Site icon Sirichaiwatt

การติดหน้าแรก google ในวันนี้

สิ่งหนึ่งที่นักการตลาดยุคนี้ต้องให้ความสำคัญเสมอคือเรื่องของ การตลาดออนไลน์ เป็นกลยุทธ์การตลาดที่จะไม่นำมาใช้ไม่ได้ ซึ่งหากลงรายละเอียดลึกๆ มี 2 ส่วนใหญ่ๆ ที่ได้ประโยชน์สูงสุดของการทำการตลาดออนไลน์ คือ การทำให้ ติดหน้าแรก google (SEO) และ Social Network ที่สอดคล้องกัน

บทความการตลาดวันนี้จะกล่าวคร่าวๆ ถึงเรื่องเหล่านี้โดยที่ต้องเน้นคำว่า “ในวันนี้” ด้วยเพราะแม้เป็นเรื่องการตลาด แต่หากเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีต่างๆ สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงใหม่เสมอๆ กฎเกณฑ์ หลักการ บางอย่างที่เคยใช้ได้ อาจจะเปลี่ยนไปได้ และเร็วเสมอ แม้จะเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด หน้าที่หนึ่งของที่ปรึกษาการตลาด ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การติดตามข้อมูล ข่าวสารเสมอๆ

ติดหน้าแรก google กับคำว่า “คอลัมน์การตลาด”

วันนี้ 15 ม.ค. 2559 หากลองค้นคำว่า คอลัมน์การตลาด จะพบว่า มีคอลัมน์ MarkeThink ที่ผมเขียนให้กับ นิตยสาร Foodbook และนำมาลงให้อ่านออนไลน์กันด้วยในเว็บนี้นั้น ติดหน้าแรกอยู่อันดับที่ 2-3 ในหน้าแรกของ google ซึ่งที่จริงแล้วผมลองปรับเพียง ไม่ถึง 2 สัปดาห์!!

(* ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ติดอันดับ 1 google อย่างถาวร จนถึง อัพเดตล่าสุด กลางเดือนเมษา 2559)

เพราะเดิมที่ตั้งใจทำเว็บนี้เพื่อแชร์หรือแบ่งปันงานเขียนหลากหลายแบบโดยไม่ได้จะเน้นส่วนหนึ่งส่วนใด จึงไม่คิดจะทำให้มันติด หรือที่เขาเรียกกันว่า SEO (Search Engine Optimisation) มาก่อน แต่หลังจากที่ได้แบ่งปันเรื่อง นี้ที่ google ออกมาเปิดเผยเอกสารเป็น e-book แจกจ่าย บน Fanpage ดาวน์โหลดที่นี่ (ภาษาอังกฤษ)

ทำให้เกิดคิดกลับมาลองทำ อีกครั้ง (ฟื้นวิชา) โดยที่ก่อนหน้านี้หากพูดเรื่อง SEO เป็นเรื่องที่ยุ่งยากในพอสมควรหากจะ “ทำเอง” ที่ผ่านมามักจะแนะนำว่า หากเป็นธุรกิจอาจต้องแบ่งส่วนงบประมาณเพื่อใช้ในการลงทุนทำส่วนนี้ไปเลย โดยมีหลากหลายวิธี ซึ่งต้อง “เลือกซื้อ” ads หรือ โฆษณา ให้คุ้มค่าที่สุดและสอดคล้องไปจะได้ผลเร็วและสะดวกมากกว่าทำเองนัก

แต่จากการทดลองและประสบความสำเร็จดี ก็พบว่า หลักการ ก็ไม่ผิดแปลกจากที่ได้รู้ติดตามข่าวสารเหล่านี้อยู่เสมอซึ่งไหนๆ แล้ว ก็จะมาแบ่งปันโดยคร่าวๆ กันดังนี้

