เรื่องของ ของแพง

by

| Home » บทความดีๆ » บทความน่าอ่านและเรื่องราวดีๆ » A Life In A Day » เรื่องของ ของแพง |


เรื่องราวดีๆ แง่คิด วันนี้ เริ่มด้วยคำถามว่า “ชอบของแพงไหม?”

ส่วนใหญ่คงตอบว่าไม่.. แต่อีกส่วนอาจตอบว่า ชอบ เพราะมันทำให้ฉันดูดี, เพราะมันมักจะดีกว่าของถูก, เพราะมั่นใจได้มากกว่า, เพราะ..อื่น ๆ , หรือนั่นแสดงว่าที่จริงแล้ว เขาไม่ได้มองว่าแพง แต่มองมันแง่มุมคุณค่าสำหรับคนๆ นั้น

ตรงนี้เป็นสิ่งที่นักการตลาดหลายคนเข้าใจดี จึงทำของประเภทเดียวกันแต่ราคาแพงกว่า ขายกันได้เป็นเทน้ำเทท่า ด้วยความรู้ว่า คุณค่าบางอย่างในสินค้านั้นๆ ทำให้คน “รู้สึก” ไม่แพงได้

ในด้านหนึ่งถ้าจะเปรียบคำว่า “ของแพง” จึงควรที่จะเป็นของ สิ่งเดียวกัน ชื่อเรียกเดียวกัน คุณสมบัติเดียวกัน คุณภาพเดียวกัน เวลาเดียวกัน แต่ต่างราคากัน จึงเทียบได้ว่า “แพง” อย่างแท้จริงว่าไหม

แต่หากต่างเงื่อนไข สารพัดนั้น คำว่าแพงจึงไม่อาจนำมาเทียบกันได้ชัดเจน เพราะมันมีคุณค่าต่อผู้ซื้อต่างกัน ยกตัวอย่างแบบง่าย ๆ เช่นว่า มีคนขายกระโปรงให้ผมสักตัวราคา 99 บาทผมก็คงไม่ซื้อ แน่นอนมันคงแพง เพราะคุณค่าต่อสิ่งนี้ไม่มีทางเกิดกับผมเลย (ในเมื่อผมเป็นผู้ชายแท้จะเอากระโปรงไปทำไม) แต่ถ้าเขาลดราคาให้ผมเหลือ 19 บาท ผมอาจมองว่ามันเริ่มถูก เพราะนำไปสร้างความประทับใจให้ใครหรือทำให้ใครพอใจได้ด้วยเงินเพียง 19 บาท นั่นคือซื้อไว้แล้วนำไปแจก ไปเป็นของกำนัลให้บางคน

แต่ถ้าเกิดมีเงื่อนไขเพิ่มเติม ผมเกิดอยากซื้อกระโปรงไปให้คนที่ชอบ ที่รัก หรือที่มีบุญคุณต่อเรา ราคา 99 อาจเปลี่ยนเป็น  299 จนถึง 999 หรือมากกว่า ก็ยังไม่รู้สึกว่าแพง นี่มันมากกว่าเดิมถึง 10 เท่าทั้งที่ในตอนแรกมองว่ามันแพง

เรื่องราวดีๆ แง่คิด

ประกอบกันกับการมองไปถึงเนื้อผ้า.. ยี่ห้อ.. สีสัน รูปแบบ หรืออื่น ๆ ไปด้วยอีก ซึ่งหากย้อนมองแค่ประโยชน์ก็คือสวมใส่ปกปิดร่างกายคุณค่าต่อคำว่าถูกแพงมิอาจประเมินได้จากแค่ตรงนี้ และที่ยกตัวอย่างเช่นนี้ ก็เพราะดังที่กล่าวว่า สิ่งนี้ (กระโปรง) ไม่ได้มีประโยชน์ “ต่อตัวผมเองโดยตรง” เลย แต่กลับยังมีหลายราคา หลายคุณค่า ยากที่จะพูดได้เต็มปากว่า ถูก แพง

อีกแง่คิดหนึ่งคล้าย ๆ เรื่องของเวลาที่เคยเขียนไป คือการมองคุณค่าว่าถูกแพงต่อการใช้งานกับเวลา เช่น คอมพิวเตอร์ที่เราซื้อมา เครื่องละ 20,000 บาทแล้ววันหนึ่งใช้งานวันละ 8 ชม. กับเครื่องละ 10,000 แล้วใช้งานวันละ 1 ชม. คุณว่าเครื่องไหนแพง..

ไม่นับรวมถึงเครื่องที่สเปคดีกว่า(กับงาน) ของเราคือทำให้ทำงานได้เร็วขึ้นจริง ๆ เช่นการตัดต่อวีดีโอ การทำงานด้านการประมวลผลมาก ๆ ทำให้ประหยัดเวลาไปได้ แล้วราคาสูงกว่า มันก็อาจดูคุ้มค่า แต่ถ้าสเปคดี ไม่ได้ช่วยให้พิมพ์งานเร็วขึ้นเพราะมันอยู่ที่ มือที่คุณพิมพ์เป็นต้น ดังนั้นแบบไหนเรียกว่าจ่ายแพงกว่า..

บางคนอ่านมาแล้วรู้สึกว่า.. “โอ้ยนี่ เราต้องคิดอะไรซับซ้อนยุ่งยากขนาดนี้ไหม???”

            แล้วทุกวันนี้มีกี่คน ต้องทนใช้ชีวิตอยู่แบบแลกเวลาวัน ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่ง เงิน.. แล้วนำไปแลกกับสิ่งที่เรียกว่า ถูก แพง เหล่านี้มิใช่หรือ ต้องทิ้งคนที่รัก ไม่ดูแลใครบางคนเพราะเพื่อต้องหาเงินมาชดเชยสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่หรือ  “เงินไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องเสียดายแต่ความสุขที่ต้องหายไปจากการแลกเพื่อได้มันมาต่างหาก” มันชดเชยอะไรกับชีวิตเราได้บ้าง นั่นคือสิ่งที่ควรมองว่าอะไร ถูก หรือแพง.. ในมุมมองของผม และนี่บางทีคือเหตุผลที่ทำไมของหลายอย่างจึงไม่แพงสำหรับบางคน

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา จากสายด้านธุรกิจ การตลาด สู่การจัดการบุคคลากร และว่าที่นักจิตวิทยาการปรึกษา
แสดงความคิดเห็น