เลี้ยงข้าวลูกน้อง (ในมุมมองหนึ่ง)

by

| Home » บทความดีๆ » บทความน่าอ่านและเรื่องราวดีๆ » เลี้ยงข้าวลูกน้อง (ในมุมมองหนึ่ง) |


เรื่องราวชวนคิดจากจุดเริ่มต้นมีที่มาจากข่าวของ Youtuber หนุ่มเกาหลีที่ทำช่องในไทย แล้วเขาถูกทีมงานฉ้อโกง บนเหตุผลเสมือนว่าเป็นเจ้านายที่ไม่ยุติธรรมในเรื่องของผลประโยชน์ ซึ่งบทความกว่าจะลงเว็บไซต์ก็คงไม่ใช่เรื่องที่อยู่ในกระแสแล้ว และเป็นบทความที่ไม่ได้มีความคิดเห็นใด ๆ ต่อข่าวนั้น

เป็นมุมคิดที่เพียงแชร์มุมมองส่วนตัว ในฐานะที่ผมเคยเป็นลุกน้องที่มีเจ้านายเคยเลี้ยงข้าว เชื่อว่าหลายคนก็คงเคย และ ผมก็ยังเป็นเจ้านายที่เลี้ยงข้าวลูกน้องบ่อย ๆ (ที่จริงไม่ได้ชอบคำว่า “เจ้านาย” สักเท่าไรแต่เอาเถอะเข้าใจง่ายดี)

ในตอนเป็นลูกน้อง ยอมรับไม่อายว่าเคยรู้สึกเสียดายเงินตรงนั้น แบบไม่ได้อยากกินข้าว เอาเงินมาแจกเป็นทิป แจกเป็นโบนัสดีกว่า พูดง่าย ๆ อยากได้เงินมากกว่าเลี้ยงข้าว แต่จากอีกประสบการณ์หนึ่งในอดีตเช่นกัน ที่ออฟฟิสเก่า มีมุมกาแฟให้ชงกินฟรี ตอนยังทำงานอยู่ก็ไม่รู้สึกอะไร มองเป็นเรื่องปกติ แต่พอย้ายไปทำงานที่ใหม่แล้วไม่มีมุมกาแฟ ต้องซื้อเองทุกวัน มันก็ได้เห็นค่าสิ่งเล็กน้อยบางอย่างนั้นทันที กล่าวคือ หากเราเปรียบเทียบแบบเอาแต่ได้ ยังไงมันก็ไม่มีวันพึงพอใจเราได้หรอก เช่น ถ้าเขาไม่เลี้ยงข้าวแต่ให้เป็นเงินเรา วันหนึ่งก็อาจรู้สึกว่าน่าจะเลี้ยงข้าวสักมื้อ เลี้ยงน้ำสักหน่อย(ทั้งที่เขาให้เงินแล้ว) หรือให้เงินเท่านี้เองเหนื่อยเพิ่มแทบตาย ซึ่งหากเปรียบเทียบในอีกแบบคือ เขาไม่จำเป็นต้องเลี้ยงข้าวก็ได้ เราก็จะเห็นทันทีว่าเขามีน้ำใจแล้วที่นึกถึงเราในส่วนนี้

ประสบการณ์ต่อมา ในตอนที่ยังไม่ได้เป็นเจ้านาย แต่ก็เป็นหัวหน้าทีม เป็นผู้จัดการอีเว้นท์ เวลาจบงานเราก็พาลูกทีมไปกินบ่อย ๆ เรารู้สึกดี และอยากขอบคุณ ตอบแทนทีมงาน ที่เหนื่อยมาด้วยกันจนจบ (งานออกอีเว้นท์ ใครรู้จะเข้าใจ) แม้ตอนนั้นเราจะใช้เงินบริษัทฯ ถือว่ามีอำนาจเบิกได้ แต่เราก็จริงใจที่อยากให้ได้กิน ได้ผ่อนคลาย (ใช้อำนาจเต็มที่ 😜) ด้วยเจตนาดี และเราก็เห็นว่าทีมงานก็มักมีความสุขดี ไม่มีแง่ลบ เพราะเขาก็รู้ว่าไม่ใช่เงินเรา การเปรียบเทียบแบบในตอนแรกที่ว่าทำไมไม่ให้เงินจึงไม่เกิด

แต่ความรู้สึกแง่ดีจากตรงนั้นมันก็ต่อเนื่องเมื่อเป็นเจ้านาย หลายครั้งที่อยากตอบแทน แม้บางครั้งจะเป็นการเลี้ยงตามหน้าที่รับผิดชอบ แต่ส่วนใหญ่ ถ้าว่ากันตามรายได้ ค่าใช้จ่าย บางส่วนไม่ใช่รายจ่ายบริษัท มันไม่ใช่ต้นทุน แต่มันถือว่า“เป็นเงินส่วนตัวของเรา” เงินในส่วนที่เรา(เจ้านาย)ต้องจ่ายเอง อาจเป็นส่วนหนึ่งของค่าแรงของเรา กำไรที่เราพึงได้ เราเลือกที่จะสละ แบ่งปัน หรือตอบแทนในบางอย่าง หลายครั้งก็เลี้ยงในโอกาสพิเศษเลยตรง ๆ เช่นวันเกิดทีมงาน ซึ่งมันจะนับเหมือนค่าจ้าง หรือโบนัสไม่ได้ เพราะจะไม่เลี้ยง ไม่จ่าย ก็ได้ แต่ภาวะนั้นเรามองว่าเป็น “น้ำใจ” ที่มีให้กัน

เรื่องราวนี้ไม่ได้เขียนในมุมที่วันนี้เป็นเจ้านาย เพราะที่จริงตัวผมเองก็ยังมีคนที่เหนือกว่าอยู่ บางครั้งเพื่อนมาเลี้ยงข้าว เจ้านายเก่ามาเลี้ยงข้าว ผู้ใหญ่เลี้ยงข้าว สำหรับผมมันคือความเข้าใจแล้วมากกว่า เพราะเราได้อยู่ในทุกสถานะของมุมมอง หรือมองในมุมเดียว ดังเช่น เขาไม่เลี้ยงก็ได้ หรือออฟฟิสนี้ไม่มีกาแฟฟรี ซึ่งเราไม่ต้องถึงกับตื้นตันใจอะไรนักหนา แค่มองให้เห็นว่า มันก็ดีกว่าไม่มีเป็นไหน ๆ ไม่ใช่หรือ…

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 15/03/2022

บทความดีๆ สั้นๆ เลี้ยงข้าวลูกน้อง ในมุมมองหนึ่ง

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา อิสระ ปัจจุบันประกอบอาชีพหลัก พ่อบ้าน :P ส่วนวิทยากร ธุรกิจส่วนตัว และอื่น ๆ เป็นอาชีพรอง.. V(^0^)V
แสดงความคิดเห็น