Site icon Sirichaiwatt

วิธีการเลิกบุหรี่ ที่ได้ผลของผม

การเลิกบุหรี่ให้ได้ผล หรือวิธีการเลิกบุหรี่ที่ดีสุด แต่ละคนคงไม่มีวันเหมือนกันหรอกครับ แต่ผมเชื่อว่ามันจะมีบางอย่าง ที่เป็นปัจจัยหลัก หลักการสำคัญที่จำเป็นต้องมีเหมือน ๆ กันไม่เช่นนั้นคงไม่สำเร็จ ส่วนวิธีการในบทความนี้ ถ้าใครคิดจะเลิก แล้วนำไปทำตามก็ได้ และดังที่บอกไม่ต้องเหมือนผมก็ได้ แต่อยากให้ลองสังเกต หรือไปประยุกต์ดู สำหรับคุณหรือคนใกล้ตัว (แอบคิดว่าคนที่ไม่ได้สูบอยากให้เลิก มากกว่าคนสูบอยากเลิก อ่านบทความนี้) เขาน่าจะเลิกได้อย่างไร

ส่วนหนึ่ง จะเลิกหรือไม่ จะมีมุมคิดเรื่องนี้อย่างไร ก็ถือว่าเป็นเรื่องราวดี ๆ ที่แบ่งปันประสบการณ์บางเรื่องในมุมหนึ่งให้อ่านกัน แม้ว่าจะมีขั้นมีตอนเหมือนบทความ how to ก็ตาม

ถ้าเราไม่หัดก่อนอายุ 18 เราจะไม่ติด!!

เล่าให้ฟังคร่าว ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ของตัวเองก่อนว่า ผมก็เหมือนหลาย ๆ คนที่หัดสูบบุหรี่เพราะความอยากลองตั้งแต่วัยรุ่น ถ้าจำไม่ผิดลองครั้งแรกสมัย ม.2 แล้วก็เหมือนหลายคนที่ ไอ แสบคอ รู้สึกว่านี่ไม่ได้เรื่อง “สูบไมวะ?” คำถามที่ขึ้นมาในหัว ที่จริงถ้าลองครั้งเดียวแล้วจบไปตั้งแต่ตอนนั้น ผมก็คงเป็นคนไม่สูบบุหรี่เลยก็ได้…

ผมเคยอ่านประโยคหนึ่งนานมากแล้ว ขออภัยจำที่มาไม่ได้จริง ๆ ใจความประมาณว่า มีงานวิจัยพบว่าถ้าเราไม่สูบบุหรี่ก่อนอายุ 18 ปี แนวโน้มที่จะสูบบุหรี่จะยากมาก กล่าวคือ เกิน 90% ของคนที่ติดบุหรี่ล้วนหัดสูบ ลองสูบ ก่อนจะอายุ 18 ปี ประมาณนี้ เหตุที่ทำให้จำเรื่องนี้ได้ เพราะอ่านเรื่องนี้ตอนที่ยังสูบบุหรี่อยู่ แล้วพอมองไปถึงเพื่อน ๆ รุ่นเดียวกัน ก็พบเห็นว่ามันจริง เพราะถ้าเป็นคนอื่น เราจะไม่รู้ว่าเขาเริ่มสูบเมื่อไหร่ แต่ถ้าเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน เราจะรู้เพราะมักจะสูบมาด้วยกันตั้งแต่มัธยม สำหรับผมจากตอน ม.2 ก็ดันมาหัดอีกครั้งตอน ม.4 และก็แอบสูบเรื่อยมา นั่นหมายความว่าเริ่มสูบราวอายุ 15-16 ปี

ณ วันนี้ ผมเลิกบุหรี่ได้หลายปีแล้ว ไม่รู้ว่าคุณจะมาอ่านเจอบทความนี้เมื่อไหร่ อาจจะกลายเป็นว่าผมเพิ่งเลิกได้ 5 ปี หรือเลิกไปแล้ว 10 ปี ก็เป็นได้ แต่ที่แน่ ๆ กว่าผมจะได้เลิกบุหรี่ก็หลังจากสูบมาแล้ว 20 ปี มันเป็นเวลาไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะถ้าสูบมา 2-3 ปี อาจดูไม่น่าจะเลิกไม่ยาก แต่ผมก็เชื่อว่า ถ้าขึ้นชื่อว่าติดแล้ว กี่ปีก็เลิกยากเหมือนกัน มันจึงต้องมีหลักการบางอย่างที่ผมบอกว่าต้องเหมือนกันอยู่บ้าง ส่วนวิธีการเลิกบุหรี่เลยนั้น ก็ต้องตามความสะดวก ถนัดของแต่ละคนด้วย

