หยุด “เกรงใจ” หากอยากให้องค์กรพัฒนา

by

| Home » บทความดีๆ » Office Chit-Chat » หยุด “เกรงใจ” หากอยากให้องค์กรพัฒนา |


วันก่อนได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่คนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องการฝึกภาษา เนื่องจากองค์กรได้เล็งเห็นประโยชน์ของการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาอังกฤษให้กับพนักงาน เพื่อเป็นประโยชน์ในการติดต่อสื่อสาร โต้ตอบในงาน เพื่อทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น จึงได้ส่งพนักงานที่ประเมินแล้วว่า มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ภาษาในชีวิตประจำวัน แต่ยังคงมี Level ภาษาอยู่ในเกณฑ์ที่อ่อนด้อย ไปเข้าคลาสกับเจ้าของภาษาเพื่อให้สามารถพัฒนาทักษะของตนเอง ให้สามารถนำมาในการปฏิบัติงาน ได้อย่างลื่นไหล และไม่เป็นอุปสรรค

ผ่านการเข้าคลาสอย่างต่อเนื่องไปหลายชั่วโมง เป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน แน่นอนค่ะ ว่าพี่คนนี้ได้กลับมาเล่าอย่างภาคภูมิใจ ถึงสิ่งดีๆ ที่ได้รับมา และสิ่งที่เค้าประทับใจมากที่สุด นั่นก็คือการเปิดโอกาสให้ถามตอบ ถึงคำศัพท์ และประโยคบางประโยค ที่เคยคิดจะใช้กับคนต่างชาติ แต่ไม่รู้ว่าจะสื่อสารอย่างไร ในระหว่างที่เจ๊เค้ากำลังเล่าถึงเหตุการณ์ตัวอย่างที่ได้เจอมาในคลาสอย่างเมามัน ก็มีคำ คำหนึ่ง ที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว นั่นก็คือ คำว่า “เกรงใจ” อยากจะบอกชาวต่างชาติเหลือเกิน ว่า I เกรงใจนะ แต่ไม่รู้จะบอกอย่างไร และแล้วคำตอบที่อาจารย์ชาวต่างชาติตอบกลับมานั่นก็คือ ภาษาอังกฤษ “ไม่มี” คำว่า “เกรงใจ” You ชอบ หรือไม่ชอบอะไร ทำไมไม่บอกออกเลยไปเลยตรงๆ ล่ะ…น่าแปลกใจมั้ยคะ?

ฟังมาถึงตรงนี้ เป็นประโยคที่ชวนคิดอะไรต่อได้อย่างมากมาย คนที่ทำงานอยู่ในองค์กรของบริษัทต่างชาติน่าจะพอนึกภาพกันออก บางครั้งด้วยวัฒนธรรมของคนไทย ที่อ่อนน้อมถ่อมตน ประนีประนอม มักจะเกรงใจ ไม่กล้าปฏิเสธ ไม่กล้าพูดความจริง มันกลับกลายเป็นจุดอ่อน ที่กำลังทำลายความก้าวหน้าในองค์กร ให้เดินต่อไปข้างหน้าได้ยาก

คนไทย มักโอนอ่อนผ่อนตามในทุกสถานการณ์
ด้วยคำว่า เกรงใจ
ในขณะที่ชาวต่างชาติ ตรงไปตรงมา ชอบ คือ ชอบ ไม่ คือ ไม่
ไม่มีคำว่า เกรงใจ
และในที่สุด คำว่าเกรงใจ ดันกลายเป็นจุดอ่อน จุดหนึ่ง
ที่ทำลายความก้าวหน้าในองค์กร

เคยเจอสถานการณ์แบบนี้บ้างไหมคะ? เมื่อมีการประชุมแต่ละครั้ง จะมีคำถามก่อนการปิดประชุมเสมอ “ใครมีอะไรจะถาม หรือคอมเม้นท์อีกมั้ย?” สิ่งที่ทุกคนในห้องตอบสนองกลับไปยังคำถามนี้ก็คือ…ความเงียบ แต่เมื่อประตูห้องประชุมถูกเปิดออก ต่างก็ได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอีกมากมาย “ทำไมถึงไม่ทำอย่างนั้น” “ทำไมถึงไม่ทำอย่างนี้” “ที่ฟังมาเมื่อกี้ไม่เห็นดีเลย จริงๆน่าจะเป็นอีกแบบหนึ่งมากกว่า” บลาๆๆ เยอะแยะมากมาย และที่เลวร้ายไปกว่านั้น ผ่านไปสักระยะหนึ่ง หากสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่เป็นไปตามสิ่งที่ผู้ Present ได้นำเสนอไป หรือไม่ได้เป็นไปตามที่ได้สรุปในห้องประชุม ประโยคที่จะตามมานั่นคือ “นั่นไง!!! เห็นมั้ยล่ะ ฉันว่าแล้วเชียว….” กลับไปซ้ำเติมเค้าเข้าไปอีก

