สำหรับคนที่เริ่มทำหรือคิดจะทำธุรกิจ แม้แต่มีกิจการส่วนตัวอยู่แล้วก็ตาม เชื่อว่าย่อมรู้จักคำว่า “การตลาด” รวมถึงสนใจ ค้นหา กลยุทธ์การตลาด เพื่อไปใช้กับธุรกิจ หวังสร้างความเติบโตให้กิจการ แต่เชื่อหรือไม่ว่า หลาย ๆ คนไม่ได้เข้าใจหรือมีความเข้าใจผิด ในเรื่องของการตลาดอยู่มาก บ้างก็คิดว่าทำถูกอยู่เพราะมันได้ผล บางทีเพียงเพราะนั่นมันเกิดบนความบังเอิญ
บทความธุรกิจการตลาดวันนี้ ขอนำเสนอมุมคิดให้ทบทวนมุมมอง หรือความเข้าใจทางการตลาดกันดูอีกที ว่ามีสิ่งไหนเราอาจเข้าใจผิด หรือไม่เคยคิดมาก่อนก็เป็นได้
ขี้เกียจอ่าน กดฟังแทนก็ได้นะ [Podcast]
10 สิ่งที่ควรเข้าใจใหม่ ก่อนไปทำการตลาด
1. การตลาดคือการลงทุน
หลายคนใช้เงินลงทุนหมดไปกับการ ทำร้าน แต่งร้าน จ้างคน สต๊อกของ และเมื่อไม่มีลูกค้าจึงเพิ่งนึกได้ว่า “ต้องทำการตลาด” บ้างก็คิดทำไว้อยู่เหมือนกัน คือ ติดป้าย แจกใบปลิว หากทำแค่สิ่งเหล่านี้แล้วบ่นว่า “ทำไมไม่มีลูกค้า” ก็เมื่อทำแค่นั้นผลลัพธ์ก็ควรตามนั้น ในเมื่อมันไม่ได้ “ลงทุนเรียกลูกค้า” ลงทุนแต่ในสิ่งที่กลายเป็นว่าลูกค้าต้องรู้ ต้องเห็น ต้องมาเอง เช่นนี้ โชคดีก็มีลูกค้ามา แต่ส่วนใหญ่ไม่ ไปร้านอื่น ๆ ที่สร้างสิ่งน่าสนใจได้ ไม่ดีกว่าหรือ?
ถ้ากลับตัวทันแก้ไขได้ก็ไปต่อ จึงควรระวังให้ดีถ้าการตลาดเป็นสิ่งสุดท้ายที่คิดลงทุน นั่น หมายความว่า ลูกค้าก็จะเป็นสิ่งสุดท้ายที่คุณจะได้ไปเช่นกัน..
ปล. ลงทุนการตลาดอาจไม่ใช่แค่เงิน แต่ลงแรง ใช้เวลา ใช้ความรู้ความคิดสร้างสรรค์นั่นก็ลงทุนประการหนึ่ง
2. การตลาดไม่ใช่แค่กระแส
ตอนเปิดร้านใหม่ โปรโมทไป แน่นอนย่อมมีคนสนใจ แต่อย่าชะล่าใจ ประเดี๋ยวพอลูกค้าเลิก “เห่อของใหม่” เขาก็กลับไปเหมือนเดิม ลูกค้าก็น้อย หรือในอีกด้านหนึ่งคิดว่าสร้างกระแสได้ แล้วจะได้ไปต่อนั้น มันยิ่งไม่เสมอไป ขึ้นเร็ว ลงเร็ว ก็มีมากมาย ไม่เว้นแม่แต่สินค้าแบรนด์ดัง แบรนด์ใหญ่ ที่เป็นตัวอย่างบ่อยครั้ง แค่ลองคิดย้อนไป อะไรที่แค่เคยเป็นกระแส วันนี้ยังมีคนสนใจแน่หรือ?