บุหรี่ติดที่ใจ มากกว่าร่างกาย

อย่างไรก็ดี ภายหลังผมมาทบทวนประโยคที่ว่าต้องเคยหัดก่อน 18 ปี ทำไมต้องเป็นเช่นนั้นก็พยายามไปหาข้อมูลแต่ยังไม่พบ (ใครพบมาช่วยชี้แนะได้ครับ) แต่ผมก็วิเคราะห์เอาในมุมคิดของตัวเองได้ว่า จริง ๆ แล้ว บุหรี่ติดที่ใจ มากกว่าร่างกาย ไม่ได้บอกว่าไม่มีผลทางกาย แต่คนส่วนใหญ่จะติดแค่ทางใจมากกว่า และแน่นอนคนที่ติดแล้วมีผลต่อทางกายมาก ๆ มันต้องเริ่มติดจากทางใจ ทางความรู้สึก ก่อนอยู่ดี…

ลองคิดดูว่า การหัดบุหรี่แรก ๆ ไม่ว่าใครก็ย่อมรู้สึกว่า มันแสบคอ แสบจมูก ไม่ได้ทำให้รู้สึกดีอะไรนอกจาก รู้สึกเท่ ๆ ประสาวัยรุ่น รู้สึกว่าเป็นผู้ใหญ่ หรือรู้สึกว่ามีตัวตนบางอย่างต่อพฤติกรรมนี้ บางคนยังสูบไม่เป็นแต่ยังพยายามสูบต่อไปในช่วงแรก ด้วยแรงขับเช่นนี้ ซึ่งหากเป็นผู้ใหญ่ขึ้นหน่อย เลยอายุ 18 หรือยิ่งมากกว่านั้น การจะมาหัดสูบบุหรี่จึงแทบไม่มีแรงขับเคลื่อนใด ๆ เหมือนวัยรุ่น เมื่อไม่ (ฝืน) หัด มันจึงไม่ติดเป็นนิสัยหรือพฤติกรรม ถ้าสงสัยว่ามีไหมที่ติดบุหรี่หลังอายุ 18 ก็ต้องบอกว่ามี เพราะเขาก็บอกอยู่แล้วว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันถือว่าเป็นส่วนน้อยจริง ๆ

หลักการสำคัญในการเลิกบุหรี่

จากข้อสังเกตข้างต้น เราเริ่มลองเพราะความรู้สึกบางอย่าง บนแนวคิดบางอย่างลึก ๆ แต่พอทำบ่อย ๆ ก็นำไปสู่พฤติกรรมอันเป็นนิสัย ประกอบกับการที่นิโคตินเริ่มส่งผลต่อร่างกายจึงกลายเป็นว่าติดบุหรี่กันไปจริงจัง จึงทำให้ผมมองว่า ถ้าคิดจะเลิกบุหรี่ต้องมีหลักการสำคัญดังนี้ ที่ผมนำไปปฏิบัติ

มันเป็นเรื่องยากที่จะไปบอกให้ใครเลิกบุหรี่

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจคิดว่า ก็แน่ล่ะสิ ถ้าไม่มีเป้าหมาย ไม่มีความตั้งใจคงเลิกไม่ได้หรอก แค่นี้ใครก็รู้..

