อบรมพนักงานบางทีก็ผิดที่ผิดทาง

by

| Home » บทความธุรกิจ-การตลาด » การจัดการคน » อบรมพนักงานบางทีก็ผิดที่ผิดทาง |


วันหนึ่งผมได้คุยกับเพื่อนวิทยากร ในเรื่องประสบการณ์การอบรมพนักงาน ในเชิงแชร์เรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับงานที่ทำมา หลังจากคุยกันไปหลายแง่มุม ก็มีเรื่องหนึ่งที่เห็นพ้องต้องกันที่..

มีบางบริษัทต้องการจัดให้มีการอบรมพนักงาน (ระดับปฏิบัติการทั่วไป) โดยหวังว่าจะเปลี่ยนแปลง พนักงานเหล่านั้นในการทำงาน..

แต่เมื่อเราได้รับการประสานงาน พูดคุย รวมถึง ในวันที่ไปอบรมแล้วสนทนา กับ HR หรือหัวหน้างานบางคน เราก็ได้พบ และคิดว่า.. ควรอบรมหัวหน้าเหล่านี้ก่อนไหม? เพราะดูจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา เช่นว่า ทัศนคติ, อคติ ต่อลูกน้องตนเอง (ชี้แจงตรงนี้ก่อนว่า แค่บางแห่ง และเป็นส่วนน้อย)

เพราะจากการพูดคุย หัวหน้าบางคน หากต้องการแก้ปัญหาจริง ๆ เขาควรจะย่อมชี้ สะท้อนปัญหาออกมาให้ผม หรือวิทยากรฟัง แต่ไม่เป็นเช่นนั้นเลย สิ่งที่สื่อสารออกมาไม่เป็นการแสดงประเด็นปัญหา แต่มักจะ มีแต่การตำหนิ บ่น ต่อว่า อีกทั้งท่าทีที่ออกแนวเบื่อหน่าย ต่อต้าน ลูกน้อง..

ไม่ผิดอะไร แต่ทบทวนดูอีกที นี่ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเช่นกัน

เขาใจอยู่ว่า ในหลาย ภาวะที่มันรู้สึกว่าแก้ปัญหาไม่ไหวแล้ว ย่อมเบื่อหน่าย เอือมระอา อยากหาคนมารับไป ที่ก็ถือว่า ไม่ผิดอะไร แต่ทบทวนดูอีกที นี่ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเช่นกัน ก็ในเมื่อการกระตุ้นลูกน้องให้ได้นั้น มันย่อมต้องมีเรื่องของแรงจูงใจ ในด้านใดก็ตาม แต่หากอคติ เกิดขึ้นแล้วเรา จะสร้างแรงจูงใจ ปรับการทำงาน หรือแก้ไขปัญหาได้อย่างไร

จากฝ่าย HR ก็เช่นกัน ที่ไม่ได้ทำผิดอะไรโดยตรง แต่ตกอยู่ในสภาพกระอักกระอ่วนใจ เพราะจะไปชี้โทษว่าเป็นที่หัวหน้าฝ่าย ก็ดูจะไม่ดี เพราะไม่ได้อยู่ในสถานะที่เหนือกว่า ลองคิดดู ผู้จัดการแผนกบุคคล กับผู้จัดการแผนกอื่น จะว่าไป มันก็ตำแหน่งเท่ากัน เขาก็ทำดีที่สุดแค่พยายามจะแบ่งปันเรื่องราวให้เรา เหล่าวิทยากรฟัง..

อย่างไรก็ตามประเด็นอยู่ที่ผู้นำ ในเมื่อหัวหน้าดูไร้แรงเอง และถอยห่างเสียแล้ว จริงอยู่ว่า พนักงานที่เป็นลูกน้องในหลาย ๆ ที่ ย่อมมีแกะดำ มีต่ำกว่ามาตรฐานอยู่บ้าง ผมเชื่อว่าถ้าทำความเข้าใจกันดี ๆ ก็นี่แหละงานสำคัญของคนเป็นหัวหน้า ที่จะต้องการให้คนในทีม, แผนก, ส่วนงานไปได้ดี..

