ชีวิต “นักศึกษา” คนหนึ่ง

by

| Home » บทความดีๆ » บทความน่าอ่านและเรื่องราวดีๆ » A Life In A Day » ชีวิต “นักศึกษา” คนหนึ่ง |


ผมก็ไม่แน่ใจว่าชีวิตการเป็น “นักศึกษา” ของแต่ละคนมีเรื่องราวอะไรน่าจดจำ แต่เรื่องนักศึกษาคนที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ อาจจะมีชีวิตการเป็นนักศึกษาที่ไม่เหมือนคนทั่วไปนัก อย่างไรก็ตาม พักเรื่องมุมคิดเขียนบทความเรื่องเล่า เบา ๆ อ่านสบาย (มั้ง) กันบ้างก็ดี

ชีวิตนักศึกษาของ “นาย” คนนี้อาจมีความโลดโผน เหนือความคาดหมายอยู่บ้าง แต่คงไม่ได้เล่าในมุมนั้น ย้อนไปวัยประถม เขาไม่ได้เป็นเด็กตั้งใจเรียนเอาเสียเลย ดูเหมือนเด็กสมาธิสั้น ดูมีความเป็น “โต๊ะโตะจัง” อยู่ไม่น้อย…
(วรรณกรรมญี่ปุ่น เรื่องราวของเด็กหญิงวัย 6 ขวบที่ชื่อ โต๊ะโตะ เธอชอบอยู่ในจินตนาการของตัวเองเวลาเรียนหนังสือ จึงโดนไล่ออกจากโรงเรียนเพราะรบกวนสมาธิเพื่อนคนอื่น)

เขาจะเอาแต่วาดการ์ตูน มีสมุดเก่าที่เอาไว้วาดการ์ตูนโดยเฉพาะเสมอ ถ้าไม่วาดการ์ตูน ก็ชวนเพื่อนคุย โดนครูดุบ่อย ๆ แต่ผลการเรียนกลับไม่แย่ แม้ไม่ถึงกับได้ที่ 1-2 แต่ก็อยู่ราวที่ 4-5-6 ตลอด โตมาชั้นมัธยม ก็ไม่ต่างกัน ที่ยังห่วงเล่นกับเพื่อน และไม่ตั้งใจเรียน แต่เหมือนจะหนักข้อกว่าเดิม เพราะโดนครูไล่ออกนอกห้องบ่อย ๆ โทษฐานรบกวนเพื่อนคนอื่น ซึ่งผลการเรียนตอนนี้ไม่ได้ดีเหมือนสมัยประถมแล้ว อยู่ในระดับเอาตัวรอดจบมาได้แค่นั้น…

เขาอาจไม่ได้จงใจที่จะ “ไม่ตั้งใจเรียน” เท่าที่จำได้เขาเริ่มมีความเป็น “นักศึกษา” ด้วยตนเองไปแล้ว เขาทำการบ้านด้วยการดูตัวอย่างในหนังสือ เขาเข้าสอบก็จากการอ่านหนังสือเอา เพราะในห้องเรียนน้อยนักที่จะฟัง หรือสนใจสิ่งที่ครูสอน และเขาไม่มีคนในครอบครัวมาคอยสอนให้อีกด้วย…

เมื่อถึงวัยนักศึกษาจริง ๆ (เข้ามหาลัยฯ) คำว่า “นักเรียน” อาจไม่เหมาะกับเขา แต่ “นักศึกษา” โดยอย่างยิ่ง ศึกษาด้วยตัวเองนั้น มันเริ่มกลายเป็นเรื่องถนัด การเข้ามหาลัยเปิด อย่างรามคำแหง จึงดูเป็นอะไรที่เหมาะสมดี..

แต่ไม่เลย เพราะเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิต นักศึกษาวิชาการ ไปเป็น นักศึกษาวิชาชีวิต มากกว่า และไม่ได้มีชีวิตนักศึกษาแบบในรั้วมหาลัยอย่างที่ควรจะเป็น เที่ยวกลางคืน อบายมุข และผู้หญิง คือสิ่งที่วนเวียนในวัยนั้น แม้หลายคนจะมองว่า วัยนักศึกษาของหลายคนก็มีเรื่องนี้ แต่สำหรับเขามันเรื่องนี้เสีย 90% เพราะแทบไม่เคยเข้าชั้นเรียน ไม่เคยอ่านหนังสือ นอกจากก่อนสอบ 1-2 วัน

ที่เด่นชัดว่าเหมือนไม่มีชีวิตนักศึกษาคือ การแทบไม่มีเพื่อนใหม่ในมหาลัย แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นข้อดีคือ ยังคงชอบอ่านหนังสืออื่น ๆ ชอบคอมพิวเตอร์ และสนใจคิดวิเคราะห์เรื่องราวรอบตัว

คงไม่ลงรายละเอียดความไร้สาระในช่วงเวลานั้น แต่มันก็ใช่ว่าไม่ได้อะไรมา เขาได้ประสบการณ์ เรียนรู้หลายสิ่งอย่าง แม้มันจะทำให้เสียเวลาชีวิตไปมากก็ตาม เพราะเผลอหน่อยเดียวก็ 4 ปีเข้าไปแล้วที่การเรียนมหาลัยฯ ไม่เข้าใกล้คำว่า “จบ” สักนิดเดียว

เป็นนักศึกษาที่เรียน “หาคำตอบ”

หลายคนคงพอเดาออกว่า ชีวิต “นายคนนี้” คือ ผมเอง การที่ชีวิตไม่ได้เป็นไปตามครรลองเหมือนคนส่วนใหญ่ เพราะตอนนั้นผมมีปัญหาทางความคิดตัวเองหลายด้าน ตั้งแต่ ความไม่แน่ใจตัวตน การไม่มีเป้าหมายจึงไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา การที่ยังไม่เข้าใจชีวิตอะไรหลายอย่าง และไม่มีใครคอยบอกสอนตรง ๆ ชีวิตเรียนรู้จากครูพักลักจำ การชอบพูดคุยกับคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่า และ… ดื้อ เลือกที่จะเจ็บเอง รู้เอง ทุกอย่างล้วนมักต้องหาคำตอบให้ตัวเอง

แล้วผมก็ดันชอบตั้งคำถามต่อหลายสิ่ง แถมไม่ชอบให้คาใจอีกต่างหาก..

