว่า เหมือนกับว่าถ้าขับรถดีไม่ประมาท โอกาสซวยย่อมน้อยกว่าขับรถชุ่ย ๆ นั้นเอง เหมือนบางเหตุการณ์ เราอาจได้บอกกับตัวเองว่า โชคดีนะที่ขับช้า ถ้าเร็วกว่านี้ละก็… 😉

หากเชื่อดวงในแบบที่ไม่ใช่โหราศาสตร์ ไม่เกี่ยวกับการทำบุญ ทำดี เช่น ดูไพ่ทาโรต์  แง่นี้บางทีมันก็สอดคล้องจิตวิทยาบางอย่าง เหมือนเวลาเราสนใจรถสีแดง เราจะเห็นรถสีแดงบ่อยขึ้น และเต็มไปหมด นั่นเพราะจริง ๆ แล้วสมองเรามีหน้าที่คัดกรองสิ่งเร้ารอบตัวที่เกิดขึ้นเป็นร้อยเป็นพันอย่างในเวลาเดียวกันอยู่ตลอด หากเราดูดวงมาแล้วมันเป็นไปในทางใด ก็เหมือนสมองถูกสั่งให้ focus หรือสนใจสิ่งนั้นเป็นพิเศษย่อม “มีโอกาส” ให้รู้สึกว่าสิ่งนั้นเป็นจริง หรือกระตุ้นให้เรากระทำบางสิ่งบางอย่างที่ใกล้ความเป็นจริงต่อสิ่งนั้น ๆ สถิติก็เพิ่มขึ้นได้เช่นกัน…

ซึ่งดวงนั้น จะเชื่อก็ได้ จะโทษดวงก็อาจทำได้ แต่อย่างไรเสียสิ่งเหล่านี้ก็ “จับต้องไม่ได้” เป็นสิ่งที่อาจเลือกไม่ได้ “โทษไปก็เท่านั้น” หรือถ้าจะเชื่อเรื่องดวง ก็อย่าลืมว่าตำราดวงก็มักให้ทำดีประกอบ หรือถ้าไม่ ก็ต้องสนใจ ใส่ใจ รวมถึงดูจังหวะ เวลา ตีความในมุมหนึ่งก็ไม่พ้น “พึงทำ(ให้)ดี” และ “ไม่ประมาท” ซึ่งเมื่อเชื่อเรื่องดวงแล้ว ย่อมมีข้อดีกับเราได้เช่นกัน

ดังนี้บางที การดูฤกษ์ยาม คือการตรองก่อนทำอะไร, การดูลายมือ ก็คือการพยายามวางแผนอนาคต (ซึ่งทั้ง 2 ตำราเขาก็ว่าเปลี่ยนแปลงได้), การปล่อยสัตว์ ที่จริงคือการอภัย ลดความเกลียดชัง ย่อมไม่สร้างศัตรู, การทำบุญ ทำทาน คือการให้ ย่อมมีแต่คนรัก คนช่วยเหลือ, การไม่อยู่ที่อโคจร คือการสร้างสิ่งแวดล้อมอันเป็นปัจจัย การใส่ใจสนใจในสิ่งไหน ย่อมทำให้เรามีโอกาสได้ในสิ่งนั้น และอีกหลายมุมที่จริงแล้วส่งผลร่วมกันทางสถิติได้ ว่าน่าจะทำให้ชีวิตดี หรือไม่ดีได้อยู่เหมือนกัน

ถึงตรงนี้ โดยสรุป จะเชื่อหรือไม่ ความไม่ประมาท, การใช้ชีวิตให้ละเอียดที่สุด, รอบคอบที่สุด, ทำดีที่สุด เพื่อให้บุญเสริมดวง เพื่อให้สถิติอยู่ในอัตราส่วน “ซวย” ที่น้อยที่สุด จะมองด้านไหนก็ย่อมส่งผลดีต่อเรา

และอีกด้านกับชีวิตที่ไม่ค่อยคิดพิจารณาอะไร ไม่พยายามทำในสิ่งดี ๆ สถิติก็น่าจะชี้ชัด เพราะแม้หากเชื่อดวง ก็เชื่อแบบหลอกตัวเอง ไร้สติ ผิดวิธี ผิดตำรา ย่อมนำมาซึ่งการปฏิบัติผิด ๆ อยู่ดี รวม ๆ ทั้งสิ้นอาจอยู่ที่ Mindset กรอบคิด…

คนที่โชคดีถูกหวยรางวัลใหญ่ สุดท้ายกลับไปลำบาก คนที่ซวยเกือบตาย แล้วลุกกลับมาได้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม คนเหล่านี้ก็มีอยู่จริง เพราะเมื่อใดที่เราไม่เข้าใจ หรือมีทัศนคติที่ผิด การดำเนินชีวิต จะตามสถิติ หรือเรียกว่าซวย, โชคไม่เข้าข้าง ก็ไม่ต่างกัน… 😌

 

Exit mobile version