Site icon Sirichaiwatt

คอลัมน์ MarkeThinks 23 : บุพเพ(สันนิ)อาละวาด

พิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร Foodbook ฉบับที่ 24

ครั้งสุดท้ายที่ผมดูละครไทยถือว่านานมากจนจำไม่ได้ว่าเรื่องอะไร มาทบทวนดูเอาจริงจัง ก็นึกออกว่าเป็นเรื่องที่มีชมพู่ อารยาเล่น และมี โป๊ป ธนวรรธน์ เล่นบทรอง จึงหาข้อมูลได้ว่าคือเรื่อง “ดอกส้มสีทอง” เมื่อปี 2554 ซึ่งก็ถือว่าเป็นละครกระแสในตอนนั้น โดยโป๊ปก็กำลังโด่งดังในตอนนี้ก็จากเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ที่กำลังจะพูดถึงนี่เอง

ในบรรดาละครไทยสิ่งชี้วัดความนิยมคือ “เรทติ้ง” หากจะพูดถึงละครที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดตลอดกาลก็จะเป็น “คู่กรรม” โดย พี่เบิร์ด ธงไชย และ กวาง กมลชนก ซึ่งผมเองก็ทันได้ดูละครเรื่องนี้ และอันดับ 2-5 ความนิยม ก็เป็นละครที่อยู่ในยุคที่ ผมดูละคร นับสิบปีไปแล้ว..

ละครเรื่องบุพเพสันนิวาสนั้น เรทติ้งจะเป็นอย่างไรตอนนี้ยังคงสรุปไม่ได้จนกว่าละครจะจบ แต่นี่คือปรากฎการณ์ที่น่าสนใจ เพราะหากเราคิดและดูข้อมูลย้อนไปจะพบว่า ละครที่เรทติ้งติดอันดับท๊อป คือยุคที่ผู้คนทั่วไป “ดูโทรทัศน์” เป็นสื่อหลัก หลายๆ บ้านเปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้ตั้งแต่เช้า ไปจนเข้านอน และละครหลังข่าวคือ “ความบันเทิง” หลักของคนในครอบครัว เพราะลูกเล็กเด็กแดงสมัยนั้น ก็รู้จักละครที่ดังๆ ไปด้วยเหมือนกัน

เมื่อมาเทียบกับยุคสมัยนี้ ผมคนหนึ่งที่ไม่ได้ดูโทรทัศน์มาหลายปี เชื่อว่ามีอีกหลายๆ คนเหมือนกัน เรามีสื่อมากมายให้สนใจ กระทั่งละครหรือที่เรียกว่า ซีรี่ย์ จากต่างประเทศ ก็เข้ามาให้ติดตาม และมีผู้ที่ติดตามแต่ซีรี่ย์จากต่างประเทศเพียงอย่างเดียวไม่สนใจละครไทยอีกด้วย ทั้งนี้ยังมี่ Youtube ที่มีอะไรต่างๆ มหาศาลเป็นที่รู้กันดี แน่นอนว่าหลายคนก็ดูละครย้อนหลังในช่องทางนี้ แต่..

สิ่งที่เกิดขึ้นกับละครบุพเพสันนิวาสกลับทำให้ผู้คนต้องไปสนใจช่องทีวี(อาจไม่ได้ดูผ่านทีวีก็ตาม) ละครที่ดูย้อนหลังได้ แต่กลับกลายเป็นว่าพยายามที่จะต้องดูกันสดๆ สิ่งที่ละครเรื่องนี้ทำได้ อาจไม่แปลกในยุคก่อน(เพราะหาดูย้อนหลังแทบไม่ได้) แต่สำหรับยุคนี้ต้องถือว่า นี่เป็นปรากฎการณ์หนึ่ง

ปรากฎการณ์อีกประการคือการที่ทำให้ทางแบรนด์ต่างๆ ถึงกับเล่นสิ่งที่เรียกว่า Real Time Contents คือเนื้อหาสดๆ จากละครเมื่อจบตอนผ่านไป ก็จะมีการหยิบยกเอามาล้อทำเป็นโฆษณากัน ตอบรับกับ Social Network ทำให้คนสนใจแชร์กันมากมาย

แม้กระทั่งสื่อแนวทางใหม่อย่าง live บน Facebook ที่ใครๆ ต่างใช้กัน ก็มีอันต้องหลบช่วงเวลาที่ละครออนแอร์กันเป็นแถว สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นมาอย่างไร?

ถ้าหากมองตามกระแสที่เกิดขึ้นตามประสาคนนอก (ไม่ได้ดู) อย่างผม มันเริ่มมาจากคำว่า “ออเจ้า” ที่ทำให้คนสงสัย ความสงสัยนี้เองเป็น เนื้อหา (content) ทางการตลาดที่ดีได้ประการหนึ่ง เพราะตรงกับจริตความเป็นมนุษย์บางประการ ประกอบกับเรื่องราวที่น่าสนใจ ในจินตนาการแบบย้อนยุค ที่มีสิ่งต่างๆ ให้หยิบยกเอามาพูดถึง ยิ่งเมื่อเริ่มเป็นกระแส ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่แบรด์เอาไปเล่นต่อยอดให้ละครดังยิ่งขึ้น และก็วนมาสู่แบรนด์อยากหยิบมาทำต่อๆ ไป

ผมเคยกล่าวเมื่อครั้ง สมัยบรรยายเรื่อง Marketing 3.0 (ปัจจุบัน 4.0) ว่า การตลาดที่ยอดเยี่ยมของยุคคือกระแส ที่สุดแล้ว “กระแส” ก็คือ กระแส หากเป็นนักการตลาดแล้วมัวมองว่า กระแสมาได้อย่างไร ไม่ชอบไม่สนใจ หรือคิดแค่ว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป นั่นก็ใช่ เช่นนั้นเมื่อกระแสจะหมดไป ไม่ทันกินนะเออ ออเจ้า..

คอลัมน์ Markethinks 23 บุพเพสันนิวาส
Exit mobile version