3. การตลาดนอกตำราไม่มีจริง
หลายคนคิดว่าการตลาดมันต้อง กลยุทธ์ แบบนั้น ที่เขาทำ คนนั้นทำ ดูแปลก แหวกแนว ย่อมมีบ้างที่ได้ผลดี แต่อย่าคิดว่าที่คนอื่นทำไม่มีที่มา หรือคิดว่าเอาว่ามันแปลกใหม่ทั้งที่ไม่เคยเรียนรู้การตลาด ความแตกต่างหลายอย่างเกิดจากการ “ประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์” แต่มันไม่ได้หมายความ “งานมโนต้องมา”
ก็ไม่ถึงกับว่าต้องไปร่ำเรียนกันจริงจังถึงมาทำการตลาดได้ แค่อยากให้เข้าใจท่องแท้ว่าที่ทำ มันนำมาซึ่งผลอะไร ใช่ว่าต้องตรงตำรา ตรงหลักการก่อนจะใช้ได้ เพราะไม่มีตำราไหนเขียนได้ตรงไปหมด เขาให้ได้แค่แนวทาง หลักการ สิ่งสำคัญมันใช้กับเราได้เหมาะแค่ไหน มีแผนไกลใกล้ อย่างไร
อย่าใช้แค่ว่า เอะอะก็แค่ตามเขาไป และเชื่อหรือไม่ คนเรียนการตลาดมาก็ใช่ว่าจะประยุกต์เป็น นี่ต่างหากที่น่าจะเรียกว่านอกตำรา หลายคนไม่ได้เรียนการตลาดมาแต่นำไปใช้ได้ดีกว่า ก็เท่านั้นเอง.. สรุปซ้ำอีกที มันอยู่ที่การ “ประยุกต์ใช้”
4. การตลาดไม่ขายทุกคน!
กลุ่มลูกค้าเป็นใคร? มักตอบอย่างไว “ใครก็ได้ อยากขายทุกคน” จริงอยู่ ใครมาซื้อก็ขาย เหมือนผ้าอนามัยผู้ชายมาซื้อ เราก็ขาย แล้วแบบนี้ทำการตลาดจะเจาะกลุ่มใคร ขายผ้าอนามัยแต่โปรโมทในโรงเรียนนายร้อยทหารไหม ก็ไม่ใช่จริงหรือเปล่า?
บางคนอาจแย้ง ก็ไม่ได้ขายสินค้าแบบผ้าอนามัย แต่ขายอาหารใคร ๆ ก็กินได้ อันนี้ไม่เถียง งั้นก็โปรโมททุกคนกันไป ค่าโปรโมทเท่าไหร่ ? แน่ใจว่าทุกคนจะสนใจ ทำตลาดให้ทุกกลุ่มต้องลงทุนแค่ไหนดี? แถมส่วนใหญ่ที่คิดแบบนี้ พอถามงบการตลาดที มักเบือนหน้าหนีประจำ ถึงงบมีก็ทำไม่ได้ไม่มีทางที่ใครจะชอบอะไรเหมือนกัน ถามตัวเราเองก็ได้ ทุกวันนี้ใช้ของอะไร ๆ ทำไมถึงเลือกไม่เหมือนคนข้าง ๆ?
