ในช่วงหนึ่ง หนังสือหรือบทความดี ๆ เกี่ยวกับแรงบันดาลใจจะขายดีและเป็นที่สนใจมาก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคือช่วงที่สิ่งเหล่านี้ตอบสนองความต้องการให้กับคนที่ประสบปัญหาต่าง ๆ โดยมีผลกระทบทางจิตใจในวงกว้าง.. ที่เห็นเด่นชัดคือ มักเกิดในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว..
ฟังบทความนี้ในรูปแบบ Podcast ตามช่องทางเหล่านี้
อย่างไรก็ตามในทุกวิกฤติมีโอกาส ในความลำบากก็จะมีผู้หยิบยื่น(หรือเปล่า) ด้วยการให้กำลังใจ ให้เป็นบทความ ข้อความทำให้รู้สึกดี ๆ เริ่มจากเป็นรูปเล่ม สอนเป็นวิธีการ และกลายเป็นการอบรมสัมมนาในที่สุด ซึ่งก็มีทั้งสร้างโอกาส ให้โอกาส และฉวยโอกาสปนกันไป
นี่เป็นเรื่องธรรมดาของอะไรก็ตามที่กลายเป็นธุรกิจ เป็นส่วนหนึ่งของการตลาด ผมไม่ได้กำลังจะตำหนิสิ่งใดหรือสื่อใด เพราะผมเคารพในสื่อเสรี สิทธิในการแสดงออกอย่างเท่าเทียม และสุดท้ายย่อมขึ้นอยู่กับผู้เลือกเสพ..
แต่ในด้านหนึ่งหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับภายใต้จิตใจของคน ยอมรับว่าบางทีเกิดความอึดอัดใจอยู่บ้าง กับนักสร้างแรงบันดาลใจบางคน ผมเองก็สงสัยอยู่ว่า “เขารวยจากบทบาทนี้ได้ยังไง” หรือ มีอะไร ตรงไหนที่ช่วยคนได้จริง ๆ?
ซ้ำบางคน นอกจากไม่มีผลงานแน่ชัด แต่พูดดีจนมีคนเชื่อมากฟังมาก เขาก็ลามปามไปเก่งทุกวงการ ทุกแขนงได้ (แปลกแต่จริง)
อันที่จริงแล้ว ผมก็พอเข้าใจได้ว่าเพราะอะไร ด้วยความที่ได้ศึกษา เรื่องภาวะ พฤติกรรม และอะไรที่เกี่ยวกับจิตใจคนมาบ้างพอสมควร จึงพอเข้าใจได้ว่า ทำไมนักสร้างแรงบันดาลใจเหล่านั้นถึงทำได้พยายามไปเก่งทุกวงการแบบนั้น ซึ่งหากไปวิเคราะห์วิจารณ์เขามากไป ดูเราจะกลายเป็นอิจฉาเขาไปเสีย
สิ่งที่ต้องการจะสื่อสารในบทความนี้ ถือเป็นการเตือนสติ เรา ๆ หรือใครก็ตามที่อาจเข้าข่ายไปในภาวะบางอย่าง (ผมเองก็เคยมา) คือภาวะที่ผมเรียกว่า ต้องการ “แรงบันเทิงใจ” ที่เราหลงคิดว่ามันคือ แรงบันดาลใจ..
แล้วมันต่างกับแรงบันดาลใจจริงๆ อย่างไร?
แรงบันดาลใจกับแรงบันเทิงใจ มันก็จะต่างตรงที่เราเพียงรู้สึกว่า มันโดน! มันใช่! มันถูกจริต! แต่คิดอีกที ก็ไม่ผิดนี่ ย่อมต้องเช่นนั้น เพราะถ้าไม่โดนใจ, รู้สึกไม่ใช่ หรือไม่ถูกใจ เราจะรู้สึกดีได้อย่างไร?
ผมอยากให้ทบทวนดูตรงนี้ครับว่า ตอนเด็ก ๆ เราเคยถูกเบี่ยงเบนบางเรื่องจากผู้ใหญ่บ้างไหม หรือเมื่อโตมาเคยหลอกเด็กไหมครับ? เช่น เด็กร้องงอแงจะเอาของเล่น เราไม่สามารถให้ของเล่นเด็กนั้นได้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่เรารู้ว่ามีบางอย่างพอที่จะทำให้เขาสบายใจและลืม หรือเลิกอยากได้ของเล่นนั้นได้ นั่นเพราะเรารู้จริตเด็กคนนั้น.. ก็หลอกเด็กนั่นแหละให้สบายใจไปก่อน…
แล้วเด็กรู้สึกดีไหม แน่นอน ย่อมรู้สึกดีขึ้น เพราะได้รับแรงบันเทิงใจไปแล้ว
ซึ่งตรงนี้ แม้มันจะอยู่ที่เจตนาก็จริง แต่ผู้ใหญ่ที่ดี ย่อมสามารถทำในอีกรูปแบบหนึ่งได้ โดยจะเลือกไม่หลอกล่อ จะใช้วิธี “ปรับเปลี่ยนความเข้าใจหรือพฤติกรรม” ซึ่งอาจปล่อยให้เด็กงอแงไปเลย หรือใช้วิธีคุย อธิบายในเด็กที่โตพอเข้าใจ เพื่อให้เด็กเรียนรู้ในสิ่งที่ “เขาไม่เข้าใจ” และวิธีเหล่านี้มัน ไม่ถูกใจ! ไม่ใช่! ไม่โดนใจเด็กสักนิดเดียว แต่เขาจะเปลี่ยนไปมีความเข้าใจที่ดีขึ้นตลอดกาล..
