ในวันที่พบตัวเองว่า “ยังมีหน้าไปสอนเขาอีก..”

by

| Home » บทความดีๆ » การพัฒนาตนเอง Think+ » เปลี่ยนทัศนคติ » ในวันที่พบตัวเองว่า “ยังมีหน้าไปสอนเขาอีก..” |


ธรรมชาติของหลายคน รวมถึงผมแต่ก่อน คือ เวลาที่เราเห็นใครทำอะไรไม่ถูกต้อง เราย่อมไม่สบายใจ อยากแสดงออกอะไรบางอย่าง เช่น พูด, สอน, บอกในสิ่งที่ถูกต้องให้อีกฝ่ายได้รับรู้ ซึ่งหลายครั้ง มันอาจเป็นแค่สิ่งที่เรา “คิดว่าถูกต้อง” โดยที่มันถูกจริงแท้หรือเปล่า ก็ไม่รู้…

อาจทึกทักเอาว่า เรามีประสบการณ์เรื่องนั้นมาแล้ว พบเห็นเรื่องนั้นมาแล้ว แต่รู้หรือไม่ การเห็นสิ่งซ้ำ ๆ สามารถฝังหัวเราให้อคติ คิดว่ามันถูกต้องแล้ว โดยที่หากพินิจให้ดี นี่อาจเป็นเพียง “ความน่าจะเป็น” ใช่ว่าจะ “ถูกต้องเสมอ” บนปัจจัยอันแตกต่างกันไปอีกหลายอย่างของคนอื่นเขา ที่เรากำลังคิดจะสอน..

เมื่อเราพบเห็นในความไม่ถูกต้อง หรือไม่ถูกใจ ขัดใจ ใด ๆ ก็ตาม หากว่ากันแค่ “เจตนา” แล้ว ส่วนใหญ่การไปบอก, สอน, เตือน เป็นเรื่องที่ดี อยู่บนพื้นฐานความเอื้ออาทร ต่อกัน เพราะถ้าเป็นคนไม่รู้จักกัน เราก็มักไม่บอก ไม่สอน ดังนี้ส่วนใหญ่การไปบอกสอนใคร ล้วนย่อมอยู่ในพื้นฐานของเจตนาดีต่อเขา ทว่าในเจตนาดีนั้น ผลลัพธ์ไม่เคยเท่าเจตนา..

อนึ่งคำว่า “สอน” ในบทความนี้ หมายถึงการสอนสั่ง ไม่ใช่การสอนแบบ How to นะครับ ที่เป็นการสอนวิธีการ กระบวนการมันคนละเรื่องกัน การสอนในที่นี้ อาจเรียกว่าแนะนำ ชี้นำ ตักเตือน เช่นเรื่อง เกี่ยวกับเรื่องชีวิต การตัดสินใจ คิด หรือทำอะไรของคนอื่น

กลับมาย้ำตรงที่ผมบอกว่า เมื่อเจตนาสอนดี แต่ผลลัพธ์ไม่เคยเท่าเจตนา กล่าวคือ แม้เขาจะรู้ว่าคุณมีเจตนาดีเพียงใด แต่มันมีปัจจัยมากเกินไปที่ทำให้เขาไม่เชื่อเรา (เหมือนที่เราไม่เชื่อใครง่าย ๆ เช่นกัน) ดังนี้

เขาไม่เชื่อ เพราะเราไม่น่าเชื่อ

มีหลาย ๆ ปัจจัยที่ทำให้เขาไม่เชื่อในสิ่งที่เราบอก ไม่ว่าจะถูกต้องหรือเป็นจริงขนาดไหนก็ตาม ปัจจัยหนึ่งที่อยากให้ตรองดูคือ “เพราะเราทำอะไรไม่ได้ดีกว่าเขา” เขาจึงไม่เชื่อ ในที่นี้คือผลลัพธ์ที่เห็นกันบางอย่าง  เช่น ฐานะการเงิน, สังคมและด้านอื่น เท่าเทียมกันหรือด้อยกว่า การศึกษา, หน้าที่การงาน ไม่ได้ดีกว่า เขาจึงมองว่า ถ้าเราคิดได้เหนือกว่า ทำได้ดีกว่า อะไร ๆ ก็ต้องดีกว่าเขาไปแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเชื่อ เช่นจะ ให้คนจบมัธยม สอนหนังสือ นักศึกษามหาลัย อาจมีบางเรื่องที่ทำได้ แต่ส่วนใหญ่เราก็ไม่ยอมรับ นี่คือธรรมชาติ แต่ถ้าเรามองว่า การที่เขาคิด รู้สึกเช่นนี้ ไม่ถูกนัก หลายเรื่องไม่ได้วัดแค่ตรงนั้น มันก็ถูกในมุม “ของเรา” แต่มันไม่ได้หมายความว่ามันถูกในมุม “ของเขา” หรือเขาควรต้องยอมรับมิใช่หรือ

