Site icon Sirichaiwatt

“เงิน” สำคัญหรือ? ยัง? (3)(จบ) ตอน อีกมุมของการ “มีเงิน”

ถึงตอนที่ 3 ตอนสุดท้ายของบทความชุด เงินสำคัญหรือ? ยัง? ในสองตอนที่ผ่านไปคุณจะอ่านก่อนหลังตอนนี้ก็ไม่มีอะไรเสียหาย (อ่านได้ที่ลิ้งก์ท้ายบทความ) แต่ที่ได้เขียนไปนั้นล้วนเป็นแง่ “ไม่มีเงิน, ขาดเงิน” ในมุมที่เราบางคนอาจไม่ได้เคยคิดถึง ในตอนนี้จะเป็นมุมว่าแล้วถ้าวันนี้พอ “มีเงิน” หรือยังมีรายได้ ไม่ขาดเงิน แต่ก็ยังมีบางมุมมองที่เราเข้าใจมันผิดไป..

รายได้เดือนละเท่าไหร่?

รายได้มีหลายทาง คนส่วนใหญ่ของประเทศ อาจของโลกด้วย มักจะมีรายได้จากการรับจ้าง (ยื่นภาษีรายได้ประเภท 1) หรือในรูปแบบ “เงินเดือน” อันนี้หมายถึงส่วนใหญ่ แต่จะเงินเดือน, รายวัน, รายสัปดาห์ หรือรายได้แบบไหน เราพอตอบตัวเองกันได้ว่า มีรายได้ เดือนละเท่าไหร่? ซึ่งตรงนี้ใจความสำคัญแท้จริง รายได้นั้น “ได้เท่าไหร่” กันแน่..

เงินเดือนล้วนแตกต่างกันไป ถ้าเป็นในปัจจุบันช่วงปี พ.ศ.2563 “ส่วนใหญ่” อีกนั่นแหละน่าจะอยู่ในช่วง 9,000 ถึง 30,000 บาท เพราะต้องอิงรายได้ขั้นต่ำ และคนทั่วไปที่เงินเดือนระดับปริญญาตรี กับทำงานมากกว่า 3 ปี ซึ่งมองกลาง ๆ คือ 15,000 ขึ้นไป ต่ำกว่านี้ก็ถือว่าน้อย มากกว่าย่อมดีกว่าและมีไม่น้อยที่เกิน 30,000 บาท หากต่ำกว่า 9,000 ก็อาจจะลำบากสักหน่อยตาม “ขั้นต่ำ” จริง ๆ และมากน้อยในที่นี้มองกันที่การใช้ชีวิตแบบปกติทั่วไป และใช่ครับการใช้ชีวิตมันมีหลายรูปแบบ

รายได้เท่าไหร่ ไม่เท่ากับเหลือเท่าไหร่

“ได้มาแค่ไหนก็ควรใช้แค่นั้น” หลายคนคิดเช่นนี้ ผมก็เช่นกัน เริ่มต้นทำงานก็ได้รับเงินเดือนขั้นต่ำ (ตอนนั้นยังเรียนไม่จบ) ไม่ถึง 6 พันบาท เพราะเงินเดือนขั้นต่ำก็คืออัตราตามค่าแรงขั้นต่ำรายวันสมัยนั้นเช่นกัน เราอาจจะมองว่าใคร ๆ ก็ต้องคิดแบบนี้ ได้เท่านี้ก็ต้องใช้เท่านี้สิ แต่เราคิดถี่ถ้วนหรือยัง

น้อยคนนักที่จะทำบัญชีส่วนตัว ผมเองมาทำจริงจังไม่กี่ปีที่ผ่านมา (ส่งผลต่อชีวิตมาก แนะนำให้ทำ) แม้แรก ๆ ผมไม่ได้ทำจริงจัง แต่ก็มีการจัดการเงินในใจ เราได้เงินเดือนเท่าไหร่ มันเป็นของเราแค่ไหนกันแน่อยากชวนคุณคิดช้า ๆ กันดูตรงนี้..

