Site icon Sirichaiwatt

ทุนนิยม กับนมผงเด็ก…

คุณแม่ยังสาวคนหนึ่งกำลังตกงาน ด้วยความยากลำบากจึงขอรับบริจาคนมโรงเรียนจากผู้ที่เหลือหรือลูกไม่กินในกลุ่มเฟซบุ๊กชุมชนกลุ่มหนึ่ง โดยหวังจะนำมาให้ลูกที่ยังเล็กได้กิน ที่สุดท้ายแล้วกลายเป็นว่าลูกน้อยของคุณแม่ท่านนี้ อาจ “ได้กินนมแพงกว่าลูกผมหรือลูกคุณเสียอีก!?”

บอกก่อนว่า นี่ไม่ใช่เรื่องการหลอกลวงบนโลกโซเชียลแต่อย่างใด ที่มาที่ไปยังมีต่อ…

ด้วยความเป็นกลุ่มชุมชนจึงย่อมมีคนอยากช่วยเหลือ จนมีผู้ใจบุญท่านหนึ่งได้ถามไถ่ตรวจสอบ และไปพบกับคุณแม่ท่านนี้มาด้วยตนเองพร้อมนมโรงเรียนส่วนหนึ่ง จึงนำข้อมูลพร้อมรูปถ่ายมาช่วยแบ่งปันว่า คุณแม่ท่านนี้ลำบากอยู่จริง

เมื่อข้อมูลชัดเจนขึ้น คนในกลุ่มก็สนใจอยากช่วยมากกว่าเดิม และมีผู้สังเกตว่าลูกคุณแม่ท่านนี้ยังเล็กเกินไป ไม่เหมาะที่จะกินนมโรงเรียน เธอมองว่าควรกินนมผงสำหรับทารก เพื่อให้เด็กได้มีกินทันที ผู้ใจบุญท่านนี้จึงขอโอนเงินให้ไปซื้อ แต่ไม่สะดวกไปเอง ก็เลยได้คนแรกที่ไปเจอคุณแม่ท่านนี้นั่นเองอาสาไปจัดซื้อให้ เพราะว่าบ้านอยู่ใกล้คุณแม่ที่ลำบากผู้นั้น หลังจากนั้นธารน้ำใจก็เกิดขึ้นตามมา เป็นอีกเรื่องราวดี ๆ ในชุมชนที่คนช่วยเหลือกัน

แต่ประเด็นอยู่ที่…

ในตอนอาสาไปจัดการเรื่องการซื้อนมผงให้ทีแรก ก็ได้มีการชี้แจงใบเสร็จค่าใช้จ่ายเพื่อความบริสุทธิ์ใจ โดยไปซื้อที่ร้านสะดวกซื้อ เพราะรวดเร็ว โดยเลือกยี่ห้อที่ประหยัดสุด สมมติว่าเป็นยี่ห้อ B ที่ถือว่าราคาย่อมเยาว์ ถุงละประมาณ 300 บาท และเป็นสูตรมาตรฐาน*

…ซึ่งอันที่จริงเราสามารถซื้อนมยี่ห้ออื่นที่(ดู)นิยมกว่า ปกติแพงกว่ายี่ห้อ B และได้สูตรพิเศษ ในราคาไม่ถึง 300 บาท แต่ต้องซื้อจำนวนเยอะกว่านั่นเอง

กล่าวคือหากซื้อนมผงกล่องใหญ่ที่ประมาณ 1,500 – 2,000 บาท เฉลี่ยต่อถุงจะถูกกว่ามาก 10-20% เมื่อเทียบราคาปลีก 1 ถุง ซึ่งสำหรับคนที่พอมีกำลังก็มักเลือกซื้อแบบนี้ เพราะรวม ๆ แล้วเด็กต้องกินนมอยู่ตลอดหลายเดือน จะประหยัดไปได้เป็นพันบาททีเดียว นี่จึงเป็นเหตุที่บอกว่าลูกของคุณแม่ท่านนั้นอาจกินนมแพงกว่าอยู่…

(*สำหรับท่านที่ไม่เคยมีลูกหรืออาจไม่ทราบ นมผงเด็กมีหลายยี่ห้อราคาแตกต่างกันก็ส่วนหนึ่ง ทว่าแต่ละยี่ห้อก็มักจะมีแบบสูตรมาตรฐานกับสูตรพิเศษ กล่าวคือใส่สารอาหารเพิ่มเติมมาเยอะกว่านั่นเอง ยี่ห้อ B เองก็มีสูตรพิเศษและถ้าซื้อเยอะก็ถูกกว่าเช่นกัน)