หลักการทำให้เว็บติดหน้าแรกเบื้องต้น

ในที่นี้จะไม่ลงถึงเทคนิคลึกนักตามแนวทางของผมที่พยายามจะสื่อสารให้คนทั่วๆ ไปเข้าใจง่ายๆ ในหลักการก่อน ที่จะลงลึกหรือต่อยอดไปได้ โดยไม่พยายามศัพท์สูงหากจำเป็นหรือหลุดไปบ้างต้องขออภัย

  1. โครงสร้างเว็บไซต์ มีคุณภาพ
    เป็นส่วนแรกที่ต้องเข้าใจ โครงสร้างในที่นี้มีหลายส่วน ที่ต้องสอดคล้องกับ *คำค้น หรือ Keyword โดยหากเป็นไปได้ก็ต้องเริ่มตั้งแต่ชื่อเว็บไซต์ รายละเอียด ของเว็บ หน้าตา เมนู การใช้งาน ในที่นี้ ผมใช้รูปแบบเว็บไซต์ของ WordPress.org ที่มีโครงสร้างเว็บมาตรฐานสูงเป็นทุน จึงใส่รายละเอียดต่างๆ ให้สอดคล้องลงไปได้ไม่ยาก โดยหัวใจโครงสร้างที่ดีหากกล่าวแบบสรุปแล้วคือ “ผู้อ่านใช้ง่าย เข้าใจง่าย” เป็นหลักนั่นเอง แต่คำว่าผู้อ่านใช้ง่ายเข้าใจง่าย นี่ต้องเรียนรู้ว่ามีมาตรฐานอย่างไร ไม่ใช่ คิดเอาเองว่า แบบนี้ “เราคิดว่ามันใช้ง่าย” อันนี้ก็ถือว่าไม่ใช่นะครับ
  2. เนื้อหามีคุณภาพ
    เนื้อหามีคุณภาพนี้ หลักๆ ก็มีดังนี้
    2.1  ไม่ซ้ำ ไม่ก๊อปปี้ ใครมา ซึ่งในตัวอย่างกรณีนี้ คอลัมน์การตลาดของผมนั้นไม่ได้ก๊อปปี้ใครมาแน่นอน
    2.2  มีความยาว และเกี่ยวข้องกับ คำค้น หรือ Keyword เหมาะสม ในส่วนนี้นั้นเป็นเรื่องปกติของเนื้อหา ที่ถ้าเราเขียนถึงเรื่องใด หากมันสั้น ห้วน ก็คงไม่ทันได้สาระอะไร และหากยาวแต่ไม่มี ไม่เกี่ยวข้องกับคำค้นนั้น ก็ถือว่าเนื้อหาที่ค้นไปเจอมันไร้สาระ แบบนี้ก็จะไม่ติด กรณีของผม คอลัมน์การตลาด มันก็เกี่ยวข้องโดยตรงไม่บิดพริ้ว เพราะผมเขียนเรื่องการตลาดจริงๆ เพียงแต่สอดแทรก เทคนิคนิดๆ หน่อยเข้าไปในบทความบ้าง เพื่อสอดคล้องการตรวจจับของ google นั่นเอง (อยู่ใน 2.3)
    2.3  มีการจัดรูปแบบเนื้อหาที่ดี ชื่อเรื่องบทความ ภาพประกอบ และหัวข้อชัดเจน โดยรูปภาพก็ต้องติด tag หรือภาษา code จะเป็น alt ว่ารูปนี้เกี่ยวข้องกับคำค้นนั้น และหัวข้อก็มีคำค้น Keyword ติดอยู่ด้วยอย่างเหมาะสม
    2.4  ปรับปรุง และอัพเดตอยู่สม่ำเสมอ อาจไม่จำเป็นว่าต้องปรับปรุงเนื้อหากรณีเนื้อหาครบถ้วนจบในบทความ แต่เว็บไซต์ ควรมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องด้วย แต่ถ้ามีบทความใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้อกับคำค้น (Keyword) นั้นๆ อัพเดตเสมอๆ ก็จะมีผลดีมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย
  3. การเชื่อมโยงมีคุณภาพ
    ตรงนี้ “ควรต้องมี” link หมายถึง ลิงค์ออก นั่นคือคลิ๊กแล้วไปที่อื่น หรือ ลิงค์เข้า หรือที่อื่นคลิ๊กแล้วมาหาเรา หรือทางเทคนิคเรียก backlink ซึ่งตรงนี้เองอาจวัดในกรณีที่ข้อ 1-2 มีคุณภาพสูสีกันระหว่างเว็บไซต์เรากับเว็บไซต์คนอื่น ยิ่งการแข่งขันของคำค้นสูง ข้อนี้จะสำคัญขึ้นมามาก  อีกประการคือ ลิงค์ภายใน เช่นอ่านบทความนี้แล้ว มีลิงค์ไปอ่านบทความอื่นที่เกี่ยวกันภายในเว็บเราเอง เช่นของผมนี้ หากบางส่วนมีอ้างอิงก็จะลิงค์ออกไป รวมถึง ในหน้าเว็บก็จะมีลิงค์อ่านตอนที่ 1 -2 -3 ของคอลัมน์เป็นต้นอีกประการที่สำคัญของทุกวันนี้คือ การเชื่อมโยงกับ Social Network ต่างๆ ที่ต้องยอมรับว่าผู้อ่านหรือผู้ใช้ให้ความสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  4. ความน่าเชื่อถือสูง
    ตรงนี้ค่อนข้างจะเป็นตัวแปรในการแข่งขันชัดเจน แน่นอนว่า หากบทความดี เนื้อหาดี ย่อมมีความน่าเชื่อถือในตัวแล้วอันดับแรก ต่อมา ในข้อ 3 ก็เช่นกันจะสอดคล้องก็ต่อเมื่อ ลิงค์ที่ส่งเข้ามา หรือออกไปนั้นเป็นเว็บที่ดี มีคุณภาพด้วย ไม่ใช่ ลิงค์ไปไหนส่งเดชไร้คุณภาพ ทำหลอกๆ ขึ้น ก็จะมีผลต่ำถือว่าคุณภาพความน่าเชื่อถือลิงค์น้อย ทั้งทุกวันนี้ หากมีการให้คะแนน รีวิว หรือการเขียนรีวิว ส่งต่อ ส่งถึง เว็บไซต์เรา โดยอย่างยิ่งกรณี เป็นสินค้า บริการ ก็ยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือสูงตามไป เพราะนั่นหมายความว่าเคยมีคนใช้บริการเป็นเบื้องต้น รวมถึงมีข้อมูลให้ผู้ค้น ผู้อ่านมากพอในการตัดสินใจต่างๆ เหล่านี้คือความน่าเชื่อถือโดยเข้าใจได้ไม่ยาก