ถ้าเราได้รับเงินเดือน 15,000 บาท เทียบกับคนที่ได้รับตามค่าแรงขั้นต่ำ 9,000 บาทมันต่างกันเยอะนะครับ เราอาจจะมองว่าเราได้ใช้ชีวิตที่เหนือกว่าเขา แต่เป็นไปได้หลายทางว่า เรามีปัจจัยที่ต่างกัน เช่น เรามีค่าเช่าบ้าน 5,000 บาท แต่อีกคนอยู่บ้านตัวเอง คุณก็จะเหลือเงินใช้เพียงแค่เดือนละ 10,000 ในขณะที่คนได้ 9,000 เขาอาศัยบ้านตัวเอง 9,000 บาท เฉลี่ยตกวันละ 300 บาท คุณที่เหลือ 10,000 เฉลี่ย 334 บาท การใช้ชีวิต(ด้านการเงิน) อาจไม่ต่างกันเท่าไหร่เลย.. ซึ่งปัจจัยที่ต่างกันนี้ ค่าเช่าบ้านเป็นเพียงตัวอย่าง ที่อาจแพงไปหน่อย แต่อยากให้มองภาพในมุมหนึ่งเท่านั้น

คงพอนึกออกทันทีว่า ถ้ามีหนี้สินที่ต้องผ่อนชำระ ก็ไม่ต่างกันเพราะทำให้เรามีเงินเหลือใช้น้อยลง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับหนี้อีกแหละว่าหนี้นั้นก่อประโยชน์ในทางใด หรือดูให้ดีหรือยังว่าเราต้องจ่ายแค่หนี้หรือมีอะไรตามมาด้วย เหมือนหนี้รถ ที่เขียนในตอนที่แล้ว (ตอน 2)

รายรับ กับ รายเหลือ…

โดยรวมเบื้องต้นเราควรคำนึงว่า รายได้แท้จริง ที่ไม่ใช่ศัพท์ทางบัญชีการเงิน แต่หมายถึงรายได้ที่เราได้ใช้ ได้จ่ายในแต่ละเดือนนั้น ซึ่งจะเรียกว่า “รายเหลือ” แทน “รายได้” ก็ได้ มันควรคิดจาก “รายรับ-ค่าใช้จ่ายประจำ=รายเหลือ (หรือเงินเหลือใช้ของเดือนนั้น) ” ซึ่งจะเรียกว่า รายได้ อะไรก็ตาม แต่ “ค่าใช้จ่ายประจำ” นี้เองบีบบังคับหรือทำให้คุณมักลืมตัวว่าจริง ๆ แล้วเดือนนี้คุณเหลือไม่มากนะ…

(รายจ่ายประจำเดือน ปัจจุบันมีมาก นอกจากค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าบริการโทรศัพท์ ยังมีค่า Subscription ต่าง ๆ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง หรือบริการออนไลน์ทั้งหลายอีกด้วยที่ทำให้เราลืมตัว)

และอะไรที่ต้องจ่ายเกิน 3 เดือนขึ้นไป เราควรเอามาเป็นรายจ่ายประจำย่อม ๆ ได้แล้ว (พวกการผ่อนชำระ) การต้องประหยัดเกิน 3 เดือนนี่ลำบากไม่น้อยนะครับ และส่วนใหญ่จะมากกว่านั้น 6 เดือน 10 เดือน หรือเป็นปี เว้นเสียแต่ว่าคุณมีเงินสำรองในบัญชีมากกว่าหนี้เหล่านี้ อันนี้ก็อาจไม่ลำบาก

ทว่านอกจาก “รายจ่ายประจำ” ที่เห็นได้ชัดแล้วก็ยังมีอีกแบบ ซึ่งรายจ่ายแบบนี้เราจะเรียกว่าอะไรดี เล่าให้ฟังก่อนแล้วกัน ตอนต้นผมยกตัวอย่างคนที่เงินเดือนไม่เท่ากันไป แต่กรณีนี้เงินเดือนเท่ากัน ย้อนไปสมัยทำงานรับเงินเดือน ช่วงนั้นได้เงินเดือน ราว 7-8 พัน (หลายปีมากแล้ว) ผมอยู่ไกลที่ทำงาน มีต้นทุนการเดินทางราววันละ 50 บาท พี่อีกคนตำแหน่งใกล้เคียง เงินเดือนใกล้เคียงกัน เขามากกว่าผมนิดหน่อยเพราะอายุงานมากกว่า แต่ไม่ต้องคิดตรงนั้น แค่การที่ผมต้องเสียค่าเดินทาง เท่ากับว่าผมมีรายได้น้อยกว่าตกราวเดือนละ 1,250 บาทไปแล้ว (สมมติทำงาน 25 วัน 50 x 25) ผมมีเงินเหลือใช้น้อยกว่าพี่เขา..

