Site icon Sirichaiwatt

สุนัขที่ไม่เคยวิ่งจนสุดโซ่ฉันใด ย่อมไม่คิดว่าโซ่เป็นปัญหาฉันนั้น

คืนวานในขณะที่ไปรอคุยงานย่านทาวน์อินทาวน์ ผมบังเอิญเจอข้อความนี้ “สุนัขที่ไม่เคยวิ่งจนสุดโซ่ฉันใด ย่อมไม่คิดว่าโซ่เป็นปัญหาฉันนั้น” เขียนอยู่บนโพสท์หนึ่งใน Facebook (31/3/2558) (โดยข้อความนั้นอาจเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ในที่นี้ไม่มีความเห็นหรือเกี่ยวข้องทางการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น) จึงเกิดบทความนี้ขึ้นมา

ฟังบทความนี้แทนอ่านเอง ตามช่องทางเหล่านี้

ที่นำมาเขียนเพราะเห็นประโยชน์จากประโยคที่มากกว่านั้น ผมเห็นว่ามันอธิบายอะไรได้หลายๆ อย่างทั้งในแง่ การทำธุรกิจ การใช้ชีวิต การมีมุมมองต่อคนอื่น หรือแม้แต่มุมมองต่อตัวเอง

จากประโยคที่ว่า “สุนัขที่ไม่เคยวิ่งจนสุดโซ่ฉันใด ย่อมไม่คิดว่าโซ่นั้นเป็นปัญหาฉันนั้น” มันคือสถานภาพของภาวการณ์ที่ “ปกติดี” และยัง “ไม่เห็นจะต้องเดือดร้อนอะไร” เพราะสุนัขตัวนี้เป็นสุขดีภายใต้พื้นที่นั้น มันไม่รู้สึกว่าต้องไปไหน มีอาหารกิน มีที่นอนไปตามประสา แต่ถ้าวันหนึ่งสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน? เกิดคนให้อาหารไม่อยู่แล้ว เกิดภัยมา หรือเหตุอันใดก็ตามที่จำเป็นให้ต้องเคลื่อนที่ออกไปไกลกว่าโซ่ ในตอนนั้นเองมันถึงจะรู้สึกตัวว่า โซ่ที่ติดอยู่นั้นเป็นปัญหาเสียแล้ว.. โชคดีถ้ารู้ตัวเร็วในภาวะที่ปัญหาไม่หนักหนา โชคร้ายก็อาจไม่ทันการ หรือถึงปัจจุบันรู้ แต่ไร้ปัญญาจัดการกับโซ่นั้นก็ลำบากอยู่ดี (เออ น่าคิด)

อาจคิดเลยไปได้ว่า แม้รู้ว่าโซ่คือพันธนาการ แต่ก็มีความพอใจสถานภาพนั้น มันเรียกความพอเพียงได้หรือไม่ คำตอบคือ คงไม่ เพราะมันมีความต่างตรงที่ว่า ถ้าพอเพียงและพอใจ คงไม่จำเป็นต้องมีโซ่ล่าม..

ดังที่ได้กล่าวไป ว่าเอาไปคิดได้หลายมุม หากมองไปในเรื่องของธุรกิจ เราก็จะเห็นหลาย ๆ กรณีศึกษา ถ้าว่ากันแบบที่เป็นตำนาน หรือกล่าวถึงกันเสมอ ๆ ในช่วงหลังนี้คงไม่พ้น Nokia หรือ Kodak ที่ชัดเจนว่า กว่าจะรู้ว่าโซ่นั้นเป็นปัญหาก็สายเสียแล้ว ถ้าคนที่รู้เรื่องราวน่าจะพอตีความออกว่า โซ่ของ 2 ธุรกิจนั้นคืออะไร…

ถ้ากลับมามองที่คน แล้วไม่ใช่ตัวเรา เป็นเรื่องคนอื่นที่เขาติดโซ่ที่มองไม่เห็น ดีที่สุดอาจเพียงแค่ อุเบกขา (อุเบกขา ในความหมายผม มิใช่การที่ไม่สามารถกระทำ เมตตา กรุณา มุทิตา ได้จึงอุเบกขา หากแต่เป็นการทำ ทั้ง 3 ขั้นตอนอย่างครบถ้วนแล้วจึงควรวางอุเบกขา มิเช่นนั้นจิตมักคิดฝักใฝ่เช่นว่า ทำดีต้องได้ดี) นี่หมายถึงเพราะบางทีมันอาจจะยากที่จะไปบอกหรือพูดถึงสิ่งที่อาจเป็นปัญหาต่อเขา คล้ายๆ กับเรื่อง “ย้ายทัศนคติ” ที่ผมได้เคยกล่าวไป

ที่สำคัญสุดคือพยายามมองตัวเอง โซ่ที่ว่านี้หากพูดถึงคน คงเปรียบกับการเป็นสุนัขมิได้ ที่จะถูกใครมาล่ามแล้วสิ้นปัญญาปลดพันธนาการตัวเอง แต่โซ่ที่ว่านี้เป็นเช่น “การยึดติด” จากตัวของบุคคลนั้นเอง ไม่ว่าเรื่องใด เพราะเป็นเรื่องยากที่จะไปกักขังความคิดจิตใจใครดังเช่นโซ่ตรวน นอกเสียจากความคิดจากการยึดติดของผู้นั้นเองที่ใครก็ปลดให้ไม่ได้เสียด้วย และเหตุหนึ่งที่หลายคนยังคง ยึดติดกับ “โซ่” นี่นั่นก็เพราะ ไม่เคยวิ่งจนสุดโซ่ฉันใด ก็ไม่เห็น “ความยึดติด” เป็นปัญหาฉันนั้น.. และแน่นอนว่า โซ่นี้แม้บางทีเห็น แต่ก็ไม่ได้เข้าใจมันจนกว่าจะได้กล้าเดินออกมาจนสุดโซ่ นั่นก็หมายถึงว่า ต้องลองกล้าที่จะเลิกยึดติด เลิกเชื่อสิ่งเดิม ๆ ดูบ้าง นั่นเอง..

 

Exit mobile version