จริงครับว่าใครก็รู้ แต่แค่รู้ไม่พอ เราก็ต้องมีจริง ๆ เป้าหมาย หรือไม่ก็ต้องลองหาดู ความตั้งใจก็ต้องสร้างขึ้นอย่างแน่วแน่ไปตามเป้าหมายที่เรามี จึงนำไปสู่วิธีการต่อไป เพราะหากขาดซึ่งวิธีการ ก็เหมือนคิดได้แต่ไม่ลงมือทำอีกนั่นแหละ ในทางกลับกัน ถ้าจะไปบอกให้ใคร “เลิกบุหรี่ต้องทำอย่างไร” มันเป็นเรื่องที่มาทีหลังความตั้งใจ มันจึงเป็นเรื่องยากที่จะบอกใครให้เลิกบุหรี่ เพราะเขาไม่ได้มีเป้าหมาย มันก็จะรู้สึกว่าทำไปทำไม และหรือ หาเป้าหมายให้แทนเขา แต่เขาไม่ตั้งใจ มันก็ไม่อยาก มันก็กลายเป็นบังคับคนให้ทำในสิ่งที่ไม่อยาก นอกจากไม่สำเร็จแล้วยังรู้สึกน่ารำคาญอีกด้วย..

วิธีการเลิกบุหรี่

อย่างไรก็ดี หากอ่านข้ามมาก็จะบอกว่า วิธีการเลิกบุหรี่ เป็นสิ่งที่จริง ๆ บอกกันไม่ได้ควรย้อนไปอ่านหลักการด้วย แต่ในที่นี้ผมแค่บอกว่า ตอนผมเลิกบุหรี่ผมมีวิธีการอย่างไร เพื่อนำไปเป็นแง่คิด มุมคิดเผื่อนำไปปรับเป็นทางของตัวเอง กันต่อไป ซึ่งวิธีการของผมมีดังนี้