แต่บ่อยครั้งเวลาเลิกงานพี่คนนี้เขาเสียเงินกับค่า “ตั้งวง” สังสรรค์วันละ 150-500 บาท หลายคนนึกออกว่าเวลาเริ่มเมาเงินเราจะควักออกง่ายดาย รวม ๆ รายจ่ายส่วนนี้ของเขาเดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท (เกือบครึ่งของเงินเดือน) ยิ่งถ้าคิดกันละเอียดลงไปในการใช้ชีวิตที่่ต่างกันมันจึงส่งผลเงินที่เหลือ และใช้ ไม่เท่ากัน..

แม้รายได้น้อยแต่ผมก็เหลือเก็บทุกเดือน แต่มันก็เก็บได้น้อยตาม โชคดีครับ บริษัทมีโบนัสให้ นั่นจึงเป็นเงินเก็บของผมอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ในขณะที่พี่คนนี้.. โบนัสคือวาระของการโป๊ะหนี้ ปีแรกพอ ปีต่อมาไม่พอ… เชื่อว่าคุณคิดต่อได้ว่าเพราะอะไร (ปล.ผมคือหนึ่งในเจ้าหนี้ของเขา)

เรามักรู้แค่ ได้มาเท่าไหร่ แต่ไม่ค่อยรู้ว่าจะใช้แค่ไหน

เรารู้อยู่แล้วมีเท่าไหร่ควรใช้แค่นั้น แต่บนความเป็นจริง เรารู้ว่า “มีเท่าไหร่” แต่ “ควรใช้แค่ไหน” อาจทำไม่ได้ ความเป็นจริงนี้หลักการที่เขาให้เก็บเงิน หรือเอาเงินเก็บออกไปก่อนเลย แล้วที่เหลือค่อยแบ่งใช้ จึงได้ผลเพราะเหตุผลตรงนี้ การมีหนี้ระยะยาว ทำให้คนเรายิ่งลืมตัวได้ง่าย เกิดกิเลสใหม่ได้ง่าย และรายจ่ายประจำมากขึ้นง่ายเช่นกัน

คนยุคใหม่ แม้จะให้ความสำคัญกับ เงิน มากขึ้น ไม่ค่อยมีทัศนคติแบบคนจนผู้ยิ่งใหญ่ (ตอนที่1) แล้วก็ตาม แต่สังคมสิ่งแวดล้อมก็เน้นให้ “ใช้” มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งในความหมายของคำว่า ให้ความสำคัญกับเงิน ในคนรุ่นใหม่อาจไม่ใช่หมายถึงใส่ใจ ระมัดระวัง แต่แค่ “อยากได้เงิน” มากขึ้น และยังให้ความสำคัญผิด ๆ กับการใช้จ่ายอยู่ไม่ต่างกันก็เป็นได้

เรื่องง่าย ๆ ที่ไม่น่ายากอย่าง “มีเท่าไหร่ ก็ควรใช้แค่นั้น” เราก็คิดกันเสมอว่าต้องแบบนี้ แต่ทำไมยังมีชักหน้าไม่ถึงหลัง อะไรที่ต้องระวัง ลองถามตัวเองดูอีกครั้งนี่เรากำลัง “มีรายได้ (รายเหลือ) เท่าไหร่?” เพราะสุดท้ายไม่ใช่ดูกันที่ต้นเดือน มันดูกันปลายเดือนต่างหากครับ..

แบบไหนเรียกว่า “มีเงิน”?

