ทัศนคติ แนวคิดต่อ “เงิน” ของคนเรา ผมมองว่า เป็นสิ่งชี้วัด หรือกำหนดชะตาชีวิตของคนเราได้เลยทีเดียว วันนี้ผมขอมาพูดเรื่องเงิน ในมุมต่าง ๆ ที่บางส่วนคุณอาจเคยคิดแบบนี้ บางทีคุณก็ไม่เคยคิดแบบนี้.. บทความการเงินชุดนี้มี 3 ตอนด้วยกัน โดยไม่ต่อเนื่องจะอ่าน ก่อนหลังก็ไม่สำคัญ ซึ่งเป็นบทความเชิงมุมมองไม่ใช่แนะนำการบริหารจัดการการเงินที่มีดี ๆ แนะนำไว้เยอะแล้ว
(หมายเหตุ* ช่วงวิกฤติไวรัสนี้ เป็นเวลาที่ดีที่ให้เราทบทวนเรื่องการเงิน จึงเขียนเกริ่นนำจากสถานการณ์ แต่ถ้าอยากเข้าประเด็นเลย ข้ามไปที่หัวข้อ “เงินสำคัญ แต่ไม่มากเท่า..” ได้เลยครับ)
ปี พ.ศ. 2563 หรือ ค.ศ. 2020 คงเป็นปีหนึ่งของประวัติศาสตร์ ที่คนทำมาหากินทุกคนต้องจดจำไม่ว่ารวย หรือจน และไม่ว่าจะภาคธุรกิจใหญ่ หรือคนรับจ้างรายวัน ล้วนต้องเข้าใจและเห็นความสำคัญของคำว่า “เงินสดในมือ”
วิกฤติส่วนใหญ่คนรวยฆ่าตัวตาย แต่คราวนี้คนจนฆ่าตัวตาย
ถ้าเป็นคนติดตามข่าวสารมาอยู่เรื่อย ๆ ประเทศเรา หรือสังคมโลก เคยผ่านวิกฤติการมาหลายครั้ง ซึ่งแต่ละวิกฤติกระทบด้านการเงินมากน้อยต่างกัน ที่จะกระทบมากก็คือเหล่า วิกฤติการเงิน ตรงตามชื่อ สิ่งที่แตกต่างกันคือ ถ้าเป็นวิกฤติการเงินโดยตรง มักเกิดจากภาคใหญ่ ลงมาสู่ภาคย่อย หรือภาคประชาชน แต่ครั้งนี้ ภาคประชาชนคือผู้ได้รับผลกระทบทันที เพราะนี่ไม่ใช่วิกฤติการเงินโดยตรง และน่าจะถือว่า เป็นวิกฤติอื่น ที่กระทบต่อภาคการเงินมากที่สุด
หากเทียบกับวิกฤติอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การเงินก็เช่น ภัยพิบัติ, การเมือง, การก่อการร้าย, และสงคราม ถ้าไม่นับรวมสงครามโลกแล้ว ผลกระทบส่วนใหญ่จะเกิดต่อ “กลุ่มคน” ไม่ใช่ทุกคน ในวิกฤติการเงินก็เช่นกัน เมื่อมีธุรกิจหนึ่งล้ม แย่ แต่มักมีอีกกลุ่มที่ยืนอยู่ได้ รวมถึงได้ประโยชน์ ในมุมคนระดับกลาง หรือล่าง อาจมีตกงาน แต่ก็แค่ย้ายงาน จากธุรกิจที่ล้ม ไปยังธุรกิจที่ยังอยู่ หรือธุรกิจเกิดใหม่ แม้จะฝืดเคือง กระทบบ้าง แต่ไม่ถึงกับแย่ และหลายครั้งกว่าจะกระทบถึงตัวหลายคน บางทีมันก็ดีขึ้นแล้ว ในวิกฤติการเงินเราจึงได้ข่าวมีนักธุรกิจฆ่าตัวตาย แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ กลายเป็นคนระดับกลาง และล่างที่หมดสิ้นหาทาง แม้ไม่ได้ติดไวรัส แต่ก็ได้รับผลกระทบอาจหนักกว่าคนเป็นไวรัสเสียอีก
เป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับคนหลายกลุ่ม เรื่องหนึ่งที่ตลกร้าย ผมได้ฟังคุณตุ้ม “หนุ่มเมืองจันท์” เล่าในรายการ มีคนหนึ่ง เธอสู้วิกฤตินี้ไม่ไหวตั้งใจเปิดแก๊สทิ้งไว้ตอนนอน พร้อมจะลาโลกไปกันทั้งครอบครัว.. อนิจจา แก๊สหมดไปเสียก่อน เพราะไม่มีเงินซื้อเติมไว้ ครอบครัวเธอเลยรอดมาได้จนวันนี้ นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายกรณีที่ทำให้สะท้อนว่า “เงิน” สำคัญ ต่อชีวิตคน ๆ หนึ่งอย่างไร และวิกฤติปีนี้แย่แค่ไหน เพราะยังมีอีกหลายรายที่เราไม่รู้ข่าวเขาเท่านั้นเอง..
