ครั้งแรกที่ได้ยินประโยคนี้ Work-life balance หรือการใช้เวลาชีวิตให้สมดุล ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว ในตอนนั้นยังเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่ ก็รู้สึกชอบประโยคนี้ทันที แต่ทุกวันนี้มีหลายคนบอกว่ามันไม่จริงแล้ว
โดยอย่างยิ่งช่วงหลังมีคำว่า Work-life harmony ที่หมายถึงการดำเนินชีวิตให้ผสมผสานกันไป ประมาณว่า งานควรเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ดี ไม่ใช่งานกับชีวิตแบ่งแยกออกจากกันสิ้นเชิง อะไรทำนองนั้น แม้จะให้เวลางานมากกว่าแต่ก็มีความสุขในการทำงาน เสมือนงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไม่ต้องแยกออก ซึ่งบนนัยหนึ่งก็เป็นคำที่ดีกว่าจริง ๆ แต่โดยรวมบนพื้นฐานแล้วก็คือนิยามของการที่จะทำให้คนหนึ่งใช้ชีวิตกับงานได้อย่างราบรื่นนั่นเอง
ถูกของเขา เพราะเราอาจไม่มีวันสำเร็จ
Work-life balance ที่หลายคนบอกว่ามันไม่ดี, มันไม่จริง, มันไม่เหมาะ เพราะการที่จะแยกเวลางาน กับเวลาส่วนตัวออกจากกันไปเลยนั้น มันอาจไม่ได้ทำให้ชีวิตดีจริงได้ ซึ่งมันถูกของเขา เพราะเราอาจไม่มีวันสำเร็จโดยอย่างยิ่ง ถ้าความสำเร็จนั้นคือ “เงิน” หรือ “ตำแหน่ง” ของงานอย่างที่ใครเขาตัดสิน เว้นเสียแต่ว่าเราเลือกเองที่จะไม่สำเร็จเช่นนั้น…
ทำความเข้าใจ
หากจะแบ่งแยกระหว่าง Work-life balance กับ Work-life harmony ได้พอเห็นภาพก็คงสรุปเป็นสองคำระหว่าง “สมดุล” กับ “กลมกลืน” เท่าที่จำความได้ ราว 10 ปีก่อน Work-life balance เริ่มมีความนิยมขึ้นมา (ยังไม่มี work-life harmony) ก็มีการถกเถียงกันอยู่ว่ามันดีจริงหรือ? ในการที่แยกเวลางานกับเวลาส่วนตัวออกจากกันไปเลย เบื้องต้นข้อดีก็มีอยู่ชัดเจน เพราะหากเรามีชีวิตส่วนตัวที่ไม่ดี เรื่องงานก็ยากจะพัฒนา ในทางตรงกันข้าม ชีวิตการงานที่ไม่ดีก็ย่อมส่งผลต่อความเป็นอยู่ของชีวิต นี่จึงเป็นพื้นฐานของเรื่อง Work-life balance เพียงแต่ความเข้าใจแรกคือ “สมดุลไม่ได้แปลว่า 50-50” หรือเวลาส่วนตัวจะไม่สนเรื่องงานเลย หรือเวลางานแล้วจะหยุดไม่ได้เลย บางช่วงวันมันอาจจะต้องเป็น 80-20 หรือ 30-70 ที่เชื่อว่า ไม่ว่าจะหลักการดำเนินชีวิตไหน หัวใจหนึ่งมันก็แค่วินัยและการวางแผนหากขาดไปชีวิตคงยากจะสุขสงบ
สิ่งที่ควรทบทวนต่อมาคือด้าน “ความสำเร็จ” เพราะในช่วงหนึ่งก็ทำให้คิดเหมือนกันว่า การที่เราบอกตัวเองว่า หยุดเรื่องงานเสียบ้างแล้วไปใช้ชีวิตจะได้สมดุล มันคือเรา ขี้เกียจ, ขี้แพ้, ไม่มีปัญญาที่จะประสบความสำเร็จในเรื่องนั้นหรือเปล่า? ซึ่งเป็นเรื่องตัดสินยากอยู่เหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่อาจชี้วัดได้ก็คือ ปัจจัยหลัก 2 ประการของเรื่องนี้ นั่นคือ “เวลา” และ “ความสุข”
ไม่ใช่ทุกคนที่รู้ทันทีว่าความสุขของตัวเองคืออะไร…
เพราะที่สุดของเป้าหมายชีวิตของคนเราคือ “มีความสุข” แต่มีความสุขตลอดเวลาคงเป็นไปได้ยาก และการไม่ทำอะไรเลยก็คงยากที่จะมีความสุข มันจึงย่อมมีเรื่องของ “เวลา” มาเกี่ยวข้อง คำว่า work-life harmony จึงดีกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย หากปรับชีวิตให้มีความสุขกับงานไปด้วยได้ นั่นก็จะทำให้ได้ทั้งเงิน ได้ความสำเร็จ อย่างกลมกลืน ย่อมทำให้มีความสุขไปพร้อมกัน ใครล่ะจะไม่อยากได้?
