Pokémon Go Marketing เป็นสิ่งที่ต้องพูดถึง

by

| Home » บทความธุรกิจ-การตลาด » การบริหาร การจัดการ » Pokémon Go Marketing เป็นสิ่งที่ต้องพูดถึง |


กระแสความแรงของเกมส์ Pokémon Go ที่พัฒนาโดยบริษัท Niantic และถือว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดย Nintendo ที่ตอนนี้หุ้น บริษัทพุ่งราว 30% เพียงเพราะเกมส์เพียงเกมส์เดียว ถือว่าไม่ธรรมดา (ข่าวล่าสุด ราคาหุ้นร่วงลงแรงเพราะได้ข้อเท็จจริงว่า Nintendo มีส่วนเกี่ยวข้องและได้รายได้จากเกมส์นี้ไม่มาก) คงเห็นกันตาม Social Network และสื่อต่างๆ กันมากมาย แม้อาจไม่เคยสนใจหรือรู้จัก วันนี้ก็ต้องมาโหนกระแสเรื่องราวของการคาดการในการทำ Pokémon Go Marketing กันเอาไว้เสียหน่อย

*หมายเหตุ บทความนี้ลงไว้เมื่อวันที่ 28 มิถุนา ซึ่งเกมส์ยังไม่เปิดให้บริการในประเทศไทย หลังจากเปิดบริการเมื่อวันที่ 6 กรกฏาคม 2559 ผู้เขียนจึงเพิ่มเติมบทความ Update ไว้ตอนท้าย

โลโก้ของ pokemon จาก wikipedia
โลโก้ของ pokemon จาก wikipedia

รูปแบบเกมส์

แม้ว่ากระแสจะแรงมากแค่ไหน แต่ก็มีหลายคนที่ไม่รู้จักเกมส์นี้เลย จึงแนะนำให้ฟังกันคร่าวๆ ว่า เกมส์นี้นั้นพัฒนามาตั้งแต่ 1996 จากรูปแบบหนึ่ง จนกลายเป็น เฟรนไชน์ซีรี่ ทั้งการ์ตูน หนัง และเกมส์อื่นๆ ซึ่งเนื้อหาหลักเป็นเรื่องราวของการจับสัตว์ประหลาด(นิยายแฟนซี) ต่างๆ มาฝึกเพื่อต่อสู้กัน และสัตว์เหล่านี้เรียกว่า Pokémon ซึ่งมีมากมายในเนื้อเรื่องและแต่ละตัวก็มีคุณสมบัติ ที่มาที่ไปต่างๆ กัน และนี่หมายความว่า เกมส์นี้ผู้เล่นต้องตามล่าหาไปยังที่ต่างๆ บนโลกจริง เสมือนในการ์ตูน

โดยการใช้โทรศัพท์มือถือ หรือ smart device ต่างๆ เหล่านี้ที่มีเทคโนโลยีด้าน gps จับตำแหน่งพื้นที่จริงเพื่อให้ปรากฎ Pokémon ขึ้นมาที่หน้าจอแล้วทำการจับมาเป็นของตัวเอง เลี้ยง ฝึก และอื่นๆ เพื่อนำไปต่อสู้กับคนอื่นได้ นี่คือรูปแบบเกมส์คร่าวๆ

ภาพประกอบการเล่นเกมส์ Pokémon GO
ภาพประกอบการเล่นเกมส์จาก Youtube : Pokémon GO

คาดการรายได้เกมส์

แหล่งรายได้ของเกมส์นี้ก็เหมือนเกมส์ออนไลน์ทั่วไปโดยเริ่มต้นย่อมมาจากการขาย ไอเทม (item) ของใช้ในเกมส์ และส่วนเสริมการเล่นต่างๆ ภายในเกมส์ สิ่งที่มากกว่าและน่าสนใจคือเกมส์นี้เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีตรวจจับสถานที่ location กับอุปกรณ์ของเรา หรือเทคโนโลยีจับตำแหน่งที่เข้าใจง่ายๆ อย่าง gps ดังที่บอกไปก่อนหน้านี้ ประกอบกับเทคนิคการสร้างภาพซ้อนทับภาพจริง Augmented Reality (AR) อธิบายให้เห็นภาพก็คือกล้องวีดีโอของมือถือ ส่องมองเห็นสถานที่รอบๆ ตัวแล้วมีเจ้าเหล่า Pokémon โผล่ออกมา.. ซึ่งมันก็จะมีโฆษณาขึ้นมาได้ด้วยเช่นกัน