เขาไม่เชื่อ เพราะเราไม่ใช่เขา

ถ้ากล่าวต่อจากข้อที่ผ่านมา เขาไม่เชื่อเพราะมองว่าเราไม่ได้ดีไปกว่าเขา ในอีกด้าน เราอาจจะมีหลายอย่างดีกว่าเขา แต่ก็ยังไม่เชื่อ เพราะเขาก็มองได้อีกว่า “เพราะเราดีกว่าเขาไง” เราจึงไม่เข้าใจ ไม่รู้ถึงสถานการณ์ของเขา หรือแม้จะเชื่อว่าเข้าใจ แต่เราดีกว่าไงเลยแก้ปัญหาได้ รวมถึงไม่มีวันเป็นแบบเขาหรอก ยกตัวอย่างที่ชัดเจนสักแบบหนึ่ง เช่น เรามีการศึกษาสูงกว่า เมื่อเขาตกงาน เราก็บอกเขาว่า หางานทำไม่ยากหรอก เขาก็จะมองว่า เพราะเราจบสูงกว่าเลยคิดแบบนี้ ในความเป็นจริงการได้งานยากหรือง่ายไม่ได้จำกัดเพียงแค่วุฒิการศึกษา แต่มันเป็นเพียงทัศนคติแบบหนึ่งเท่านั้นเอง หรือ เรามีฐานะการเงินดีกว่า เขาก็จะคิดว่า เพราะเรามีเงินเราจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ ซึ่งส่วนหนึ่งเราก็ไม่ได้รวยขนาดนั้น และเงินก็ไม่ได้แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ทั้งนี้ยังอีกหลายกรณีที่เราเคยมีประสบการณ์เหมือนที่เขากำลังเป็น มุมหนึ่งน่าจะแนะนำได้ แต่เขาก็จะมองแค่ปัจจุบันว่า เราดีกว่าเขา เราไม่เข้าใจเขาหรอก ถ้าเราเป็นเขาเราก็ทำไม่ได้หรอก.. ทำนองนั้นไปเสมอ

เขาเชื่อ แต่เชื่อคนอื่นด้วย

ทีนี้ก็มีอีกแบบ ที่เขาดูเชื่อเราในสิ่งที่บอกสอน แนะนำ แต่.. เขาก็อยากได้ความมั่นใจ จึงไปขอความคิดเห็นที่ 2 หรือความคิดเห็นที่อื่นอีก (มันก็ไม่ผิดนะ) แต่เอ.. แบบนี้เขาเชื่อจริงไหมนะ กรณีนี้ บางทีคำแนะนำของเรา โดยเนื้อหาอาจมีความน่าเชื่อถือ แต่ตัวตนเราในสายตาเขายังไม่น่าเชื่อถือพอ หรือในทางตรงกันข้ามคือ ตัวตนเราน่าเชื่อถือ แต่คำแนะนำกลับทำให้เขาไม่มั่นใจ มันก็อาจจะเป็นไปได้ที่มันดูไกลตัวเขาจนเขาไม่มั่นใจ หรือเหตุผลอื่น แต่โดยรวมเขาก็เชื่อและฟัง แต่ไปปรึกษาคนอื่นต่ออีก ซึ่งถ้าสิ่งที่คนอื่นบอกมันเป็นไปในทางเดียวกันกับเรา มันก็จะไปในทางนั้น แต่ถ้าคำแนะนำคนอื่นหักล้างสิ่งที่เราแนะนำ เท่ากับว่า จากเชื่อก็กลายเป็นไม่เชื่อ หรือไม่ก็ยังเชื่ออยู่ แต่เชื่อน้อยกว่าอีกคนเสียแล้ว ซึ่งใครจะถูกหรือผิดก็เรื่องหนึ่ง แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วจะถามเราให้ (ตั้งใจ) ตอบไปทำไม..