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่รู้ทันทีว่าความสุขของตัวเองคืออะไร เช่น ถ้านักบัญชีวัย 30+ คนหนึ่งเพิ่งพบว่าความสุขของเขาคือการเล่นเปียโน เช่นนั้นก็ควรลาออกจากงานแล้วไปเล่นเปียโนเป็นอาชีพสิ? เพื่องานจะได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต หรือ เลิกสุขกับเปียโนซะ! แล้วจงมีความสุขในการตรวจบัญชีให้ได้แทน… ก็คงยากถูกไหม? และคงยากที่งานบัญชีกับเปียโนจะไปด้วยกันอย่างกลมกลืน…
ถ้าโชคดีเล่นเปียโนจนเก่งพอที่จะไปประกอบอาชีพได้ ชีวิตย่อมได้เติมเต็ม แต่อาชีพนี้จะก้าวหน้าได้ไหม? รายได้จะเท่าตอนทำบัญชีไหม? สุดท้ายแม้จะทำงานที่มีความสุข แต่รายได้อาจทำให้ชีวิตอีกด้านเริ่มทุกข์ลงเรื่อย ๆ ก็เป็นได้ นี่คือไม่สมดุล
เช่นเดียวกับเด็กที่เกิดมารู้ว่าชอบเตะฟุตบอลจนกลายเป็นนักบอลอาชีพ เขาคงได้ใช้ชีวิตร่วมกับงานอย่างมีความสุข เพียงแต่หากรายได้ดีหรือลืมตัว จนหลุดไปสุขกับสิ่งอื่นด้วยจนไม่สมดุล กลายเป็นบ่อนทำลายชีวิตการงานของเขา มันก็เป็นได้เช่นกัน ซึ่งเชื่อว่าเราก็คงเคยเห็นกันไม่มากก็น้อย ที่ไม่ใช่แค่วงการกีฬา ในทุกความสำเร็จของคนที่หลงไปก็เกิดขึ้นได้เสมอไป
เมื่อกลับมาทบทวน Work-life balance จึงนำไปสู่ความเข้าใจแง่ที่ว่า “สมดุลคือความพอดีที่มีความสุข” และเพราะสมดุลย่อมมี 2 ด้าน สิ่งต่อมาที่ควรเข้าใจคือต้อง “รักษา” สมดุลนั้นให้ได้ด้วย
สมดุล
ด้านที่หนึ่ง การงาน ที่อันที่จริงแล้วสะท้อนถึงการเงิน การเลี้ยงชีพ หรือ “สิ่งหล่อเลี้ยงทางกาย” และปัจจัยภายนอกต่าง ๆ สะท้อนว่าถ้าวันนี้ยังไม่ดีพอ งานไม่สำเร็จ เงินสำรองไม่มี แล้วจะบอกว่าใช้ชีวิตแบบ work-life balance นั้นมันชัดว่า “ขี้เกียจ” หรือกำลังหา ข้ออ้าง ซึ่งคงเห็นและพอเข้าใจไปได้ว่า ถ้าความสุขกับหน้าที่การงานปัจจุบันมันไม่สามารถเกี่ยวข้องกันได้โดยสิ้นเชิง ก็ต้องปรับใจให้ทำงานให้ดีให้ได้ เพราะมันจะมีผลต่อ “อีกด้าน” ชัดเจน นี่คือการรักษาสมดุล
ในประเทศที่สวัสดิการดี ผู้คนย่อมสามารถสร้าง balance life ชีวิตที่สมดุลได้ง่ายกว่า หรือแนวคิดแบบ work hard play hard ก็ดูเป็นไปได้ เพราะรายได้ที่ดี การเงินที่มั่นคง สวัสดิการที่เกื้อหนุน แต่ชีวิตจริงของบ้านเรายังยากเกินไป ดังนั้นถ้าจะมีชีวิตแบบ work-life balance มันก็ต้องสมดุลได้ให้จริงก่อนในด้านการงาน และการเงิน ที่ไม่ใช่แค่วันนี้มีงานทำ พอเอาตัวรอดได้ เพราะ ‘สมดุลมันไม่ใช่แค่ปัจจุบัน แต่มันต้องมั่นคงไปถึงอนาคตด้วย‘ เราคงไม่คิดว่าหนี้สินที่มากมายจะทำให้ชีวิตสมดุลได้หรอกจริงไหม? หรือในคนที่ ถ้าตกงานเมื่อไรชีวิตเดือดร้อนรุนแรงนั้น ก็ถือว่าชีวิตด้านนี้ (ด้านการงาน) ยังไม่แข็งแรง ย่อมยากที่จะสร้างสมดุล
อีกด้านหนึ่ง ชีวิตส่วนตัว หรือความสุขส่วนตัว อาจเรียกว่า “สิ่งหล่อเลี้ยงทางใจ” อันที่จริงเป็นเรื่องที่สมดุลยากกว่าเรื่องแรกมากนัก เพราะความสุขแท้นั้นนิยามกันยาก แต่ก็น่าแปลกใจที่ส่วนใหญ่ปัญหาชีวิตมักเริ่มจากขาดสมดุลในเรื่องแรกมาก่อน นั่นคือด้านการงานและการเงิน กลายเป็นส่งผลด้านชีวิตส่วนตัวขาดความสุขไปโดยปริยาย จึงเป็นเหตุให้หลายคนเชื่อว่า สำเร็จ = ร่ำรวย ซึ่งก็ไม่ผิดนัก เพียงแต่ร่ำรวยคนเราก็ไม่เท่ากันอยู่ดี ดังนั้นที่แน่ ๆ ก็ต้องมีความมั่นคงพอดังที่เขียนไปแล้ว