หรืออีกหนึ่งตัวอย่างในลักษณะที่ว่า เวลาคุณอกหัก เวลาคุณฟังเพลง อกหัก มันจะรู้สึกว่าโดน! มันใช่! สะใจไปเลยก็มี.. แต่มันทำให้หายเสียใจ หรือทำให้เราคิดอะไรได้มากขึ้นไหม? หรือว่าจริง ๆ แล้ว มีแต่ทำให้จมลงกับความรู้สึกเจ็บช้ำอยู่เช่นเดิม?
ส่วนหนึ่งมันอาจจะยากอธิบายตรง ๆ ว่าอันไหนแค่ถูกใจ และอันไหนคือถูกต้อง เพราะมีความทับซ้อนกันบนความรู้สึกของทั้งสองกรณี คงต้องพิจารณาเอา ณ เวลานั้นว่าในสิ่งต่าง ๆ ที่เราเสพ รับ ฟัง หรืออ่านมา มันทำให้เรารู้สึกดีหายจากบางสิ่งเหมือนเด็กโดนหลอกล่อหรือไม่? แค่สนองความสะใจในความรู้สึกลึก ๆ เหมือนฟังเพลงอกหักหรือไม่…
ผมคงตอบแทนทุกคนไม่ได้ แต่ผลลัพธ์ที่พิสูจน์ได้ด้วยตัวเองคือ “มันจะเป็นสิ่งชั่วคราว” ที่เมื่ออ่านหนังสือ หรือฟังสิ่งต่าง ๆ จากสื่อ หรือจากคนบางคนแล้วรู้สึกดี แต่ไม่มีอะไรให้เรา “ลุกขึ้นมาด้วยตัวเอง” ไม่ว่าจะเป็นความคิด จิตใจหรือการกระทำ ในอนาคต ในระยะยาวได้เลย น้่นผมจึงเรียกว่ามันเป็น “แรงบันเทิงใจ” ที่ทำให้คนบางเสพติด หรือหลงไปกับภาวะนั้นเท่านั้น…
ในอีกด้านก็ต้องเข้าใจด้วยว่า หนังสือดี ๆ หรือนักพูดสร้างแรงบันดาลใจดี ๆ ก็ไม่อาจสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจได้เหมือนกันหมด หรือสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนได้ แต่มันก็จะมีความแตกต่างกันอย่างสัมผัสได้อยู่เหมือนกันว่า เพราะแรงบันเทิงใจมันมักเข้าใจง่าย หอม หวาน เช่น รวยลูกเดียว ประหนึ่งดีดนิ้วเงินก็มา มันย่อมโดนใจได้ง่ายโดยอย่างยิ่งคนที่เขาลำบากมาตลอดแต่ไม่รวย ลองบอกว่าต้องลำบาก ขยันอดทนอีกในตอนนี้คงเบือนหน้าหนีเป็นแน่… ส่วนปัญหาแท้ ๆ คืออะไร มันควรหาให้เจออาจด้วยการแค่เปลี่ยนมุมคิด ที่ผ่านมาขยันผิดที่ อดทนผิดเรื่อง ก็เป็นได้… ถ้าจะอธิบายต่อคงแตกประเด็นกันยืดยาวเกินไป
เอาเป็นว่าผมก็เชื่อเช่นกันว่า มันไม่มีอะไรยากเกินไปบนโลกนี้ แต่คุณก็ไม่มีทางหนีความเป็นจริงบนโลกนี้เช่นกัน เพราะแรงบันดาลใจที่ว่านี้บางทีต้องไม่ลืมว่า ใจคนเราไม่เหมือนกัน จึงไม่น่าที่จะใช้แรงบันดาลใจร่วมกันได้ง่าย ๆ อย่างน้อยควรลองค้นลึกหาใจตัวเองเจอเสียก่อนน่าจะดี ก่อนที่จะหาแรงบันดาล แล้วพาลแค่หลงไปกับแรงบันเทิงใจอย่างไม่รู้ตัว…
และโดยท้ายนี้อย่างน้อยบทความนี้ อาจกรองคุณให้มองเห็นอะไรในมุมที่สูงขึ้น เลิกสนุกกับการฟัง คิด อ่าน เขียนสนองแรงบันเทิงใจ และเปลี่ยนมาเลือกหาสิ่งที่จะมาเป็นแรงบันดาลใจให้คุณพาตัวเองก้าวเดินไป ตามทางหัวใจของคุณเองจริง ๆ เพราะแรงบันดาลใจที่ดี ย่อมกระตุ้นให้คุณ “ลงมือทำ” อะไรสักอย่าง มีเป้าหมาย และเมื่อต้องลงมือทำ มีเป้าหมาย นอกจากไม่มีเวลามาสนใจเรื่องเก่าแล้ว เราจะเปลี่ยนไปไม่ใช่วนมาที่เดิม…
(ปล. บทความนี้เป็นบทความเก่า ยุคที่งานสัมมนาสร้างแรงบันดาลใจรุ่งเรือง จนบางคนเสพติดงานสัมมนา จริง ๆ ติด “สังคม” ตรงนั้นมากกว่า ปัจจัยนึ่งอาจเพราะเราขาดความเข้าใจจากคนรอบข้างในภาวะล้มเหลว เมื่อไปเจอคนกลุ่มเดียวกันจึงรู้สึกดี ถูกคอ ถูกใจ หากจบงานอบรมแล้ว อยู่ด้วยตนเองได้ พัฒนาได้ ถือว่าได้ผล แต่ส่วนใหญ่ไม่เช่นนั้น พอไม่มีสังคม ขาดแรงกระตุ้นก็เป็นเหมือนเดิม เช่นนี้ พูดได้ไหมว่าแค่ แรงบันเทิงใจ..)
บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรกพร้อมกันบนเว็บไซต์นี้และ Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 10/03/2015