Site icon Sirichaiwatt

ทำ ๆ ไปต้องได้อะไรบ้างล่ะ แต่บางทีมันก็น้อยไป

เราอาจเคยได้ยิน หรือคิดว่า อย่างน้อยได้ทำ ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย มันก็เรื่องจริงอยู่ทีเดียว ทว่าก็อาจมีอีกด้าน ที่ทำเท่าไหร่ ๆ ก็ไม่ดีเอาเสียเลย ถ้าเป็นแบบนี้ บางทีมันก็ถึงเวลาที่เราคงต้องทบทวนกันใหม่..

ขอยกตัวอย่างด้วยเรื่องการ “วิ่ง” ผมเป็นคนที่มีต้นทุนการวิ่ง “ติดลบ” กล่าวคือ ไม่เพียงแค่ไม่เคยวิ่งออกกำลัง ยัง “เกลียด” การวิ่งมากอีกด้วย เพราะความรู้สึกสมัยเรียน ที่ตอนนั้นเป็นเด็กตัวเล็กสุดในชั้น แต่ครูให้วิ่งแข่ง และให้คะแนนตามลำดับ!! แน่นอนผมวิ่งเข้าหลังสุด วิ่งแพ้ผู้หญิงหลายคนด้วยซ้ำไป มันค่อนข้างเกลียดฝังใจมาแต่นั้น

ฟังบทความนี้ในรูปแบบ Podcast ตามช่องทางเหล่านี้

ครั้งสุดท้ายที่เล่นกีฬา ก็คือเตะบอลสนามเล็กที่เรียกว่า โกล์หนู กับเพื่อนที่เรียนมหาลัย ซึ่งมันก็เป็นการเล่นเอาสนุกไม่ค่อยรู้สึกว่าต้องวิ่งอะไรนัก..

หลังจากอยู่ไป ใช้ชีวิตไป วัยทำงาน สบายใจว่าไม่เคยป่วย ไม่เคยเจ็บหนักอะไร ก็คิดไปเองว่าต้นทุนสุขภาพเราดี แน่นอนไม่มีอะไรอยู่ยั้งยืนยง ผมไม่ได้เจ็บป่วย แต่รู้สึกได้ชัดเจนว่าร่างกายไม่เหมือนเดิมในวัย 35 การปวดตามตัว ในลักษณะที่ขยับเร็วนิด ผิดหน่อย นั้นส่งผลรุนแรงเกินเหตุ เมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา

ประกอบกับการรู้สึกว่าร่างกายเริ่ม บวม เกินไป แม้ใครจะบอกว่าสมกับการเป็นผู้บริหาร แต่มันไม่ชอบตัวเองเอาซะเลย รวมถึงการเริ่มเปลี่ยนทัศนคติมาหลายอย่างต่อชีวิต จึง.. เริ่มออกกำลังกาย

เปล่าครับ.. ไม่ได้วิ่ง ทำในสิ่งที่เรียกว่า body weight ทำนองวิดพื้น ซิทอัพ นั่นแหละ ด้วยเหตุผลว่า การออกกำลังกายแบบนี้ ไม่ต้องมีเงื่อนไขเรื่องสถานที่ เวลา แค่วินัยเท่านั้นเป็นพอ แม้ว่าการ body weight จะดีต่อร่างกาย แต่มันก็จะเน้นได้กล้ามเนื้อแข็งแรงเป็นหลัก  ไม่ไปในเชิงเผาผลาญที่ดีนัก ที่จริงควรจะกินโปรตีนเยอะ ๆ ด้วยซ้ำไป แต่ก็ไม่กิน ครั้นจะเต้นแบบ Cardio ก็ดูไม่ใช่แนว จึง.. วิ่ง ก็วิ่ง วะ..

ตอนนั้นผมพักอยู่แถวถนนวิภาวดี ที่เดินราว 1 กิโลเมตร ถึงสวนรถไฟ การเดินไม่เป็นปัญหาสำหรับผม ชอบเดินมาเป็นทุน แต่วิ่ง.. ไม่ถึงกิโล ก็พบกับความรู้สึก จะขาดใจ..

โชคดีที่ความตั้งใจ (will power) มีแรงกล้าในตอนนั้น ผมไม่ล้มเลิก ในที่สุดก็สุ้ไปได้ระยะทาง.. 2 กิโลเมตร

ที่จริงนิดเดียว แต่มันมากมายสำหรับคนที่ต้นทุนติดลบอย่างผม ในตอนนั้น และผมยังคงวิ่งต่อมาอีกราว 2 ปี ได้ 5 กิโลเมตรแบบไหว ๆ จนวันหนึ่งได้ลงรายการ 10 กิโลเมตร แบบไม่คิดว่าจะมีวันนั้น…

วิ่งผิดมันมีด้วยเหรอ?