  1. หาเป้าหมาย : การมีเป้าหมายในการเลิกบุหรี่เกิดได้จาก 2 ทาง อย่างแรกคือจากปัจจัยภายนอก กล่าวคือเพราะคนอื่น เช่น เลิกเพราะมีลูก เลิกเพราะมีแฟน เลิกเพราะรู้สึกเข้าสังคมไม่ได้ อย่างที่สอง ปัจจัยภายในตัวเอง คือ อยากสุขภาพดี อยากร้องเพลงดี อยากออกกำลังกาย, เพาะกาย, วิ่ง, แม้กระทั่ง “แค่อยากเอาชนะตัวเอง” หรือ ร่างกายกระตุ้นในทางลบ เช่น ไอจนเจ็บหน้าอก ปากดำ ฟันดำ เหล่านี้เกิดจากภายในตัวเราทั้งสิ้น และไม่ว่า เป้าหมายนี้จะมาในตอนที่มีผลเกิดขึ้นกับเราแล้วหรือไม่ก็ตาม ล้วนต้องมีเป็นจุดเริ่มต้น
  2. วางแผน : ผมมีเป้าหมายที่จะเลิกบุหรี่ได้แล้ว ผมรู้ว่ามันไม่ง่ายแน่ ๆ จึงต้องวางแผนจริงจัง ผมใช้เรื่อง 3-7-21 เข้าช่วย (ลองย้อนไปอ่านได้ครับเขียนไว้เช่นกัน การพัฒนาตนเอง ด้วยเทคนิค สูตร 3 – 7 – 21)
  3. รับมือวันแรก : วันแรกคือวันที่ยากที่สุดครับ แต่ในทางตรงกันข้ามอาจไม่ยากเพราะความตั้งใจเราก็มีมากสุดเช่นกัน ดังนั้นเราจะทำอย่างไรก็ได้ในวันแรก แต่เตรียมใจไว้รับมือ ผมนับชั่วโมงเลยครับ สายแล้ว บ่ายแล้ว เย็นแล้ว (แอบดีใจ) มืดแล้วนอน.. เล่าดูเป็นเรื่องง่าย แต่ในวันจริง กระวนกระวายใจ และต้องตั้งใจสุด ๆ จริง ๆ พยายามให้ผ่านวันแรกให้ได้ ก็เหมือนก้าวแรกที่สำคัญ… ที่สำคัญ วันแรกไม่เกิดเพราะผลัดวันประกันพรุ่งก็เยอะมาก พอเริ่มได้ไม่ถึงครึ่งวันเราจะอ้างตัวเองว่า พรุ่งนี้ค่อยเริ่ม.. และมันก็พรุ่งนี้ไปเรื่อย ๆ
  4.  3 วันอันตราย : ในแผนผมคือ 3 วันแรก ผมต้องไม่ออกจากบ้านเด็ดขาดครับ ไม่งั้นเราอาจไปซื้อ อ่อ ไม่ควรมีบุหรี่ในบ้านแล้วด้วย การเสี่ยงไปเจอคนที่สูบมันจะกระตุ้นเราให้ลำบาก และต้องไม่ทำอะไรที่เครียด หาอะไรที่ชอบทำ จะดูหนังเล่นเกมส์ อะไรก็ตาม ที่จะได้ไม่ต้องอยากบุหรี่ (โชคดีสมัยนี้ หนัง และสื่อ รณรงค์ให้ไม่มีฉากสูบบุหรี่ มันมีผลจริง ๆ นะครับสำหรับคนจะเลิก) และเตรียมรับผลทางร่างกายครับ เช่น น้ำลายไหล อาจมีปวดหัวบ้างในบางคนก็ทานยาพารา ดื่มน้ำเยอะ ๆ พักผ่อน ไปครับ ในกรณีคนที่มีผลทางกายมาก ๆ อันนี้อาจต้องใช้ตัวช่วยนิโคตินในช่วงแรก ๆ หรือใช้วิธีการที่แพทย์แนะนำเป็นขั้นเป็นตอน แต่สำหรับผมไม่ขนาดนั้น (เน้นใจสู้)
  5. 7 วันไม่ปลอดภัย : ถ้าผ่าน 3 วันไปได้ ถือว่าเก่งครับ แต่ยังไม่ปลอดภัย อาจกลับไปได้ง่ายมากครับ “ความรู้สึกอยาก” ยังมีอยู่แน่นอน ทีนี้จะให้คงสภาพ 7 วันไม่ให้ออกไปไหนเหมือน 3 วันแรก เป็นเรื่องยาก แต่ต้องไม่ทำอะไรที่เสี่ยง งดแอลกอฮอล์ คาเฟอีน หรือพฤติกรรมที่เคยชินต่อบุหรี่ บางคนเข้าห้องน้ำชอบสูบ ก็เปลี่ยนเป็นอ่านหนังสือ เล่นโทรศัพท์ไป แม้ที่จริงจะไม่ดีต่อการขับถ่ายก็ตาม เจอคนสูบบุหรี่ เดินหนีก่อนเลย อย่าไปดมกลิ่น อย่าไปได้กลิ่น รวม ๆ คืออย่ารับแรงกระตุ้นใด ๆ ให้ตัวเราลำบากขึ้นภายใน 7 วันนี้ ครับ ให้กำลังใจตัวเองมาก ๆ นึกถึงเป้าหมายเอาไว้มาก ๆ และบอกตัวเองว่า อุตส่าทำได้เกิน 3 วันแล้ว สู้ ๆ ครับ