เหตุการณ์เหล่านี้ ส่วนหนึ่งเกิดมาจากความ “เกรงใจ” ไม่กล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์ ไม่กล้าออกความคิดเห็น ว่าชอบ หรือไม่ชอบ อาจเป็นเพราะว่า คนที่ Present มีตำแหน่งใหญ่กว่า หรืออาจเป็นเพราะอยากรักษาน้ำใจ ไม่อยากให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ในอีกทางหนึ่งคือคิดว่าเสนอไปก็เท่านั้น เพราะฉะนั้น เงียบไว้ดีกว่า ท้ายที่สุดแล้ว ปัญหาต่างๆ ก็ไม่ได้ถูกคลี่คลายอย่างทันท่วงที จึงอาจจะกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่อาจจะวนกลับมาเกิดใหม่ได้อีก เพราะไม่มีการเสนอแนวทางใหม่ ๆ ที่จะทำให้ ปัญหาเหล่านั้นได้ถูกขจัดออกไปอย่างถาวร แทนที่จะได้ใช้เวลาเพื่อไปคิดค้นหาทางพัฒนาองค์กรให้ดียิ่งขึ้น กลับต้องมานั่งแก้ปัญหาเดิมๆ ที่คาราคาซังไม่จบไม่สิ้นสักที

องค์กรไม่พัฒนา
เพราะไม่กล้า…ปฎิเสธ

ในอีกกรณีหนึ่ง ด้วยนิสัยพื้นฐานของคนไทย มักจะค่อนข้างรักษาสัมพันธภาพ ถนอมน้ำใจแบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น จึงมักจะ “ไม่กล้าปฎิเสธ” ความเกรงใจเลยกลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมขององค์กรซะงั้น ใครเสนออะไรมาก็ “แจ๋วครับพี่ ดีครับท่าน” เฮละโล ทำตามน้ำกัน เมื่อพลาดขึ้นมา ก็ดับทั้งองค์กร ในขณะที่คนต่างชาติจะกล้าเสนอความคิดเห็นมากกว่า หากเรื่องไหนไม่ดี ไม่เหมาะ ไม่ควร เค้าพร้อมที่จะค้าน เพื่อที่จะเสนอแนวทางใหม่ๆ ให้องค์กรได้พัฒนาไปในทางที่ดียิ่งขึ้น

คนไทยบางกลุ่ม ยิ่งเจอคนต่างชาติ ก็ยิ่งกลัว อาจจะเป็นเพราะด้วยจุดอ่อนทางด้านภาษาในการสื่อสาร หรืออาจจะเป็นเพราะเค้าตัวใหญ่กว่าเราก็ไม่รู้ ยิ่งทำให้ไม่กล้าพูด ไม่กล้านำเสนอ ไม่กล้าค้าน บวกกับความขี้เกรงใจเป็นทุนเดิม ก็ยิ่งทำให้ไปกันใหญ่

อย่างไรก็ตาม “ความเกรงใจ” และความอ่อนน้อมถ่อมตนตามแบบฉบับของคนไทย ใช่ว่าจะไม่ดีนะคะ จริงๆ แล้วมันคือเสน่ห์ คือความน่ารักของความเป็นคนไทย ที่ประเทศอื่นๆ ต่างยกย่องชื่นชม แต่ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพราะทุกอย่างมี 2 ด้านเสมอ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าอ่านบทความ บทนี้จบ จะทำให้ผู้อ่านกลายเป็นคนก้าวร้าว เลิกนิสัยเกรงใจคนอื่นซะอย่างนั้น การเสนอแนวคิด การชี้ถูกชี้ผิด การรับหรือปฏิเสธ ไม่จำเป็นต้องแสดงออกมาอย่างดุดัน มันยังมีหลายๆ วิธีในการสื่อสารและแสดงออกมาเช่นกัน เพียงแค่เรากล้าที่จะพูดในสิ่งที่ควรพูด และทำในสิ่งที่ควรทำ เพื่อให้งานและปัญหาต่างๆ ได้ถูกปรับปรุงและคลี่คลาย

ที่มาเล่าให้ฟัง ก็เพราะอยากให้เห็นถึงความแตกต่าง ทางด้านแนวคิด และการปฏิบัติ ในบางสถานการณ์ เราไม่ควรจะต้องเกรงใจ แต่ควรกล้าที่จะปฎิบัติและนำเสนอในสิ่งที่ดี มีประโยชน์ เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า กล้าให้เกิดการปฏิบัติในทางแนวทางใหม่ๆ เพื่อให้องค์กรได้แก้ปัญหา และพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นได้

ในอีกทางหนึ่งก็คือ คนในองค์กร ก็จะต้องกล้าที่จะเปิดรับกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้อื่นให้มากขึ้น ไม่ปิดกั้นความคิดเห็น ลดความเป็นอีโก้ลง ลดการแบ่งชั้นวรรณะ เพื่อลดช่องว่างระหว่างตำแหน่ง จะยิ่งทำให้องค์กรเริ่มเข้มแข็ง และสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วนั่นเองค่ะ

บทความโดย : Sine Ratcharak

หยุดเกรงใจ บทความน่าอ่าน

Sine Ratcharak Avatar
แสดงความคิดเห็น