Site icon Sirichaiwatt

“ทำงานเป็นทีม” บนประกาศรับสมัครงาน

เวลาเห็นคุณสมบัติในประกาศรับสมัครงานว่า “สามารถ ทำงานเป็นทีม ได้” เราตีความมันอย่างไร? ส่วนตัวสมัยยังหางาน หากเป็นผู้สมัครเห็นแล้วมันแทบไม่มีความหมายเลย!! คิดว่าเราทำได้… แต่แง่ผู้รับสมัครล่ะ มันมีความหมายแค่ไหนกัน?

ดูน่าจะเป็นคุณสมบัติที่จำเป็น แต่ดังที่บอกไปหากมองในมุมคนสมัครงาน ประสาคนหางานทั่วไป อาจคิดว่าไม่น่าจะใช่คุณสมบัติสำคัญอะไร ก็เขาจะรู้ได้ไง? ถ้าเราอยากสมัครงานนั้น เชื่อว่าส่วนใหญ่ ย่อมบอกตัวเองว่าคุณสมบัติข้อนี้เรามีแน่นอน ซึ่งแท้จริงแล้วมันจะตรงตามที่ HR ฝ่ายบุคคล, เจ้าของกิจการหรือผู้ประกาศรับสมัครต้องการหรือไม่นั้น?… นั่นสินะ…

เมื่อสงสัยจึงได้ลองถามไปยังคนทำงานฝ่ายบุคคล, เจ้าของกิจการ และคนที่มีประสบการณ์รับผิดชอบที่จะกำหนดคุณสมบัติ หาลูกทีม ลูกน้อง ถึงความหมายของเขา แม้จะเคยระบุคุณสมบัตินี้หรือไม่ก็ตาม หากเป็นเขาแล้ว ให้กรอบคุณสมบัตินี้ว่าอย่างไร?

เมื่อได้คำตอบ ก็นำมาคิดวิเคราะห์ ได้ข้อมูลและข้อสังเกตที่นำมาแบ่งปันได้ว่า การทำงานเป็นทีม ในการรับสมัครงานอาจมีความหมายต่าง ๆ ดังนี้

การทำงานเป็นทีมไม่จำเป็น…

จากข้อสังเกตต่าง ๆ ทำให้คิดว่าบางทีคุณสมบัติการทำงานเป็นทีมอาจไม่จำเป็น หรือไม่ควรกำหนดเป็นคุณสมบัติในการรับสมัครงาน เพราะยากจะแน่ใจว่าคุณสมบัตินี้คืออะไร แถมหลายแห่งนั้น แผนกบุคคล (HR) เอง ก็เป็นฝ่ายมีปัญหากับแผนกอื่นไปทั่ว หรือ เหล่าหัวหน้างาน ก็ไม่เคยทำงานเป็นทีมได้ให้เห็นเป็นตัวอย่างเลย

ไหนจะความไม่ชัดเจนของระบบงาน, ขอบเขตงาน, สายการบังคับบัญชา, การพิจารณาผลงาน เหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานเป็นทีมทั้งสิ้น ซึ่งพบเห็นมาบ่อยครั้งในฐานะที่ผมเป็นวิทยากรอบรมพนักงานหลักสูตรการทำงานเป็นทีม ดังนั้นองค์กรอาจต้องมีพื้นฐานที่ดีที่สนับสนุนการทำงานเป็นทีมให้ได้ก่อนด้วยซ้ำไป ก่อนที่จะไปประกาศรับคนที่มีคุณสมบัติทำงานเป็นทีม รวมถึงพัฒนาหรือนิยามความเป็นทีมสู่พนักงานให้มีความหมายไปในทางเดียวกัน

มิเช่นนั้นพนักงานใหม่พร้อมแค่ไหน อยากเป็นทีมแค่ไหน อยู่ไปมันก็ไม่ไหว ไม่รอด เช่น งานก็จับฉ่าย, หลายเรื่องไร้คนรับผิดชอบ, หัวหน้าเห็นแก่ตัว, เราทำดีเสมอตัว ทำชั่วโดนใบเตือน, เงินเดือนผลตอบแทนปรับกันงง ๆ อะไร ๆ เหล่านี้ ที่ถ้ามองออกมันเริ่มจาก “ระบบ” ขององค์กรมาก่อน หากเป็นเราแม้จะเข้าใจการทำงานเป็นทีมแค่ไหน เข้ามาทำงานแล้วเจอระบบ งง ๆ มึน ๆ แบบนี้คง ทำงานเอาตัวรอดไปวัน ๆ ดีกว่า หรือส่วนใหญ่ก็อาจอยู่ในรูปแบบ “ทีมใคร ทีมมัน” ซึ่งจริง ๆ ถือมันเป็นทีมไหม? คุณคิดว่าไงล่ะครับ

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 18/11/2021

Exit mobile version