เขียนเรื่องนี้ช้าไปไหม? สำหรับผมถ้าเขียนก่อนหน้านี้ถือว่าเร็วไป กับผลกระทบต่อคนในสังคมจากวิกฤติไวรัสโควิด (Covid-19) เพราะบางมุมเราอาจเพิ่งรู้สึก เพิ่งได้สัมผัส หรือเพิ่งเห็นผลว่ามันกระทบมากน้อยกว่าที่คิดแค่ไหนและแม้ดูเหมือนจะผ่านช่วงแย่ที่สุดไปแล้ว แต่ก็ยังไม่อาจไว้วางใจ และผมเขียนเรื่องนี้หลังจากมีวิกฤติไปแล้วเกิน 6 เดือน..
10 บทเรียนจากวิกฤติไวรัสโควิด (Covid-19)
หลายเรื่องอาจได้เห็น, ทราบ, พอรู้สึก หรือได้รับผลกระทบกันแล้ว แต่ก็มีคนหลายกลุ่มไม่ได้รับผลกระทบ หรือยังไม่ได้รับผล หากจะว่าไปบางเรื่องนั้นไม่จำเป็นต้องเกิดจากวิกฤติไวรัส แต่ควรตระหนักไว้บ้างว่าผลกระทบเหล่านี้อาจมีขึ้นกับเราสักวันหนึ่งบนวิกฤติส่วนตัว ซึ่งก็แล้วแต่ความประมาทในการใช้ชีวิตของแต่ละคน อ่านดูเป็นแง่คิดกันไป
- ความพอเพียง ที่อาจไม่เพียงพอ
เป็นสิ่งแรกที่น่าจะเห็นผลโดยอย่างยิ่งเมื่อตอน Lockdown ปิดเมือง ก่อนหน้านี้ ทำให้เศรษฐกิจชะงักทันที หลายคนได้เข้าใจเศรษฐศาสตร์ในแบบพยักหน้า กล่าวคือ อาจไม่รู้ในหลักการวิชาการแต่เห็นภาพและเรียนรู้โดยตรงจากสิ่งที่เจอจนต้องพยักหน้าตามว่ามันส่งผลถึงเราได้จริงไม่ไกลตัว ที่แม้จะผ่านมาหลายเดือนผลกระทบจะยังคงส่งผลต่อมาอยู่เรื่อย ๆ เช่น ภาพรวมเหมือนจะดีขึ้น แต่ธุรกิจหลากหลายกลับทยอยปิดตัวเป็นต้นและอดีตการดำรงชีพ ที่มีรูปแบบหารายได้แบบมีมาใช้ไปคือความเคยชิน แต่จากวิกฤติไวรัสโควิด-19 คนที่ไม่มีเงินสำรอง คงไม่ต้องพูดถึง ผลกระทบชัดเจน ที่จริงอาจไม่ต้องมีวิกฤติไหนก็ได้ เพราะส่วนใหญ่มีวิกฤติตัวเองอยู่แล้ว แต่คนที่เคยคิดว่า มีบ้าง เหลือบ้าง ไม่เหลือบ้าง “ตามกำลัง” ไม่ได้วางแผนอะไรจริงจัง มองว่าก็ยังดีกว่าคนอื่น หรือพอเพียงนั้น อาจเห็นแล้วว่าไม่เพียงพอ เพราะสำหรับประเทศเราต้องยอมรับกันส่วนหนึ่งครับ “แค่โชคดี” ที่สังคมสิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวยให้วิกฤติไม่หนัก และกระทบตรง ๆ ไม่นาน ไม่เช่นนั้นหลายคน แม้จะมีเงินเก็บ ก็คงหมดไปได้ไม่ยากเลย..