ผมจึงเป็น “นักศึกษา ที่หาคำตอบ” ตลอดมา แม้กระทั่งเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ผมก็หาคำตอบว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น หรือใครมาถามอะไรแล้วตอบไม่ได้ ก็จะรู้สึกว่าต้องไปหามาตอบ ไม่ใช่เพราะอยากเก่ง อยากตอบ แต่พอมันเป็นคำถามขึ้นมาแล้วดังที่บอก “ผมจะคาใจ”…

กลับไปเรื่องเรียน เมื่อเรียนมหาวิทยาลัยได้ 4 ปีและยังไม่มีที่ท่าจะจบ ผมก็เลือกไปทำงาน โชคดีที่การเรียนรามคำแหงทำให้เรายังไปต่อทางการศึกษาได้ (เรียนไปต่อเรื่อย ๆ) แต่มันไม่ง่ายสำหรับคนไม่ใฝ่เรียนอย่างผม และพอได้เริ่มใช้ชีวิตการทำงาน ก็ยิ่งใฝ่ไปเรียนรู้เรื่องการทำงานเสียมากกว่าเข้าไปอีก และยิ่งไม่สนใจการเรียนจริง ๆ เข้าไปใหญ่ จึงมุ่งหน้า “ใช้ชีวิต” ของผมต่อไป

เมื่อชีวิตหาคำตอบให้กับสิ่งต่าง ๆ มากมาย แม้มันจะนำมาใช้ไม่ได้กับตัวเอง แต่ก็ได้รู้ เห็นหลายสิ่งที่เราไม่คิด ไม่เคยมอง ไม่เคยสนใจ ทั้งความรู้รอบตัว และความรู้ไกลตัว..

ไม่เคยเลิกเป็นนักศึกษา

คงต้องบอกก่อนว่าเหมือนจะดูมีข้อดีอยู่บ้างทางทักษะความคิด แต่ชีวิตไร้ระเบียบเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องดีเลย (ไม่ดีจริง ๆ) เพราะมีโอกาสมากมายที่จะไปในทางลบ ผมอาจแค่โชคดีที่ไม่หลุดเลื่อนลอยไป…

แม้ในที่สุดจะเรียนจบปริญญาตรี แต่ชีวิต ทักษะการทำงานล้วนมาจากการศึกษาเองแทบทั้งสิ้น มันก็ทำให้หลงผิดไปด้วยว่า การศึกษาไม่จำเป็นต้องมีระบบ ที่จริงบางเรื่องก็ได้ แต่บางเรื่องก็ใช้ไม่ได้เพราะมันก็ทำให้เรามองอะไรแคบไปมาก การแค่มีประสบการณ์ผ่านมา หรือการอ่านแค่ตำราจบไม่เพียงพอ ไปจนถึง ยิ่งศึกษาและมีประสบการณ์ ผมยิ่งพบว่าเรายังไม่รู้อะไรอีกมากจริง ๆ

ทุกวันนี้แม้การเรียนจะจบระดับปริญญาโท แม้จะได้อะไรมามากขึ้น แต่ความเป็น “นักศึกษา” ก็ติดเป็นนิสัยไปแล้ว เพียงแต่ลดสิ่งที่ “แค่อยากรู้” ไปมาก ไม่พยายามตอบคำถามของคนอื่น (ที่ไม่รู้) โดยไม่จำเป็น ก็ยังมีอะไรที่ยังอยากรู้อีกหลายอย่าง และด้วยหน้าที่การงาน ผมจึงต้องอ่านหนังสือ “เฉพาะที่ปรับใช้ได้” ตั้งเป้าปีละอย่างน้อย 24 เล่มขึ้นไป อ่านบทความ สาระต่าง ๆ มากกว่า 3 บทความต่อวัน ฟัง Podcast เฉลี่ย วันละ 2 ตอน ไม่นับการค้นคว้า ค้นหาอะไรที่ติดขัดในแต่ละวันด้วยตัวเองอีกเสมอ..

ดูผิวเผินอาจไม่มากอะไรแต่หากทำสม่ำเสมอจะพบว่า กินเวลาพอสมควร กับสิ่งที่รู้สึกว่าจำเป็นต้องเรียนรู้ ต้องศึกษาอย่างขาดไม่ได้

ที่เล่ามา ผมไม่มี “ชีวิตนักศึกษา” จริง ๆ เหมือนหลายคน แต่ชีวิตหนีไม่พ้นการเป็น “นักศึกษา” เลย ยิ่งด้วยอาชีพ การดำเนินชีวิต ประกอบกับนิสัยเดิม ที่ยังคงอยากรู้สิ่งต่าง ๆ ไม่เคยจางหายไป ทำให้ผมอาจต้องกลายเป็น นักศึกษา ไปตลอดชีวิต..

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 14/09/2020

เรื่องราวดีๆชีวิตนักศึกษาคนหนึ่ง

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา จากสายด้านธุรกิจ การตลาด สู่การจัดการบุคคลากร และว่าที่นักจิตวิทยาการปรึกษา
แสดงความคิดเห็น