ไม่มีใครล้างรถเช่า – เจ้าของควรรู้

by

| Home » บทความธุรกิจ-การตลาด » การบริหาร การจัดการ » ไม่มีใครล้างรถเช่า – เจ้าของควรรู้ |


เราอาจจะยังไม่เข้าใจหัวหน้าดีพอ จนกว่าจะได้เป็นหัวหน้า อาจไม่เข้าใจความคิดผู้บริหาร จนกว่าจะได้เป็นผู้บริหาร และไม่อาจเข้าใจความรู้สึกคนเป็นเจ้าของกิจการ จนกว่าจะได้เป็นเจ้าของกิจการ และแน่นอนว่าคนเป็นเจ้านายก็อาจไม่เข้าใจลูกน้องหากไม่เคยเป็นลูกน้อง หรือก็มีที่เคยเป็นแต่ลืมตัวเองไปแล้ว…

นั่นคือส่วนหนึ่งของการเข้าใจคนในองค์กร ที่ในการทำงานเราก็อยากให้ทุกส่วนหากันเจอหรือที่พูดกันว่า จูนกันติด (Tune) ไม่ว่าจะระดับไหน เพียงแต่ที่สุดแล้วมันไม่ใช่แค่มุมมอง แต่บริบทและข้อจำกัดบางอย่างมันไม่มีทางที่จะคิดเหมือนกันได้

คงไม่ต้องพูดถึงกลุ่ม “ไม่เอาไหน” ที่ปัจจัยเยอะ หรือกลุ่ม “ดาวเด่น” ที่ทำงานได้ดีทุกระดับ เพราะคนเหล่านี้มีน้อย แต่ก็เชื่อว่าโดยส่วนใหญ่แล้วทุกคนล้วนอยาก “ทำงานให้ดี” หรืออย่างน้อยก็ไม่อยากถูกตำหนิว่าทำงานไม่ดี นี่คือพื้นฐานที่น่าจะมองเหมือนกัน แต่สิ่งที่ทำให้ทุกอย่างต่างออกไปก็ตรงที่ “ทำงานให้ดี” ของแต่ละคนตัดสินไม่เหมือนกัน…

ทำงานให้ดี ในฐานะพนักงานระดับเดียวกัน คนหนึ่งอาจมองว่า ทำ(แค่)ตามหน้าที่ให้สมบูรณ์ ก็ดีแล้ว ไม่ควรก้าวก่าย ไม่จำเป็นต้องเสี่ยง ไม่เสนอหน้า มิเช่นนั้นจะดูเป็นการทำงานเอาหน้า นี่เป็นแบบหนึ่ง ซึ่งอีกคนอาจมองว่า ทำงานให้ดี ก็ต้องมีผลสะท้อนกลับมา มีคนเห็น มีคนชม ได้มีส่วนร่วม และอาจได้ผลตอบแทนในอนาคต นี่ก็อีกแบบหนึ่ง ที่ก็ชี้ชัดยากแบบไหนถูกต้องกว่ากัน

ในฐานะระดับผู้บริหาร/หัวหน้างาน ก็อยากให้ทีมงานหรือลูกน้องทำงานเป็นไปตามแผน หรือตามแนวทางที่ตัวเองคิดไว้ ซึ่งก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง ใครทำตามแผนเขาก็ถือว่าทำงานดี ใครทำงานไม่เป็นไปตามแผนก็ถือว่าทำงานไม่ดี  ดังนั้นทำงานดีในมุมนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า แผนหรือความคิดในใจคนเป็นผู้นำคิดอย่างไร (หัวหน้างานแย่ ๆ คงไม่พูดถึง)

ในมุมเจ้าของกิจการ เบื้องต้นย่อมอยากเห็นผลลัพธ์ของกิจการเป็นไปในทางก้าวหน้า ถ้าเป็นเจ้าของกิจการที่ไม่ดี ก็จะคิดแค่นี้ไม่สนกระบวนการหรือส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ มองแต่ผลประโยชน์ตนและการแข่งขัน คนในองค์กรก็ต้องสัมผัสได้ในวันหนึ่งแล้วจากไป ใครล่ะจะอยากขยันหาเงินมาให้คนอื่นตลอด? ตรองดูแล้วมันก็สมควร (fair) ดี

ในมุมเจ้าของกิจการที่ดี เมื่อกิจการก้าวหน้าได้ ก็ย่อมเข้าใจว่าทีมงานสำคัญ สวัสดิการสำคัญ กำลังใจและแรงจูงใจสำคัญ ดังนั้นจะมีการเอื้อเฟื้อผลประโยชน์กระจายออกมา เพียงแต่กระจายอย่างไรให้สมดุลเป็นเรื่องเข้าใจยาก เพราะต้องสมดุลทั้งความเสมอภาคระหว่างพนักงานที่มองกันเอง และสมดุลระหว่างต้นทุนกับกำไรและความมั่นคงบริษัทในอนาคตด้วย

สิ่งที่ยากกว่าคือในตอนเริ่มต้นหรือสำหรับเจ้าของกิจการที่เพิ่งพอไปได้ คงยากที่จะแบ่งปันให้ระดับพนักงานได้รู้สึกว่าดีกว่าที่อื่น ยากที่จะสร้างแรงจูงใจพื้นฐานให้กับพวกเขาได้ แต่การจะหวังให้เขาทำงานดี ๆ ให้ก่อนเลยก็ลำบาก เพราะไม่มีใครล้างรถเช่า…