การติดสปอนเซอร์ ตามส่วนต่างๆ ของเกมส์ เช่น เกมส์นี้ออกแบบมาให้ Pokémon สู้กันดังนี้จะมีจุดที่เป็น Training Center ที่เหล่านั่นก็แสดงโฆษณาลักษณะ เป็นสปอนเซอร์ได้ ไม่นับรวมการทำกิจกรรมร่วมกับเกมส์ในหลายรูปแบบ เช่น ไอเทมแจกฟรีมีโลโก้สปอเซอร์ ติด เป็นเจ้าภาพ หรือ code รหัสที่ได้จากการซื้อสินค้าเพื่อนำไปแลกไอเทม ที่เกมส์อื่นๆ เคยทำมาแล้ว เหล่านี้คือนักการตลาดต่างสนใจหากเปิดให้บริการออกมา

ปัจจัยความสำเร็จของ Pokémon Go

เกมส์นี้ไม่ใช่เกมส์ที่แปลกใหม่เสียทั้งหมด เพราะผู้พัฒนาเกมส์ ได้สร้างเกมส์ที่ใช้เทคโนโลยีหรือรูปแบบ แบบนี้มาก่อนแล้วคือเกมส์ Ingress ซึ่งก็ได้รับความนิยมในระดับหนึ่งจากผู้เล่นในแวดวงเท่านั้น ทว่าเมื่อเกมส์มี History ที่มาที่ไป เรื่องราว หรือการเชื่อมโยงกับสิ่งที่เป็นที่รู้จักและนิยมอยู่แล้วเข้ามาเสริม จึงทำให้ “ความเข้าใจ” ของผู้บริโภคเกิดง่ายขึ้น และแน่นอนว่า การมีเรื่องราว ตัวละคร เป็นสิ่งกระตุ้นให้น่าสนใจกว่าเกมส์เดิมอย่างเด่นชัด

และความสอดคล้องที่สามารถทำให้โลกของเกมส์ การ์ตูน ใกล้เคียงความเป็นจริง เติมเต็มจินตนาที่สนุกสนานได้ และเพราะมันใช้โลกจริงร่วมด้วยนี่เอง ความน่าสนใจยิ่งมากขึ้น เรียกว่าเป็นองค์ประกอบที่เกมส์อื่นๆ ยากจะเลียนแบบได้

หากจะมองแง่หลักการ โดยสรุปอธิบายเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ แล้วกลยุทธ์ การตามผู้นำ หรือโหนกระแส(ที่ถูกต้อง) เป็นสิ่งที่นักการตลาดมักไม่มองข้าม จากสิ่งที่เขียนมาคงพอเห็นว่า Pokémon Go มีปัจจัยการตลาดอย่างไร และน่าสนใจอย่างไรกันไปพอสมควร ที่เหลือก็ดูว่า หากเข้ามาในประเทศเรา อะไรที่จับต้องกันได้อีก ที่แน่ๆ สถานที่ที่เป็นแหล่งเกิด Pokémon ดีๆ ที่นั่นมีคนไปขายของแน่นอน..

คลิปแนะนำเกมส์

Update ไทยแลนด์มาแล้ว

*อัพเดตเนื้อหาหลังจากเกมส์เปิดตัว เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2559

และแล้วตัวเกมส์ก็ได้เปิดบริการในวันที่ 6 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งใกล้วันลงประชามติของบ้านเรา ทำให้กลบกระแสไปพอควร(ฮ่า) และทันทีที่เปิด ก็ได้เห็นว่ามีการทำการตลาดร่วมทันทีมากมาย ซึ่งรายแรกออกตัวแรงตั้งแต่ยังไม่เข้ามาก็คือกลุ่ม True (มือถือ) ที่มีลิขสิทธิ์ Content Pokémon อยู่ในมืออยู่แล้ว ซึ่งน่าจะมีตามมาอีกกับธุรกิจในเครือ ไม่ว่าจะเป็นส่วนอินเตอร์เน็ต เคเบิ้ลทีวี หรือแม้แต่ 7 eleven และหลายแบรนด์ต่างรุมเตรียมจัด Event กันแล้วคาดว่าต่างอยู่ในระหว่างวางแผน จัดงานหรือเตรียมงาน