ไม่ผิดแต่เลือกไม่ได้

นี่อาจเป็นเพียงหนึ่งที่มาเล็ก ๆ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สะท้อนคิดกับลักษณะของ “ทุนนิม” ในบางมุม และสามารถต่อเนื่องเป็นความไม่สมดุลบางประการ หรือที่เรียกว่า “ความเหลื่อมล้ำ”

แน่นอนว่าการซื้อของในร้านสะดวกซื้อย่อมแพงกว่าแต่ได้ความสะดวก การซื้อจำนวนชิ้นน้อยกว่าก็ย่อมแพงกว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่มีใครผิดถูก อยู่ที่ “จะเลือก”

แต่หากมองเลยไปอีกสักหน่อย บางทีเราก็ “เลือกไม่ได้” และกลายเป็นว่า คนที่ไม่ค่อยมีอยู่แล้ว กลายเป็นผู้ที่ต้องจ่ายแพงกว่า แล้วได้ของคุณภาพด้อยกว่าไปได้อย่างไร? เพราะหากเขาเอาเงินไปซื้อนมหมด ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จะเอาที่ไหน…

และหากสมมติ (ย้ำว่าสมมตินะครับ) นมที่เป็นสูตรพิเศษดีกว่าจริง นั่นหมายความว่า ลูกคนไม่มีทุนก็มีพัฒนาการเสียเปรียบ ส่งผลให้มีต้นทุนทางกายน้อยกว่าได้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ หรือความฉลาด และก็ส่งต่อให้เขาเสียเปรียบต่อไป…

หากเลือกได้ก็ไม่ง่ายเลย

แม้จะเป็นเพียงข้อสมมติว่านมคุณภาพดีส่งผลต่อการเติบโตได้จริง แต่หากคิดตามดี ๆ จะพบว่า ความเสียเปรียบในหลายเรื่องไม่เพียงส่งผล ณ เวลานั้น แต่มันส่งต่อเป็นขั้น ๆ ไปได้อีกในอนาคต เพราะความเหลื่อมล้ำมีแต่จะเพิ่ม ไม่เพียงแค่ระยะห่าง แต่ในหลายมิติอีกด้วย

เช่น คนที่ไม่ค่อยมีทุนอาจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือนมสูตรธรรมดา พยายามในหลายด้านเพื่อให้โตขึ้นมามีความรู้ความสามารถที่ดีได้ ระหว่างนั้นก็ย่อมต้องดิ้นรนหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวไปวัน ๆ ด้วย ก็จะตกอยู่ในสภาพ ไหนจะงาน ไหนจะลูก และยิบย่อยอีกหลายด้านสติและจิตใจต้องค่อนข้างแข็งและบวก อย่างไรก็ตามหากพยายามจนลูกโตมาเก่งได้… จนวันหนึ่งลูกสอบได้ คณะสาขาวิชาที่ดี ที่จบมาน่าจะเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ดี แต่… ค่าเทอมสาขาวิชานี้ก็แพงเช่นกัน (โตมาเก่ง ฉลาด ก็ยังต้องพึ่งทุน) มันก็กลายเป็นภาระที่หนักขึ้น ไม่ใช่สบายขึ้น…

เมื่อเป็นเช่นนนี้ กับเราที่มีทุนจำกัด มันก็ต้องตัดสินใจ จะลงทุนให้ตัวเองเพื่อสร้างฐานะไปต่อ หรือตัดส่วนตัวเองออกไป แล้วลงทุนให้ลูกดีล่ะ? และแน่นอนว่า ถ้าส่งลูกเรียนไม่ไหว ลุกเขาอาจจะกลับไปมีต้นทุนไม่ต่างกันกับตัวเองอีกครั้งเป็นวังวนไป…

อาจมีคนแว่บคิดขึ้นมาได้ว่า ก็สอบชิงทุนสิ.. ก็ดูเป็นทางเลือกที่ดี แต่บางทีก็น่าขันตรงที่ว่า สมมติเขามอบทุน 3 ทุน ลูกเราดันสอบชิงทุนได้ที่ 4 โดยที่ 1-3 คนที่ได้ไปนั้นเขาก็ดันเป็นลูกคนฐานะดี… (อย่าลืมว่าผมสมมติ.. แต่ก็บนสังคมที่มีอยู่จริง)

คิดบวกบนความเหลื่อมล้ำ นับวันจะเป็นไปได้ยากขึ้น

ดังที่กล่าวว่าเป็นเพียงตัวอย่างที่สมมติ และเป็นเพียงมุมเดียว หากอยู่ในชนชั้นกลางถึงล่าง อาจมีคนพยายามสร้างแรงบันดาลใจ หรือชี้ให้เห็นว่า จะหลุดพ้นได้ก็ต้องดิ้นรน ขยัน หรือพยายามสร้างสรรค์ให้ได้ มันก็เรื่องจริงไม่ผิดเลย..