- มุมมองอาชีพและการงาน
นอกจากคนตกงานกันมากแล้ว คนเปลี่ยนงานเปลี่ยนอาชีพก็มากไม่แพ้กัน รวมถึงการอยากหาอาชีพเสริม (ขยัน) กันอย่างที่ไม่เคยเป็นกันมาก่อน หาได้ไหม? ดีขึ้นไหม? ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งซึ่งสะท้อนชัดเจนคือการแสดงออกของผู้คนให้เห็นว่าไม่มีใครมั่นใจ หรือไว้ใจในอาชีพ การงานที่ตนทำอีกต่อไปข้าราชการ น่าจะกลับมาเป็นเป้าหมายทางอาชีพของคนที่ยังเลือกได้ หรือส่วนเอกชนด้านสวัสดิการและความมั่นคงอาจเป็นที่สนใจ น่าจะเข้ามาลดความฝันฟุ้งเรื่องตัวเลขเงินเดือนของผู้คนได้ไม่มากก็น้อย
นิยาม “อาชีพอิสระ” สำหรับบางคนอาจไม่เกี่ยวกับประเภทงาน และการเงิน แต่เป็นอาชีพที่ไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกมากเกินไป เหมือนหลายคนกำลังหันมาทำเกษตร และขายอาหารกันมากมายเพราะคิดว่าอย่างไรคนก็ต้องกิน
- บทเรียนการลงทุน
ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในรูปแบบใด เริ่มตั้งแต่ เปิดกิจการ ขยายกิจการ ลงทุนอสังหาริมทรัพย์ สินทรัพย์ หรือหุ้น ก็ตาม ทุกวิกฤติย่อมทำให้ “นักลงทุน” เรียนรู้ เป็นช่วงเวลาแยกคนเก่ง กับอวดเก่งออกจากกันชัดเจน แต่ส่วนหนึ่งวิกฤตินี้ก็ไม่เหมือนกับวิกฤติการเงินที่ผ่าน ๆ มา และยังไม่แน่ชัดนักว่าทิศทางจะเป็นอย่างไรต่อไป แน่นอนมันก็ต้องได้บทเรียน เรียนรู้กันไปในมุมหนึ่งแต่สำหรับผู้เป็นเจ้าของกิจการ หรือธุรกิจ หากไม่เคยใส่ใจมากพอในแง่การจัดการเงิน หรือแม้แต่การบริหารจัดการที่ดีพอย่อมก่อเกิดความเสียหายและโอกาสอยู่รอดเป็นไปได้ยาก อาจจะสรุปได้คร่าว ๆ ด้วยว่า ทุกนักลงทุนไม่ว่าจะแค่ลงทุน หรือดำเนินกิจการเองก็ตาม หากพ้นช่วงนี้ไปได้ ก็ยากจะเจ๊งไปอีกนาน เพราะถือว่าได้ผ่านการทดสอบที่ยากลำบากมาแล้ว
- เห็นความสำคัญของการเมือง
การเมืองยังคงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในบ้านเรา และมีมุมมองต่างกันไป แม้จะในฝ่ายเดียวกันก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้บางคนสนใจการเมือง แต่ก็ไม่ได้เข้าใจความสำคัญของฝ่ายการเมืองที่ดีพอผมไม่ได้จะมาสรุปว่าวิกฤติไวรัสโควิด 19 นี้ รัฐบาลหรือฝ่ายการเมืองบ้านเราบริหารจัดการได้เป็นอย่างไร ท่านมองว่าอย่างไรก็อย่างนั้นแหละครับ เพียงแต่เชื่อว่า เราคงได้เห็นกันชัดขึ้นว่า การเมืองมีบทบาทมากมายในการบริหารจัดการภาพรวม ทั้งในเชิงนโยบาย และสนับสนุน เราควรจะดีกว่านี้ หรือแย่กว่านี้การเมืองล้วนเกี่ยวข้อง หรือหากมองไปในบางประเทศ ยิ่งได้เห็นชัดว่าการเลือกดำเนินนโยบายบางอย่างส่งผลลัพธ์ในด้านเศรษฐกิจ หรือสังคมประเทศนั้น ๆ อย่างไร นี่ล่ะการเมืองที่ใครอาจมองว่าไม่สำคัญ..