  6. ปากอยากแต่อย่าตามใจ : ภาวะ 7 วันนี้ปากเราจะเหมือนว่างอยากนั่นนี่ ส่วนตัวผมไม่เชื่อเรื่องการอมลูกอม เคี้ยวหมากฝรั่งนะครับ(แล้วแต่คน) ผมมองว่าถ้าเราไม่ได้เคี้ยวหมากฝรั่งเป็นปกติอยู่แล้ว การหลอกตัวเองด้วยสิ่งเหล่านี้มันคือการกระตุ้นสำนึกตัวเองทางอ้อมครับว่า “ทำเพื่อแทนบุหรี่” ซึ่งมันแทนกันไม่ได้เลยเรารู้ดี กลายเป็นว่านี่เราบอกตัวเองซ้ำ ๆ ครับว่า ลูกอม=บุหรี่ อมไปก็นึกถึงบุหรี่ไป สุดท้ายเลยโยนลูกอมไปคว้าบุหรี่ ส่วนความอยากอีกอย่างคืออยากกิน กินได้ครับ แต่ระวังเราจะไม่อิ่ม เพราะหลายคนติดภาวะ สูบบุหรี่หลังทานอาหารจะรู้สึกอิ่มสมบูรณ์ (คนสูบบุหรี่ส่วนใหญ่เข้าใจ) แต่สำหรับการกินจริง ๆ การกินอิ่มเกิน ทำให้เราอยากบุหรี่หนักขึ้นนั่นเอง ส่วนตัวคิดว่าตัวช่วยดีที่สุดคือ ของเปรี้ยว มันทำให้ไม่อยากได้เหมือนกัน
  7. ให้รางวัลตัวเอง : การเลิกได้ถึง 7 วันติดต่อกัน เป็นเรื่องยิ่งใหญ่มากครับ คุณควรให้รางวัลตัวเองอย่างแรก ไม่ได้ล้อเล่นนะครับ ควรอยู่ในแผนด้วย เพื่อประโยชน์หลาย ๆ อย่าง และมีกำลังต่อไป..
  8. ทำให้ได้ 21 วัน : ถ้าคุณอดทน พยายามทำตัวเหมือนเช่น 7 วันที่ทำได้ ความอยากจะย้อนมาประปราย สำหรับผมแล้ว แม้จะ 10 วัน 15 วัน ถือว่าสบายตัวแล้ว แต่ใจมันยังไม่นิ่ง ผมจึงต้องบอกตัวเองครับว่า “เราก็คือคนไม่เคยสูบ” ไม่งั้นภาพจำมันหลอกหลอนครับ ทำลืม ๆ ไปว่าเราคือคนที่กำลังเลิกบุหรี่ หรือเคยสูบบุหรี่ ใช้ชีวิตเหมือนไม่รู้จักมันครับ อะไร ๆ มันดีขึ้น และยังคงเป็นช่วงที่ความตั้งใจ และใจต้องเข้มเข็ง มองย้อนวันแรกครับ ผ่านได้แล้วตั้ง 7 วันอันตราย เมื่อสัก 10 วัน เราจะไม่อยากย้อนไปอีก..
  9. ครบ 21 วัน : จะมีรางวัลใหญ่ให้ตัวเองอีกรอบก็ได้ครับ แต่หากครบแล้วควรบอกใคร ๆ เลยครับ ว่าเลิกบุหรี่ได้แล้ว แต่ถ้ายังไม่ถึง อย่าไปบอกใคร ถ้าคุณเลิกไม่ได้จริงครั้งหนึ่ง โอกาสมาเลิกใหม่มันจะยากขึ้น ที่ให้ประกาศบอกใครเมื่อได้ 21 วัน เพราะคนเราเหมือนมีอีโก้ พอพูดแล้วทำไม่ได้ก็จะบ่ายเบี่ยงเรื่องนั้นไป การประกาศเช่นนี้ เพื่อให้สังคมช่วยผลักดันคุณต่อไปครับ ว่าคุณทำได้และดีอย่างไร คุณจะพบว่าเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็ชื่นชม และเลิกบุหรี่ได้ เท่กว่าสูบบุหรี่เป็นร้อยเท่า ชีวิตคุณจะเปลี่ยนไปอย่างน่าประหลาดหลังจากนี้ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่…
  10. เดินหน้าต่อไป : ตอนที่ผมเลิกได้เกิน 21 วัน และได้ป่าวประกาศออกไป เพื่อนผมคนหนึ่งที่ผมเคยปรึกษาหาเป้าหมาย (เขาเลิกเพื่อลูก) เขาบอกผมว่า อย่าประมาท จนกว่าจะ 6 เดือน ผมตกใจ มันแย่ขนาดนั้นเลยหรือ มันจริงครับแต่ไม่ได้ลำบากอะไร แค่เรายังไม่ลืมมันสนิท อาจเผลอกลับไปได้ พอผ่านไป 6 เดือน เราจะลืมมันสนิท ทีนี้เผลออีกที ก็เลิกไปเป็นปี และรู้สึกอีกทีก็หลายปีแล้ว..

อย่าลืมครับว่า นี่ไม่ใช่วิธีที่ต้องเหมือนกัน ไม่มีอะไรควรทำหรือต้องทำตามผม เป็นเพียงการแชร์แนวทาง แง่คิดจากประสบการณ์ตรง จากการเลิกบุหรี่ให้ฟัง ซึ่งผมยังมีอีกเรื่องคือ “การเลิกกาแฟ” ไว้เล่าอีกด้วย อันหวังว่าจะเป็นประโยชน์ เป็นความเข้าใจของคนที่อยากเลิกบุหรี่ หรือคนที่อยากให้ใครคนหนึ่งเลิกบุหรี่ ได้มีแนวทาง แนวคิดในการทำมันได้จริงจัง และผมก็สนับสนุนทั้งชื่นชมทุกคนนะครับที่ทำได้ คุณแน่มาก และคุณจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้อีกหลายอย่างเลย

Exit mobile version