ทว่า เปรียบเปรยว่าการหลุดพ้นจากระดับหนึ่งเป็นบันได อดีตอาจเพียงพยายามก้าวไป 5 ขั้นเป็นอันว่าสบายขึ้น แต่ปัจจุบันมันเหมือนเป็น 10 ขั้นไปแล้วทำนองนี้ ซึ่งถ้าคนไม่ผิดพัฒนาจะกี่ขั้นเขาก็ไม่พัฒนามันก็จริง แต่มันก็ไม่ใช่ทุกคนที่ไม่พยายาม

และเมื่อมันยากขึ้นทุกวันมันก็จะมีแต่ผู้ที่เหนื่อย ท้อ ยอมแพ้ หรือเลือกที่จะอยู่แบบไม่ดิ้นรน เข้าหาความสุขง่าย ๆ จนอาจกลายเป็นคนมีหนี้สินหรือไม่พัฒนา เพราะภาวะจิตใจอ่อนแอ แม้โทษใครไม่ได้ แต่มันก็ใช่ว่าอยากมีใครเป็นแบบนี้ แล้วถูกที่ตีตราว่าเขาไม่อยากพัฒนากันเอง มันก็ดูว่าอาจไม่ใช่เสมอไป

เพราะหลาย ๆ ครั้งเราก้าวไป 5 ขั้นแทนที่จะเหลือน้อยลง บางทีขั้นเหล่านั้นมันดันเพิ่มขึ้นได้ด้วยระบบอะไรที่บิดเบี้ยวบางอย่าง การจะให้คิดบวกบนความเหลื่อมล้ำ นับวันจะเป็นไปได้ยากขึ้น

เราช่วยใครไม่ได้นอกจาก…

สุดท้ายเราก็ต้องช่วยตัวเอง… เป็นบทสรุปที่อาจจะใช่ แต่เราจะช่วยตัวเองได้ตลอด? แน่ใจอย่างนั้นหรือ?

ภาพหนึ่งที่ชัดเจนขอยกตัวอย่างคือ โลกจะพัฒนาไปแค่ไหน มนุษย์ก็มักอยู่รอดได้ด้วยปัจจัยเพียงทางกายพื้นฐาน คงไม่มีใครเห็นแย้ง

“โรงพยาบาล” ก็เป็นสถานที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องปัจจัยทางกายของเราทุกคนไม่ว่ายากดีมีจน มีทุนมากน้อยเพียงใด เพราะยากที่เราจะรักษาตัวเองได้ยามเจ็บป่วยหนักขึ้นมา สำหรับคนที่เกิดทัน หรือลองย้อนไปดูหนังเก่า ๆ เอาก็ได้ ราว 30 ปีก่อน ภาพของโรงพยาบาล(รัฐ) คือสถานที่สงบ โปร่งสบาย ไม่แออัดนัก เมื่อตัดมาภาพปัจจุบัน ขนาดโรงพยาบาลเอกชนแสนแพง ผู้คนยังหนาตา…

ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐมีแต่แน่นขึ้น โรงพยาบาลเอกชนก็แพงขึ้น น่าแปลกตรงที่ว่ากันจริง ๆ แล้วแพงจนน้อยคนเท่านั้นที่จ่ายไหว ลองไม่มีประกันสิ… แล้วก็ดูว่าคงไม่มีทีท่าที่ราคาจะลดลง ซึ่งเป็นสิทธิ์ของเขาในโลกทุนนิยม…

คนจะรวยหรือจน ยามป่วยก็ถือเป็นเรื่องเสียหาย เพราะทำงานไม่ได้ และกลายเป็นเรื่องต้องเสียเงิน เพียงแต่โอกาสในการรักษาหาย, ดี, เร็ว มันผิดกัน

ทางเลือกเรายามเจ็บป่วยคือ รักษาอย่างยากลำบากเพราะความหนาแน่นในโรงพยาบาลรัฐ หรือ “จงซื้อประกัน” เว้นแต่ซื้อไม่ได้ ซื้อไม่ทันแล้ว ก็ว่ากันไป

แต่การจ่ายประกันลำพังคนหนึ่งอาจต้องทนจ่ายไป และอย่าลืมว่าผูกพันระยะยาวจ่ายไม่ไหวระหว่างทางเป็นอันขาดทุนย่อยยับ แถมประกันสุขภาพนั้น ถ้าครอบครัวล่ะ 3 คนพ่อแม่ลูก และให้ครอบคลุมพอรักษาโรงพยาบาลเอกชนได้ดี ปีละร่วมแสนบาทแน่นอน ถือว่าเป็นเงินจำนวนมากและประกันสุขภาพหลายส่วนนั้นเขาไม่ให้คืนให้ เพราะมิใช่เงินฝาก…

