บทความนี้อาจจะตั้งชื่อแปลก ๆ แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องย้อนไป เมื่อผมวัยเยาว์ ตอนนั้นยังเป็นยุคที่คอมพิวเตอร์ ยังเป็นสิ่งที่ไกลตัว ดังนั้น อินเตอร์เน็ต หรือ สมาร์ทโฟน ยิ่งไม่ต้องพูดถึง โทรศัพท์มือถือ ที่แสนแพงในยุคนั้น ทำได้เพียงแค่ โทรหาพูดคุย..
การเล่น หรือกรอบกิจกรรมของเด็กยุคนั้นจึงเป็นกิจกรรมจริง ๆ ที่ต้องมีการลงมือทำ ซึ่งก็ไม่ใช่แค่การเล่น กิจวัตรบางอย่างก็ต้องมีการกระทำหรือกิจกรรมอื่น เป็นส่วนประกอบ เช่นว่า แค่อยากคุยกับเพื่อน ก็ต้องเดินไปหากันที่บ้าน ปั่นจักรยาน หรือ โตหน่อยใช้มอเตอร์ไซค์ก็ตาม ผิดกับยุคนี้ ที่มีช่องทางการติดต่อกับเพื่อนมากมาย นั่ง นอน หรือแม้อยู่ในส้วมก็ตาม 😁 ก็ยังพูดคุยกันได้
ฟังบทความนี้ในรูปแบบ Podcast ตามช่องทางเหล่านี้
ทว่าในตอนนั้น ผมกลับค่อนข้างจะถูกกรอบ ไม่ให้มีกิจกรรมภายนอก ไม่ค่อยได้ออกจากบ้าน ด้วยความเป็นห่วงที่อาจจะเกินไปนิดหน่อยของทางบ้าน การออกไปไหนไม่ได้ ทำให้ “หนังสือ” จึงเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งของผม และจุดเริ่มต้นอาจเหมือนหลายคนคือ มันเริ่มมาจากหนังสือการ์ตูน
“การอ่าน” คือเรื่องจำเป็นหากเทียบกับการ “ไม่อ่าน” แม้ในปัจจุบัน คนขี้เกียจอ่าน ก็ต้องอ่านมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคง ขี้เกียจอ่านอยู่ดี สังคมทุกวันนี้เมื่อ “ข้อความ” กลายเป็นสิ่งสื่อสารหลัก การ “ต้องอ่าน” มันจึงมีมากขึ้น แต่ก็ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ คนขี้เกียจอ่าน ก็อ่านแบบ “ฉาบฉวย” หรือคนไม่ได้ขี้เกียจอ่าน แต่พอต้องอ่านอะไรมากๆ ก็ฉาบฉวยได้เช่นกัน ข่าวลวง ข่าวหลอก จึงถูกแชร์เต็มไปหมด ในทุกช่องทางของการสื่อสาร รวมถึง สื่อต่าง ๆ ในปัจจุบัน
จะว่าไปแล้วก่อนจะยุคนี้ ในช่วงที่ผมเริ่มโตมา ก็เคย (แอบ) รำคาญ คนรอบ ๆ ตัวหลายคน ที่เวลามีของ หรือมีเครื่องมืออะไรใหม่ ไม่อ่านคู่มือ ไม่อ่านตำรา ไม่อ่านอะไรเลย ดีหน่อยคืออ่านลวก ๆ แต่ไม่เข้าใจ เขาจะชอบใช้วิธีการถาม หรือลองผิดลองถูกเอาเลย ซึ่งมักจะไม่ถูก กับสิ่งต่าง ๆ ในเรื่องที่ใหม่สำหรับเขา ไปจนถึงบางเรื่องที่จำเป็นต่อเขาเองแท้ ๆ ซึ่งบางกรณีกลายเป็นว่าเราต้องอ่านไปศึกษาแทน
มันไม่ผิดอะไรในการที่ถาม แต่หลายครั้งเราไม่ต้อง(รบกวน) ถามคนอื่นก็ได้ ใช่ว่าจะไม่มีอะไรบอก เพราะคู่มือส่วนใหญ่ ก็บอกมาหมดแล้ว ดังที่บอกไป เวลาเขาเหล่านี้มาถามผม หลายครั้ง ผมก็ต้องเปิดคู่มืออ่าน.. แทนเขา อะไรก็ตามส่วนหนึ่งประโยชน์ก็กลับมาตกกับตัวผมเอง ในความรู้ต่าง ๆ เหล่านั้น แม้จะได้ใช้ หรือไม่ก็ตาม ผมก็รู้ไปแล้ว
จากความรำคาญกลายเป็นความสงสัย และต้องยอมรับไปในที่สุดว่าคนส่วนใหญ่ “ไม่ชอบอ่าน” เพราะรู้สีก “มันเสียเวลา”..