การเช่ารถ มุมหนึ่งก็เป็นการแลกเปลี่ยนแบบธุรกิจโดยทั่วไป หากเปรียบกับเจ้าของกิจการเป็นเจ้าของรถ พนักงานเหมือนคนเช่ารถ เจ้าของได้ค่าเช่า คนเช่าได้ใช้รถ ผลประโยชน์เกิดสองฝ่าย เพียงแต่คนเช่า (พนักงาน) มีสิทธิ์จะไปเช่าที่ไหนก็ได้ (ทำงานกับใครก็ได้) ผลประโยชน์ไม่ต่างกันมากนัก

ถ้าค่าเช่ารถแพง ก็เปรียบเหมือนสวัสดิการไม่ดี เงินเดือนน้อย ก็ไม่มีใครอยากเช่ารถคันนี้ พนักงานก็ไม่อยากทำงานด้วยเพราะไม่คุ้ม

ถ้าค่าเช่ารถถูก ก็เปรียบเหมือนสวัสดิการดี เงินเดือนดี ก็มีแต่คนอยากมาเช่า เหมือนพนักงานอยากมาทำงานด้วย

ถ้ารถใหม่ รถสวย เปรียบกับองค์กรมีชื่อเสียง ดูดีมีมาตรฐาน คนก็อยากมาเช่าไปใช้ ก็เสมือนพนักงานจะอยากทำงานด้วย ถ้าค่าเช่ารถเท่ากันหรือถูกกว่าก็ยิ่งดึงดูดเป็นแรงจูงใจ แต่ตรงนี้เจ้าของก็ต้องมีทุนมีกำลังสะสมมาพอควรจึงจะมีรถใหม่ให้เช่าถูกได้

แต่ที่สุดแล้ว รถเช่าก็คือรถเช่า…

บ่อยครั้งที่คนเช่าทำรถเป็นตำหนิ หรือเอาไปใช้เลอะเทอะเปรอะเปื้อน พื้นฐานความคิดคนเรานั้นมันก็คือ “รถเช่า” ในเมื่อเขาปล่อยเช่าแล้ว ก็คิดว่าเจ้าของรถต้องคุ้มเขาแล้ว ใครจะมานั่งนึกว่า ที่เขาลงทุนให้รถสวย เปรียบการให้สวัสดิการดี เขาก็อาจอยากได้ค่าเช่าที่ดี อยากให้มาเช่ากับเขาตลอดไป เปรียบกันก็คือ เขาก็อยากให้ทำงานให้ดี ๆ ไม่ใช่ทำไปอย่างนั้นงานดีบ้างไม่ดีบ้าง ถือว่าเงินเดือนเท่านี้จะเอาแค่ไหนก็ทำงานให้แล้ว…

แต่ในวันที่แย่ ๆ เมื่อรถมีปัญหา แค่เปรอะเปื้อนมาก เจ้าของล้างไม่ทัน หรืออาจต้องใช้เวลาเพื่อล้าง เพื่อจัดการให้ดี แน่นอนว่ามันก็เป็นหน้าที่ของเจ้าของรถต่อไปในเมื่อคุณได้ค่าเช่า เปรียบเสมือนกิจการมีปัญหา ภาวะเศรษฐกิจแย่ก็เป็นหน้าที่เจ้าของกิจการรับไปลำพัง

ใครล่ะจะต้องมาช่วยล้างรถ ต่อให้ที่ผ่านมาทำรถดี ทำรถให้เช่าถูก อย่างไรในส่วนนี้ก็ต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าของรถไง ถูกไหมล่ะ?

ดังนั้นเจ้าของกิจการ ก็เหมือนเจ้าของรถเช่า มันคาดหวังได้ยากว่าคนเช่ารถทุกคนจะสนใจรับผิดชอบรถเรา เพราะเขาถือว่าเขาจ่ายค่าเช่าแล้ว (ทำงานให้เราแล้ว) รถไม่ใช่ของเขา องค์กรไม่ใช่ของเขา ในวันที่รถดีเขาย่อมยินดีที่จะใช้บริการ ในวันที่รถไม่สมบูรณ์ก็ธรรมดาที่เขาอาจเริ่มมองหารถใหม่….

แน่นอนว่าพนักงานที่มีจิตสำนึก หรือมีน้ำใจก็ยังมีแต่ถึงที่สุดเรื่องปากท้องเขาก็ต้องเอาตัวให้รอด และนี่อาจเป็นบทความที่มองมาในมุมเดียว ให้คนคิดหรือคนทำกิจการยอมรับและเข้าใจ หรือถ้าพนักงานมาอ่านก็อยากให้ตรองดู

ที่ถ้าจู่ ๆ วันนี้ที่ทำงานต้องปิดตัวไป มีใครไหมไม่อยากได้ค่าชดเชย?

บทความธุรกิจ ไม่มีใครล้างรถเช่า - เจ้าของควรรู้
Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา อิสระ ปัจจุบันประกอบอาชีพหลัก พ่อบ้าน :P ส่วนวิทยากร ธุรกิจส่วนตัว และอื่น ๆ เป็นอาชีพรอง.. V(^0^)V
แสดงความคิดเห็น