เงินสำคัญ แต่ไม่มากเท่า…
ไบรอัน เป็นเพื่อนกับดอม วันหนึ่งรถของไบรอันมีปัญหา เขาจึงไปปรึกษาที่อู่ของดอม ดอมตรวจดูรถให้ไบรอัน ปรากฏว่าไดชาร์จเสีย ดอมเปลี่ยนให้เรียบร้อย ไบรอันถามว่าราคาเท่าไหร่ ที่จริงก็สัก 4-5 พัน แต่ดอมบอกว่า ไม่เป็นไร “เงินไม่สำคัญ มิตรภาพสำคัญกว่า” ระหว่างนั้นเอง ลูกน้องดอมมาบอกว่า มีลูกค้าคนหนึ่ง มาเปลี่ยนหัวเทียนที่อู่ แล้วไม่ยอมจ่าย เป็นเงิน 900 บาท ลูกค้าอ้างว่าคิดแพงเกินไป ดอมจึงไปเอาเรื่อง รุมอัดลูกค้าคนนะซะน่วม ลูกค้าแจ้งความและดอมถูกจับ..
จากเรื่องสมมติข้างต้น เราเห็นอะไรบ้าง แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องที่สุดโต่งไปเสียหน่อย แต่มันก็ง่ายที่จะเข้าถึง บนความเป็นจริงหลายคนมีภาวะเช่นนี้ คือ “ไม่ให้ความสำคัญกับเงิน” แต่สุดท้ายตัวเอง “เดือดร้อนเพราะเงิน” อยู่เสมอ ๆ
เงินซื้อมิตรภาพไม่ได้ แต่ทำไมเงินทำให้เสียมิตรภาพได้
เงินไม่สำคัญที่สุดหรอกครับ เป็นเรื่องจริง แต่เราก็ล้วนรู้แก่ใจว่า มันก็สำคัญต่อการใช้ชีวิต เพราะมันคือตัวแทนในการแลกเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ถ้าเราคิดดี ๆ ในมุมนี้ตรงที่ว่า “แลกเปลี่ยน” แรงงานแลกเป็นเงิน เงินแลกเป็นอาหาร อาหารเอาไปให้ร่างกายมีแรงเพื่อทำงาน หรือ เงินแลกเป็นสิ่งของ สิ่งของเอามาใช้ดำรงชีวิต ชีวิตได้ดำเนินต่อไปเพื่อทำงานหาเงิน แล้วถ้า เงินแลกน้ำใจ น้ำใจแลกเงิน? เงินซื้อมิตรภาพไม่ได้ แต่ทำไมเงินทำให้เสียมิตรภาพได้? และบางคนยังบอกอีกว่า ที่จริง เงินซื้อได้นะมิตรภาพ อาจยั่งยืนกว่าด้วย อันนี้ก็ต้องลองพิจารณากันไป..
