Site icon Sirichaiwatt

“พิธีเปิด” ความล้มเหลว

หลาย ๆ โครงการทำไมต้องมีพิธีเปิด? มันสำคัญหรือจำเป็นไหมที่ต้องมีคนมีตำแหน่ง หรือมีชื่อเสียงมาเปิดงาน?  เพราะหลายครั้งคนสำคัญที่สุดอย่างประธานในพิธี ก็ไม่เคยต้องมีหน้าที่รับผิดชอบอะไร เมื่อโครงการนั้นล้มเหลว…

เรื่องราวชวนคิดวันนี้ เป็นข้อสังเกตหรือความสงสัยส่วนตัว เกี่ยวกับค่านิยมบางอย่างของสังคม ที่อาจดู “ไม่เข้าท่า” ซึ่งในท้ายที่สุด ข้อคิดดี ๆ ก็อาจจะอยู่ตรงที่ ได้เอามาสะกิดแง่คิดการกระทำของเราเอง

พิธีเปิด ที่ไม่มีพิธีปิด

พิธีเปิดในหลายงาน น่าจะทำเพื่อประโยชน์ในแง่การโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการรับรู้ รับทราบ ว่ากิจกรรมนี้ สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว เช่น งานนิทรรศการ หรือมหกรรมต่าง ๆ ยิ่งถ้าเป็นพิธีเปิดของภาคเอกชน มักทำเพื่อผลทางการตลาดอยู่บนงบประชาสัมพันธ์ สร้างความน่าเชื่อถือให้องค์กร

ทว่าหลายพิธีเปิดช่างหดหู่ หลายโครงการ ที่เน้นเพียง “พิธี” ให้มีคนสำคัญมาร่วม เช่น พิธีเปิดการปลูกป่า ที่เมื่อวันเวลาผ่านไป ต้นไม้เหล่านั้นกลับไม่ได้รับการดูแล และตายไป ถึงแม้ต้นไม้ไม่ตาย แต่มันก็ไม่ได้กลายเป็นป่าดังชื่อโครงการ รวมทั้งในพิธีเปิดสถานที่ต่าง ๆ บางแห่งเมื่อเวลาผ่านไปก็กลายเป็นสิ่งปลูกสร้างรกร้างดูน่ากลัว…

งบพิธีเปิดเหล่านี้ คงมีประโยชน์หากเปลี่ยนเป็นงบจ้างคนดูแล  บุคคลสำคัญที่ควรเชิญมาและให้เกียรติ ควรเป็นอาสาหรือคนที่มีหน้าที่ต้องดูแลสถานที่ ดูแลต้นไม้เหล่านี้ให้รอดปลอดภัย เพราะถือว่าเขา “สำคัญ” ต่อต้นไม้เหล่านี้จริง ๆ ยิ่งเทียบกับใครสักคนที่อ้างว่าสำคัญ หากแค่มาฉีกถุงลงดินรดน้ำวันเดียวนั้น ต้นทุนมันสูงเกินไป แม้มาช่วยกันปลูกเยอะ ๆ มันก็ดี แต่ก็ไม่จำเป็นต้องถึงกับมีพิธีก็ได้กระมัง..

(เล่าสู่, ตรงนี้อ่านข้ามได้) ครั้งหนึ่งผมไปบรรยายเกี่ยวกับการตลาดให้กับกลุ่มธุรกิจชุมชนที่เรียกว่า พ่อค้า แม่ค้า แบรนด์ท้องถิ่น เป็นโครงการรัฐ แต่จ้างออแกนไนเซอร์เป็นผู้จัดและเชิญผม ที่จริงแล้วกำหนดการบรรยายของผมมีเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง แต่เนื่องจาก “พิธีเปิด” อันยาวนาน ต้องเชิญท่านต่าง ๆ ขึ้นเวทีมาพูดจนครบถ้วน จบแล้วถ่ายรูป เข้าใจได้ว่าท่านเหล่านั้นย่อมต้องมีภารกิจต่อ สุดท้ายผมเหลือเวลาบรรยายเพียง ชั่วโมงกว่า เนื้อหาสาระที่เตรียมไปจึงต้องรวบรัดตัดจบให้ได้ เพราะบ่ายมีเรื่องอื่น ทำให้ผู้เข้ามาฟังบรรยาย ที่หวังจะมาเอาความรู้เหล่านั้น จึงเข้ามารุมขอคำปรึกษาหล้งจากลงเวที ผมต้องอยู่ต่ออีกเกือบ 2 ชั่วโมง ซึ่งเต็มใจที่จะแบ่งปัน ให้ความรู้เขาเหล่านั้นอยู่แล้ว เพียงแต่การพูดกับคนทีละคนสองคนมันก็เลยช้า คงจะดีกว่าหากเวลาเนื้อหาสาระไม่ถูกเบียดบังไปกับพิธีเปิด เพราะจุดประสงค์งานนี้คือพื้นที่ให้ความรู้ประชาชน แต่หากท่านอ่านก็คงเข้าใจว่าเพราะอะไร… 😅

