เวลาที่มีคนมาชื่นชมเราสักเรื่องหนึ่ง ย่อมทำให้เรารู้สึกดี ซึ่งหากยังคงได้รับการชื่นชมต่อไปอีก ก็จะกลายเป็นความชื่นชอบ ติดตาม ไปจนถึงมีคนมาเชื่อมั่น ภาวะนั้นเรารู้สึกอย่างไร? แล้วหากถ้าวันหนึ่งเราเกิดทำอะไรให้เขาผิดหวัง จะโดยความผิดพลาดของเรา หรือเพียงแค่ “ไม่ตรงใจ” เขาเหมือนที่ผ่านมา ถึงเวลานั้นเราจะรู้สึกอย่างไร?
แม้จะเป็นสิ่งที่พอทราบดีว่า “เราไม่อาจทำให้ใครถูกใจได้ทุกเรื่อง” แต่หากอยู่ในสถานะถูกชื่นชอบหรือยกย่องไปแล้ว ย่อมมีแรงกดดันจากคำว่า “ผิดหวัง” จากผู้ที่ชื่นชมเราให้รู้สึกได้เสมอ
แรงกดดันนั้น อาจเป็นทั้งด้านดี และด้านไม่ดี ในด้านดีคือทำให้เราพยายามพัฒนาต่อเพื่อทำสิ่งดี ๆ ให้ผู้คนเหล่านั้นชื่นชมชื่นชอบต่อไป แต่ในด้านไม่ดี คือทำให้เรากลายเป็นผู้ยึดติด จนหลงลืมไปว่า ข้อผิดพลาดหรือคำวิจารณ์บางอย่างนั้นเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยหรือส่วนน้อย และผลของมันอาจมีแนวโน้มให้พยายามในสิ่งผิด วิธีที่ผิดเพื่อหวังความรู้สึกเดิมคืนมาจนกลายเป็นว่ามันแย่ได้
เช่น การที่เราเคยให้คำปรึกษาใครคนหนึ่งแล้วเขาฟังเราตลอดมา จนชื่นชมเรา แล้วมีอีกคนหรือคนเดิมก็ตามขอคำปรึกษาใหม่แล้วดูเขาไม่ชอบ ไม่เชื่อเหมือนเช่นเดิม เรามีอาจแนวโน้มที่จะพยายามไปในหลากหลายวิธีที่จะให้เขากลับมาชอบ มาฟังเรา ซึ่งนั่นเรากำลังมีอคติ (bias) ไปแล้วในการให้คำปรึกษานั้น ย่อมทำให้เหตุและผลที่เราวิเคราะห์อาจไม่ดีพอ เพราะตอนนี้เรากำลังแค่ให้คำปรึกษาเพียงเพื่อให้อีกฝ่ายพึงพอใจให้ได้ มากกว่าแง่คิดที่ดีต่อเขาจริง ๆ
มันดีแล้ว ที่เขาผิดหวัง
จริงอยู่คนเราคงไม่อยากทำให้ใครผิดหวัง โดยอย่างยิ่งกับเรื่องทางศีลธรรม หรือคำมั่นสัญญา คงไม่ควรให้ใครผิดหวัง แต่สำหรับการให้คำแนะนำ หรือการช่วยเหลือใครนั้น คงไม่จำเป็น เพราะไม่ใช่แค่เราเอาใจทุกคนไม่ได้ แต่มันยังหมายถึงโอกาสที่เราจะอคติหรือหลงตัว หยุดพัฒนาตนเอง ดังที่กล่าวไปแล้ว และยังมีอีกสิ่งที่สำคัญกว่า นั่นคือ “จุดเริ่มต้น”
หากย้อนคิดทบทวนไป หลายความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงเราย่อมมีสิ่งกังขาไปจนถึงต่อต้าน เดิมทีเรารู้สึกได้ แต่ในตอนเปลี่ยนแปลงแล้วจะลืมไปเลยด้วยซ้ำว่าเราเคยต่อต้านสิ่งนั้น เพราะหลายความเชื่อต้องถูกเปลี่ยนในแบบค่อย ๆ เปลี่ยนไป จึงทำให้เราลืมได้ว่าเราเคยไม่ชอบแนวคิดนั้น ไม่เชื่อเรื่องนั้นเอาเสียเลย
จึงไม่แปลกใจว่าหากสิ่งใดที่เราแนะนำหรือให้ความเห็นไปแล้วเขาไม่อยากรับ ไม่อยากเข้าใจ นั่นเพราะสิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะเห็นได้ง่ายในวันนี้ เพราะบางทีมันอาจเป็นแค่ “จุดเริ่มต้น” สำหรับเขาเท่านั้น
ทั้งหมดนี่ก็คล้ายกับงานเขียน บทความ/คำคม ต่าง ๆ ที่ผมพยายามถ่ายทอด บางเรื่องอาจประทับใจ บางเรื่องอาจเฉย ๆ และบางเรื่องอาจมีที่รู้สึกไม่ชอบใจ ด้วยที่มันไม่ดีจริง ๆ แค่ไม่ถูกใจ หรือไม่เข้าใจก็ตาม นั่นคือความปกติของคำแนะนำหรือความคิดเห็น เพราะมีปัจจัยมากมายที่ทำให้เราไม่ชอบใจมากกว่าชอบใจ
ดีที่สุด ระหว่างเรา
นี่คือภาวะที่ดีที่สุดจริง ๆ ที่เราไม่ต้องคล้อยตามกันไปเสียหมด เพราะหากทุกข้อเขียนและแนวคิดที่นำเสนอออกไป เราเชื่อหมด ดีหมด นั่นเริ่มเข้าข่ายงมงาย ไร้ซึ่งการพิจารณา แม้จะเป็นเรื่องที่ดีแต่คุณสมบัติไตร่ตรองด้วยตนเองย่อมลดลง มันก็ยากที่จะพัฒนาตนเองได้เพราะปัจจัยบุคคลของใครย่อมของมัน
และอีกด้าน หากข้อคิดใดมีคนไม่เห็นด้วย ไม่ชอบ ไม่เข้าใจ มันก็จะสะท้อนให้ผู้เขียน/ผู้แนะนำ(เช่นผม) ได้ทบทวนทั้งเนื้อหา และวิธิการให้ดีขึ้นไปอีก ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วหลาย ๆ เรื่องก็ใช่ว่าจะเหมาะหรือสอดคล้องกับทุกคนในทุกกรณีอยู่แล้ว จึงเป็นการดีที่จะได้พิจารณาให้ละเอียดยิ่งขึ้น เพราะที่สุดแล้ว เปรียบคล้ายผู้ให้และผู้รับ ผู้ให้ที่คิดว่าตนเลิศเลอ กับ ผู้รับที่ปิดใจ อย่างไรประโยชน์ก็ไม่มีวันเกิด เพราะผู้ให้ย่อมเป็นผู้รับในทางหนึ่ง และผู้รับก็เป็นผู้ให้สะท้อนกลับได้เสมอเช่นกัน
ขอบพระคุณที่ติดตามกันมาอีกหนึ่งปี แม้จะอ่านบ้าง ไม่อ่านบ้าง ไม่ได้กลับมาอ่านแล้วบ้าง เพราะชอบบ้างไม่ชอบบ้าง และ มันดีแล้วที่ผมทำให้คุณผิดหวัง ขอให้ปีหน้าเป็นปีที่ดีกว่านี้ครับ 🙂
บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 20/12/2022