ถ้าใครสนใจเรื่องเทคโนโลยี อย่างโทรศัพท์มือถืออยู่บ้าง ประกอบกับเรื่องของตลาดของโทรศัพท์มือถือ นอกจาก Samsung, Apple แล้ว ทุกวันนี้ แบรนด์จีน เริ่มเข้ามาครองตลาดโลกได้อย่างทัดเทียม ไม่ว่าจะเป็น Oppo, Huawei, Vivo, Lenovo, HTC และอื่นๆ อีกที่บ้านเรารู้จักบ้างไม่รู้จักกันบ้าง ทั้งยังมี Sony, Asus, Motorola และล่าสุดอย่าง Pixel แบรนด์ของ Google ที่แม้จะ oem ให้ HTC ผลิตให้ แต่ก็ถือว่าเป็น Google ที่ลงมาเล่นตลาดโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟนเอง ซึ่งทุกยี่ห้อที่กล่าวมานั้น ล้วนมีการใช้ CPU Shipset หรือของ Qualcomm ทั้งสิ้น ยกเว้นก็แต่ Apple ที่ออกแบบและจ้าง Samsung กับ TSMC (บ.ผลิตชิพในไต้หวัน) ผลิตให้ในปัจจุบัน (ค.ศ.2016) วันนี้ขอนำเสนอมุมมองธุรกิจที่น่าสนใจแบบหนึ่ง ลองๆ ติดตามกันดู
Qualcomm เป็นใคร?
เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน ที่เมือง ซานดิเอโก้ (San diego) ก่อตั้งโดย อาจารย์และศิษย์เก่าจาก มหาวิทยาลัยชื่อดังอย่าง Cornell, MIT และ UC San Diego ตั้งแต่ปี 1985 และทำงานด้านอุปกรณ์สื่อสารมาเรื่อยๆ (ขอไม่ลงรายละเอียดมากนัก) เป็นบริษัทที่ให้กำเนิด CPU และ Shipset สำคัญในแบรนด์ที่ชื่อว่า Snapdragon ที่หลายคนอาจเคยได้ยิน เริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2005 และเริ่มใช้ปี 2007 จนเข้าไปอยู่ในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนหลายรุ่น ในปี 2009 เรื่อยมาจนปัจจุบัน
สำคัญอย่างไร?
ด้วยความที่โทรศัพท์มือถือทุกวันนี้ล้วนเป็นสิ่งที่เรียกอีกชื่อว่า สมาร์ทโฟน มันประดุจเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องเล็กๆ ในตัวมากกว่าโทรศัพท์แล้ว ดังนั้นเจ้า CPU (Central Processing Unit) หรือหน่วยประมวลผลกลางที่เราเข้าใจกันง่ายๆ ว่าแผงวงจรในเครื่องก็ได้นี้ ยังไงเสีย สมาร์ทโฟนก็ต้องมีทุกเครื่อง เดิมที่นั้นถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ เราอาจเคยได้ยินหรือรู้จัก CPU ในยี่ห้อ Intel และ AMD แต่สำหรับอุปกรณ์พกพานั้นจำเป็นต้องใช้สถาปัตย์ของ CPU อีกแบบที่นิยมว่า ARM (เจ้าของลิขสิทธิ์อีกที นี่ก็น่าจะรวยสบายไป) แม้ว่า Intel ก็มี CPU โทรศัพท์ออกมาแต่ความนิยมน้อยนิดจนไม่เรียกว่าคู่แข่งเลยในปัจจุบัน แต่ไม่ใช่เท่านี้ก็ยังมีผู้ผลิต CPU ออกมาหลายราย เพราะมูลค่าการตลาดมันสูงเหลือเกิน และ Qualcomm เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งไม่ได้มี CPU รุ่นเดียวมีหลายรุ่นตามยุค และตามระดับ(ความแรง – ราคา) ทำให้ช่วงที่หลายปีที่ผ่านมาตอนรุ่งเรืองสุดๆ นั้นดูเหมือนจะอยู่ในโทรศัพท์มือถือเกินครึ่งของรุ่นที่มีอยู่ในโลก (ไม่ยืนยัน)
แล้วทำไมต้อง Qualcomm
ในปี 2016 นี้ Qualcomm เคลมที่งาน Global Mobile Internet Conference (จัดที่ประเทศจีน) ว่ามีอุปกรณ์กว่าร้อยรุ่นที่ใช้ชิพเซ็ทตัวล่าสุด(ที่ทำตลาด แต่ไม่ใช่รุ่นล่าสุด – ข่าวอ้างอิง) คือ Snapdragon 820 ซึ่งถ้าเฉพาะโทรศัพท์มือถือตัวเรือธงอย่างเช่น Samsung Galaxy S7, LG G5, HTC10, Sony Experia XZ และเกือบทุกรุ่นเรืองธงแบรนด์ดังของจีนต่างๆ และล่าสุดกว่ากับ Google Pixel ที่ใช้ Snapdragon 821 นี่หมายถึงแม้แต่เรือธงที่ Google ตั้งใจจะเอามาชน iPhone ก็ยังใช้
ไม่เพียงพวกรุ่นเรือธงราคาแพงเท่านั้น เพราะดังที่ได้กล่าวไปว่ายังมี CPU ระดับกลางและล่างตระกูลนี้อีกหลายรุ่น หลายสมาร์ทโฟนที่คงมานั่งไล่บอกกันไม่ไหว
นี่จึงเป็นเหตุผลที่บอกว่า ยี่ห้อไหนขายดีก็ได้!! ซึ่งเมื่อเปรียบกับปัญหากรณีล่าสุดอย่าง Samsung Note 7 ที่มีการใช้ CPU สองรุ่นคือทั้ง Snapdragon 820 และ Exynos 8890 โดยเหตุการณ์ Note 7 ระเบิดนี้ส่งผลกระทบต่อ Samsung อย่างมากทว่า ไม่น่าจะมีผลอะไรมากนักกับ Qualcomm เพราะก็มีอีกหลายยี่ห้อหลายรุ่นที่ใช้ดังที่ได้บอกไปแล้ว
คู่แข่ง?