5. การตลาดไม่ใช่แค่มีไอเดีย
ทำการตลาดมันต้องเจ๋ง ต้องโดน อันนี้มันก็ใช่ แต่ถ้าคิดว่าแค่ไอเดียดีนี่คือการตลาด มันก็คงไม่ใช่
ไอเดียดี ๆ ที่มืออาชีพเขาใช้ส่วนใหญ่ก็มี insight ทำ research (ข้อมูลและสำรวจ) กันมา ดูว่าแบบไหนใช่ แล้วเริ่มไปจากตรงนั้น ถ้ามันโดน มันใช่ไปยังไงต่อ เขามีรอกันอยู่แล้ว ถ้ามันไม่ใช่ แก้ยังไง อันนี้เขาก็รู้ แต่ประเภทที่ไอเดียดี แค่ผุดคิดแล้วทำ เกิดโดนขึ้นมาก็ดังพักหนึ่ง ถึงตรงนั้นยังไงต่อ? ก็ต้องรอจนถึงเวลาเกิดไอเดียใหม่ อาศัยโชคช่วยกันเอา
ถ้าไอเดียที่คิดไว้มันไม่ดีจริงล่ะ ยิ่งเสียเงิน เสียเวลา หาแผนรองรับไม่ได้ ดีไม่ดีก็ไม่รู้ว่าผิดที่ตรงไหน งมกันไป นี่แหละ การตลาดแค่บนไอเดีย
6. การตลาดก็ต้องใช้เวลา
หลายคนเข้าใจว่ายอดขายต้องมาพร้อมการทำการตลาด มันก็มีส่วนถูก แต่ไม่หมด บางทีก็ต้องดูสถานการณ์ตัวเองก่อน ว่าอยู่ส่วนไหนในธุรกิจ (Life Cycle) เช่น เพิ่งเปิดตัวเข้าตลาดมา แล้วอัดแคมเปญโปรโมชั่นที่แบบมั่นใจว่ายังไงก็ต้องขายดีเป็นเททิ้ง ความเป็นจริงก็ทิ้งจริง ๆ ทิ้งแบรนด์ตัวเองไปเลย เพราะอย่างแรกมาใหม่ใคร ๆ ก็อาจแค่ลอง ไม่ก็ระแวงจะดีจริงหรือเปล่า โปรโมชั่นอาจไม่ได้ผล
หรือใช้โปรแรง ๆ ลดแลกแจกแถม ที่กะว่ายังไงก็ต้องสนใจ ระวังมอง ๆ ไป มันก็จะกลายเป็นเหมือนของไร้คุณภาพ ดูเกรดไม่ดี อาจขายดีตอนมีโปรฯ แต่ก็กลายเป็นว่าภาพพจน์นี้ติดไปแล้ว เปิดตัวใหม่ด้วยแบรนด์เกรดไร้คุณภาพ พอปรับราคากลับขึ้นมาก็จะเงียบกริบ..
ถ้าของดีจริงแจกแบบทดลองใช้ก็ว่าไป แต่คนจะลองแล้วติดใจก็ต้องใช้เวลาจริงไหมล่ะ ยิ่งถ้าการตลาดที่วางแผนมาดี แบบนี้ก็ยิ่งมีเรื่องเวลามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นต้องไม่ลืมว่า การตลาดก็ต้องให้เวลา
7. 4Ps มีอะไรมากกว่าที่คิด
พอพูดว่าการตลาด หลายคนบอกรู้จัก ก็ 4P’s Product, Price, Place, Promotion ยังไงล่ะ สินค้า ราคา ทำเล ทำโปรฯ มันก็ส่วนหนึ่ง ใช่ว่าจะผิดนัก..
แต่มักคิดมันกันห้วน ๆ ถือว่ารู้แล้ว ไม่เห็นใช้ได้ นี่แหละสิ่งที่เขาเรียกเรียนท่องจำ เพราะในแต่ละ P นั้นมันมีอะไรมากมาย และบาง P ก็ไม่ใช่ว่ามีความหมายไว้ตรงตัวแค่นั้น นอกจากกลยุทธ์แต่ละตัวของมันเองแล้ว ยังต้องเอามาร่วมกันให้ดี ดังที่จริง ๆ เขาเรียกว่า Marketing Mix (ส่วนประสมการตลาด) ที่มันหมายความว่าต้องประสมกันให้ลงตัว
ก่อนทำการตลาดต่อไป แค่ความหมายแท้ ๆ แต่ละ P เข้าใจให้ดี ลงรายละเอียดให้แตกฉานได้ก็มีประโยชน์มากแล้ว หรือ 7P’s ก็เหมือนกันสำคัญต่อธุรกิจที่มีบริการ หรือทุกวันนี้อาจต้องมีทุกธุรกิจ ขอแค่อย่าอ่านเอาเพียงหัวข้อในตำรา (มากกว่านั้นคืออ่านสรุปเอาตามเว็บ) แล้วคิดว่าไม่มีอะไร..