ส่วนหนึ่งนั้นใช่ว่าจะเกี่ยวแต่กับโครงการภาครัฐ ในหลาย ๆ พิธี ก็เพียงเพราะการผูกติดกับความเชื่อเรื่อง ฤกษ์ ยาม ไปกระทั่งการสร้างความภาคภูมิใจผิด ๆ

คนไทยลืมง่าย จึงไม่ได้จำว่าในตอนนั้นมันคือ พิธีเปิด ความล้มเหลว

บางคนเปิดร้าน เปิดธุรกิจ มีพิธีเปิดใหญ่โต ทำประหนึ่งว่านี่เป็นความสำเร็จ เหมือนที่บอกไป พิธีเปิดแบบภาคเอกชนมีประโยชน์แง่ประชาสัมพันธ์หรือการตลาดก็จริง แต่หากทำบนความรู้สึกว่า ดีใจ ภูมิใจ สำเร็จที่ได้เปิดนั้น ดูมันเป็นเรื่องที่ประมาท และอันตราย เพราะจริง ๆ แล้วยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำ หรือพูดแง่ร้ายคือ แท้แล้วเราเพิ่งได้ก้าวขาลงมาเสี่ยงเองนะ (ยังห่างไกลความสำเร็จ ภูมิใจนัก)

บางอย่างที่อาจไม่ใช่พิธีเปิดโดยตรง แต่เกี่ยวกับฤกษ์ ยาม ประเพณี มุมหนึ่งก็เข้าใจได้ แต่ในมุมกลับ ดังเช่น การแต่งงาน โดยอย่างยิ่งบนแนวคิดที่ว่า นี่เป็นการเปิดตัวว่าเขาคู่นี้จะ “เริ่มต้นอยู่ด้วยกัน” มิใช่อยู่ก่อนแต่ง แต่ความเป็นจริงสิ่งที่ยากที่สุดของชีวิตคู่คือการใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันให้ได้ เพราะหลังจากนี้ไปอาจต้องปรับอะไรกันอีกมากมายหลังพ้นช่วงข้าวใหม่ ปลามัน…

หรือการขึ้นบ้านใหม่ ที่สมัยนี้คือเราเริ่มมีหนี้สินระยะยาว 20-40 ปี เราก็ยังคงจัดพิธีที่เชื่อว่าเอาฤกษ์ชัยในการเข้าอยู่… แบบไม่รู้จะผ่อนรอดไหม เพราะแค่ 20 ปีนี้ไม่ง่ายเลย มีอะไรเกิดขึ้นได้มากมาย

จากที่ยกตัวอย่างมา หลายสิ่งหลายอย่างที่มีพิธีเปิด หรือพิธีการในวันเริ่มต้น จึงดูเป็นค่านิยมที่ไม่จำเป็นเพราะยังไม่รู้อนาคตจะไปได้แค่ไหน หรืออาจเป็นเพราะคนไทยลืมง่าย จึงไม่ได้จำว่าในตอนนั้นมันคือ พิธีเปิดความล้มเหลว..

หมายเหตุนิดหนึ่งว่า บางพิธีบางงาน อย่างงานแต่ง งานขึ้นบ้านใหม่ ส่วนหนึ่งก็จงใจทำเป็นงาน “ระดมทุน” เก็บซองให้คุ้มกำไรในการจัดงาน บางคนก็เต็มใจใส่(คืน) บางทีก็กลายเป็นภาระคนถูกเชิญ ซึ่งที่จริงถ้ามองแง่ ว่าเอาฤกษ์ เอาชัย ก็ไม่ควรไปเบียดเบียนใครแต่แรกว่าไหม?

พิธีที่น่าจะมี…

หากจะว่าไปแล้ว “พิธีการ” บางอย่าง คงมีค่ามีความหมายมาก ๆ หากเป็นพิธีที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จ หรือสิ่งที่สะท้อนประโยชน์ ดังเช่น..

พิธีขึ้นบ้านใหม่ เปลี่ยนเป็น พิธีรับบ้านเรา คือ หลังจากผ่อนบ้านหมดจนโอนเป็นของเราโดยสมบูรณ์ ทำบุญเลี้ยงพระ เฉลิมฉลองความเป็นเจ้าของบ้าน (ที่แท้จริงเสียที) เช่นนี้ อย่าว่าแต่เจ้าของบ้านเลย คนที่ทัศนคติดี ๆ ไม่มีอคติอิจฉาก็ยังรู้สึกว่าน่าร่วมยินดีด้วยในความสำเร็จตรงนี้ เพราะรับรู้ได้ดีนี่คือการฝ่าฟันที่ยาวนาน หรือในกรณีคล้ายกันก็ เจิมรถ ไหว้รถ ตอนผ่อนหมดแล้วก็ดูไม่เลว ถ้าไม่เช่นนั้นไปรีไฟแนนซ์เมื่อไร อย่าลืมเจิมใหม่ด้วยล่ะ… 😜