เหมือนจะฟังดูดี แต่ผมวิ่งแบบที่ไม่รู้ว่า มันมีอะไรมากกว่า “แค่วิ่ง” หลังจากลงรายการครั้งนั้น ที่จริง 10 กิโล นี่แทบตาย ผมก็วิ่งไม่สม่ำเสมอ ด้วยปัจจัยไม่เอื้ออำนวย และเรียกว่า วิ่งน้อยมาก 2 ปีที่ผ่านมา และแทบไม่ได้วิ่งช่วงหลัง

ผมกลับมาตั้งใจวิ่งอีกครั้ง เหมือนที่เคยได้เขียนบอกไปไม่นานนี้ในเรื่อง “ตามเวร ตามกรรม” และได้บอกว่าซื้อนาฬิกาที่ช่วยในเรื่องการวิ่งมา จากตรงนั้นผมจึงได้เข้ากลุ่มผู้ใช้นาฬิกา ย่อมทำให้พบ “นักวิ่ง” มากมาย..

เพราะนอกจากเรื่องปัญหา หรือความรู้จากนาฬิกาแล้ว เขาย่อมมีเรื่อง “การวิ่ง” อยู่ด้วย จึงได้พบว่าผม “วิ่งผิด” มาตลอด คนที่รู้อยู่แล้ว อาจไม่สงสัยตรงนี้ แต่คนที่ไม่รู้เหมือนผมอาจสงสัยว่า วิ่งผิดมันมีด้วยเหรอ?

จะเรียกว่าผิดเสียทีเดียวก็ไม่เชิง แต่เรียกว่า ไม่ได้ผลดี เช่น อาจบาดเจ็บ ไม่พัฒนา หรือ พัฒนาช้า.. ซึ่งมันใช่!! เลย

เอาเพียงความขยัน มุ่งมั่น เพื่อนำพาตัวเองไปข้างหน้า

ก่อนหน้านี้ผมวิ่งเกือบทุกวัน แต่เอาเพียงความขยัน มุ่งมั่น เพื่อนำพาตัวเองไปข้างหน้า ทว่า 2 ปี ผ่านไป มันก็ได้แค่ 5 กิโล ถือว่าน้อยมากถ้าซ้อมถูกวิธี หรือมีความรู้สักนิด ซ้อมดี ๆ 2 ปีอย่างน้อยต้อง Half Marathon หรือมีต้นทุนร่างกายดี ๆ นี่ Full Marathon ได้แน่นอน หรืออย่างร้าย ๆ Mini 10 กิโล ต้องไม่แทบตายแบบผมในตอนนั้น

ณ วันนี้นอกจาก ผมต้องมาฟื้นร่างกายใหม่แล้ว ยังเหมือนมาหัดวิ่ง(จริงจัง) นับ 1 ใหม่ พูดได้ว่า 2 ปีก่อนหน้านี้ไร้ประโยชน์ไปเลย

ที่เล่านี้ ก็คงเป็นเรื่องราวที่พอให้ ท่านได้คิด ได้อ่าน ได้ลองนึกดูว่า สิ่งหนึ่ง หรือเรื่องหนึ่งที่เดิมที คิดว่าแค่ทำ ๆ ไป วิ่ง ๆ ไป ต้องได้อะไรบ้างล่ะ แน่นอนว่ามันได้บ้าง แต่หากเทียบกับเวลาที่เสียไป มันน่าเสียดายแทบน้ำตาไหล นี่เราวิ่งโง่ ๆ อยู่ได้ตั้งนาน…

เรื่องนี้อาจจะเป็นแค่เรื่องวิ่ง ของผม แต่มันก็ย้อนดูได้คล้ายที่กล่าว ที่ผ่านมา เราทำอะไรแค่ทำ ๆ ไป โดยไม่ได้รู้ ไม่ได้ศึกษาดูให้ดี หรือ คิดเอาว่าดีแล้วอยู่หรือไม่ อาจยังมีมุม มีแนวคิด มีอีกด้านที่เราไม่รู้หรือเปล่า มิเช่นนั้น อาจจะต้องมาถึงวันที่ทำไปแทบตาย สุดท้ายกลับมานับหนึ่งใหม่ ได้แบบผมวิ่งนะครับ..

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 6/8/2019

Exit mobile version