หลายคนเข้าใจดีว่าเงินไม่สามารถแลกเปลี่ยนทุกอย่างได้ อย่างน้อยก็โดยทันที เพราะมีเรื่องของ บรรทัดฐานสังคม (Social norm) กับ บรรทัดฐานการตลาด (Market norm) แบ่งแยก กล่าวคือ เราไม่อาจประเมินแล้วจ่ายเงินให้แม่ที่ทำข้าวเย็นให้เรากิน แล้วแม่จะรู้สึกคุ้มค่า หรือการซื้อดอกไม้ให้ผู้หญิงกับการให้เงินผู้หญิงในมูลค่าที่เท่ากัน แล้วเธอจะรู้สึกเท่ากันได้ ผลลัพธ์ย่อมต่างกัน เพียงแต่บางคนก็ไม่เข้าใจอย่างแท้จริง ชีวิตผูกติดกับแต่สังคม (Social norm) และปมความคิดของตนเองในมุมหนึ่งจึงมองว่าเงินไม่สำคัญ เช่น คุณอาจเก็บดอกไม้ให้แฟน แทนที่จะซื้อได้ แต่คงไปขอข้าวใครมาเลี้ยงเธอ แทนที่จะพาเธอไปเลี้ยงได้ แน่นอนมันต้องใช้เงิน.. ไม่เลี้ยงได้ไหม? ก็ได้ แต่มันก็แค่ทางออกอีกครั้ง ในการหนีเรื่องเงิน ซึ่งเดี๋ยวก็วนมาอีก..
ซึ่งเงินสำคัญแต่ไม่เกี่ยวกับต้องรวยล้น..
ประเด็นอยู่ที่ เราทุกคนล้วนรู้อยู่แก่ใจว่า “เงินสำคัญ” และแน่นอนไม่ได้สำคัญที่สุด ในหลายเวลา สถานการณ์ เราไม่จำเป็นต้องให้เงินมาเกี่ยวข้อง เราไม่จำเป็นต้องหิวกระหายเงินตลอดเวลา แต่เราก็ต้องเรียนรู้ “จัดลำดับความสำคัญ” อย่างเหมาะสมไม่ต่างจากเรื่องอื่นในชีวิต ไม่เช่นนั้น เราก็เหมือนคนเมาสุรา ขาดสติ พอเริ่มเมา ศักดิ์ศรีมา ทิฐิมา ความกล้ามา ความเก่งมา โดยลืมตัวไปว่า อะไรสำคัญบ้าง ถ้าเมาไม่ควรขับ เงินยังไม่มีก็ยังไม่ประมาทกับมัน เหมือนมันไม่มีค่าเลย หลายคนจึงละเลยมันไปในหลาย ๆ ด้านของเงิน ซึ่งมันไม่เกี่ยวกับว่าต้องดิ้นรนเพื่อที่จะรวย..
ปล.พอดอมถูกจับ ไบรอันก็ช่วยอะไรได้ เพราะชีวิตจริงไม่ใช่ในภาพยนตร์
จนหรือรวยก็เป็นคนดีได้.. และเลวได้
ในยุคหนึ่งที่วงดนตรีเพื่อชีวิตโด่งดัง เพลงนั้นสื่อความหมายไปในมุมมองชีวิตคนทั่วไป ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมหนีไม่พ้นชนชั้นที่เราเห็นกันเป็นแผ่นกระจกใส ไม่ชัดเจนแต่รู้ว่ามี ในแง่การตลาด ชนชั้นสูงมีจำนวนน้อยนิด ถ้าจะขายเทปคาสเซ็ท ที่คนทั่วไปมีกำลังซื้อนั้นย่อมเรียกได้ว่า ส่วนแบ่งทางการตลาด (Market share) อยู่ที่คนทั่วไป ไม่ใช่ชนชั้นสูง..