- เห็นภาพชนชั้นสังคมที่ชัดเจน
มีหลายคนหลงติดกับภาพ Social Network จนเคยชิน ที่คนส่วนใหญ่มักอวดภาพลักษณ์ความสะดวก สบาย มั่งมี จนทำให้เราแอบรู้สึกตัวเองไปเลยว่า นี่เราทำไมจนจัง ด้อยจัง แต่ถึงตอนนี้ ผมเชื่อว่าคิดแบบนี้น้อยลงมากเราได้เห็นคนบ่นมากขึ้น คนดิ้นรนมากขึ้น ได้เห็นข่าวสะเทือนใจในความลำบาก ความไม่มี ที่สะท้อนความเป็นจริง เพราะเป็นช่วงภาวะที่คนไม่อายที่จะบอกว่าแย่ เพราะต่างก็รู้ว่าแย่ลงกันหมด และในข้อดีก็เห็นด้านความมีน้ำใจ เห็นการช่วยเหลือแบ่งปันกัน และทำให้เรากล้าจะเปิดตัวตนแบบที่เป็นมากกว่าที่อวดเกินจริงกันมากขึ้นด้วย
คนชั้นกลางหลายคนที่พยายามดิ้นรนถีบตัวเองให้สูงขึ้น อาจรู้สึกได้ว่าโชคดีแค่ไหนแล้วที่ประคองตัวได้ในช่วงที่ผ่านมา และน่าจะพึงพอใจกับชีวิตที่ตัวเองมีตอนนี้มากขึ้น ส่งผลให้ยินดีช่วยเหลือแบ่งปันสู่สังคมได้อีกต่างหาก
แม้เราจะไม่คิดอยากแบ่งชนชั้นในสังคม แต่มันก็เป็นภาพลาง ๆ ที่เราทุกคนล้วนมองตัวเอง จากช่วงที่ผ่านมาเชื่อว่า หลายคนเห็นตัวเองชัดขึ้น ทั้งไม่ว่าจะควรดิ้นรนขึ้นไปให้ดีกว่านี้ไหม หรือควรจะหยุดลดตัวลงมาพอใจในสิ่งที่มี..
- ถึงเวลาต้องวางแผน..
คนบ้านเราส่วนใหญ่เป็นคนเรียบง่าย ชอบสบาย จึงไม่แปลกอะไรที่หลายคนไม่ชอบวางแผน จริงอยู่ที่สถานการณ์เช่นนี้ ต่อให้วางแผนก็อาจรับมือได้ยาก หรือไม่มีใครคาดเดาได้ ทว่าส่วนหนึ่งการได้วางแผน กับไม่ได้วางแผนก็ไม่มีทางได้ผลลัพธ์เท่ากัน เช่น ถ้าวางแผนการเงินไว้บ้างแม้ต่างจะเดือดร้อน แต่ย่อมเดือดร้อนน้อยกว่าคนที่ไม่ได้วางแผนเลยแม้ชีวิตไม่ได้วางแผนไว้รับมือ และไม่เคยสนใจจะวางแผน แต่ตอนนี้หลายคนก็คงต้องเห็นความสำคัญและคิดวางแผนกันมากขึ้นแล้ว เช่น ถ้าบริษัทเลิกจ้างจะทำอย่างไร? เงินที่ได้เท่านี้ตอนนี้จะจัดการอย่างไร? หนี้สินที่มีจะเอาอย่างไร? อนาคตจะเอาอย่างไร? คนที่วางแผนบ่อย ก็อาจได้เปรียบมีประสบการณ์ คนที่ไม่เคยก็ถึงเวลาต้องเรียนรู้
และหากวิกฤติปัญหามีมาจนวันนี้ ใครที่ยังไม่คิดวางแผนอะไรไว้บ้างเลย.. ผมว่าน่าห่วงจริง ๆ
- ได้ดูแลสิ่งสำคัญ..