เมื่อ พ.ศ. 2562 มีรายงานจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย กว่าครึ่งของบัญชีเงินฝากคนในประเทศ มีเงินไม่ถึง 500 บาท.. และถ้าดูจากบัญชีเงินฝากทั้งหมด 88% มีเงินไม่ถึง 50,000 บาท และมีเพียง 1% ที่มียอดเงินเกิน 1 ล้านบาท..

1% เท่านั้น ที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้าน บนข้อมูลนี้ ส่วนหนึ่งก็เข้าใจได้ว่าหลายคนไม่มีเงินเก็บเพราะสร้างทรัพย์สิน บางคนเป็นเจ้าของกิจการ เจ้าของบริษัท เงินก็หมุนเวียนในบริษัทแทน บางคนผ่อนบ้าน ผ่อนรถ มีมูลค่ารวมเกินล้าน นั่นก็มุมหนึ่งของสถานะแต่ละคน

แต่ถ้าวันนี้คุณเป็นคนที่มี 1 ล้านบาทในบัญชีคุณเรียกว่าคุณ “มีเงิน” มากหรือยัง มองกันเบื้องต้นก็ถือว่ามีเงินมากนะครับ เป็นคนส่วนน้อยของประเทศ แต่ถ้าเป็นผม ยังหรอกครับ…

ไม่ใช่มองว่าเงิน 1 ล้านเป็นเงินที่น้อย แต่ถ้าเราคำนวณไปถึงเรื่องอย่าง “การวางแผนเกษียณ” จะพบว่ามันยังไม่มากหรอก ทุกคนเกิดมาย่อม เกิด แก่ เจ็บ ตาย โดย เกิด กับ ตาย นี่เลือกไม่ได้หรอก แต่ เจ็บ และ แก่ นี่แหละที่ทรมาน เราไม่มีวันทำงาน “สร้างรายได้” ไปได้ตลอดชีวิต ถ้าวันนี้ ผมมี 1 ล้านบาท และยังมีรายได้อยู่เรื่อย ๆ ก็ดูเป็นสถานะที่โอเค แต่ถ้ามี 1 ล้าน แต่ไม่มีรายได้อีกแล้ว.. ผมจะอยู่ได้กี่ปี?.. และถ้าจะหวังพึ่งลูกหลาน ก็เป็นอะไรที่ดูไม่แน่ใจในอนาคต และไม่น่าจะใช่แนวคิดที่ดีนัก…

ประโยคที่ว่า “เงินทอง ต้องวางแผน” ที่จริงน่าจะใช้เป็นชื่อบทความอยู่เหมือนกัน แต่ดังที่บอกไม่ใช่บทความแนะนำให้ทำอย่างไร แค่ให้ตระหนัก ในวันที่เราสร้างทรัพย์สิน สร้างฐานะ ไม่ว่าจะบ้าน หรือ สิ่งอื่นใด มันก็ควรคิดต่อไปให้ครบด้าน อาจไม่ผิดที่ยังไม่คิดมีเงินเก็บ หรือวางแผนเกษียณ เพราะอยากมีทรัพย์สินอื่นก่อน คุณผ่อนบ้านวันนี้ มันจะจบในกี่ปี คนเราอาจเริ่มผ่อนบ้านสักอายุ 25 ปี ซึ่งส่วนใหญ่ก็ผ่อนกันระยะ 20 ปี กว่าจะหมดหนี้บ้านก็อายุ 45 ว่ากันตามมาตรฐาน เราก็จะเกษียณกันในวัย 60 เหลืออีก 15 ที่ต้องเก็บเงินเลี้ยงตัวเองต่อไป (จาก 45-60) ยิ่งทุกวันนี้คนเรามีอายุเฉลี่ยที่มากขึ้น อาจอยู่ไปถึง 90 ปี อีก 30 ปีที่เหลือจะใช้เงินเดือนละเท่าไหร่ ตกปีละเท่าไหร่ รวมแล้ว 15 ปีที่ทำงานได้ต้องเก็บไว้เท่าใด ก็ลองคิดให้ได้ออกมา ถ้าได้ตัวเลขแล้วน่าจะเห็นด้วยกับผมว่า มีในบัญชีวันนี้ 1 ล้านบาท มันไม่มากอะไรเลย.. (ถ้าผ่อนบ้าน 30 ปี และผ่อนตอนอายุมากขึ้นก็จะกระทบไปเรื่อย ๆ)