เขาไม่เชื่อ เพราะไม่เชื่อ.. (ไม่ถูกใจ)

“ความเชื่อ” ผมพูดเสมอว่า เป็นดาบสองคม การที่เราไม่เชื่อในสิ่งใดเลย ก็ไม่ดี เชื่อทุกอย่างย่อมไม่ดีเช่นกัน ที่น่ากลัวคือเชื่อในสิ่งที่ผิดแบบฝังใจ สำหรับในเรื่องนี้ ถือว่าเป็นความเชื่อที่ไม่ตรงกัน หลายสิ่ง หลายเรื่องเป็นมากกว่าแค่ความ ถูกต้อง จะว่าความถูกใจก็ไม่เชิง แต่หลายกรณีก็ใช่ หากสิ่งที่บอกสอนนั้นมันไม่ตรงใจ ตรงจริต ความเชื่อของเขา เขาก็ไม่เชื่อ เช่น เอาวิทยาศาสตร์ กับ ไสยศาสตร์ มาสอนเตือนกัน มันก็จะไปคนละทาง อันนี้ตัวอย่างที่เห็นชัด แต่ในความจริง ความเชื่อบางอย่างมันละเอียดอ่อนกว่านี้มาก มันจึงทำให้เขาไม่เห็นด้วย ซึ่งในมุมหนึ่ง เหมือนที่บอกไปตอนแรก การที่เขาไม่เชื่อเรานั้น มันอาจเป็นเราที่เชื่อผิด ๆ อยู่เองก็เป็นได้นะ เช่น เราเชื่อเรื่อง ฮวงจุุ้ย จัดบ้าน ไม่ว่าจะมุมศาสตร์ หรือจิตวิทยาก็ตาม แต่เขามองว่ามันไกลตัวกับการงาน ชีวิต เขาย่อมไม่เชื่อ เพราะไม่ใช่แนวทางเขา ซึ่งมันก็ยากจะชี้ชัดว่า เราหรือเขาที่เป็นฝ่ายถูก..

เขาเชื่อแต่ลืม…

ย้ำทวนก่อนว่า ผมกำลังพูดถึง การสอนใครแล้ว ผลลัพธ์ไม่เท่าเจตนา อีกมุมหนึ่งนั้นคือ เขาเชื่อ และฟัง แต่วันหลังเขาก็ลืม ว่ากันตรง ๆ แล้วในมุมนี้ อาจเพราะเรา หรือผู้สอนทึกทักเอาเองว่า สิ่งที่สอนบอกไปนั้นต้องมีค่า บางคนมองไปเป็นบุญคุณโน่นเลยแต่ไม่ใช่เลยครับ มันมีหลายเหตุผลที่เขา “เหมือนเชื่อ” เช่น เขาแค่อยากรักษาสัมพันธ์กับคุณ อยากให้คุณมีส่วนร่วมกับเขา อยากให้รู้สึกว่าเป็นเพื่อนเขา เขาจึงฟังเพราะรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้

ในอีกส่วนอาจเป็นเพราะ ปัญหานั้นไม่ได้ทำให้เขาเดือดร้อนจริงจังอะไร เขาแค่เป็นคนขี้บ่นหรือแค่ “อยากระบาย” แต่เราเป็นคนใส่ใจจริงจัง พอเขามาพูดให้ฟัง เราก็ดันไปตอบยกใหญ่ ทั้งที่มันไม่ใช่เรื่องใหญ่.. ไม่นานเขาย่อมลืม แต่เราดันจำ…

เขาเชื่อ แต่ไม่ทำ

สุดท้ายแล้วทุกปัญหา ถ้าจะแก้ย่อมต้อง “ลงมือทำ” ไม่ว่าสิ่งที่เราบอก สอน จะดี ถูกต้องเพียงใด แต่สุดท้ายเมื่อเขาไม่นำไปทำ มันก็ไม่สำเร็จและสูญเปล่า ถ้าเราวางใจลงได้ เข้าใจมันได้ก็ดีไป แต่ถ้าวางใจไม่ได้ ด้วยความหวังดีมาก ห่วงมาก หรืออื่นใดต่อคนนั้น มันก็กลับมาทำร้ายเจตนาเราเป็นเรื่องปกติ แล้วจุดหนึ่งก็จะพบว่า เราเปลี่ยนใครไม่ได้ ถ้าเขาไม่อยากเปลี่ยนเอง…

ทั้งหมดนั้นมันมีหลากหลายมุมเหลือเกิน ที่การบอกสอน หรือให้คำแนะนำใคร มันเป็นเรื่องที่เหนื่อยยากเสียเหลือเกิน แต่เราหลายคนก็จะทำมันด้วยใจเสมอ..