พิธีเปิดร้าน เปลี่ยนเป็น พิธีฉลองครบรอบกิจการ 3 ปี หรือพิธีฉลองยอดขาย ขายได้แล้ว 1 แสน, 1 ล้านชิ้น หรือ ลูกค้า 1 หมื่นราย อะไรก็ว่ากันไป นี่คงเป็นวันที่เรารู้สึกชื่นใจ และอาจได้แง่ทางการตลาดมากกว่าพิธีเปิดด้วยซ้ำ

พิธีแต่งงาน ที่ไม่ได้บอกว่าผิดอะไร แต่ส่วนตัวก็มองว่า น่าจะสำคัญกว่าถ้าเป็นพิธีครบรอบ 7 ปี จากวันที่อยู่ร่วมกัน หรือ 10 ปี 20 ปี ดูดีและมีค่ามากหากย้อนมองไป (ฉันทนไอ้นี่, ยัยนี่ มาได้ขนาดนี้ทีเดียว 😜)

ในโครงการรัฐ ก็ทำได้ (แต่คงไม่มีใครทำ 😅) เช่น แทนที่จะเป็นพิธีเปิดใช้ถนนควรมีพิธีฉลองอายุการใช้งานโดยไม่ผ่านการ แปะ ซ่อม รื้อ… ที่หากมีพิธีนี้ได้จริง คงสร้างค่านิยมใหม่ ๆ ที่ประชาชนคนไทยคงจะชื่นชม เห็นด้วยไหม?

หรือพิธีปลูกป่า ที่แทบไม่เคยได้ป่า ควรเรียกแค่ว่าวันปลูกต้นไม้ แล้วให้มีพิธีเปิดป่าจริง ๆ ในวันที่นักนิเวศวิทยา หรืออะไรทำนองนี้รับรองให้ได้ว่า พื้นที่บริเวณนั้น ๆ เป็นป่าแล้ว สมควรเรียกได้ว่าป่า เราก็ทำพิธีกันเลย ซึ่งจะมีทั้งสองพิธีก็ดีนะ คือวันที่ปลูกใครมาเป็นประธาน เมื่อถึงวันที่เป็นป่า เชิญเขามาอีก มันก็คงน่าชื่นชมดีใจ แต่เพื่อให้เสมอกันและเท่าเทียม ถ้ามันไม่เป็นป่าเราก็ควรมีงานว่า “พิธีปิดป่า” และเชิญท่านที่มาปลูก มาปิดด้วยว่าตรงนี้คงเป็นป่าไม่ได้แล้ว…

พิธีเปิด ความล้มเหลว

ไม่มีใครชอบความล้มเหลว แต่ในคนสำเร็จ ทุกความล้มเหลวสอนอะไรบางอย่างได้เสมอ…

มันคงเป็นเรื่องแปลกที่จะจัดพิธีฉลองความล้มเหลว แต่มุมหนึ่งก็ควรค่าไม่น้อยเลย การฉลองความผิดพลาด ฉลองวันปิดกิจการ ฉลองวันคืนบ้าน คืนรถ หรือฉลองวันหย่า (บางคนก็ฉลองจริง ๆ 😅)

มันอาจมีประโยชน์คือให้คนอื่นได้เรียนรู้ ได้เห็นเป็นวิทยาทาน ว่าวันข้างหน้าหากทำอะไรอย่าได้หลงผิดเหมือนเรา ยิ่งถ้าเป็นงานบุญ ก็น่าจะเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ ในการนำเสนอบทเรียน ข้อคิด ข้อผิดพลาด ในงานพิธีนั้น

สุดท้าย อาจดูเป็นเรื่องกล่าวเล่น ๆ ที่จะจัดงานพิธีเปิดความล้มเหลว แต่หากคิดให้ดี หากเป็นพิธีปิด พิธีอำลา ที่อาจไม่ใช่พิธีจริงจังอะไร เช่นในวันที่เลิกกิจการ, ทีมงานแยกย้าย, ล้มโครงการ ถ้าเป็นไปได้เราจัดขึ้นมาบนบรรยากาศส่วนตัว สิ่งเหล่านั้นมีค่าควรจำ มีประโยชน์ เพราะมีประสบการณ์ แม้มันจะล้มเหลว แต่มันมีความรู้สึกดี ๆ อยู่เช่นกัน เราอาจได้เห็นคุณค่าในช่วงที่ผ่านมา ต่างกับพิธีเปิดต่าง ๆ นา ๆ ที่คนมาจริง ๆ ก็มิได้เห็นค่า เห็นความสำคัญ เว้นแต่ผู้ที่ได้กำไรจากพิธีเปิดนั้น เท่านั้นเอง

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 29/09/2021

Exit mobile version