สิ่งที่หลายคนละเลยมานาน ทั้งที่เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของเรานั่นคือ “สุขภาพ” และสุขอนามัย วิกฤติครั้งนี้ เป็นแรงกระตุ้นสำคัญ ด้านหนึ่งสำหรับคนที่สุขภาพร่างกายดีก็มีความได้เปรียบ เพราะโอกาสติดยากกว่า ถ้าติดขึ้นมาโอกาสป่วยรุนแรงก็จะน้อยกว่าอีกส่วนสำคัญคือ สุขอนามัย ที่จริงเรื่องการล้างมือบ่อย การระมัดระวังการสัมผัสที่ไม่จำเป็น เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่ควรกระทำ จะสังเกตได้ว่า วิกฤติครั้งนี้เกิดช่วงฤดูร้อนบ้านเรา แต่เรื่องท้องเสีย ท้องร่วงเป็นปัญหาน้อยทันทีเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา หากมองไป หวัด ไข้หวัดที่ปกติคนก็เป็นกัน ติดกันทั่วไป กลายเป็นน้อยลงด้วย นี่ก็เพราะต่างดูแลสุขอนามัยกันดีโดยส่วนใหญ่นั่นเอง
- มีเวลาในมุมหนึ่ง..
ที่จริงก็อยากจะเขียนว่า ได้เห็นคุณค่าของเวลา ก็ดูอาจไม่ชัดเจนนักสำหรับบางคน แต่ถ้าบอกว่าเกือบทุกคนมีเวลามากขึ้นน่าจะชัดเจนกว่า แถมต้องอยู่เฉย ๆ เพราะหลายคนหยุดงาน หยุดเรียน แม้ทำงานก็ทำน้อยลง มีเวลาจะไปไหนก็ไปไหนไม่ได้
บางคนอาจคิดว่าได้ใช้เวลาชดเชยบางอย่าง เช่น ดูซีรีส์ เล่นเกมส์ กระทั่งการนอนที่หลายคนโหยหา แต่เชื่อได้ว่า คุณจะพบความอิ่มตัว เพราะพอมามีเวลาทำเรื่องพวกนี้มากจริง ๆ คุณก็จะเบื่อกันอยู่ดี และถ้าชีวิตยังมีปัญหาจากวิกฤติ ก็อาจไม่มีอารมณ์ทำสิ่งเหล่านี้เลยด้วยซ้ำไป…
ตอนนี้เองหลายคนจะมีเวลาเพื่อทบทวนสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะด้านการดำเนินชีวิตหรือความสัมพันธ์ ต่างกันไปตามวัย ปัจจัย และสิ่งแวดล้อม ที่เชื่อว่าช่วงก่อนหน้าเราเคยมีความหวัง มีความคิด กระทั่งหลงใหลไปในบางสิ่งอย่าง แม้ที่จริงคนเราควรจะให้เวลาตัวเองได้มีสติ ทบทวนตนเองบ่อย ๆ แต่คงมีน้อยคนที่ได้ทำ ณ วันนี้ก็เป็นเรื่องดีที่ช่วงที่ผ่านมาคงได้มีเวลาทบทวนเรื่องราวเหล่านั้นให้มากพอ รวมถึงการระลึกได้ว่า ที่ผ่านมาเรามีเวลาให้ตัวเราเอง และครอบครัวแบบจริงจังน้อยเหลือเกิน
- รับมือความไม่แน่นอนได้ดีขึ้น