การทำเพลงให้นิยมย่อมต้องเข้าถึงคนให้มากที่สุด เพลงรักที่เข้าถึงทุกกลุ่มคนได้ไม่ยากจึงมีทั่วไปและเพลงกับภาวะอารมณ์เป็นสิ่งส่งเสริมกัน เพลงเพื่อชีวิตเน้นไปที่เนื้อหา ปัจจัยความสำเร็จก็อยู่ที่เนื้อหาที่เข้าถึงคนทั่ว ๆ ไปเช่นกัน
เพลงอย่าง “คนจนผู้ยิ่งใหญ่” ของวงคาราบาว เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สื่อความหมายดี แต่บางทีคนก็เอาไปฝังหัวแบบผิด ๆ ผมเพียงยกตัวอย่างอ้างอิงแต่ไม่วิจารณ์ศิลปินนะครับ (ทุกสื่อย่อมผิดเพี้ยนได้ด้วยการตีความของผู้เสพในด้านหนึ่งเสมอ) เพราะในเนื้อหาลักษณะที่ คนจนไม่ดูถูกคน ไม่เบียดเบียน และคนจนมีน้ำใจ แน่นอนว่าคนที่คิดว่าตัวเองจนก็ย่อมชอบเพลงนี้ ถ้าเนื้อเพลงเป็นว่า คนใส่แว่นไม่ดูถูกคน ไม่เบียดเบียน มีน้ำใจ แน่นอนว่าคนใส่แว่น ก็ย่อมชอบเพลงนี้ แต่เขาไม่ได้หมายความ คนไม่ใส่แว่นต้องเบียดเบียน ต้องดูถูกคน และแล้งน้ำใจ ในที่นี้ก็เช่นกัน
และใช่ว่าเป็นเพราะเพลงนี้ทำให้มีคนมองว่าคนรวยต้องไม่ดีเอาเปรียบ ดูถูก คนจนเท่านั้นมีน้ำใจ แต่สังคมส่วนหนึ่ง มีมุมมองเช่นนี้ ซึ่งปัจจุบันอาจลดน้อยลงแล้ว แต่ก็ยังไม่หมดเสียทีเดียว
ประเด็นดังที่เขียนไว้ในตอนแรก ทัศนคติ แนวคิดต่อการเงินมีผลต่อการดำเนินชีวิต ถ้าเราคิด เชื่อ ตีความไปด้านเดียวคล้ายเพลงตัวอย่าง เราจะกลายเป็นรังเกียจคนรวย เพราะต้องจนเท่านั้นถึงเป็นคนดี ดูยิ่งใหญ่มีน้ำใจ “รวยแล้วเลว!!” เมื่อสรุปเช่นนี้ จิตใต้สำนึกเราจึงไม่อยากรวย และเกี่ยงที่จะดิ้นรนเพื่อมีเงินมากขึ้น (เป็นไปได้หรือ?.. เป็นไปได้ครับ) ก็ในเมื่อเชื่อว่า รวย = เลว คุณจะอยากรวยไหม ก็เหมือนถามว่าอยาก เลว ไหม? คงไม่มีใครอยาก ซึ่งปัญหาคือไม่จำเป็นต้องรวย แต่เราทุกคนควรมีพอ แต่พอไม่ดิ้นรน มันจึงมีไม่พอ แม้อาจไม่ได้เป็นปัญหาใคร แต่เป็นปัญหาตัวเอง ที่สำคัญคนรอบข้างที่เราอ้างว่ามีน้ำใจกับเขา..
คุณมี 100 ให้เพื่อนกินข้าว 20 กับมี 1,000 ให้เพื่อนกินข้าว 100 แบบไหนได้เสียกว่ากัน?