หัวหน้าไร้แรงจูงใจ จะกระตุ้นลูกน้องได้อย่างไร

ตรงนี้สำหรับเรา (วิทยากร) จะว่าไปแล้วก็เป็นปัญหาทั่วไปที่พบเห็นได้เสมอ ๆ ที่หัวหน้าจะแสดงออกเช่นนี้ และก็ไม่ใช่หัวหน้าทุกคนในบริษัทนั้นที่เป็น แต่สิ่งที่เลวร้ายกว่าคือ..

ทัศนคติผู้บริหาร หรือเจ้าของ ผมเองก็เคยเจอประสบกาณ์ตรง พยายามมาแจ้งผมระหว่างบรรยายให้พูดอย่างไรก็ได้ ให้พนักงาน สำนึก เห็นคุณค่าองค์กร รักเจ้านาย และ โดยรวมคืออยากให้เก่งงาน.. แบบเก่งในกรอบ อย่าคิดก้าวหน้าไปไหน.. ผมไม่มีความสามารถในการอบรมเรื่อง “จิตสำนึกรักองค์กร” ในความรู้สึกคือเป็นไปได้ยากถ้าจะ “แค่อบรม” แล้วเกิดผล

การจะทำให้คนรัก เชื่อมั่น ศรัทธา เพียงแค่ พูด บรรยายไป 1 วัน คุณว่า รักได้หรือไม่ ? หรือ คนเก่งแต่ไม่คิดก้าวหน้า จะเก่งแน่หรือ?..

ให้รักเรา ขอบคุณเรา และอยู่ทำงานให้เราตลอดไป ผมว่ามันสะท้อนจากว่า เรา “ทำ” อะไรให้เขา และเป็นหน้าที่ผู้บริหาร/เจ้าของกิจการ ต้องทำเอง แค่ให้เราพูดมันเป็นไปไม่ได้ เพราะเราอบรมคน มิใช่ครูฝึกสุนัข.. การคิดแบบนี้คือดูถูกบุคลากรตัวเองตั้งแต่ต้น ดังที่บอก ทัศนคติไปในเชิงลบแต่ต้น หรือจะบอกว่า fixed mindset ก็ได้นะ..

ฟังดูเหมือนแรง แต่นี่คือสิ่งที่มีจริงๆ ในหลายองค์กร พนักงานอยู่เพราะมันคืองานที่ได้เงิน ถ้าหาที่ใหม่ไปได้ เขาไปแน่นอน บริษัทที่ผมพบเจอนี้ปัญหา turnover rate อัตราการลาออก สูง และ HR ก็แจ้งผมมาอยู่เช่นกัน และวันนั้นผมไปอบรมหัวหน้างานด้วยนะ! แต่ก็นั่นละ ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะขนาด HR ก็ยังมาไม่ถึงเดือน (ฮ่า)

ผมเชื่อว่า บริษัทเช่นนี้ วิทยากรเทวดาที่ไหน อบรมไปก็เสียเวลาเปล่า ความเปลี่ยนแปลงอย่างดี ก็คงเกิดชั่วคราว เพราะคนที่คิดได้คงไม่มีใครอยู่ นั่นหมายถึง อบรมแล้วดี.. คิดได้ก็คงลาออกไปที่อื่น ที่มาใหม่ก็ยังไม่ได้อบรม… แต่เอ… ก็ดีแล้ว วิทยากรจะได้มีงานมาใหม่บ่อยๆ 😀

บทความฉบับปรับปรุง เผยแพร่ครั้งแรก Facebook Sirichaiwatt เมื่อ 13/07/2018

การอบรมพนักงานบางทีก็ผิดที่ บทความธุรกิจ

Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา จากสายด้านธุรกิจ การตลาด สู่การจัดการบุคคลากร และว่าที่นักจิตวิทยาการปรึกษา
แสดงความคิดเห็น