นับจากช่วงแรกเริ่มของการระบาดของไวรัส จนถึงวันที่เขียนบทความนี้ (สิงหาคม 2563) ก็เป็นเวลาราวครึ่งปีแล้ว ที่เราต่างไม่รู้ล่วงหน้าเลยว่าอะไรจะขึ้นอีก ที่ผ่านมาทั้งต้องระวัง ทั้งตระหนก หวาดกลัว ตื่นเต้น และแม้วันนี้จะได้เริ่มใช้ชีวิตปกติ ก็ยังไม่แน่ใจ วางใจได้ว่า ระลอก 2 จะเกิดขึ้นมาไหม ซึ่งนั่นเป็นแค่เรื่องของไวรัส ที่ก็ยังไม่แน่นอนในอีกด้านของแต่ละคนก็ได้เห็น เจอ ประสบเรื่องราวไม่คาดคิดมากมาย จะจากตนเองหรือผู้อื่น จะเหมือนเรื่องที่กล่าวไปแล้วหรือไม่ก็ตาม และหลายอย่างก็ยังไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร แต่ก็เชื่อว่าจิตใจหลายคนเริ่มเข้มแข็ง เริ่มได้บทเรียนจากความไม่แน่นอนต่าง ๆ แม้ปัญหาจะยังเกิดอยู่ หรือยังแก้ไม่ได้ในตอนนี้ แต่คงมีจิตใจที่ดีกว่าแรก ๆ และเมื่อวิกฤตินี้ผ่านพ้นไป เราหลายคนคงพร้อมที่จะรับมือกับอะไร ๆ ที่ไม่แน่นอนกันได้ดีกว่าเดิม..
- ได้เห็นสิ่งที่เป็นจริง…
ในช่วงที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เราคงได้เจอทั้งเรื่องแปลกใจ และตกใจ และไม่ได้เตรียมใจ หลายคนถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนงาน หลายคนถึงเวลาต้องแยกทางกัน คนที่มีความลับอาจหมดเวลาที่จะได้เก็บรักษาไว้ คนที่มีความสัมพันธ์ไม่เหนียวแน่น ก็เป็นเวลาพิสูจน์สิ่งนั้น คนที่ไร้ความสามารถก็อาจไม่ได้ไปต่อ และคนที่แกร่งไม่พอก็ต้องหลบออกไป..สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเรื่องแย่ ๆ และเหมือนเป็นข้อสรุปจากทุกข้อที่กล่าวมา เพียงแต่ส่วนหนึ่งเราอาจต้องยอมรับว่า วิกฤติเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเพียงตัวกระตุ้นให้หลายอย่างเร็วขึ้น เช่น ธุรกิจบางธุรกิจที่อย่างไรก็ต้องเติบโต ในทางตรงข้าม บางธุรกิจก็น่าจะต้องไป บังเอิญว่าก่อนหน้านี้มันไม่ได้เกิดทันทีเหมือนอย่างตอนนี้เท่านั้น ไม่ช้าก็เร็ว เราก็หนีความจริงเหล่านี้ไม่พ้น..
วิกฤติอาจทำร้ายเราในบางสิ่ง แต่หลายสิ่งก็ไม่ใช่มันเป็นเพียงข้อเท็จจริงที่เราละเลย ไม่ใส่ใจ ไม่วางแผนมัน ไม่เคยให้ความสำคัญกับสิ่งนั้นเอง มิเช่นนั้นอย่างไรเราก็คงพร้อมที่จะดูแลรักษามันไว้ได้เสมอ
และที่สุดบทเรียน 10 ข้อนี้คงไม่มีใครตัดสินแทนว่าอะไรผิด ถูก ดี หรือแย่ แทนใครได้ บางคนก็ดีกว่าเดิมในขณะที่หลายคนดูจะแย่ลง และ หลายคนอาจได้ค้นเจอตัวตน หลายคนก็ไม่ แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยให้เรากลับมาทบทวน เรียนรู้อะไรหลายอย่าง
มองเป็นเรื่องที่ดีก็ยังมองได้ว่าทุกวิกฤติย่อมผ่านไป และเราทุกคน เริ่มต้นใหม่ได้เสมอ อยู่ที่บทเรียนต่าง ๆ เหล่านี้มีประโยชน์กับเราแค่ไหนที่จะเริ่มใหม่ให้ดีกว่าเดิม..
บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 03/08/2020