แต่ก็ใช่ว่าในด้านชีวิตส่วนตัว/สุขส่วนตัว จะไม่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ไม่สมดุล เหมือนชีวิตหลายคนที่หวังแต่ความสุขในบางเรื่อง เช่น หมกมุ่นแต่กับความรัก, ติดเกมส์, ติดสังสรรค์ ทำให้ไปทำลาย “เวลางาน” ทั้งทางตรงแลทางอ้อม ไม่ใส่ใจพอ ไม่พัฒนาให้มากพอ งานไม่ก้าวหน้า ฐานะไม่มั่นคง ชัดเจนว่าไม่สมดุล
นอกจากความสุขแล้ว เป้าหมายชีวิตบางอย่างของบางคนก็หลงทาง หลายคนมีชีวิตที่พยายามพิสูจน์ เอาชนะในสิ่งที่ไม่จำเป็น เพียงเพราะปมในใจที่ไม่รู้ตัว หลายคนจึงไม่พอใจในสิ่งที่มีอยู่และเข้าใจไปเองว่าต้องดิ้นรนไปข้างหน้าเพียงเท่านั้น และมันก็ดูโชคร้ายที่คนเราเมื่อยิ่งดิ้นรนผิดที่ ผลลัพธ์ก็มักผิดทาง ยิ่งอยากรวยก็ยิ่งจน ยิ่งยากอวดยิ่งดูด้อยค่า ยิ่งอยากมียิ่งไม่มี หรือได้มาก็อยู่ไม่นาน ความสมดุลด้านนี้จึงเป็นสิ่งที่พูดยากกว่า และมันกลายเป็นว่าอาจเริ่มง่าย ๆ ตรงที่ต้องหาให้เจอเสียก่อน ว่าชีวิตต้องการอะไร หรือสุขจริง ๆ ของตนเองอยู่ที่ไหน?
ความสำเร็จ
เป็นคำที่เข้าใจง่าย แต่เกิดขึ้นยาก เพราะต่างมีความต้องการที่ต่างกัน ที่สำคัญคือ “ความเชื่อ” ลองทบทวนดูสิถ้าคนเราเชื่อในความสำเร็จเดียวกัน คงตลกดีถ้าโลกนี้มีแต่นักเปียโน แต่ไม่มีนักบัญชี และ ณ จุดนั้นนักบัญชีคงมีรายได้มหาศาล ความสมดุลด้านหนึ่งจะเปลี่ยนไป และถ้าเราทุกคนมีรถสปอร์ตหรูกันหมด คนที่ปั่นจักรยานไปทำงานคงดูเป็นคนที่เท่ที่สุดเช่นกัน
มันถูกต้องที่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ย่อมต้องผ่านอุปสรรคและความพยายามซึ่งนั่นหมายถึง “การให้เวลา” และต้องทุ่มเทให้มากพอ Work-life balance จึงไม่ใช่ตัวแทนความสำเร็จโดยอย่างยิ่งความร่ำรวย เพียงแต่ประโยคตลก ๆ ประโยคหนึ่งที่ว่า “ลำบากวันนี้ สบายวันหน้า แต่ถ้าขี้เกียจวันนี้ ก็สบายวันนี้เลย” มันก็สะท้อนความจริงอยู่เหมือนกัน และถ้าเราไม่นิยามความสำเร็จเราเหมือนใคร หรือถ้าเราค้นเจอความสุขในแบบของเราแล้ว เราอาจเป็นผู้ที่ “สบายวันนี้ และสบายวันหน้า” อยู่ก็ได้เพราะมี Work-life balance ที่ดีอยู่แล้วนั่นเอง นักบัญชีที่มีเวลาเล่นเปียโน อาจมีความสุขกว่า นักบัญชีที่มีสำนักงานใหญ่โต ทั้งวันนี้และในอนาคตก็เป็นได้ไม่ต่างกัน
สรุป Work-life balance ยังเป็นจริง
- ถ้า balance ไม่ได้แปลว่า เวลางาน 50 เวลาส่วนตัว 50 แต่มันคือการวางแผนให้ 2 ด้านสมดุล
- ถ้านิยามความสำเร็จของตัวเองได้ ไม่ใช้ขี้แพ้แล้วมีข้ออ้าง
- สมดุล คือการรักษาความพอดีที่ต้องมีความสุข
- สมดุลไม่ใช่แค่ปัจจุบันแต่มันคืออนาคตด้วย
- เพียงแต่ สมดุล มันอาจไม่ทำให้เรา สำเร็จ และ ร่ำรวย
ก็ทบทวนดูเอาเองแล้วกันว่า จะเลือกอย่างไร?
บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 17/08/2022
.