เว้นแต่คุณมีรายได้มากพอที่จะผ่อนไปด้วย เก็บไปด้วย อันนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง ส่วนคนที่มีมากมาย เช่นมี หลายสิบล้าน คุณบอกบั้นปลายจะใช้ 3-5 ล้านก็ได้ ตอนนี้ขอใช้เต็มที่ แบบนี้ได้เลยแน่นอน แต่จะมีสักกี่คนที่มีชีวิตแบบนี้ แค่ 1 แสนบาทในบัญชียังเป็นคนส่วนน้อยเลยจากข้อมูล

เราอาจรู้ครับว่าคนแบบไหนมีเงิน แต่เราอาจไม่ต้องมี ไม่ต้องเป็นเหมือนใครคนนั้น แต่เราจะเป็นคนมีเงินหรือไม่ อ่านแล้วก็ตอบตัวเองในใจ ถ้าวันนี้แค่เอาตัวรอดไปวัน ๆ วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แล้วเมื่อไหร่เราจะมีเงิน.. พอ และอย่าลืมนะครับขนาดตอนตายเราก็ยังต้องใช้เงิน..

เงินสำคัญหรือ.. ยัง?

บทความชุดนี้ เชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งบทความดี ๆ ที่ให้คุณทบทวนตามชื่อเรื่องที่เป็นคำถาม คุณว่าเงินสำคัญไหม? แล้วถ้าสำคัญเราใส่ใจแล้วหรือยัง? สำหรับผู้เขียน เดิมทีก็คิดว่าจะเป็นอีกหนึ่งบทความสั้น ๆ ในมุมหนึ่ง เขียนไป เขียนมามันมีหลายเรื่องที่อย่างแบ่งปัน และแน่นอนเพราะมันสำคัญ มันจึงเขียนได้มากมาย (อาจยังไม่ครบถ้วนทุกมุมด้วย)

แต่ก็ขอย้ำไปอีกทีว่า “สำคัญ” ไม่ใช่ว่าต้องมากมาย หรือใคร ๆ ก็ต้อง “รวย” เพราะความรวยเป็นเครื่องชี้วัดสิ่งต่าง ๆ ได้ยาก เงินมีมากก็เรียกว่ารวย แต่คนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อมีเป้าหมายเดียวกันหมด ถ้าทุกคนล้วนมีเป้าหมายไปที่เงิน เราก็จะคิดทุกสิ่งอย่างเพื่อเงินไปหมด ผลงานดี ๆ ศิลปะ วัฒนธรรม ความเป็นมนุษย์ และ ธรรมชาติ ก็คงไม่มีใครคำนึง ดูแลใส่ใจ โลกนี้ไม่มีวันสวยงาม และคงแบนราบขาดสีสันในด้านอื่น รวมถึงคงโกลาหลน่าดู

ซึ่งที่สุดของหลายอย่างคือความพอดี อะไรมากไปอาจไม่ดี อะไรน้อยไปย่อมไม่ดี แต่ความพอดีทางการเงินนี้ คนส่วนใหญ่ยังไม่มีพอ และแม้รู้ว่า พอดีของตนอยู่ที่ไหน การต้องทำให้ได้มันก็สำคัญ คิดได้ ทำไม่ได้ มันก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่มีหลายคนให้ความสำคัญน้อยเกินไป ประมาทเกินไป ไม่ใส่ใจมากเกินไป รวมถึงดูถูกตัวเองเกิน มันจึงไม่มีวันมีพอ หวังว่าบทความทุกตอนของเรื่องนี้จะมีประโยชน์ ให้มอง คิด ตระหนักอะไรในมุมต่าง ๆ ให้ชีวิตคุณราบรื่น ไปได้ดีต่อไป และ “มีเงิน” เมื่อไร… อย่าลืมผมนะครับ แหะ ๆ :p

ตอน 1 คนดีที่ไม่มีเงิน
ตอน 2 คิดเล่น ๆ เรื่องเงิน

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 19/6/2020

Exit mobile version