สิ่งที่น่าสนใจคือ ก็มีธุรกิจรายย่อยหลายรายใช้กลยุทธ์เกาะกระแสทันที ร่วมกับการทำ Promotion ง่ายๆ อย่างการลดราคาเมื่อแสดงว่าคุณอยู่ ทีมไหนในเกมส์!! บ้างก็ใช้วิธีประชาสัมพันธ์เกาะกระแสธรรมดาว่า ที่ร้านเรามีตัวนั้นตัวนี้ มี PokeStop (จุดรับของที่ต้องใช้จากเกมส์ เช่น ลูกบอลที่ใช้จับตัว Pokémon) โดย Social Network ยังเป็นเครื่องมือร่วมที่สำคัญ

อีกกลยุทธ์การตลาด Pokémon Go ที่น่าสนใจคือการเปิดใช้ ไอเทมที่มีชื่อว่า Lure Modules เป็นของที่เรียกให้ Pokémon มาเกิดรอบๆ ตัวภายใน 30 นาที “โอ้ นี่มันเยี่ยมมาก เพราะไม่ต้องวิ่งหา” ดังนั้นสถานที่ที่หัวใส จึงใช้วิธีนี้เรียกลูกค้า เพราะว่า เมื่อมีคนใช้ไอเทม Lure Modules นี้แล้วคนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ๆ ก็สามารถจับได้เช่นกัน สถานที่ผมเห็นว่าใช้ชัดเจนคือ Siam Paragon ที่เขาประกาศว่า เปิดทุกจุด(เสา) ที่มีของห้างเลยทีเดียว

ต้นทุนการใช้ Lure Modules

ผมลองดู(ตามราคาปัจจุบัน) พบว่า ไอเทมนี้มีราคาซื้อได้ถูกสุดที่ อันละ 85 เหรียญ(เกมส์) ซึ่งคิดเป็นเงินไทยถูกสุดอยู่ที่ เหรียญละ

0.241 บาท นั่นหมายความว่า Lure Modules ตกอันละ 85×0.241= 20.485 บาท เปิดหนึ่งครั้งอยู่ได้ ครึ่งชั่วโมง หากเปิดตลอดซัก 6 ชั่วโมงจะใช้ 12 อัน นี่เท่ากับว่า ต้องลงทุน 245.82 บาท ผมมองว่ามันเป็นต้นทุนที่ไม่แพงเลย.. หรือเปิดและพักทุก 15 นาที ครึ่งชั่วโมงก็ไม่เลว สำหรับร้านค้าทั่วไป วันละร้อย สองร้อยกับการลงทุนเรียกคนเข้าร้าน และอย่างห้างใหญ่ๆ นั้นถือว่าเป็นต้นทุนที่ถูกมากทีเดียว

อนาคตหากมีระบบ เทรด (trade) ซื้อ ขาย แลก เปลี่ยน ในเกมส์ได้ แนวทางการทำการตลาดคงเข้มข้นขึ้นอีก ก็ขึ้นอยู่กับว่า กระแสเกมส์นี้ จะยังมีผลแรงขนาดไหน.. อนึ่ง คนไทยเบื่อง่าย และเกมส์ เมื่ออยากพัฒนาหรือเก่งในเกมส์ เงื่อนไขมักมากขึ้น นั่นหมายความว่า ย่อมมีคนเลิกเล่น ไม่สนใจมากขึ้นไปตามตัว ยิ่งหากไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ หรือแค่เล่นตามๆ กระแสเฉยๆ ดังที่บอกไปในตอนต้นแล้วว่า หากทำการตลาดกับสิ่งนี้ ก็ต้องจับเทคโนโลยีและกระแสให้ทันเพราะมันได้ประโยชน์แน่นอน..

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา จากสายด้านธุรกิจ การตลาด สู่การจัดการบุคคลากร และว่าที่นักจิตวิทยาการปรึกษา
แสดงความคิดเห็น