ย้อนมองไปจุดเริ่ม ถ้าผมได้มีชีวิตเหมือนเด็กอีกแบบ การมีอิสระที่จะไปทำกิจกรรมอื่น ๆ กับเพื่อนหรือคนอื่น ผมก็คง “ไม่มีเวลา” มานั่งอ่านอะไรๆ เหมือนอีกหลายคน และมองว่า “มันเสียเวลา” ก็เป็นได้ แต่ในตอนนั้นมัน “ไม่มีทางเลือก” ผมอ่านจนเป็นนิสัย แม้ว่าจะมีแรงกระตุ้นจากการ์ตูนที่ได้เห็น ภาพประกอบ แต่การไม่มีทางเลือกนี้เอง เมื่อการ์ตูนหมด ภาพประกอบไม่มี ก็เลยพาตัวเองไปทดลองอ่านหนังสือที่เต็มไปด้วยตัวหนังสือที่ เปิดมา ก็อยาก “เบือนหน้าหนี” เหมือนความรู้สึกใครหลายคน ผมก็เช่นกัน..
..และแล้วการเจาะไปในตัวหนังสือที่ไม่มีภาพ ทำให้ผมพบว่า มันมีอะไรมากมายกว่ารูปภาพจริง ๆ และมันกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งมาเติมเต็มหลาย ๆ อย่าง เรากลายเป็นคนที่รู้และช่วยตอบคำถามคนรอบ ๆ ตัวได้ “นั่นเป็นแรงจูงใจประการหนึ่ง” ในการได้รู้ และส่งผลให้เรารู้สึกว่า เราสามารถค้นหาอะไรด้วยตัวเองได้มากมาย เพียงแค่อ่าน และมันก็จริงเสมอมา
ผมเป็นคนอ่านหนังสือเร็วไปโดยไม่รู้ตัว ด้วยความที่อ่านมาก มันย่อมเกิดทักษะ แต่การอ่านเร็วไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะสิ่งหนึ่งที่สะท้อนกลับมาอีกคือ คนที่ไม่ชอบอ่าน เมื่ออ่านย่อมอ่านช้า และอาจตีความช้ากว่า ซึ่งใช่ว่าเป็นเรื่องฉลาด เก่ง แต่ผมเชื่อว่า มุมนี้เป็นเพียงทักษะหนึ่งที่ถูกใช้จนเคยชิน โดยส่งผลให้กลายเป็นว่า ผมยิ่งรู้ไว ยิ่งเข้าใจอะไรเร็ว สะท้อนอะไรต่อชีวิตหลาย ๆ อย่าง โดยอย่างยิ่ง การประเมิน และการตัดสินใจ
หนึ่งสิ่งที่เกิดจากภาวะไม่มีทางเลือก ที่ในตอนนั้นไม่มีอะไรให้ทำได้มากไปกว่าการอ่านหนังสือ จนมาถึงวันนี้พูดได้อย่างเต็มปากว่า ดีใจที่ได้กลายเป็นคนชอบการอ่าน ดังที่หลายคนทราบและรู้ดีว่า การอ่านแม้ใส่ใจนิดหนึ่ง แค่ฉลาก คู่มือ บางอย่างก็ส่งผลเปลี่ยนแปลงได้มากมายหากเทียบกับคนไม่อ่าน
ที่สำคัญ ถ้าหากผมไม่ชอบ ไม่อ่านมาก ๆ ในวันนั้น ก็คงไม่มีวันที่จะมานั่งเขียนอะไรต่างๆ ในวันนี้… นี่เอง
บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 05/11/2017