การเป็นคนดีประการหนึ่งคือการมีน้ำใจ การทำดีมีน้ำใจทำได้หลายอย่าง หลายวิธี เหมือนการทำบุญ ไม่จำกัดว่าต้องทำด้วยสิ่งใด เงินก็ไม่ใช่สิ่งชี้วัดในการให้
แต่ถ้ามองในมุมหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของการเขียนเรื่องนี้คือให้มองในมุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการเงินว่า ในความมีน้ำใจของคนเราคล้ายที่ผมชอบยกตัวอย่าง ถ้าสมมติคุณใช้เงินได้วันละ 100 บาท เพื่อน/ญาติ ไม่มีกิน คุณจึงแบ่งเขา 20 บาท กับ ถ้าคุณมี 1,000 บาท คุณจึงแบ่งเขา 100 บาท ผมมีคำถามดังนี้
- ใครมีน้ำใจมากกว่ากัน? – ให้ 100 กับให้ 20 เหมือน 100 จะมีน้ำใจกว่า แต่มองสัดส่วนของการแบ่งแล้ว 100 ให้ 20 ถือเป็น 20% (ตรงนี้คณิตศาสตร์นิดหนึ่ง) แต่มี 1,000 ให้ 100 แค่ 10% ของที่มี ครึ่งต่อครึ่ง แต่..
- ใครช่วยมากกว่ากัน – แม้ 20% จะดูเสียสละมากกว่า 10% แต่ 20 บาท คงยากจะพอกินในวันนี้ เทียบกับ 100 ที่แม้ไม่มาก แต่วันนี้เขาก็น่าจะอิ่มท้องได้มากกว่า 20 บาทเป็นแน่ แง่นี้คุณได้คิดอะไร?
- ใครเสียมากกว่ากัน – คนเสียเงิน 100 กับคนเสียเงิน 20 แน่นอนเบื้องต้น 100 มากกว่า แต่ย้อนไปคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เหมือนตอนแรก เสีย 20% ของที่มีย่อมเสียมากกว่า แต่ที่มากกว่านั้นในความเป็นจริง คนที่วันหนึ่งใช้เงินได้แค่ 100 ก็แค่พอเพียง การต้องเสียสละมีน้ำใจ นอกจากช่วยเขาไม่ค่อยได้แล้ว ตัวเองยังลำบากตามไปอีกด้วย…
บนจุดหนึ่งเราอาจมองว่า 20 บาทมันคุ้มค่าในความรู้สึก ซึ่งไม่ผิด แต่สภาวะ “เตี้ยอุ้มค่อม” นั้น ระยะสั้นมันไม่เป็นไร แต่ในระยะยาว แทนที่คนมีเงิน 100 จะได้ประคอตัวสู้ ต่อยอด เขาอาจใช้วันละ 80 โดยไม่ต้องมีน้ำใจ(ในตอนนี้) เก็บเงิน 20 บาทแทนได้สัก ปี ก็จะมีหลายพัน ต่อยอดทำทุน จนกลายเป็นคนที่มีเงินใช้ได้วันละ 1,000 เขาก็จะกลายเป็นคนที่ช่วยคนอื่นได้ วันละ 100 สบาย ๆ แต่ถ้าไม่ เขาก็คือผู้มีน้ำใจ ที่ 20 นั้นอาจช่วยอะไรได้ยาก เราก็ยังแย่ คนที่ช่วยก็ยังแย่อยู่ดี ที่มากกว่านั้น คนที่มี 1,000 ถ้าเขาช่วยสัก 3 คน คนละร้อย เขาก็อาจยังสบาย ๆ ได้ด้วยซ้ำ