ทางเลือกสุดท้าย อาจต้องเป็นลุ้นเสี่ยงเอา ป่วยเมื่อไหร่จ่ายค่ารักษาเอกชนเองไปซะ…

นี่คือตัวอย่างเดียวที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำในวันนี้ ที่มองอนาคตไป ดูอย่างไรโรงพยาบาลรัฐก็ยากจะเติบโตทัน ปัญหาคงหนักข้อขึ้นไปตามลำดับ เว้นแต่จะมีนโยบายใหม่ ๆ ที่ทำได้มากมายและต้องทำในระยะยาว ซึ่งเป็นอะไรที่ “เราทำเองไม่ได้” และช่วยใครไม่ได้ แถมช่วยตัวเองยังลำบากเลย…

ทุนนิยมผิดไหม?

บทความนี้อาจดูยาว แต่เขียนสั้นมากแล้วเมื่อเทียบกับที่มาที่ไปหรือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงในวันนี้ไปจนถึงอนาคต แถมยังเขียนได้ไม่ดีพอ เพราะยังขาดอีกหลายมิติด้วยซ้ำไป โดยส่วนหนึ่งผมกำลังโจมตี “ทุนนิยม” อยู่ไหม? ตอบเลยว่าไม่ เพราะนี่เป็นเพียง เรื่องราว เรื่องเล่า และมุมคิด

เพราะทุนนิยมก็ไม่ต่างกับหลายเรื่อง เป็นเพียงระบบหนึ่ง เป็นกระบวนการหนึ่งที่มีข้อดี ไม่ต่างจากหลายเรื่องที่ “ดี แต่อยู่ที่ใช้อย่างไร” และ “ควบคุมข้อเสียมันได้ไหม” ที่มีสิ่งสำคัญคือ “เราไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง” แต่มันดันส่งผลกับชีวิตพวกเรามากมาย

เช่น ตัวอย่างเดิมจากเรื่องโรงพยาบาลที่สะท้อนชัดขึ้น เหมือนในตอนโควิดหนักนี้ที่ขาดเตียง แต่ถ้าคุณจ่ายไหวหรือมีประกันเข้าเอกชนได้ เตียงจะไม่ขาด ถามว่าโรงพยาบาลผิดไหม? คนมีประกันผิดไหม? คำตอบคือ ไม่ผิด เพราะเขาทำธุรกิจซื่อตรง เพียงแต่ตราบใดที่เรามีระบบ แต่ผู้ที่ควรใช้ไม่ใช้ หรือใช้ไม่เป็น มันก็ต้องได้แต่มองแล้วคิดในใจ…

หรือกรณี “ดราม่า น้ำจิ้มบาร์บีคิว ร้านสะดวกซื้อ” ที่เรื่องนี้บางทีแค่บังเอิญเป็นข่าว เพราะอีกฝ่ายก็ใช่ว่าจะเป็นรายย่อยทั่วไป ถามว่ารายใหญ่(กว่า)ผิดไหม? ถ้าว่ากันตามกฎเกณฑ์มาตรฐานที่มี ก็ไม่ผิดกฎหมายอะไรนี่ สามารถทำได้ ทุนนิยมเสรี…

บางทีคำว่า “ครบวงจร” กับ “กินรวบ” มันก็หมิ่นเหม่ หรือ “ทำแบบต้นน้ำ ปลายน้ำ” กับ “ข้าจะครอง แม่น้ำ” มันก็ยากจะตีความ เพราะเรื่อง “ผูกขาด” ในโลกยังมีปัญหาแบบตัดสินไม่ได้อยู่มากมาย นั่นคืออีกด้านแง่เศรษฐกิจ ธุรกิจ

จากที่เขียนมาแต่ต้นมันก็เริ่มจากเรื่องใกล้เรา และขยายความไปไกลจนเป็น พวกเรา สุดท้ายมันหมายถึงองค์กร โดยรายใหญ่ก็จะยิ่งใหญ่ ช่องทางมากขึ้น รายเล็กก็จะยิ่งเล็ก อุปสรรคมากขึ้น ช่องทางแคบลง ความยากลำบวกวนกลับมาสู่ พวกเรา และตัวเรา

สุดท้ายผมไม่รู้ว่าคุณแม่ที่ตกงานท่านนั้นเป็นอย่างไร แต่บอกเล่าข้อมูลเพิ่มให้ว่าเรื่องคุณแม่ท่านนั้นเกิดก่อนวิกฤติไวรัสโควิดไม่นาน คนที่เคยร่วมช่วยคุณแม่ท่านนั้นวันนี้อาจลำบากกว่าไปแล้วก็เป็นได้…

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 30/06/2021

Exit mobile version