และด้วยสารพัดเหตุผลที่กล่าวมา คุณอาจเริ่มคิดและเห็นว่า “เรายังมีหน้าไปสอนใครเขาทำไม?” จะว่าไปแล้วคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ หรือโอกาสที่จะความสำเร็จ  ต่ำมาก ๆ ที่ใครจะเชื่อ-ฟัง และผลลัพธ์ตรงตามเจตนาที่เรามีให้ใครคนหนึ่ง…

จะอ้าปากสอนใคร เอากลับมาสอนตัวเองในมุมหนึ่งก่อน

ดูเหมือนผมกำลังมองเรื่องนี้ในแง่ร้าย แต่ไม่ใช่เลย เพียงแต่เชื่อว่าเราล้วนยังคงเจอการเสียความรู้สึกแม้ไม่มากก็ตามในความหวังดี เจตนาดีทำนองนี้ โดยส่วนตัวแล้วทุกวันนี้แทบจะไม่บอก เตือน สอน อะไรใครเลยด้วยซ้ำ จะมีสักคนหนึ่งเราก็ต้องเต็มใจจริง ๆ และอ่านออกว่าเขาต้องการคำปรึกษาจากเราจริง ๆ แต่กระนั้นก็ยังคงต้องทำใจให้ได้ด้วยว่า ผลลัพธ์อาจไม่ตรงเจตนา โดยอาจเป็นเราเองที่เข้าใจผิด สถานะผิด หรือคิดผิดเองเหมือนที่เขียนไป สรุปง่าย ๆ ก็ในทำนองว่าจะสอน/แนะนำอะไรใครให้ถามใจตัวเองดี ๆ

ที่สุดแล้วสำหรับผมโชคดีที่มีสิ่งนี้ คือการเขียนเป็นบทความดี ๆ เหล่านี้แหละครับ คนจะอ่านต้องมีความดิ้นรน ขวนขวาย ตั้งใจนิดหนึ่ง ไม่งั้นคงไม่คิดจะอ่าน หรืออ่านไม่จบ และผมไม่รู้ว่าผลลัพธ์ดีหรือไม่ แต่ทำด้วยเจตนาดี บนแนวคิดที่ไม่คิดสรุปอะไรแทนใคร และเขียนแล้วบทความอยู่ตลอดไป ไม่เสียใจ ไม่เสียแรง 😅 เพราะไม่ได้บอกคน ๆ เดียว ต้องมีสักคนหนึ่งที่ได้ประโยชน์จริง ๆ 😊

สุดท้าย เราเชื่อใคร ใครจะเชื่อเรา ผิดถูก ยากตัดสิน ในหลายครั้ง แทนที่กำลังจะอ้าปากสอนใคร เอากลับมาสอนตัวเองในมุมหนึ่งก่อน ว่าทำได้ดีหรือยัง เรากำลังมีสติแค่ไหน เพราะเราเองก็ต้องไม่ประมาทกับชีวิต เพราะเรา “ควรรู้” ว่า เรา “ไม่รู้ว่า” วันข้างหน้าอะไรจะเกิดขึ้น สิ่งที่เราเชื่อ วันหน้าอาจไม่ใช่ สิ่งที่วันนี้ไม่ใช่วันหน้าอาจถูกต้องแล้ว เราก็ต้องเปลี่ยนมุมมองที่สอนใหม่ ไม่ใช่เพื่อใคร สอนให้ตัวเรานี่แหละ เรียนรู้เปลี่ยนแปลงความคิด ความเชื่อ ให้ได้ก่อน..

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 23/5/2020

บทความดี ๆ การพัฒนาตนเอง ในวันที่พบตัวเองว่า ยังมีหน้าไปสอนเขาอีก

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา จากสายด้านธุรกิจ การตลาด สู่การจัดการบุคคลากร และว่าที่นักจิตวิทยาการปรึกษา
แสดงความคิดเห็น