เรื่องนี้อาจดูหมิ่นเหม่ ผมไม่ได้กำลังบอกว่าควรแล้งน้ำใจ หรือเงินคือตัวแทนความดี/น้ำใจ ในทุกเรื่อง แต่บทความนี้ว่ากันเรื่องเงิน ซึ่งบางครั้ง การสละเวลา แรงงาน แรงกาย ย้อนมองกลับไปมันก็คือสิ่งแลกเงินได้เสมอ โดยอย่างยิ่ง “การเสียเวลา” คุณพาคนแก่ข้ามถนน กับจ้างคนไปพาคนแก่ข้ามถนน” แล้วคุณรีบไปประชุมงาน คุณเห็นแก่เงินแล้งน้ำใจหรือไม่? นี่คือกรณีถ้ามีเงิน ก็ทำดีได้ไม่ยาก
ณ ตรงนี้บางคนยังคิดได้อีกว่า อ่านยังไงก็ดูเหมือนผมบอกว่าต้องมีเงินก่อนค่อยช่วยคน แล้วยังไม่มีเงิน หรือตอนนี้มี 100 แล้วจะมีน้ำใจไม่ได้เหรอ? แน่นอนว่าย่อมทำได้และคือสิ่งที่พึงกระทำ แต่ต้องตระหนักว่า การแบ่งปัน ทีละ 20 ไปนั้น ในวันที่เราเกิดแย่ซึ่งเป็นไปได้มาก เพราะ 100 ปกติก็น้อยอยู่แล้ว ทีนี้คนที่เคยได้แค่ 20 จากเรา เขาจะแข็งแรงพอจะช่วยเราได้บ้างไหม หรือเมื่อไหร่? ซึ่งแน่นอนทำดีไม่ควรหวังผลตอบแทน แต่ถ้าเป็นญาติ พี่น้อง คนสำคัญ ที่ยังไงเราช่วยได้ก็ต้องช่วย แต่จากที่เรามี 100 ถ้าวันนี้เราแย่กลายเป็นคนไม่มีไปด้วย นอกจากที่ไม่มีใครช่วยเราได้ เราก็ช่วยญาติ พี่น้อง คนสำคัญไม่ได้อยู่ดี ทีนี้จะทำอย่างไรต่อ..
วิธีที่ดีกว่าในการช่วยคนไม่ใช่การแค่ให้เงิน การชวนเขาทำงาน ช่วยเขาหาเงิน ย่อมดีกว่า เพียงแต่ว่านี่เป็นบทความที่ว่าด้วยการเงิน ไม่ใช่การทำดี ในที่นี้เพียงยกตัวอย่างข้อได้เปรียบ และซึ่งบนความเป็นจริง คนที่มีเงิน รวย เป็นเจ้าของกิจการ เขาสามารถให้งานคนทำและให้เงินตอบแทน ซึ่งมันก็ต่างตอบแทนกันไป ไม่มีใครเดือดร้อน ได้อีกด้วย..
คนมีทั้งดี และไม่ดี ไม่เกี่ยวกับรวยจนดังที่เรารู้ดี แต่ทัศนคติในมุมนี้ดังที่บอกไปว่า รวยหรือยังไม่รู้ แต่ถ้าไม่ค่อยมีบางทีมันก็เป็นคนดีลำบาก เหมือนตัวอย่าง ในปัจจุบันการมีเงินใช้วันละ 1,000 ได้ มันก็มีมากมายหลายคนที่ไม่ถือว่ารวยด้วยซ้ำ ถ้ายิ่งคิดว่าอยากเป็นคนดีมีน้ำใจ ยิ่งต้องมีเงิน จะได้ช่วยคนอื่นได้อีกมากมาย และถ้าตอนจนเรายังเป็นคนดีได้ ตอนรวยก็เป็นคนดีได้อยู่ดี
สำหรับตอนนี้ ตอนคนดีที่ไม่มีเงิน ผมก็ย้ำกลับอีกว่า ที่สุดแล้ว คนดีเลวไม่เกี่ยวกับเงิน แต่มีหลายคนเสพติดคำว่า “ดี” โดยที่ไม่รู้ดีจริงหรือไม่ หลงไปยึดติดมุมคิดผิด ๆ จนไม่คิดว่าเงินไม่สำคัญ ซึ่งถ้าเป็นคนดี มีเงิน มันทำดีได้ง่าย และได้อีกมาก พบกันในอีกหลายมุมมองตอนต่อ ๆ ไป กับบทความชุดนี้ที่มี 3 ตอน ตามลิงก์ด้านล่างได้เลยครับ
ตอน 2 คิดเล่น ๆ เรื่องเงิน
ตอน 3 อีกมุมของการ “มีเงิน”
บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 5/6/2020