อาชีพที่เด็ก ๆ ไม่สนใจ

by

| Home » บทความดีๆ » บทความน่าอ่านและเรื่องราวดีๆ » A Life In A Day » อาชีพที่เด็ก ๆ ไม่สนใจ |


คำถามที่เชื่อว่าหลายคนเคยผ่าน เคยได้ยิน หรือวันนี้อาจเป็นฝ่ายถามอยู่ก็ได้ว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” คำตอบของเราคืออะไร ยังพอจำกันได้ไหมครับ แล้ว ณ วันนี้สิ่งที่อยากเป็นใกล้เคียงแค่ไหนกัน

ฟังบทความนี้ในรูปแบบ Podcast ตามช่องทางเหล่านี้

ฟังบน Youtube

เป็นช่วงอาทิตย์นี้ผมยุ่ง กับการทำบ้าน ต่อเติม ย้ายห้อง รื้อ ทำบิ้วอิน เป็นปัญหาที่ต้องเสียเงิน โดยอาจเกิดจากเพราะขาดการวางแผนที่ดีแต่แรก ว่าจะต้องใช้พื้นที่อย่างไร แต่ปัญหาที่รู้สึกยุ่งยากกว่า คือเรื่องของ “ช่าง”

แม้ว่าจะออกแบบบ้านไว้เหมาะสม แต่วันหนึ่งย่อมมีเหตุให้เปลี่ยนแปลงปรับปรุง ซ่อมแซมได้ เช่น ครอบครัวมีสมาชิกใหม่ ทว่า การหาช่าง มาทำเรื่องต่าง ๆ เท่าที่เห็นมาดูจะหายากเหลือเกิน ช่างค่อนข้างงานล้นมือ ทั้งที่ค่าจ้างไม่ถูกเลย

อาทิตย์นั้นผมต้องติดต่อทั้ง ช่างแอร์ ช่างเหล็ก ช่างไม้ ช่างกระจก บางส่วนก็ไม่ยาก แต่หลายส่วนก็ลำบาก กว่าจะจบค่อนข้างเสียเวลา โดยที่งานเราก็ต้องทำ ไม่งั้นไม่มีเงินมาจ่ายช่างอีก

การหาช่างนอกจากต้องตามหาแล้ว ความน่าเชื่อถือ ก็สำคัญ ไหนจะเรื่องฝีมือ ที่รวม ๆ เราย่อมต้องดูความคุ้มค่าประกอบกัน เพราะการจ่ายแพงเราก็ไม่ไหว

หลายอย่างผมพอทำเองได้ จำพวก ซ่อมคอมพิวเตอร์ ซ่อมเครื่องไช้ไฟฟ้าเล็กน้อย ซ่อมประปา สายไฟ หรือติดผ้าม่าน อะไรทำนองนี้ที่ไม่หนักหนา มานึกดู ถ้าทำไม่ได้เลย ชีวิตคงค่อนข้างวุ่นวาย เวลามีปัญหา จนรู้สึกขึ้นมาอีกครั้งว่า ที่จริง อาชีพ “ช่าง” นี่ดีนะ

และไม่ใช่แค่ผมที่คิดแบบนี้ ที่ผ่านมาก็ได้ยินเข้าหูเสมอ ๆ ว่า ทุกวันนี้ ช่างหายาก เล่นตัว และแพง แสดงว่าอาชีพนี้ขาดตลาดพอสมควร

จึงนึกได้ว่า เราเองก็เคยคิดว่า ถ้าย้อนเวลาได้จะไปเรียนพวกนี้ เปิดร้าน เปิดอู่ อาชีพที่มีอิสระ รายได้ดี ไม่เดือดร้อน มั่นคง ไม่ต้องลงทุนเยอะหรือเริ่มจากลงแรงก่อนได้ สะสมทุนต่อยอดได้ด้วยทักษะเดียวกัน เป็นอาชีพที่มีเส้นทางอาชีพ หรือ career path ไม่ซับซ้อน และเป็นเจ้าของกิจการได้ชัดเจน! ในแทบจะทุกสาขาช่าง

ทว่า.. สมัยเด็ก ๆ ไม่เคยมองเลย!! ซึ่งเดา ๆ ว่าเด็กสมัยนี้ส่วนใหญ่ก็เช่นกัน..

บางอาชีพดูน่าจะเป็นขี้ข้าไปตลอดกาล!

อาจไม่ใช่เด็กทุกคน แต่ผมก็เป็นหนึ่งในเด็กคนนั้น มาวิเคราะห์มองดูว่าทำไมตัวเองไม่สนใจ อาจด้วยเพราะดูเป็นอาชีพที่ “ใช้แรงงาน มอมแมม ไม่เท่ ไม่ดูดี” ไม่แน่ใจว่าสมัยก่อนรายได้ไม่ดีด้วยหรือไม่ แต่ก็ได้เห็นว่าหลายคนจากช่างสู่เจ้าของกิจการมีมากมาย

เคยได้ยินว่า ช่างฝีมือต่างประเทศ (ประเทศที่เจริญแล้ว) รายได้ดี ก็เริ่มจะเห็นเป็นจริงในบ้านเรา เพราะเราก็เริ่มเจริญ(วัตถุ) แต่ค่านิยมอาจยังไม่ค่อยเปลี่ยนตาม ข่าวและสังคมยังสะท้อนให้เห็นดิ้นรนในการเรียนการแข่งขัน สอบด้านความรู้ ยกย่องบางอาชีพประเสริฐกว่าอาชีพอื่น ทั้งที่อาชีพบางสาขาทุกวันนี้เป็นธุรกิจที่ดูแต่จะหาเงินจากความทุกข์(ป่วย) ของคนอื่นเสียส่วนใหญ่ กำไรมากมายจริง ๆ ลองดูได้ในตลาดหุ้น หรือไม่ก็เป็นอาชีพที่ทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อผลงาน ผลประโยชน์เข้าตัว..