8. Promotion ไม่ใช่แค่ ลดแลก แจก แถม
ต่อเนื่องจากข้อก่อน เพราะตอนคนทำธุรกิจใหม่ ๆ ที่ไม่ได้เข้าใจอะไรมาก แต่ก็อยากทำการตลาด มักชอบประกาศแต่เรื่องโปรโมชั่น นี่มันก็ประเด็นหนึ่งละว่า การตลาด = โปรโมชั่น ง่ายแค่นั้นมันคงดี แถมคิดง่ายแค่นี้ก็เห็นทีจะยากสำเร็จด้วย แม้ว่าจะเข้าใจดีว่านี่แค่ P ตัวหนึ่ง แต่มันก็ไม่ใช่แค่ ลด แลก แจก แถม เพราะคำว่า การส่งเสริมการขาย มันหลากหลายวิธี เอาคนหน้าตาดีมายืนที่หน้าร้านทำไมขายได้? ต้องลด แลก แจก แถมเสียที่ไหน นี่ตัวอย่างหนึ่งให้เข้าใจคำว่า โปรโมชั่น ที่มันตรงตัวกว่าหากอยู่บนคำว่า ส่งเสริม(ให้เกิด)การขาย
9. การตลาดต้องใส่ใจ(วัดได้)
การตลาดแท้แล้วอาจรวมหลายศาตร์มากมาย ทั้งศิลปะ จิตวิทยา สถิติ วิทยาศาตร์ และมันควรผ่านการทดลอง ไม่แปลกใจว่าทำไมหลายคนไม่สนใจการตลาด เพราะมองพลาดว่ามันเป็นนามธรรม ที่ทำไปไม่แน่ใจว่าได้อะไรกลับมา จึงกลายเป็นว่าไม่น่าลงทุน นี่เข้าใจผิดก็ประการหนึ่ง
จ้างคนทำงานการตลาดไม่เป็นมาก็ประการหนึ่ง ถึงไม่ได้อะไรเลย นักการตลาดดี ๆ เขาย่อมมีวิธีวัดผลจนได้ และอีกส่วนก็ต้องเข้าใจ ไม่มีนักการตลาดคนไหน ทำการตลาดแล้วได้ผลดังใจเสมอ แต่ในความพลาดนั้น มันจะได้ช่องทางใหม่หรือเข้าใจการตลาดมากขึ้น ว่าปรับแก้ไขได้ต่ออย่างไร คล้าย ๆ การทดลองวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แค่การคาดเดา ทั้งหมดนี่ต้องวางแผนและใส่ใจในงานจริงจังถึงจะหวังผลได้
10. การตลาดไม่ใช่พระเจ้า
อ่านมาถึง 9 ข้ออาจเริ่มเข้าใจ เห็นทางใหม่แต่ก็อย่าได้คาดหวังสูงไปนัก
การตลาดดี เด่น โดน แต่ยังไงก็มีมากมายธุรกิจตายเพราะการจัดการ ควบคุมคุณภาพสินค้า การบริการ หรือบริหารบุคคล รวมถึงเงินทุนที่หมุนไม่ทัน และมันยังมีเรื่องของคู่แข่งที่อาจมาเหนือกว่าได้ ต้นทุน พันธมิตร หรือสิทธิ์พิเศษ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ธุรกิจแต่และเป็นเภทต้องคิดให้ทัน
แม้ว่าการตลาดจะสำคัญ แต่มันก็ต้องไปกับปัจจัยอื่นได้ด้วย ไม่ใช่หวังแต่การตลาดจะช่วยตลอดไป และอีกประการรู้หรือไม่ ว่าหากวิเคราะห์ดี ๆ การตลาดที่มีแผนรองรับนั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อขายเสมอไป แต่ใช้ “ลดความเสี่ยง” ได้อย่างเหลือเชื่อทีเดียว