(*คำค้น หรือ Keyword คือ คำที่ต้องการให้คนค้นหาคำนี้แล้วเจอเว็บเรา ไม่ควรเลือกแบบหว่าน ควรจำเพาะเจาจงให้ตรงกับ ประเภท เนื้อหา หรือสิ่งที่ตรงกับธุรกิจ ความต้องการของเราให้ได้เสียก่อน ทั้งยังต้องเข้าใจว่ามีคู่แข่ง หรือรายอื่นๆ ที่ใช้คำเดียวกับเรามากน้อยเพียงใด)

จากที่กล่าวไปแม้จะเป็นเพียงหลักการแต่หากค่อยๆ ทำความเข้าใจแล้วจะพบว่าที่จริงไม่ยากเลย เพียงแต่บอกก่อนว่า กรณีของเว็บไซต์ผมนั้น คำที่ลองทำนั้น การแข่งขันไม่สูงมากนัก จึงทำได้อย่างรวดเร็ว หากการแข่งขันสูงก็คงต้องใช้เวลาและสิ่งต่างๆ มากกว่านี้แต่ก็ไม่ได้หนีจากหลักการต่างๆ ที่ได้เขียนไปแล้ว

ท้ายนี้หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์และสร้างแนวคิดทางการตลาดออนไลน์ให้กับผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย พบกันใหม่ ขอบคุณครับ

Exit mobile version