หรืออาชีพที่เคยมองแค่เปลือกว่า “ดูดี” ทั้งที่อนาคตไป “ดูน่าจะเป็นขี้ข้าเขาไปตลอดกาล”

อาจฟังดูเป็นคำกล่าวที่รุนแรง เพราะที่จริงมันเป็นเรื่องของตัวบุคคล หรือวิสัยทัศน์แต่ละองค์กรด้วย ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น เพียงแต่อยากเขียนในเชิง “กระตุ้น” ความคิดให้เห็นอีกมุมแบบตรงกันข้ามแบบชัดเจนเท่านั้นเอง (ส่วนหนึ่งนี่เป็นเรื่องเล่าเชิงนำเสนอมุมมอง ผมอาจคิดไปเองคนเดียวก็ได้นะ 😊)

กลับมาในประเด็นว่า “ช่าง” ที่มีหลายอาชีพ หรือในอีกหลายอาชีพด้วย ควรจะมาเป็นอาชีพในฝันของหลายคนได้ เพราะ มีเวลา มีอิสระ ไม่ต้องใช้ความรู้(ที่ไม่จำเป็น)เยอะ ไม่ต้องแข่งขันกันเพื่อแย่งโกยเงินจากการทำลาย หรืออาศัยความทุกข์คนอื่นหาเงิน (แต่ประสบการณ์และฝีมือสำคัญ) ต้นทุนต่ำ Margin สูง ส่วนใหญ่ลงทุนเครื่องมือครั้งเดียว ต้นทุนผันแปรแทบไม่มี เพราะไม่ต้องซื้อเองก็ได้ ให้เจ้าของงานเป็นฝ่ายซื้อฝ่ายลงทุนได้

อีกสิ่งที่สำคัญ เราคงเคยได้รับ “ความช่วยเหลือ” จากช่างดี ๆ หลายคน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน หรือคนรู้จัก บางทีไม่รู้จักก็ตาม

ก่อนจะเขียนบทความนี้ไม่กี่วัน มอร์เตอร์ไซค์ สตาร์ทไม่ติด ซึ่งก่อนหน้านั้นมันมีอาการอยู่แล้ว ผมจูงไปให้ร้านดู แล้วไปทานข้าวกลับมา ช่างติดเครื่องทิ้งไว้.. ผมถามว่ามันเป็นอะไร เขาบอกว่า ไม่เป็นไรหรอก ติดแล้ว..

ผมถามว่าเท่าไหร่ เขาตอบว่า “ไม่เป็นไรหรอก ไปเถอะ” ผมได้แต่ยกมือไหว้ขอบคุณแบบงงๆ พี่ช่างได้แต่ยิ้มให้..

ผมไม่ใช่คนแถวนั้น เราไม่ได้สนิทสนมกัน นี่แหละช่าง อาชีพดี ๆ ที่ทำอะไรได้มากมาย รวมถึงทำสิ่งดี ๆ ต่อคนอื่นได้ไม่แพ้ หรือมากกว่าอาชีพอื่นด้วยซ้ำ

สุดท้าย.. จริงครับ อาชีพไหนก็ดี และมีคุณค่าได้ อยู่ที่คน ๆ นั้น และช่าง ไม่ดีก็มีเยอะ แต่วันนี้ที่เขียน สังคมยังยกย่อง หรือมุ่งสร้างค่านิยมไปทางไหน ย้อนมองไปต้นทางในการเลือกอาชีพ กับภาพพจน์ที่เราปฏิเสธไม่ได้ ว่าแท้จริงหลายอาชีพ ทั้งอิสระ คุณค่าวัดจากฝีมือตัวเอง รายได้ก็ดี ทำประโยชน์ต่อสังคมได้ ต่อคนรอบข้างได้ กลับกันกับหลายอาชีพ ที่น่าจะช่วยคนได้ แต่ไม่เคยเห็น ไม่ค่อยเห็น มีน้อยเกิ๊น (ต้องใช้ภาษาแบบนี้จริงๆ) แล้วส่วนใหญ่เงินต้องถึงเท่านั้นจึงจะได้ความเก่งกาจจากเขา ก็สิทธิ์ของเขาอีกล่ะครับ..

ช่าง.. น่าเสียดาย ช่าง.. เป็นอาชีพที่ตอน เด็ก ๆ ผมไม่สนใจ..

บทความดีๆ บทความน่าอ่าน อาชีพที่เด็กๆ ไม่สนใจ

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา จากสายด้านธุรกิจ การตลาด สู่การจัดการบุคคลากร และว่าที่นักจิตวิทยาการปรึกษา
แสดงความคิดเห็น