วิทยากรต้องเก่ง.. แต่ไม่ทุกเรื่อง

by

| Home » บทความดีๆ » บทความน่าอ่านและเรื่องราวดีๆ » A Life In A Day » วิทยากรต้องเก่ง.. แต่ไม่ทุกเรื่อง |


สัปดาห์สุดท้ายของ พ.ค. 62 มีโอกาสได้ไปบรรยายให้กับ คณะอาจารย์วิทยาลัย ถึง 2 แห่ง ต่างคณะ ต่างหลักสูตร ซึ่งแม้จะมีเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยร่วมด้วย แต่การต้องไปบรรยายให้กับ ผู้ที่เป็นอาจารย์เช่นนี้ แม้ผมจะมีประสบการณ์บรรยายมาหลากหลาย แต่ก็อดไม่ได้ที่จะตื่นเต้น และระวังตัว

โดยที่จริง จะคิดเอาก็ได้ว่า เป็นอาจารย์ต่างสาขา วิชา ต่างองค์ความรู้ แต่มันก็ไม่ทำให้อดคิดไม่ได้ จากประสบการณ์ การบ่มเพาะศิษย์มากมายของท่านเหล่านั้น บางท่าน 30-40 ปี นั้น มันย่อมทำให้ท่าน อาจรู้ เข้าใจในสิ่งที่ผมบรรยายเป็นอย่างดี อยู่แล้ว ซึ่ง 2 แห่งนั้นแม้จะต่างหัวข้อ แต่ก็อยู่ในหมวด soft skill เหมือนกัน

จบการบรรยายทั้ง 2 งาน ก็รู้สึกดีใจ ที่ผลลัพธ์ส่วนใหญ่ ชื่นชมและชื่นชอบ ในการบรรยายที่ผ่านไป ที่มากกว่าคือรู้สึก “ขอบคุณ” เพราะไม่ได้คิดว่าตนเก่ง แต่รู้สึกว่าทุกท่านให้เกียรติ เปิดใจ ยอมรับฟัง..

ในอีกด้านช่วงเวลาเดียวกัน สิ่งหนึ่งที่ได้เห็น มีวิทยากรบางท่านแสดงความ “เก่ง” ในเรื่องที่ไม่แน่ใจว่าจะรู้จริงนัก เหมือนที่เห็นมานานคือ หลายคน พอเป็นเป็นนักพูด ไม่ว่าช่องทางไหน เป็นวิทยากร หรือเริ่มมีตัวตนในเชิงความรู้ด้านหนึ่ง ชอบที่จะวิจารณ์ไปทุกเรื่อง..

การแสดงความคิดเห็นทำได้ทุกเรื่อง ย่อมเป็นสิทธิ์เสรีภาพอันปกติ แต่กับการวิจารณ์บางอย่าง ของบางท่านนั้น ออกแนวมั่นใจว่าถูก ว่าสั่งสอนผู้อื่น โดยไม่จำเป็น

ถ้ากรณีมีคนมาขอความเห็น หรือไปแสดงความเห็น “ในประเด็นของคนอื่น” อาจดูไม่เป็นไร คล้ายเป็นเรื่องส่วนตัว

แต่ลักษณะที่ผมกล่าวนี้ คือการพูด(เขียน) ในเชิงสาธารณะ ซึ่งถ้าสิ่งนั้นถูกต้อง ก็ดีไป แต่ถ้าไม่ถูกล่ะ ? รวมถึงแม้ไม่ผิด แต่มันดูจะเป็นมุมคิดที่แคบไป ในเชิงตัดสิน ให้คนอื่นต้องคิดเช่นตน แบบนี้ ดูจะไม่ดี เพราะไม่ใช่การแสดงความคิดเห็น แต่เป็นการโน้มน้าว ชักจูง ในสิ่งที่ตนไม่ได้รู้จริง..

ที่คล้ายกันคือ การเสนอเรื่องราวเหมือนจะเป็นแง่คิด ทว่ามันกลายเป็นปิดกรอบไปในแนว ไม่ดูบริบท ความเป็นจริง สิ่งที่ท่านนั้นเป็นอยู่มันทำได้ แต่คนอื่นอาจไม่ ท่านไม่ดู หรือ แนวไปบังคับให้คนอื่นเป็น.. มันไม่ได้ (ขออนุญาตไม่ยกตัวอย่าง)

หลายคนเขา “ให้เกียรติ” รับฟัง แต่ไม่ได้ “ให้สิทธิ์” ใส่ความคิดบงการชีวิตเขา

การที่ใครคนหนึ่งมีตัวตนในสังคม มีคนที่เขายอมรับระดับหนึ่งไม่มากก็น้อย การพูด การวิจารณ์ใด ๆ นั้น ย่อมมีคนสนใจหรือฟัง ถ้ามันสร้างประโยชน์ ก็ดีไป แต่ถ้ามันสร้างความเข้าใจผิด มันก็ดูไร้ความรับผิดชอบ

เพราะแม้สิ่งที่เรารู้ในวันนี้ ถูกในวันนี้ อนาคต สังคมสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน มันอาจไม่ใช่แล้วก็เป็นได้ การแนะนำ นำเสนอ แนะแนว เป็นเรื่องดี แต่ขีดเส้น ตีกรอบ มั่นใจอะไรเกินไปโดยไม่ใช่เรื่องตัวเองถนัดนั้น มันจะส่งผลเสียในระยะยาว

หลายคนเขา “ให้เกียรติ” รับฟัง แต่ไม่ได้ “ให้สิทธิ์” ใส่ความคิดบงการชีวิตเขา

ทำหน้าที่ ส่งมอบสิ่งที่รู้ แล้วเอาเวลาไปศึกษา พัฒนาต่อนั้น มันน่าจะดีกว่า อย่าเพิ่งคิดว่า เราเก่งทุกเรื่องเลย…

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 12/05/2019

วิทยากรเก่ง

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา จากสายด้านธุรกิจ การตลาด สู่การจัดการบุคคลากร และว่าที่นักจิตวิทยาการปรึกษา
แสดงความคิดเห็น