ประเด็นแรกที่ต้องทำความเข้าใจคือ CPU ของ Qualcomm จะอยู่บนสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android ที่มีหลากหลายยี่ห้อผลิตและใช้กันออกมา เว้นก็แต่เพียง iPhone, iPad ของ Apple และแม้ว่าจะมีตลาดขนาดใหญ่แต่หากนับจำนวนกันจริงในทุกระดับของสมาร์ทโฟนต้องยอมรับว่า Android มีมากกว่าจากข้อมูลล่าสุดจากผู้ใช้ทั่วโลกพบว่าเป็น Android ถึง 87.6% และ ios เพียง 11.7% (Q2/2559 ที่มา idc) ซึ่งคู่แข่งที่สำคัญในการผลิต CPU มือถือ Android นี้คือ MediaTek บริษัทจากไต้หวัน แต่ความนิยมย่อมถือว่าเป็นรองสังเกตุได้จากเหล่าแบรนด์ต่างๆ เลือกใช้ CPU อะไรและผลการประเมินต่างๆ จาก Qualcomm มักจะเหนือกว่าด้วยนั่นเอง
นอกจากนี้ Samsung ที่เป็นบริษัทผู้ผลิตชิพระดับโลก (ผลิต CPU Series A ให้ iPhone ด้วย) ก็มีของตัวเองเหมือนกันในชื่อ Exynos แม้จะใส่ในมือถือเรือธงของตัวเองด้วย ทว่ายี่ห้ออื่นไม่ได้นำไปใช้เท่าใดนัก Huawei จากจีนก็มี HiSilicon และ Intel Atom จาก Intel นั่นเอง ซึ่งหากมองตลาดรวมดังที่กล่าวไปแล้ว นอกจาก MediaTek แล้วยี่ห้ออื่นน่าจะยังห่างไกลโดยดูจากรุ่นต่างๆ ในท้องตลาดที่ผ่านมา
ความน่าสนใจ
แม้ว่า Qualcomm จะไม่ได้มีความมั่งคั่ง หวือหวาทางธุรกิจอะไรในสายตาคนทั่วไป แต่หากมองภาพรวมก็จะเห็นว่ามั่นคงไม่น้อยทีเดียว ซึ่งบทความนี้เพียงเปิดมุมมองธุรกิจบางประเภท ที่จะว่าไปแล้วอาจดีกว่าการอยู่แถวหน้าของผู้บริโภคบนความเสี่ยงของแบรนด์โดยตรง แต่ปัจจุบันก็มีผู้บริโภคกลุ่มใหญ่มองเป็นส่วนหนึ่งที่ให้ความไว้วางใจและมีผลต่อการตัดสินใจผู้ซื้อไม่น้อย เหมือนที่ Intel เคยทำไว้ และก็เห็นได้ว่า Intel ยังคงมั่นคงอยู่ได้มากกว่า บริษัทขายคอมพิวเตอร์, Notebook หลายๆ แบรนด์ที่ปิดตัวลงไปในธุรกิจขาลง
นี่เกิดจากจุดสังเกตที่ผมเกิดนึกขึ้นมา จึงกลายเป็นบทความธุรกิจบทความนี้น่าจะเปิดมุมมอง แนวคิดการทำธุรกิจบางอย่างได้ การทำธุรกิจไม่จำเป็นต้องสร้างแบรนด์ปลายน้ำหรือ B2C (ขายตรงสู่ผู้บริโภคทั่วไป) แต่การเป็นส่วนหนึ่ง หรือเบื้องหลังสินค้าที่เป็นกระแส ขายดี หรือมีความนิยม แม่ไม่รวยอื้อซ่า แต่ก็ได้มาซึ่งความเสี่ยงที่น้อยกว่า (อาจขึ้นอยู่กับการบริหารเครดิตด้วย) ทั้งหมดนี่ก็น่าจะเป็นแนวทางการลงทุนที่ไม่เลวเลย จริงไหมครับ